คิดเห็นแชร์ : ‘Work From Home เต็มขั้น’ ความปกติใหม่ของใครหลายๆ คน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ Work From Home (WFH) หรือการทำงานจากที่บ้านนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป หลังจากเราผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กันมาตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบันต้องช่วยกันรับมือเป็นระลอกที่ 3 แล้ว รัฐบาลจึงได้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานให้ปรับรูปแบบการทำงานจากที่บ้านอย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อลดความเสี่ยงและลดการแพร่ระบาดไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก หากดูจากสถานการณ์ในระลอกนี้ อาจส่งผลให้เราต้องทำงานจากที่บ้านกันอีกพักใหญ่ ดังนั้น เราคงต้องหาแนวทางและวิธีการในการทำงานที่บ้านอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพเหมือนกับการมาทำงานที่ออฟฟิศกันครับ ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีงานศึกษาวิจัยเผยแพร่ในเว็บไซต์ Harvard Business Review ได้ศึกษากรณีศึกษาการให้พนักงานทำงานที่บ้านของบริษัทด้านการท่องเที่ยวของประเทศจีน โดยทดลองให้พนักงานทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่าการทำงานที่บ้านช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ถึง 13% และช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานได้ถึง 50% ผลจากการศึกษานี้ สรุปได้ว่าการทำงานที่บ้านช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น พนักงานมีความสุขมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายขององค์กร และพนักงานลาออกน้อยลง อย่างไรก็ดี จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายองค์กรได้ปรับให้มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ซึ่งมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานที่บ้านและพบว่ายังมีจุดบกพร่องอยู่ ดังเช่น อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ให้เหตุผลว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องอาศัยอยู่ภายในบ้าน หลายคนมีลูกหรือครอบครัวที่ต้องดูแล ต้องนั่งทำงานภายในห้องนอน ไม่มีห้องส่วนตัว หรือต้องแชร์ห้องกับคนอื่น ทำให้มีสิ่งที่รบกวนในการทำงานมากมาย นอกจากนี้ การไม่ได้ไปทำงานที่ออฟฟิศ ยังลดการมีปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ลดแรงกระตุ้นในการทำงานลดลง อีกทั้งการทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน ยังทำให้เกิดความเหงาและความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ลงอีกด้วย จากประสบการณ์จริงในการทำงานที่บ้านของบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) องค์กรยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านแบบถาวร 100% ตั้งแต่ปี 2020 โดยอาศัยความชำนาญของบริษัทในด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการทำงานที่บ้านได้เต็มรูปแบบ ซึ่งบริษัทไมโครซอฟท์พบว่า การปรับองค์กรเพื่อทำงานที่บ้าน จำเป็นต้องมี 2 องค์ประกอบหลัก คือ เครื่องมือทางด้านดิจิทัลต่างๆ และนโยบายองค์กรที่มีความยืดหยุ่นและต้องเน้นความสำคัญกับผลลัพธ์ของการทำงาน มากกว่ากระบวนการขั้นตอนในการทำงาน ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ ช่วยให้องค์กรสามารถปรับรูปแบบจากการทำงานที่ออฟฟิศเป็นการทำงานที่บ้านได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าการทำงานที่บ้านให้มีประสิทธิภาพนั้น ประกอบด้วยหลายปัจจัย ถึงแม้ว่าการทำงานที่บ้านจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง แต่ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่บ้าน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ หรือค่าอินเตอร์เน็ต ในขณะเดียวกัน การทำงานที่ออฟฟิศย่อมมีสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกและความพร้อมในการทำงานที่ดีกว่า รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานอย่างใกล้ชิด เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี จากการศึกษาจากประสบการณ์ทำงานที่บ้านจริงในหลายๆ แหล่ง พบว่ามี 5 ข้อแนะนำดีๆ ที่น่าจะนำมาประยุกต์ใช้และเหมาะสมกับบรรยากาศการทำงานแบบไทยๆ จึงอยากแชร์ให้ทุกท่านได้ลองนำไปทดลองปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานที่บ้านเกิดประสิทธิภาพที่ดีและมีความสุข ดังนี้ครับ 1.วางแผนการทำงาน โดยมีปฏิทินการทำงาน กำหนดเป้าหมาย จัดทำเช็กลิสต์และบันทึกการทำงาน เพื่อควบคุมการทำงานของตนเอง เนื่องจากการทำงานที่บ้านจะไม่มีทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานคอยควบคุมหรือกระตุ้นในการทำงาน 2.เตรียมพร้อมสำหรับการติดต่อสื่อสาร โดยก่อนเริ่มงานและเลิกงาน ควรมีการประชุมกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล ติดตามงานผ่านระบบออนไลน์ เพราะการทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบเรื่องปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์กับลูกค้า และบุคคลภายนอก ตลอดจนความผูกพันต่อองค์กร 3.สร้างบรรยากาศและจัดสภาพแวดล้อมในมุมที่ใช้ทำงานให้เหมาะสม โดยแยกพื้นที่ทำงานให้ชัดเจน เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และแสงสว่าง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานที่มีประสิทธิภาพ 4.ตัดสิ่งเร้าที่คอยรบกวนสมาธิและเบี่ยงเบนความสนใจในระหว่างการทำงานออกไป โดยทำการตกลงกับคนในครอบครัวและแยกตัวออกมาทำงาน ปิดและยกเลิกสิ่งที่คาดว่าจะรบกวนการทำงาน เช่น การดูโทรทัศน์ ฟังเพลง เล่นเกม หรือแม้แต่งานบ้าน เป็นต้น เพื่อให้สามารถโฟกัสในเวลาทำงานได้ดียิ่งขึ้น 5.อาบน้ำและแต่งกายให้เรียบร้อยเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน โดยกำหนดเวลาเริ่มงานและเลิกงานให้เหมือนเวลาทำงานที่ออฟฟิศ เพื่อให้ร่างกายตื่นตัวและรับรู้สัญญาณว่าพร้อมสำหรับการทำงานแล้ว สุดท้ายนี้ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เราจำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องปรับตัวให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกอาจจะยังดูติดขัดและยังไม่คุ้นชิน แต่สถานการณ์จะทำให้เราสามารถปรับตัวจนคุ้นเคยได้ และในที่สุด การทำงานที่บ้านก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม บนความปกติใหม่ หรือ New Normal ของใครอีกหลายๆ คน ที่ต้องปรับตัวและเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_2712212
09 พ.ค. 2021
คิดเห็นแชร์ : สตาร์ตอัพไทย ความฝันของเถ้าแก่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเพียงในซีรีส์
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ กระแสของสตาร์ตอัพนั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มาฮิตติดลมบนอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start-Up ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าฝันเป็นเถ้าแก่จากการเริ่มต้นทำธุรกิจให้เติบโตก้าวไปสู่ระดับโลก ดังเช่นบริษัทที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple Amazon Facebook หรือ Tesla เป็นต้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลกชะลอตัว หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ และมีหลาย ๆ สิ่งไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยพลิกวิกฤตโดยใช้โอกาสนี้สร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์แนวโน้มความต้องการของโลกในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) สตาร์ตอัพจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยได้ในอนาคต หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “สตาร์ตอัพ” (Startup) กันบ้างแล้ว แต่อาจยังมีข้อสงสัยว่า สตาร์ตอัพกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความแตกต่างกันอย่างไร อันที่จริงแล้ว สตาร์ตอัพก็คือเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจใน 3 กลุ่ม ได้แก่ การผลิต การค้า และการบริการ หากแต่เป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยมีแนวคิดหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถทำซ้ำ (repeatable) และขยายธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด (Scalable) ซึ่งสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะใช้ไอทีเป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจ เพราะไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแตกต่างระหว่างสตาร์ตอัพกับเอสเอ็มอี โดยเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ตอัพนั้น จะใช้วิธีหาเงินทุนจากการนำเสนอไอเดียและโมเดลธุรกิจให้กับนักลงทุน (Venture Capital : VC) ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจนั้น เพราะการมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเติบโตของสตาร์ตอัพในอนาคต สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีภารกิจส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ได้ให้นิยาม “สตาร์ตอัพ” ไว้ว่า “วิสาหกิจเริ่มต้น” ซึ่งหมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือธุรกิจที่เริ่มต้นจากการมีแนวคิด โมเดลทางธุรกิจ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ธุรกิจ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้และผลกำไรของธุรกิจให้ขยายตัวแบบก้าวกระโดดและเติบโตไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ โดยจุดเน้นของสตาร์ตอัพหรือวิสาหกิจเริ่มต้น ที่ได้รับการดูแลและบ่มเพาะอยู่นั้น จะมีคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้ 1) มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงลึก (Deep Technology) ที่ได้จากการศึกษา วิจัยและพัฒนา และลอกเลียนแบบได้ยาก 2) มีรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน และเป็นปริมาณที่มากเพียงพอต่อการทำซ้ำและขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดดได้ และ 3) มีเป้าหมายในการขยายตัวและเติบโตทางธุรกิจ พร้อมรับการลงทุนหรือร่วมทุนจากนักลงทุนหรือกองทุนต่างๆ ได้ นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องการใช้เครือข่าย (Networking) ซึ่งเป็นจุดแข็งของกรม มาช่วยเติมเต็มในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ โดยการเฟ้นหาสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพจากหน่วยงานเครือข่ายจากทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ พร้อมบ่มเพาะให้มีความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน 2.การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ ด้วยการจัดกิจกรรมเครือข่ายนักธุรกิจอุตสาหกรรมและนักร่วมลงทุน (Industry & Investor Forum) เพื่อให้สตาร์ตอัพมีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน 3.การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมนำโซลูชั่นของสตาร์ตอัพไปใช้งานจริง และเป็นตลาดให้ภายในประเทศ 4.การขยายเครือข่ายวิชาการนานาชาติ โดยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติในประเทศไทย เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายระหว่างสตาร์ตอัพและนักลงทุนไทย กับสตาร์ตอัพและนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดไปยังตลาดนานาชาติที่มีมูลค่าตลาดสูงขึ้น ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมสตาร์ตอัพทั้งในระยะเริ่มต้น (Early Stage) คือ โครงการ Angel Fund และในระยะเติบโต (Growth Stage) คือ โครงการ Startup Connect มีเครือข่ายสตาร์ตอัพที่บ่มเพาะมาตั้งแต่ปี 2559 และปัจจุบันในปี 2564 มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมมากกว่า 500 ราย โดยมีคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเถ้าแก่ ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นกว่า 75 ราย เพื่อให้พร้อมสำหรับกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อีกทั้งจะได้นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อนักลงทุน (Pitching) เพื่อให้เขาเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากผู้ร่วมลงทุนที่อยู่ในเครือข่ายของกรมต่อไป โดยในปี 2563 มีสตาร์ตอัพจำนวน 6 ราย ได้นำเสนอโมเดลธุรกิจ และมีนักลงทุนได้ร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพ รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท ถือเป็นก้าวสำคัญที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายนี้ หากเราสามารถส่งเสริมและผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่มีฝันอยากทำธุรกิจ ด้วยแนวคิดธุรกิจใหม่ ๆ ให้กลายเป็นสตาร์ตอัพหรือจนเป็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยได้ ประเทศไทยจะมีนักรบเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจในไทยให้เข้มแข็ง สร้างรายได้ให้คนไทย และนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหากับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้อย่างแน่นอน ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของการพัฒนาสตาร์ตอัพได้ที่ Facebook: Angelfundthailand นะครับ ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2610890
07 มี.ค. 2021
คิดเห็นแชร์ : ‘สวัสดีปีฉลู ที่ไม่หมูแน่นอน’
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีปีฉลูแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ในวาระวิถีปีใหม่นี้ ผมขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และที่สำคัญขอให้เราทุกคนรอดพ้นจากโรคโควิด-19 เพราะตั้งแต่เข้าสู่ปี 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ประสบกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เราทุกคนต้องกลับมาเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการดำรงชีวิตอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า การระบาดระลอกใหม่นี้จะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ และอาจส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งกำลังฟื้นจากวิกฤตระลอกแรก กลับมาได้รับความบอบช้ำหนักยิ่งกว่าเดิม ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2563 ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรกนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้นำร่องปรับแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้ความปกติใหม่ (New normal) ทันที ผ่านมาตรการ “ฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ดีพร้อมทันที 90 วัน” โดยได้ปรับรูปแบบการฝึกอบรมสัมมนาด้วยการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้ขณะเดียวกัน ได้ให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการผ่านระบบการประชุมสื่อสารทางไกล โดยใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Zoom, Facebook Live, Google Meet, Microsoft Team หรือ Line เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายหลายที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในระลอกแรกได้อย่างทันท่วงที พลิกวิกฤต สร้างโอกาส สร้างองค์ความรู้ ปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่า วิกฤตการณ์นี้จะคลี่คลายไปในทิศทางใด หรือจะมีการระบาดซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งทุกคนต่างฝากความหวังไว้ว่า การมีวัคซีนจะสามารถช่วยหยุดยั้งความร้ายกาจของไวรัสตัวนี้ ไม่ให้ทำร้ายสุขภาพมนุษย์และทำลายเศรษฐกิจไปมากกว่าเดิม แต่กว่าจะถึงวันนั้น คงมีผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อย ที่อาจได้รับผลกระทบจนแทบจะเดินต่อไม่ไหวในปี 2564 นี้ จึงเป็นปีแห่งความท้าทายของทุกๆ คนที่จะต้องร่วมมือกัน เพื่อปรับตัว ปรับใจ ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อให้อยู่กับความปกติใหม่นี้ได้ กสอ.ได้ปรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2564 โดยนำข้อมูลผลลัพธ์จากการดำเนินงานโครงการ “ฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ดีพร้อมทันที 90 วัน” มาวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อต่อยอดกำหนดเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเชิงรุกให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมตามวิถีปกติใหม่ได้อย่างทันท่วงที โดยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านนโยบาย “สติ : STI” ประกอบด้วยจุดเน้น 3 ปัจจัยเร่งด่วนสำคัญ คือ 1.ทักษะเร่งด่วน (Skill) โดยการเรียบเรียงชุดทักษะ (Skill Set) ในการปรับธุรกิจ เช่น ทักษะวิชาตัวเบา (Lean) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการต้นทุนในการทำธุรกิจ เป็นต้น รวมถึงทักษะในการปรับอาชีพ (Up-skill & Re-skill) เพื่อพัฒนาต่อยอดจากทักษะเดิมของอาชีพที่อาจถูกดิสรัปต์ เช่น พนักงานธนาคารที่อยากเปลี่ยนอาชีพเป็นผู้ประกอบการ โดยมีองค์ความรู้ด้านการเงินและบัญชีเป็นทุนเดิม สามารถนำทักษะความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อทำธุรกิจของตนเองได้ เป็นต้น 2.เครื่องมือเร่งด่วน (Tools) โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโซ่อุปทาน (Supply chain) ให้ธุรกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไทย รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการเงินเพื่อชุบชีวิตผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้มีศักยภาพในการชำระหนี้ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งยกระดับนิเวศอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการช่วยทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (THAI-IDC) เป็นต้น 3.อุตสาหกรรมเร่งด่วน (Industry) โดยมุ่งเน้นให้ “เกษตรอุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย บีซีจีโมเดล (BCG Model) ที่รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และต้องการผลักดันให้เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างคนเก่งกลับถิ่น เช่น คนว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ เป็นต้น ที่กลับถิ่นฐานบ้านเกิด โดยนำองค์ความรู้ ทักษะหรือประสบการณ์ที่เคยทำงานในภาคอุตสาหกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตร รวมทั้งเน้นสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จุดเด่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ ดังจะเห็นได้จากบริษัทที่เป็น Start up ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการบริหารจัดการการให้บริการหรือสินค้าที่มีนวัตกรรม เป็นต้น สุดท้ายนี้ ไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าใด หรือจะเกิดการระบาดใหม่ขึ้นอีกกี่ครั้ง แต่เชื่อได้ว่าเราจะสามารถก้าวผ่านวิกฤตปีฉลู ที่ไม่มีคำว่าหมู ในปี 2564 นี้ไปได้ ปีนี้จึงเป็นปีแห่งความท้าทายของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการปรับตัวให้อยู่กับความเป็นปกติใหม่ โดยจะไม่รอให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ท่ามกลางปัจจัยลบจากความปกติใหม่ เราจะผลิตวิกฤต สร้างโอกาส และสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมให้เศรษฐกิจในไทยเข้มแข็ง เบนเข็มทิศรายที่พึ่งพาเงินบาทแรกจากต่างประเทศ ย้อนกลับมาสร้างเงินบาทแรกจากภายในประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างเศรษฐกิจในไทยให้เข้มแข็ง ให้เราก้าวผ่านวิกฤตแห่งความท้าทายนี้ไปด้วยกันเป็นกำลังใจให้ทุกท่านก้าวผ่านปีฉลูที่ไม่หมู…อย่างฉลุยครับ! ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2565024
06 ก.พ. 2021
คิดเห็นแชร์ : ปัญหา COVID-19 ยังไม่ซา ฝุ่นพิษ PM2.5 ก็มาซ้ำ
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) ลดน้อยมากจนแทบจะไม่มีแล้วก็ตาม แต่จากการที่ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านยังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุด คือ จำเป็นต้อง “การ์ดอย่าตก” อยู่ตลอดเวลานั่นเอง ในขณะเดียวกันช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเป็นวังวนเดิมๆ อีกครั้ง นั่นคือ ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ทราบหรือไม่ว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เก็บตัวอย่าง 3,000 เขตพื้นที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า การเพิ่มขึ้นของอนุภาคฝุ่นพิษ PM2.5 เพียง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรค COVID-19 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15ดังนั้น ปัญหา COVID-19 กำลังถูกปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ซ้ำเติมให้ดูทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก จึงทำให้เราต้องดูแลตัวเองให้ดี การ์ดอย่าตกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผมเคยเล่าถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่อยากขอแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ในชุมชนเมือง ซึ่งผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าแหล่งที่มาของฝุ่นพิษ PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดจากการปล่อยมลพิษไอเสียของรถยนต์ที่มีมาตรฐานต่ำ (ยูโร 4) คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 52 อีกทั้งเมื่อเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศนิ่ง (Air stagnation) และมีอุณหภูมิลดต่ำลงร่วมด้วย จึงส่งผลให้ฝุ่นพิษเหล่านี้สะสมในปริมาณมากขึ้นและเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพคนไทย โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 62 ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้าน ฝุ่นละออง” โดยจะบังคับใช้มาตรฐานมลพิษไอเสียจากรถยนต์ยูโร 5 ภายในปี 2564 และยูโร 6 ภายในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนตามหลังนานาประเทศไปมากกว่าเดิม เนื่องจากในปัจจุบันมาตรฐานการปล่อยมลพิษไอเสียรถยนต์ของไทยเทียบเท่าเพียงมาตรฐานยูโร 4 เท่านั้น ซึ่งรถยนต์ยูโร 4 ปล่อยฝุ่น PM มากกว่ารถยนต์ยูโร 5-6 ถึง 5 เท่า ซึ่งตามหลังหลายประเทศมาแล้วกว่า 12 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามีปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มากกว่าหลายๆ ประเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยบังคับใช้มาตรฐานมลพิษไอเสียรถยนต์ตามแผนที่ท่านนายกรัฐมนตรีวางไว้ จะช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในเขตชุมชนเมืองได้อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงกันในวงกว้างถึงเรื่องการปรับมาตรฐานมลพิษไอเสียรถยนต์และน้ำมันให้สูงขึ้นจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ว่าใครควรจะเริ่มก่อนกันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์หรือโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนและยกระดับกระบวนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ขอเรียนว่าจากข้อมูลในอดีตพบว่า ยานยนต์ไทยมีการพัฒนามาตรฐานมลพิษไอเสียรถยนต์ในระดับสูงกว่าก่อนคุณภาพน้ำมันเสมอ โดยปัจจุบัน มีรถยนต์มาตรฐานยูโร 5-6 วิ่งอยู่บนท้องถนนคิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนรุ่นรถยนต์นั่งทั้งหมด (จำนวน 261 รุ่น จาก 544 รุ่น) ที่ปัจจุบันก็เติมน้ำมันยูโร 4 บ้าง น้ำมันยูโร 5 บ้าง ซึ่งยังไม่พบว่ามีปัญหาจากการใช้งานแต่อย่างใด ที่น่าสนใจก็คือ ผลการศึกษาโครงการประเมินอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการระบายสารมลพิษจากรถยนต์ที่มีมาตรฐานแตกต่างกันของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ถ้ารถยนต์ยูโร 4 เติมน้ำมันยูโร 5 จะสามารถทำให้ฝุ่น PM ลดลงได้กว่าร้อยละ 25 แม้ว่าในปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำมันยูโร 5 ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว แต่ด้วยการกำหนดราคาที่แพงกว่าน้ำมันยูโร 4 จำนวน 3-5 บาท/ลิตร จึงทำให้กำลังการผลิตน้ำมันยูโร 5 ในประเทศเหลือถึงร้อยละ 99 จากกำลังการผลิตสูงสุดของน้ำมันยูโร 5 ที่โรงกลั่นในประเทศสามารถผลิตได้ทั้งหมด (ข้อมูลปี 2563 จากสถาบันปิโตรเลียม) ดังนั้น ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมอยากให้กระทรวงพลังงานช่วยกันดูแลสุขภาพของคนไทย โดยอาจใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันยูโร 5 เพื่อช่วยพยุงสุขภาพของประชาชน เช่นเดียวกับที่เคยอุดหนุนราคาน้ำมันเอเทนอลและไบโอดีเซล เพื่อพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร โดยอาจกำหนดกรอบเวลาและจำกัดพื้นที่ในการจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 เฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยเจอปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็อาจเป็นแนวทางที่ช่วยทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เบาบางลงได้และทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น สุดท้ายนี้ จะเห็นว่าปัญหา COVID-19 ยังไม่ซา ฝุ่นพิษ PM2.5 ก็มาซ้ำ สำหรับวิกฤตการณ์ COVID-19 เราต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันปัญหาถาวร แต่ในขณะที่วิกฤตการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมที่วนเวียนมาทุกปีอย่างไม่จบสิ้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้หายขาด เพื่อให้ท้องฟ้าที่สดใสกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง และต้องช่วยกันไม่ให้มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้น การ์ดอย่าตกครับ ที่มา https://www.matichon.co.th/columnists/news_2476389
07 ธ.ค. 2020
คิดเห็นแชร์ : การท่องเที่ยวเชิงอนามัย ไปกับหมู่บ้านซีไอวี (CIV) 5 ดาว
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ช่วงนี้หลายท่านคงมีโอกาสได้ออกจากบ้านไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในประเทศกันมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อเป็นการส่งมอบความสุขให้กับคนไทย เพราะในช่วงที่ผ่านมา คนไทยต้องอยู่ในสภาวะที่กดดันจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมายาวนานตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาและชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ธุรกิจการค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ เร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและประคับประคองภาคธุรกิจอุตสาหกรรมให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แต่สำหรับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศ ได้รับประโยชน์โดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของไทยได้ฟื้นฟูกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ เพราะธรรมชาติได้หยุดพักต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวของทางธรรมชาติที่กระจายอยู่ในชุมชนทั่วทุกภูมิภาค เช่น ภูเขาและทะเล กลับมาสวยงามและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เราจึงควรใช้เวลาในช่วงนี้ไปท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น แต่ก็ยังคงต้องการ์ดไม่ตก โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อีกระลอก เพราะที่ผ่านมา ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มักมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นจนน่าเป็นห่วง ดังนั้น เราจึงควรหาโอกาสท่องเที่ยวเชิงอนามัยตามรูปแบบวิถีปกติใหม่ ที่มีการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งการท่องเที่ยวชุมชนเป็นคำตอบที่เหมาะสม เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่มีการเว้นระยะห่างตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัยและสบายใจในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ผมจึงขอนำเสนอตัวเลือกการท่องเที่ยวเชิงอนามัยที่เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวตามวิถีปกติใหม่ให้กับท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาตัดสินใจไปเที่ยวกัน โดยผมขอแนะนำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือที่ชาวบ้านคุ้นหูว่า “หมู่บ้านซีไอวี” ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้การพัฒนาและยกระดับให้เป็นหมู่บ้านซีไอวีแล้วกว่า 250 หมู่บ้าน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างหมู่บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย ที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้ทุกท่านได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน ด้วยการพักโฮมสเตย์ ทานข้าวเปิ๊บซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่ชื่อเสียง ปั่นจักรยานชมทิวทัศน์ท้องทุ่งนา ชมทะเลหมอก ณ ห้วยต้นไฮ ได้ลองทำผ้าหมักโคลน ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นต้น โดยชุมชนบ้านนาต้นจั่นยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนโมเดลนำร่องร่วมกับชุนชนอื่น ๆ อีก 10 แห่ง ให้เป็นหมู่บ้านซีไอวี 5 ดาว เพื่อให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนามัย โดยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ประกอบด้วย ชุมชนออนใต้ จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนบ้านสวนขวัญ จังหวัดลพบุรี ชุมชนบ้านน้อย จังหวัดเลย ชุมชนบ้านดอนข่า จังหวัดขอนแก่น ชุมชนบ้านสนวนนอก จังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนบ้านห้องแซง จังหวัดยโสธร ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม ชุมชนบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ชุมชนบ้านหน้าทับ จังหวัดนครศรีธรรมราช และชุมชนบ้านทรายขาว จังหวัดปัตตานี ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านลองเปิดประสบการณ์ใหม่ และหาโอกาสไปท่องเที่ยวและสัมผัสหมู่บ้านซีไอวี 5 ดาว ทั้ง 11 แห่ง ซึ่งแต่ละชุมชนมีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและมีระยะห่างตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นโมเดลนำร่องในการท่องเที่ยวเชิงอนามัยตามวิถีปกติใหม่ ที่อาจเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะทำให้ท่านประทับใจและอยากกลับมาสัมผัสอีกครั้ง ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2298185
08 ส.ค 2020
คิดเห็นแชร์ : ต่อยอดภาคการเกษตร ด้วยศาสตร์แห่งเกษตรอุตสาหกรรม
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ผมเคยแชร์เรื่อง “เกษตรอุตสาหกรรม” ในบทความครั้งก่อน ๆ ไปแล้วว่าเกษตรอุตสาหกรรมคืออะไร และมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคอุตสาหกรรมภาคการเกษตร และภาคบริการ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงภาพอนาคตของประเทศไทยที่ชัดเจนขึ้นว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการมากกว่าอื่นใด สะท้อนได้จากตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่เป็นบวก สวนทางกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ติดลบกันเป็นทิวแถว ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารยังเป็นจุดแข็งของไทยเพราะมีรากฐานเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรที่เป็นแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นหนึ่งในฐานรากที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจตามวิถีปกติใหม่ (New Normal) ด้วยการยกระดับ “เกษตรกรรม” ให้เป็น “เกษตรอุตสาหกรรม” มุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ภาคการเกษตรมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งผมเคยได้ให้คำนิยามของเกษตรอุตสาหกรรมไว้ว่า “เกษตรอุตสาหกรรม คือ ธุรกิจทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร ที่นำองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การมาตรฐาน การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ การสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมาประยุกต์ใช้” ซึ่งวันนี้ผมจะขอยกตัวอย่างการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอุตสาหกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมแล้ว ด้วยการประยุกต์ใช้ศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมกับการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่าน “บ้านบึงโมเดล” และการต่อยอดทำธุรกิจเกษตรในรูปแบบของธุรกิจยุคใหม่ผ่านโครงการ Agro Beyond Academy ครับ ตัวอย่างแรก คือ การนำศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานของเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและความต้องการของแต่ละชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรแปลงเล็ก เพื่อต่อยอดจุดแข็งของการทำเกษตรกรรมชุมชนให้ยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ด้วยการผนวกแนวคิดของการบริหารจัดการและเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบอุตสาหกรรมเข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า (Value chain) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการเกษตร ซึ่งได้นำร่องเป็นโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่แรกร่วมกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรชุนชนบ้านหนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จึงเป็นที่มาของ “บ้านบึงโมเดล” เพื่อให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และจะใช้บ้านบึงโมเดลเป็นกลไกในการขยายผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการรวมกลุ่มของเกษตรกรกว่า 80 กลุ่มทั่วประเทศ มีการเรียนรู้ต่อยอดและพัฒนาศักยภาพในการจัดการระบบเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สร้างงานสร้างรายได้ ทำให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตัวอย่างที่สอง คือ การนำศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมมาช่วยต่อยอดการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในรูปแบบของธุรกิจยุคใหม่ ผ่านโครงการ Agro Beyond Academy ซึ่งเป็นการเรียนออนไลน์ในรูปแบบของ E-Learning เป็นนิว นอร์มอล ของการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาภาคเกษตรด้วยวิธีการใหม่ๆ โดยทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับ คุณวู้ดดี้ พิธีกรแถวหน้าของประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่มีใจอยากเข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรไทย โดยคุณวู้ดดี้จะมาร่วมเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมทั้งได้เชิญนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่ประกอบธุรกิจเกษตรในรูปแบบของธุรกิจยุคใหม่ เช่น คุณโจน จันได เจ้าของพันพรรณ บ้านดิน, คุณเมย์ เจ้าของร้านอาฟเตอร์ยู, คุณนาขวัญ เจ้าของแบรนด์ NANA Fruit ผลไม้อบแห้ง และยังมีอีกหลายท่านซึ่งเป็นผู้ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารจนประสบความสำเร็จ มาร่วมเป็นวิทยากรที่จะมาให้แนวคิด สร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการทำเกษตรอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างและบ่มเพาะให้ผู้ที่สนใจอยากเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้กลายเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.agrobeyond.com หรือติดตามข้อมูลได้จาก Fan page ของคุณวู้ดดี้ (Woody) ทั้งสองตัวอย่างนี้ เป็นผลการดำเนินภายใต้นโยบายเกษตรอุตสาหกรรมของรัฐบาล ด้วยการใช้กลไกในรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทย ผ่านการนำศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งภารกิจการยกระดับ “เกษตรกรรม” ให้เป็น “เกษตรอุตสาหกรรม” ถือเป็นงานที่มีความท้าทาย ซึ่งไม่ง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก และเชื่อได้ว่า เกษตรอุตสาหกรรมจะทำให้พี่น้องเกษตรกรไทยมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ดีและมั่นคงขึ้น อีกทั้งจะยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวและกลับมาเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2253526
04 ก.ค. 2020
คิดเห็นแชร์ : "ฟื้นฟูเศรษฐกิจในไทย…ประเทศไทยเข้มแข็ง"
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แถลงข่าวเรื่อง “มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ดีพร้อมทันที 90 วัน” เพื่อเร่งฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยและทั่วโลกต่างกำลังเผชิญ โดยหลายประเทศได้ใช้มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ด้วยการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศลงอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยมีกำลังซื้อลดลง ทำให้มีมูลค่าการส่งออกลดลง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศ การเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Trip) ลดลง อย่างไรก็ดี อาจเป็นข่าวดีที่มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อทั่วโลกลดลง แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและพบว่ามีประเทศใหม่ ๆ ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ คาดว่ามีผลยืดเยื้ออย่างน้อยถึงปี 2564 ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบจากการขายสินค้าหรือบริการลดลง ทำให้มีรายได้ลดลง ขาดสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ จึงต้องลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนแรงงาน ทำให้แรงงานกลายเป็นคนตกงาน และคนเหล่านั้นเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพตามต่างจังหวัดบ้านเกิดซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งจากพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งคืออนาคตของประเทศ ผ่านการฟื้นฟูและส่งเสริม 4 กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผล กระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม คนว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร เพื่อให้ก้าวสู่วิถีการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่หรือที่เรียกว่า “นิว นอร์มอล” จึงเป็นที่มาในการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตาม “มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ดีพร้อมทันที 90 วัน” โดยผมขอใช้โอกาสนี้แชร์ให้ทุกท่านได้ทราบรายละเอียดการฟื้นฟูและส่งเสริมทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมายกันครับ เริ่มต้นที่กลุ่มแรก คือ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะพี่น้องเอสเอ็มอีซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบในหลายมิติ ทำให้ต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูด้วยการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง (Cash flow) ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ ปรับธุรกิจให้อยู่รอดในวิกฤตและเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ความปกติวิถีใหม่ (New Normal) พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็น สร้างองค์ความรู้ที่ทันสมัย เช่น การปรับการตลาดรูปแบบใหม่ การเพิ่มผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม กลุ่มที่ 2 คือ คนว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนคุณภาพที่เราต้องผลักดันให้มีช่องทางในการทำมาหากิน โดยใช้ทักษะและประสบการณ์ที่เคยทำงานในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความเป็นผู้ประกอบการ สร้างอาชีพอิสระ และส่งเสริมให้สามารถเริ่มสร้างธุรกิจของตนเองได้ รวมถึงจะบ่มเพาะคนที่มีความฝันมีไอเดียอยากจะเริ่มทำธุรกิจหรือบริการตามที่ตนเองถนัดให้มีองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน กลุ่มที่ 3 คือ ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน โดยจะเน้นสร้างความเข้มแข็งและการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในชุมชน ผ่านการยกระดับการค้า การผลิตและบริการ เพื่อให้พี่น้องในชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตด้วยเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรง เพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้กับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป็นที่บ่มเพาะนักธุรกิจอุตสาหกรรมชุมชนร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้วยการให้นักศึกษาที่มีไอเดียใหม่ๆ มีโอกาสเข้าไปฝึกงานในชุมชน เพื่อสร้างความเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมชุมชน ต่อยอดจุดเด่นและจุดขายให้ชุมชน และอาจปรับรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนจากเดิมที่ดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าพักโฮมสเตย์ในพื้นที่ เป็นการเที่ยวแบบ Day Trip เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย กลุ่มสุดท้าย คือ เกษตรกร ซึ่งการทำเกษตรกรรมถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เราจึงต้องต่อยอดจุดแข็งด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ผ่านการยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็น “เกษตรอุตสาหกรรม” ด้วยการเพิ่มองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ การเงิน และการตลาด การใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการทำเกษตรอุตสาหกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็น “นักธุรกิจเกษตร” ที่เข้มแข็ง “มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ดีพร้อมทันที 90 วัน” เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะช่วยฟื้นฟูและส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาเข้มแข็งจากภายใน ซึ่งหลังจากนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยรองรับวิถีความปกติใหม่ โดยจะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนกว่าล้านคน สร้างความเข้มแข็งให้โลคอลอีโคโนมี (Local Economy) หรือ “เศรษฐกิจในไทย” ต่อไป ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2217969
06 มิ.ย. 2020
คิดเห็นแชร์ : "นิวนอร์มอล" โอกาสของธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ…เดือนที่ผ่านมาอาจมีผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากให้วันเวลาผ่านไปโดยเร็ว เพราะคงมีหลายท่านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี ปลายอุโมงค์ยังมีแสงสว่างอยู่เสมอ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณบวกและมีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ก่อนนานาประเทศ สะท้อนจากตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่ลดลงในระดับต่ำกว่าสิบคนต่อวัน รวมถึงตัวเลขผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านได้เกินกว่าร้อยละ 90 รัฐบาลจึงมีมาตรการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการกลับมาเริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นและคงต้องมีมาตรการป้องกันอีกพักใหญ่ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทยที่น่าจะกลับเข้าสู่ช่วงเวลาฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เราอาจยังไม่สามารถพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าบางประเภท รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะสถานการณ์ของโลกทั้งใบโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังคงเผชิญกับวิกฤตการณ์นี้กันอยู่ โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จำนวนยอดผู้ติดเชื้อสะสมมีมากกว่าสามล้านคนทั่วโลกและมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าสองแสนคน หากเปรียบวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิค-19 เป็นเหมือนภาพยนตร์สงคราม จะพบว่าประชาชนมีบทบาทเหมือนทหารแนวหน้าที่กำลังรบกับข้าศึกไวรัสโควิด-19 หากประชาชนต่อสู้โดยใช้อาวุธครบมือ (ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด) เราจะสามารถเอาชนะศึกครั้งนี้ได้โดยเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด และยังไม่เป็นภาระกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเปรียบเสมือนแพทย์สนามที่ต้องคอยรักษาทหารที่บาดเจ็บ (ประชาชนผู้ติดเชื้อ) อีกด้วย นอกจากนี้ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ประเทศที่เกิดสงครามจะได้รับความบอบช้ำไม่มากก็น้อย จึงต้องเร่งเยียวยาและฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาจมีบางสิ่งเปลี่ยนไปอย่างถาวร โดยสิ่งเหล่านั้นเรียกว่า นิว นอร์มอล (New Normal) หรือความปกติแบบใหม่ ซึ่งอะไรหลายๆ อย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคน หรือแม้กระทั่งมิติการประกอบธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจและสภาพสังคม เพราะทุกคนต้องปรับตัวจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นสิ่งคุ้นชินและกลายเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่บนโลกใบเดิม แม้แต่ภาครัฐเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วันนี้ผมเลยอยากจะแชร์ไอเดียที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ทำการวิเคราะห์โอกาสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นนิว นอร์มอล หลังสิ้นสุดสงครามไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยใน 6 มิติ ดังนี้ 1.Global Food Producers ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีความมั่นคงทางด้านอาหารสูง แม้ในสภาวะวิกฤตที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ ซึ่งตอกย้ำภาพการเป็นผู้นำในตลาดอาหารโลกได้เป็นอย่างดี โดยต้องเร่งพัฒนาทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยการใช้เกษตรอุตสาหกรรมพัฒนาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตอาหารอันดับ 1 ของโลก 2.Thai Digital Platforms ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์และระบบขนส่งสินค้าเอกชนสัญชาติไทยขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจ e-Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับแพลตฟอร์มคนกลางของการค้าออนไลน์ ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเกือบทั้งหมดเป็นของต่างประเทศ 3.National Quality Infrastructure & Local Economy ประเทศไทยควรเร่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างค่านิยมให้เห็นคุณค่าของสินค้าและบริการไทย (Made in Thailand) ควบคู่กับการส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศ ต่อท่อน้ำเลี้ยงให้เศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งของประเทศไทยจากภายใน 4.High Productivity & Industry 4.0 ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ปรับเพิ่มผลิตภาพภาคการผลิตและบริการด้วยการใช้เทคโนโลยีไอทีและระบบออโตเมชั่น ลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว เพื่อปรับระดับประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจของประเทศไปสู่นิว นอร์มอล ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากการข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศไทยอีกด้วย 5.Health and Wellness Tourism การที่ปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเสมือนไข่แดงที่ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิผลจนทั่วโลกต่างชื่นชม เราจึงควรใช้โอกาสจากจุดแข็งด้านระบบสาธารณสุขโปรโมตและยกระดับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจด้านอนามัย เน้นคุณภาพและความปลอดภัย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีทิศทางและโอกาสเติบโตต่อเนื่อง 6.Medical and healthcare Industry ประเทศไทยควรเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ผลิตสินค้าเพื่อใช้เองในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์และสินค้าที่จำเป็นในการป้องกันและรักษาชีวิตประชาชน เพื่อรองรับปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคต สุดท้ายนี้ ผมคาดว่านิว นอร์มอลทั้ง 6 มิติ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ทำการวิเคราะห์มานี้ จะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการหรือว่าที่ผู้ประกอบการใหม่ นำไปปรับใช้ในการวางแผนประกอบธุรกิจหลังวิกฤตสงครามไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง เพื่อช่วยกันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งและเติบโตยิ่งกว่าเดิม ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2166526
02 พ.ค. 2020
คิดเห็นแชร์ : มุมดี ๆ ในนาทีวิกฤตโควิด-19 (COVID-19)
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุดของปีแต่ในขณะนี้สิ่งที่ร้อนกว่าอากาศคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19(COVID-19) โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 มียอดผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่าล้านคนทั่วโลก และมียอดผู้เสียชีวิตกว่าห้าหมื่นคน โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 1,978 คน เสียชีวิต 19 คน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง วิกฤตการณ์ที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าผลลัพธ์ในหลาย ๆ มิติหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือเกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ว่า ในปี 2563 นี้ตัวเลข GDP ของไทยจะติดลบถึง 5.3% อันเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง โดยกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 43.6% ของ GDP รวมทั้งหมดคือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ “ในทุก ๆ วิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ” เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ ที่ทำให้เห็นมุมดี ๆ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาครัฐได้ออกมาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ส่งผลให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครลดปริมาณการสัญจรบนท้องถนนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยปริมาณยานพาหนะรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนลดลงกว่า 80% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากับปริมาณการปล่อยมลพิษไอเสียที่จะลดลงตามมาตรฐาน Euro 5 เมื่อเทียบกับมาตรฐาน Euro 4 ที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลให้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ วิกฤตย่อมเกิดขึ้นและสิ้นสุดลง โดยหลังจากวิกฤตสิ้นสุดลงแล้ว เราก็คงจะเห็นรถยนต์กลับมาวิ่งบนท้องถนนในกรุงเทพฯ กันอย่างหนาแน่นเหมือนเดิม ซึ่งอาจทำให้อากาศที่สะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดีหายไป แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีและโชคดีของคนไทย โดยรัฐบาลมีแผนในการยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษไอเสียของรถยนต์ให้เป็นมาตรฐาน Euro 5 ในปี’64 และเป็น Euro 6 ในปี’65 ตามลำดับ รวมถึงเร่งผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อทำให้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศมีคุณภาพที่ดีแบบนี้ไปตลอด สำหรับอีกหนึ่งมุมดี ๆ ของภาคธุรกิจไทยที่สามารถสร้างโอกาสดี ๆ ได้จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ผมมองว่ามีอยู่ 2 ภาคธุรกิจ คือ 1) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าอุปโภคและบริโภคเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และไม่ได้ประสบสภาวะขาดแคลนสินค้าเหมือนหลาย ๆ ประเทศ ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะอาหารในประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น สอดคล้องกับปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของไทยที่มีสัดส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 20.6% ดังนั้น เราจึงควรใช้โอกาสนี้สนับสนุนห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ โดยให้การส่งเสริมและยกระดับภาคการเกษตรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังทำแคมเปญ Shop4U โดยได้รวบรวมข้อมูลรายชื่อและพิกัดตำแหน่งที่ตั้งร้านขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคทางเลือกที่จำเป็น เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าไปค้นหาได้ที่เว็บไซต์ www.dip.go.th เพื่อลดความแออัดจากการที่ต้องไปซื้อสินค้าจากห้างร้านใหญ่ ๆ 2) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (E-Commerce) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของประชาชนเปลี่ยนไป จากที่เคยเลือกซื้อสินค้าตามร้านค้าต่างๆ มาสู่ช่องทางออนไลน์ (E-commerce) มากขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้จัดโครงการ “ปั้น SMEs ค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19” ซึ่งเป็นคอร์สอบรมออนไลน์ในรูปแบบไลฟ์สตรีมเป็นครั้งแรก เพื่อให้ประชาชนที่สนใจที่มีเวลาว่างตอนหยุดอยู่บ้าน ได้เรียนรู้วิธีการค้าขายออนไลน์ ซึ่งมีด้วยกัน 6 หลักสูตร ได้แก่ 1.ขายสินค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) 2.ขายสินค้าออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) 3.กระตุ้นยอดขายด้วยกูเกิล แอดเวิร์ด (Google AdWords) 4.การขายสินค้าผ่านยูทูบ (YouTube) 5.ตอบลูกค้าทันใจ ปิดการขายด้วยแชตบอต (Chat Bot) และ 6.กระตุ้นยอดขายด้วยภาพถ่ายและวิดีโอ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จากวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยก็ยังมีมุมดี ๆ ที่ทำให้คนไทยไม่ต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิต โดยการกักตุนสินค้าอุปโภค บริโภค เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพราะเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารและเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของโลก สะท้อนกับคำกล่าวที่ว่า “เงินทอง คือ ของมายา…ข้าวปลา คือ ของจริง” อีกทั้งเรายังสามารถหาซื้อหรือขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า เมื่อเราผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ เราคนไทยจะเข้มแข็งและมีแต่สิ่งดี ๆ จากโอกาสที่เราไขว่คว้าไว้ได้อย่างแน่นอน ที่มา https://news.trueid.net/detail/jOqzmxPGw6ra
04 เม.ย. 2020
คิดเห็นแชร์ : "ความสร้างสรรค์"… สร้างงาน สร้างรายได้
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของบ้านเราอย่างเป็นทางการ แต่ที่น่าจะร้อนกว่าอากาศก็คือ สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์อันแสนยากลำบากนี้อยู่เช่นกัน ถึงแม้ว่าอัตราการติดเชื้อของ ผู้ป่วยในบ้านเรายังไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจและไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายลงเมื่อใด ซึ่งในห้วงนี้ ผมอยากให้ทุกท่านเตรียมพร้อมรับมืออย่างมีสติ ไม่หลงเชื่อข่าวปลอมที่ทำให้ตื่นตระหนก โดยให้ติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออย่างใกล้ชิด ทั้งในมิติด้านวิทยาศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม มิติด้านศิลปศาสตร์และประวัติศาสตร์ เช่น งานออกแบบ งานศิลปะ อัตลักษณ์ มิติด้านอักษรศาสตร์และนิเทศศาสตร์ เช่น การสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ มิติด้านธุรกิจ เช่น รูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) เป็นต้น ซึ่งในมุมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม “ความสร้างสรรค์” คือ การรวมเอาทุกศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น มาบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอดภูมิปัญญา สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ และสร้างเรื่องราวให้เกิดความน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือหมู่บ้านซีไอวี (Creative Industry Village : CIV) โดยใช้ความสร้างสรรค์เป็นหัวใจในการพัฒนาชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และคาดหวังรายได้จากราคาพืชผลสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่หากเราใช้ความสร้างสรรค์เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านฉันทามติของชุมชน ค้นหาประเด็นความสร้างสรรค์ สร้างให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) จะทำให้สามารถเพิ่มช่องทางสำหรับสร้างรายได้จากธุรกิจเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านซีไอวีบ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน ที่มีการสร้างเรื่องราวนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชผลทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ นำมะไฟจีนมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง นำใบเมี่ยงมาทำชาเมี่ยง แชมพู และครีมบำรุงผิว ต่อยอดสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวมาชมวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน ถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลินไปกับแปลงสมุนไพรหลากชนิด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จุดเด่นต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเที่ยวในชุมชน เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการ สอดคล้องกับแนวคิดของรองนายกรัฐมนตรี ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ต้องการสร้างให้เกิดกลไกการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านแนวคิดการยกระดับโครงการ OTOP เฟสที่ 1 ที่เน้นส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เด่น ๆ ดัง ๆ ของชุมชน ให้เป็นโครงการ OTOP เฟสที่ 2 ที่จะยกระดับและขยายผลให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อป หรือโอท็อปวิลเลจ (OTOP Village) โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นหัวขบวนในการสร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่คนในชุมชน เช่น ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ของฝาก/ของที่ระลึก รวมถึงกิจกรรมสันทนาการ เป็นต้น โดยล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพัฒนาหมู่บ้านซีไอวีให้มีความโดดเด่น และให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ เฟ้นหาหมู่บ้านซีไอวีในพื้นที่ที่มีศักยภาพพร้อมที่จะยกระดับเป็นโอท็อปวิลเลจ จำนวน 11 หมู่บ้าน สร้างเป็นแลนด์มาร์กหรือจุดเช็กอินใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนไปเที่ยวชม และเกิดความประทับใจเมื่อได้มาสัมผัส ท้ายที่สุดนี้ ผมเชื่อว่าความสร้างสรรค์จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม กระจายรายได้สู่คนในชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพลังที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และผมคาดหวังว่า จะได้เห็นคนรุ่นใหม่ ที่มีไอเดียดี ๆ นำสิ่งเหล่านี้กลับไปพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของเขา ต่อยอดจากความสร้างสรรค์จากต้นทุนที่มีอยู่เดิม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และดีพร้อมไปด้วยกัน ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2032433
07 มี.ค. 2020