"รมต. เอกนัฏ" หนุน คพอ.ดีพร้อม เปิดหลักสูตร 5 Module ใหม่ ขยายรุ่น ครอบคลุมทั่วไทย ยึดโยงเครือข่าย Smart SMEs 13,000 ราย บริหารจัดการทุกมิติ เสริมพลังผู้นำดีพร้อม
กรุงเทพฯ 6 พฤศจิกายน 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ผู้ประกอบการที่ผ่านหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) เข้าพบ นำโดยนายณัฐพล แสงฟ้า ประธาน คพอ. เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอาทิตย์ พัฒนพงศ์ชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม เข้าร่วมหารือการขับเคลื่อนเครือข่าย คพอ.ดีพร้อม ณ อาคารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต หลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมของดีพร้อม เริ่มตั้งปี 2523 เป็นระยะเวลากว่า 44 ปี จำนวน 412 รุ่น มีผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ทายาทธุรกิจ กว่า 13,000 ราย ที่ผ่านการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการทั่วประเทศให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกด้าน พร้อมเชื่อมโยงเครือข่าย แลกเปลี่ยนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการมีความต้องการให้เพิ่มหลักสูตรมากขึ้นจาก 12 รุ่นเป็น 20 รุ่น เพื่อพัฒนา SME ให้เป็น Smart SME และยกระดับธุรกิจให้เติบโต เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย มากยิ่งขึ้น โดยดีพร้อมจะเพิ่มหลักสูตรให้รองรับความต้องการของผู้ประกอบการและปรับหลักสูตรตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” เน้นการบริหารจัดการในทุกมิติเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก และปรับรูปแบบการเรียนการสอนจาก Class room เป็น Sharing และ Coaching พร้อมดึงผู้ประกอบการใหม่เข้ามามีส่วนร่วมผ่าน 5 Module ประกอบด้วย 1) การเสริมสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 2) การบริหารจัดการในมิติต่าง ๆ 3) การเสริมสร้างพลังความเป็นผู้นำ 4) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และ 5) การจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจ
11 พ.ย. 2024
“รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ” ถก ซีเกท ผู้นำอุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์ ขานรับCircular Economy สู่ความยั่งยืน
กรุงเทพฯ 6 พฤศจิกายน 2567 - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท ซีเกท (ประเทศไทย) จำกัด และคณะเข้าพบ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมแนะนำบริษัทฯ การดำเนินธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งรับทราบวิสัยทัศน์และนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” หารือถึงฐานการผลิตในประเทศไทยของบริษัทฯ ที่จังหวัดนครราชสีมา สมุทรปราการ และความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการถ่ายทอดความรู้และทักษะแรงงานไทยในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายอรรถวิชช สุวรรณภักดี ประธานที่ปรึกษาคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมประชุม ณ อาคารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ถนนวิภาวดีรังสิต บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟแบบครบวงจร เช่น การผลิตนาโนทรานส์ดิวเซอร์ การประกอบหัวอ่าน-เขียนและชุดหัวอ่าน-เขียนสำเร็จรูป การประกอบฮาร์ดไดรฟ์สำเร็จรูป การทดสอบคุณภาพ รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีฐานการผลิต 2 แห่ง คือ โรงงานซีเกท (เทพารักษ์) เน้นกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรที่สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในการประกอบชุดหัวอ่าน-เขียน (nano-recording head) และโรงงานซีเกท (โคราช) ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม“ สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การสร้าง Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นสู่ความยั่งยืน โดยมีการบูรณาการนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เน้นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการนำวัสดุเหลือทิ้งเดิมมาเพิ่มมูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม นอกจากนี้ ควรมีการนำ Ecosystem ในการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม โดยทางกระทรวงฯ ได้เร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ยกร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อบูรณาการภารกิจด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นกฎหมายเฉพาะ แยกออกมาจากกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และเพิ่มภารกิจด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งดำเนินการจัดตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อรวมกองทุนทั้งหมดและจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ นอกจากนี้ ยังได้ชื่นชมบริษัท ซีเกท (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ดี พร้อมให้ความร่วมมือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมในการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาแรงงานไทย พัฒนาบุคลากร และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สู่ปฏิรูปอุตสาหกรรมในอนาคต
11 พ.ย. 2024
"อรรถวิชช์" ประชุม คกก.ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตฯ ครั้งที่ 5/2567 ติดตามความคืบหน้าการร่าง กฎหมายการจัดการกากอุตสาหกรรม-ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และจัดตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 4 พฤศจิกายน 2567 - นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ประชุมคณะกรรมการฯ โดยมีนางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวชิระ ไม้แพ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และคณะกรรมการฯ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมได้มีการประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. … ในประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยได้มีการทบทวนหลักการและทำความเข้าใจในประเด็นที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ต้องการเข้าไปบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และในขณะเดียวกัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ประกอบการ จนมากเกินความจำเป็น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือจนได้ข้อยุติในเชิงหลักการทั้งหมดครบถ้วนทุกประเด็น ในขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการปรับปรุงในรายละเอียดของกฎหมาย ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และ ในส่วนของกองทุน จนแล้วเสร็จเป็นกฎหมายร่างแรกเพื่อนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน ในการตราพระราชบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนั้น คณะกรรมการยังได้หารือถึงแนวทางการพัฒนากองทุนในกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน” ในประเด็นที่มาของรายได้ของกองทุนให้สอดคล้องกับภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งการปฏิรูปอุตสาหกรรมของประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องเงินทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม โดยมีความเห็นในหลักการว่า กองทุนควรมีวัตถุประสงค์และอำนาจในการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้แก่กองทุน เป็นการตรวจสอบ รับรอง หรือการเป็นตัวกลางในกิจกรรมสำคัญของภาคเอกชนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการของกฎหมายกองทุน โดยมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบไปทำการศึกษาเพิ่มเติมและนำกลับมานำเสนอในการประชุมครั้งหน้า เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
06 พ.ย. 2024
"ดีพร้อม" ร่วมสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ”ตามข้อสั่งการ รมต.เอกนัฏ“ จัดทำเสื้อเกราะกันกระสุน และวัสดุต้นแบบแก้ปัญหาอุทกภัย ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าร้อยละ 50
กรุงเทพฯ 28 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมประชุมแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศร่วมกับกับสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย นำโดยนายวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย นายภานุรุจ มงคลบวรกิจ เลขาธิการสมาคม พร้อมด้วยนายมนตรี วงค์มั่นกิจการ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นายอาทิตย์ พัฒนพงศ์ชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม นายกิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นายเจษฎา ถาวรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว เป็นการหารือถึงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์) ในการปฏิรูปอุตสาหกรรม เสริมความเข้มแข็งของประเทศผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ ควบคู่ไปกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตภายในประเทศ ซึ่งดีพร้อมขานรับนโยบายดังกล่าว โดยพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมต่อยอดงานวิจัยเกราะกันกระสุนผสมใยกัญชงให้ได้มาตรฐานและขยายผลเชิงพาณิชย์ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 50 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 20 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการให้คำปรึกษาแนะนำและแก้ไขให้สายพานที่ติดมากับหุ่นยนต์กู้ภัยจากต่างประเทศมาออกแบบทำใหม่ทดแทนตัวเก่า รวมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานต์รบ ช่วยรบ อุตสาหกรรมต่อเรือ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ดีพร้อมยังได้หารือถึงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ และได้ร่วมวางแนวทางในการจัดเตรียมอุปกรณ์ เตรียมความพร้อมด้านวัสดุต้นแบบในการทำอุปกรณ์ป้องกันอุทกภัย สามารถลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยได้กว่า 3.1 พันล้านบาท ซึ่งมีจำเป็นต้องใช้แม่พิมพ์ในการผลิต และจัดทำต้นแบบให้สามารถรองรับอุทกภัยได้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน โดยสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ตอบรับการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ พร้อมมุ่งหวังในการส่งเสริมให้สมาชิกหรือผู้ประกอบการได้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สนับสนุนการใช้แม่พิมพ์ภายในประเทศ ป้องกันการนำเข้าจากต่างประเทศ
06 พ.ย. 2024
“ณัฏฐิญาฯ นำดีพร้อม“ จัดหนักกลั่นแผนบูรณาการซอฟต์พาวเวอร์ “ขายฝัน นพ.สุรพงษ์ - ดร.พันศักดิ์“ ซื้อแผนฯ ยันให้ดีพร้อมเดินหน้า 5 pillars รับโจทย์ "รมต.เอกนัฏ" เป็นเจ้าภาพแฟชั่นและอาหาร หนุนเศรษฐกิจไทยไปสู่โลก
กรุงเทพฯ 31 ตุลาคม 2567 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติครั้งที่ 1/2567 (ครั้งที่ 8 ) ร่วมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม และนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนแผนบูรณาการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นและอาหาร ได้รับนโยบายจาก นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุก "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" เซฟพี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมวัฒนธรรม ธุรกิจ และความเป็นไทยให้ก้าวสู่ Soft Power ในระดับสากลเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการของประเทศไทย โดยแนวทางการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่ง “สร้างสรรค์ และต่อยอด” ให้เกิดเสน่ห์คุณค่าและเพิ่มมูลค่า แตกต่างด้วยอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรม เพิ่มทักษะ เทคนิคเชิงสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่า “โน้มน้าว” ให้เกิดการยอมรับเปิดใจ สร้างการยอมรับผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งไทยและสากล ชักจูงให้เปิดใจผ่านการสร้างการรับรู้และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นความต้องการผ่านการถ่ายทอดของผู้ที่มีชื่อเสียง และ “เผยแพร่” ให้เป็นที่รู้จักผ่านการจัดอีเวนท์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานเทศกาลประจำปีของไทย ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น Social Media ทั้งนี้ รปอ.รก.อสอ. ณัฏฐิญา ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่ดีพร้อมได้รับการจัดสรรทั้งหมด ทั้งในส่วนของ Soft Power สาขาอาหารและแฟชั่น งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับดำเนินงานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยและประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ตลอดจนกล่าวถึงแนวทางการสร้างและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหารและแฟชั่นของดีพร้อม อันประกอบด้วย 5 เสาหลัก คือ 1) ศึกษาและพัฒนาทรัพยากร และทุนทางวัฒนธรรม อย่างสร้างสรรค์ 2) พัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อน Soft Power ไทย 3) พัฒนาธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ของ Soft Power ไทย 4) ส่งเสริม Soft Power ไทย สู่ระดับประเทศและระดับสากล 5) สนับสนุนปัจจัยเอื้อ ในการส่งเสริม Soft Power ไทย โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดภาพการบูรณาการทุกภาคส่วนในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ทุกสาขาของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสอดรับกับนโยบายรัฐบาลและตรงตามความต้องการในการแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง
06 พ.ย. 2024
"OTAGAI” ดีพร้อม ขานรับนโยบาย "รมต.เอกนัฏ" คิกออฟผู้ประกอบการไทยเร่งเสริมศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่าย กรุยทางธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น สู่ตลาดสากล
กรุงเทพฯ 30 ตุลาคม 2567 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับนายนากานิชิ มิตสึรุ (Mr. NAKANISHI Mitsuru) ประธานศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo SME Support Center Japan) และคณะ พร้อมด้วย นางสาวนูมาจิริ ยูมิ (Ms. NUMAJIRI Yumi) ผู้ช่วยทูตพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โดยมีนายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคารกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 4 นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ที่ได้ร่วมลงนามใน MOU และแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Framework) ถึง 6 ครั้ง ระหว่างปี 2560 - ปัจจุบัน เพื่อพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น LASI (Lean Automation System Integrator) LIPE (Lean IoT Plant Management and Execution) และ SMST (Smart Monodzukuri Support Team for Thailand) และ DXSP (Digital Transformation Service Provider) นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวไปสู่ Industry 5.0 ซึ่งจะเน้นการทำงานระหว่างเทคโนโลยีกับคนมากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาทักษะให้กับคนทุกระดับในองค์กร และนอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วยังคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น Medical Hub Functional Food จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ นางสาวณัฏฐิญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว (Tokyo SME Support Center) และดีพร้อม ได้สานต่อความร่วมมือและมีการจัดกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมและเชื่อมโยง SMEs ของไทยและโตเกียว โดยเมื่อวานนี้ วันที่ 29 ตุลาคม 2567 Tokyo SME Support Center ได้จัดงาน Tokyo-Thailand Green Tech Business Connecting 2024: Sustainability and Productivity เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและไทยผ่านการสร้างเครือข่ายกับธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลทางธุรกิจ รวมถึงนำเสนอแนวคิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นโอกาสที่จะร่วมมือกันต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดสากล” รุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อโอกาสการขยายธุรกิจไทย – ญี่ปุ่น ตามแนวทาง OTAGAI (The OTAGAI Forum of TH – JP Business Network) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อโอกาสการขยายธุรกิจไทย – ญี่ปุ่น ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกิจกรรมตามแนวทาง OTAGAI เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารแปรรูป ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายและขยายธุรกิจสู่ตลาดสากล นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย
06 พ.ย. 2024
"เอกนัฏ" นำทีม "ดีพร้อม" ผนึกกำลัง "จังหวัดโทคุชิมะ" ลงนามความร่วมมือ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นโตอย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ 31 ตุลาคม 2567 – นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 5 โรงแรม S31 กรุงเทพฯ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” มุ่งเซฟผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันอุตสาหกรรมยุคใหม่ อีกทั้ง ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้ในตลาดสากล ผ่านการต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ควบคู่ไปกับการสร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง “ดีพร้อม” และ “จังหวัดโทคุชิมะ” ที่จัดขึ้นในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มมีความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และในวันนี้ ดีพร้อมได้มีความร่วมมือและเชื่อมโยงธุรกิจกับจังหวัดโทคุชิมะที่เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาหารแห่งอนาคต ที่ล้วนเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งคาดว่าจากพิธีลงนามฯ ดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท ด้านนายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ กล่าวเสริมว่า จังหวัดโทคุชิมะตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกาะ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้จังหวัดโทคุชิมะ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และอาหารแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องจักร ยานยนต์ และแบตเตอรี่ ซึ่งในวันนี้ ได้นำผู้ประกอบการรายใหญ่ของจังหวัดทั้งในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ยานยนต์ และเครื่องจักร หลายรายมาร่วมในกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ตามที่ทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจจะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ และทำให้เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้เติบโตควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน นายโกโตดะ กล่าวทิ้งท้าย
01 พ.ย. 2024
"ดีพร้อม" ปั้นทีม Agent ดีพร้อม Upskill / Reskill เสริมทักษะเติมทุนมนุษย์ในสถานประกอบการ SMEs ปั้นนักส่งเสริมมาตรฐานองค์กรผลิตภาพ สร้างความเสมอภาคให้ SMEs ตามที่ รมต.เอกนัฏ สั่งเซฟอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 29 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิด “การส่งเสริมมาตรฐานองค์กรแห่งผลิตภาพ สร้างความสุขในสถานประกอบการให้ดีพร้อม (DIPROM)” ภายใต้การส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace) โดยมี นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เซฟอุตสาหกรรมไทย โดย ดีพร้อม ได้บูรณาการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการส่งเสริมมาตรฐานองค์กรแห่งผลิตภาพ สร้างความสุขในสถานประกอบการให้ดีพร้อม (DIPROM) ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาจนถึงระยะที่ 4 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง เดือนสิงหาคม 2566 ถึงเดือนสิงหาคม 2569 งบประมาณสนับสนุนจาก สสส. จำนวน 16.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารของสถานประกอบการมีความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเพิ่มผลิตภาพในองค์กร โดยเน้นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตบุคลากรในองค์กรด้วยแนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) และเพื่อผลักดันให้มาตรฐานองค์กรแห่งผลิตภาพถูกนำไปใช้ในงานส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ นอกจากนี้ รปอ.รก.อสอ. ณัฏฐิญา ยังมีความยินดี และเชื่อมั่นในหน่วยงานของดีพร้อมว่ามีบุคลากรที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ Upskill / Reskill เสริมทักษะเติมทุนมนุษย์ในสถานประกอบการ SMEs สามารถประเมิน และรับรองสถานประกอบการสู่การรับรองมาตรฐานองค์กรผลิตภาพได้ พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดีพร้อมมีความตระหนักในประโยชน์ของการนำแนวทางการดำเนินงานให้เป็นองค์กรผลิตภาพสร้างความเสมอภาคให้ SMEs และต่อยอดสู่ระดับนโยบายของดีพร้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความสุขของคนทำงานในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งนี้ รูปแบบการฝึกอบรมเป็นการบรรยายและ Workshop ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อธิวัฒน์ เจี่ยวิวรรธน์กุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2567 และมีเจ้าหน้าที่ดีพร้อมจากทั้งในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมกว่า 200 คน
01 พ.ย. 2024
"ซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร ให้ดีพร้อม" รับโจทย์ "รมต.เอกนัฏ" ตีแผ่แผนบูรณาการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นและอาหารไทย ปั้นกระแส เผยแพร่ โน้มน้าว
กรุงเทพฯ 29 ตุลาคม 2567 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการ Soft Power ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ร่วมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร และสาขาแฟชั่น เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสอดคล้องกับนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุก "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" เซฟพี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมวัฒนธรรม ธุรกิจ และความเป็นไทยให้ก้าวสู่ Soft Power ในระดับสากล เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการของประเทศไทย โดยแนวทางการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่ง “สร้างสรรค์ และต่อยอด” ให้เกิดเสน่ห์คุณค่าและเพิ่มมูลค่า แตกต่างด้วยอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรม เพิ่มทักษะ เทคนิคเชิงสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่า “โน้มน้าว” ให้เกิดการยอมรับเปิดใจ สร้างการยอมรับผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งไทยและสากล ชักจูงให้เปิดใจผ่านการสร้างการรับรู้และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นความต้องการผ่านการถ่ายทอดของผู้ที่มีชื่อเสียง และ “เผยแพร่” ให้เป็นที่รู้จักผ่านการจัดอีเวนท์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานเทศกาลประจำปีของไทย ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น Social Media ในปีงบประมาณ 2568 ดีพร้อมได้วางแผนการดำเนินการทั้งสิ้น 7 โครงการ โดยโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ประกอบด้วย 1) การยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย 2) การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย 3) การยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน 4) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน ส่วนโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาแฟชั่น ประกอบด้วย 1) การพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น 2) การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล และ 3) การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แฟชั่นและหัตถกรรมสิ่งทอระหว่างประเทศ
01 พ.ย. 2024
"เอกนัฏ" ลุยตรวจพื้นที่อยุธยา ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ลั่นเอาผิดผู้ลักลอบและเพิ่มโทษทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด!
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา : 25 ตุลาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจราชการ อำเภอภาชีและอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ 1) โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 ตัน ถูกเททิ้งอยู่โดยรอบอาคารโกดังเก็บของเสียอันตรายจำนวน 5 โกดัง และมีการลอบวางเพลิงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 6.9 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น 2) บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการเททิ้งของเสียบริเวณหน้าพื้นที่โรงงาน มีร่องรอยการเททิ้งของเหลวที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นเต็มพื้นที่บริเวณโรงงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมดำเนินคดี และสั่งการให้บริษัทฯ นำกากของเสียและสารอันตรายไปกำจัดและบำบัดให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้จัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น “กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม และครอบคลุมถึงการบรรเทาเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการยกร่าง กฎหมายเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจสอบกำกับดูแล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจกำกับ สั่งการ เพิกถอนใบอนุญาต และขอยืนยันว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย
28 ต.ค. 2024