โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ต่อลมหายใจมรดกงานศิลป์จากยุคกรุงศรีฯ
ขันลงหินบ้านบุถือเป็นมรดกตกทอดของชุมชนบ้านบุ ริมคลองบางกอกน้อย ที่สืบสานกันมายาวนานย้อนไปไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในอดีตชาวบ้านบุทำงานหัตถกรรมขันลงหินกันแทบทุกบ้าน แต่วันนี้กลับเหลือผู้ที่ยังสืบทอดเพียงหลังคาเดียว และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย โดยคุณเมตตา เสลานนท์ ทายาทรุ่นที่ 6 ได้ดำเนินกิจการโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจาต่อจากมารดา แต่แล้วมรดกงานศิลป์อย่างขันลงหินบ้านบุเกือบจะต้องสิ้นชื่อ เมื่อกลางดึกคืนหนึ่งได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในชุมชนบ้านบุสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหลายสิบหลัง รวมถึงบ้านที่ทำขันลงหินแห่งเดียวในชุมชนแห่งนี้ ห้องแสดงสินค้าขันลงหินของเก่าของหายากมากมาย รวมทั้งสต็อกสินค้าที่เตรียมส่งให้ลูกค้า ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด แต่ในความโชคร้ายยังมีโชคดีอยู่บ้าง เปลวไฟลุกลามไปไม่ถึงส่วนของโรงงาน ซึ่งเป็นที่เก็บอุปกรณ์และสถานที่ผลิต ไม่เช่นนั้นแล้วอุปกรณ์ทำขันลงหินบางอย่างที่อายุเป็นร้อยปี ซึ่งตอนนี้นับว่าหาได้ยากแล้ว ก็คงไหม้ไปหมด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสืบสานการทำขันลงหินบ้านบุนี้ต่อไป คุณเมตตาตั้งใจว่าจะต้องเปิดโรงงานอีกครั้งให้ได้ ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือเรื่องของเงินทุน เพราะของในสต็อกที่เตรียมขายลูกค้ามอดไหม้ไปในกองเพลิง เพื่อนสนิทของเธอจึงแนะนำให้เข้าไปขอคำปรึกษาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยภายหลังคุณเมตตาได้เข้าโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (Revolving Fund for Cottage and Handicraft Industries: CF) ทำให้มีเงินทุนมาจัดหาวัตถุดิบและหมุนเวียนใช้ในกิจการ นับเป็นการต่อลมหายใจให้โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจากลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง “เงินทุนก้อนนั้นช่วยต่อลมหายใจให้เรา ทำให้มีเงินไปซื้อวัตถุดิบ ชำระหนี้เก่า จ่ายค่าแรงให้ช่างฝีมือ ถ้าเราหยุดไปตั้งแต่วันนั้นช่างฝีมือดี ๆ ก็จะหายไป ภูมิปัญญาขันลงหิน อาจไม่ได้สานต่อมาถึงวันนี้” จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในวันนั้น ปัจจุบันผ่านไป 15 ปี โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ยังคงยืนหยัดทำงานหัตถกรรมขันลงหินอย่างแข็งขัน พร้อมจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงงาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเรื่องราวของขันลงหินบ้านบุไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน พร้อมรอต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือน คุณเมตตา เสลานนท์ เจ้าของกิจการโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา 133 ตรอกบ้านบุ ถ.จรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2424 1689, 08 1615 7840 โทรสาร : 0 2424 1689 อีเมล : jiamssiam@hotmail.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2557
หจก.เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค กระดาษสาไทยไปนอก
หลังจากสำรวจตลาดว่าสินค้าใดมีโอกาสทางธุรกิจ และตัวเองมีศักยภาพผลิตได้ คุณสังวร ลานยศ เริ่มมองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์กระดาษสา เพราะตนเองเป็นชาวสันกำแพง พื้นฐานครอบครัวผลิตร่มขายอยู่ในหมู่บ้านบ่อสร้าง จึงมีความคุ้นเคยกับงานหัตถกรรมประเภทนี้เป็นอย่างดี ใน พ.ศ. 2534 คุณสังวรตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจนี้ โดยเข้าไปขอคำปรึกษาจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค ผู้ประกอบการโอทอปผลิตภัณฑ์จากกระดาษสารุ่นแรก ๆ ของเชียงใหม่ และใช้องค์ความรู้ที่ได้รับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เครื่องเขียนการ์ดอวยพร สมุดบันทึก อัลบั้ม ของขวัญ ของที่ระลึก เครื่องตกแต่งบ้าน ฯลฯ ในช่วงแรกคุณสังวรเน้นออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศแทบทุกเดือน ซึ่งล้วนเป็นงานขนาดใหญ่ กลุ่มลูกค้าตรงเป้า ทำให้มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยแรงงานที่ไม่เพียงพอ จึงมักประสบปัญหาผลิตไม่ทันตามคำสั่งซื้อของลูกค้า คุณสังวรจึงนึกถึงพี่เลี้ยงคนสำคัญอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้ง และได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท (สอช.) เพื่อสร้างกลุ่มคลัสเตอร์กระดาษสา กระจายการผลิตสู่ท้องถิ่น โดยใช้วิธีส่งพี่เลี้ยงลงไปอบรมการผลิตกระดาษสาให้กับชาวบ้าน พร้อมดูแลการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อคุมคุณภาพสินค้า ขณะที่วัตถุดิบทุกอย่างจัดหาให้ ชาวบ้านก็มีงานมีรายได้ จากเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 30 คน ทุกวันนี้มีชาวบ้านที่เป็นแรงงานให้กับเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค ถึง 1,500 คน ในพื้นที่ประมาณ 10 ตำบล ในเขตอำเภอสันกำแพง ดอยสะเก็ด สารภี และกิ่งอำเภอแม่ออน แน่นอนว่าเมื่อมีแรงงานผลิตมากขึ้น ยอดขายก็พุ่งทะยานขึ้นเป็นเงาตามตัว ต่อมาคุณสังวรยังได้เข้าร่วมโครงการชุบชีวิตนักธุรกิจไทย จากปัญหาด้านกระบวนการผลิตที่มีการสั่งซื้อวัตถุดิบซ้ำ ไม่มีการบันทึกยอดการผลิตอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนและสื่อสารข้อมูลภายในผิดพลาดโดยมีการนำระบบไอทีมาใช้ในการผลิตที่มีกว่า 20 ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการคุมคลังสินค้าเบิกจ่ายสินค้า ตรวจนับสินค้า ฯลฯ โดยเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เขียนขึ้นเองให้เหมาะสมกับการทำงาน ใช้ทุนเพียงประมาณแสนกว่าบาท เมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด “ผมมีเป้าหมายส่งเสริมหัตถกรรมของไทยสู่ตลาดโลกแบบมีแบบแผน ซึ่งมีทางเป็นไปได้ เพราะลูกค้าต่างชาติชอบงานหัตถกรรมแฮนด์เมด ซึ่งเราใช้จุดนี้ กับการออกแบบที่โดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ตลาดต่างประเทศยอมรับ” ในวันนี้ความฝันของคุณสังวรเป็นความจริงแล้ว เมื่อผลิตภัณฑ์กระดาษสาของเขาในชื่อ “Inter paper” ก้าวสู่เวทีโลกได้สำเร็จ ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่เป็นงานทำมือคุณภาพมาตรฐานส่งออก การออกแบบที่สร้างสรรค์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ คุณสังวร ลานยศ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค 96/14 หมู่ที่ 2 ต. สันกำแพง อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ : 0 5333 2520, 08 1882 2013 โทรสาร : 0 5339 2154 เว็บไซต์ : www.interdec.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2557
“ภูษิต” เปลือกไข่วิจิตรศิลป์ งานศิลปะเครื่องประดับไทยโกอินเตอร์
จากพิษเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ต้องละทิ้งธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ แล้วหันมาดำเนินธุรกิจงานฝีมือที่ได้แรงบันดาลใจมาจากของที่ระลึกสมัยราชวงศ์รัสเซีย คือ “ไข่ฟาแบร์แช่” ซึ่งเป็นสินค้าเครื่องประดับที่มีราคาขายสูงถึงหลักร้อยล้านบาท คุณภูษิต กาญจนศิริปาน เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ เปลือกไข่วิจิตรศิลป์ ภายใต้แบรนด์ “ภูษิต” ได้ใช้ความสามารถด้านศิลปะที่มีอยู่เป็นทุนเดิม บวกกับความเชื่อเรื่องสัตว์ปีก ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล ทั้งการก่อเกิดและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งคนแถบเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น และคนฝั่งยุโรป มีความเชื่อและเข้าใจความหมายของสินค้าเป็นอย่างดี แม้ว่าสินค้าเครื่องประดับที่ผลิตขึ้นจะมีความประณีตงดงามและมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ยังไม่สามารถเจาะตลาดต่างประเทศอย่างที่กล่าวมาได้อย่างตรงจุด จึงเป็นที่มาของการมองหาช่องทางในการพัฒนารูปแบบสินค้าเพื่อให้สามารถดึงความสนใจจากลูกค้า และขายสินค้าได้ตรงตามเป้าหมาย โดยได้เข้ารับคำแนะนำจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพ OTOP/วิสาหกิจชุมชนด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ (DIP CAMP Product 2014) อีกทั้งยังเข้าร่วมทดสอบตลาด และศึกษาดูงานการจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ยิ่งขึ้น “หลังการอบรมและศึกษาดูงาน เราสามารถเห็นช่องทางการตลาดมากขึ้น รู้ว่าแต่ละประเทศมีสีสันที่ชอบและไม่ชอบอย่างไร ไม่ใช่ว่างานหนึ่งชิ้นจะสามารถขายได้ทุกประเทศทั่วโลก การศึกษาดูงานพร้อมหมั่นแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรารู้พื้นฐานวัฒนธรรมของคนแต่ละประเทศ จนทำให้เรามีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบสินค้าขึ้นใหม่ มีการใช้สีและลวดลายที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้สินค้าของเราเป็นที่พอใจของลูกค้าและมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น” ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เปลือกไข่วิจิตรศิลป์ ใช้วัตถุดิบจากเปลือกไข่ห่านและไข่นกกระจอกเทศเป็นหลัก โดยมีการพัฒนารูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย การใช้งานมากขึ้น อาทิ กระเป๋า นาฬิกา เป็นต้น ทำให้สินค้าได้รับความสนใจในตลาดต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย จนสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างประสบผลสำเร็จ คุณภูษิต กาญจนศิริปาน เปลือกไข่วิจิตรศิลป์ “ภูษิต” 310/48 หมู่ 11 บ้านโนเบิ้ลปาร์ค ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540 โทร. 0 2752 1288 เว็บไซต์ www.eggartthailand.com ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
“กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์” เปลี่ยนงานฝีมือดอกไม้ประดิษฐ์ให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้เพื่ออนาคต
บางครั้งข้อดีของความ ‘ล้มเหลว’ คือ ได้ ‘โอกาส’ ในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เห็นจะเป็นคำพูดที่ใช้ได้จริงสำหรับคนที่มานะและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เช่นเดียวกับ คุณชิราภรณ์ พงษ์พิพัฒน์ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2534 คุณชิราภรณ์ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ สมาชิก เพื่อทำธุรกิจด้านอาหาร ประเภทขนมมัน ถั่วคั่ว ฯลฯ แต่เมื่อมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ไม่นานธุรกิจก็ขาดทุน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์จึงต้องหยุดตัวลง จากนั้นในปี พ.ศ.2542 มีโอกาสได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเรียกให้ประธานกลุ่มฯ เข้าร่วมการอบรมกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการฝึกวิชาชีพกับศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน คุณชิราภรณ์จึงตัดสินใจเข้าร่วมการอบรมในครั้งนั้น โดยเลือกหมวดงานฝีมือ ประเภทดอกไม้ประดิษฐ์ หลังจากครบกำหนดตามระยะเวลาที่ได้อบรม คุณชิราภรณ์ได้กลับมาบ้านเกิดเพื่อรวมตัวสมาชิกอีกครั้ง โดยนำความรู้ความสามารถที่ได้ไปอบรมมาประกอบอาชีพและแบ่งปันความรู้ให้กับสมาชิกที่ภูมิลำเนาของตนเอง จนตอนนี้ทำให้ความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น และได้กลายเป็นกลุ่มแม่บ้านฯ รายเดียวที่ผลิตและจ????ำหน่ายดอกไม้ประดิษฐ์ยางพาราในภาคใต้ นอกจากดอกไม้ประดิษฐ์ที่ใช้วัสดุยางพาราแล้ว คุณชิราภรณ์ยังใช้วัสดุต่างๆ หรือวัสดุท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เป็นเอกลักษณ์ อาทิ วัสดุจากเศษผ้าเกล็ดปลา และจัดตั้งเป็นกลุ่มของกระจุกกระจิกที่ทำมาจากเศษผ้า อาทิ ยางรัดผม ที่คาดผม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ปัจจุบัน สินค้ามีวางจำหน่ายทั้งที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร และจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางเพื่อนำสินค้าไปกระจายยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งได้มีโอกาสเข้าร่วมออกบูธของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่เสมอ หลังจากการเข้าร่วมอบรม ทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์ ได้เรียนรู้จุดแข็งของตนเอง มีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนสินค้าได้มาตรฐาน มผช. ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตและในภายภาคหน้า คุณชิราภรณ์ ตั้งใจว่าจะมุ่งเน้นในเรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย คุณชิราภรณ์ พงษ์พิพัฒน์ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์ 204/8 หมู่ 1 บ้านหัวถนน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง 92000 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
สันทัศน์หัตถกรรม จำลองชีวิตวิถีไทย
จากจุดเริ่มต้นเมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว ที่เพียงต้องการทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อคร่าเวลาช่วงว่างงาน โดยลงทะเบียนเรียนการประดิษฐ์เรือนไม้ เรือไม้จำลอง และตุ๊กตาจำลองวิถีชีวิตไทย ได้กลายมาเป็นช่องทางทำกินที่นำมาทั้งชื่อเสียงและรายได้ให้กับ ว่าที่ ร.ต.หญิงณัฐชกรณ์ บุตรทรัพย์ เนื่องจากสามารถผลิตชิ้นงานได้มีความอ่อนช้อยประณีตสวยงาม โดยปัจจุบัน มีลูกค้าตั้งแต่นักสะสมชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าพิพิธภัณฑ์ที่สั่งชิ้นงานไปจัดแสดง ซึ่งคุ้มค่ากับความเพียรและหยาดเหงื่อ เพราะแต่ละชิ้นงานต้องใช้ความอุตสาหะและสมาธิสูง ประการสำคัญ แต่ละแบบจะผลิตเพียงน้อยชิ้นหรืออาจมีเพียงชิ้นเดียว จึงเป็นงานที่มีคุณค่าในความรู้สึกของผู้ครอบครอง อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์สวยงาม แต่ก็ยังอ่อนประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ ร.ต.หญิงณัฐชกรณ์ จึงแสวงหาความรู้เพิ่มเติม โดยได้เข้าร่วมอบรม “โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation: NEC)” กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๕๑ และยังเพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวด จนได้รางวัลผลิตภัณฑ์โอทอปหลายปี ภายหลังได้เข้าใช้บริการ “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (Revolving Fund for Cottage and Handicraft Industries: CF)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงมีเงินทุนเวียนมาจัดหาอุปกรณ์และเครื่องทุ่นแรงในการช่วยผลิตชิ้นงานเพิ่มเติม ร.ต.หญิงณัฐชกรณ์มองว่า AEC จะทำให้ผู้คนในอาเซียนเดินทางไปมาหาสู่กันโดยสะดวก รวมถึงคนต่างทวีปที่ต้องการมาสัมผัสเอกลักษณ์วิถีชีวิตของอาเซียน ผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละประเทศ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะงานแฮนด์เมด เป็นสิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ของคนแต่ละชาติ ได้ดีทุกยุคทุกสมัย ว่าที่ ร.ต.หญิงณัฐชกรณ์ บุตรทรัพย์ สันทัศน์หัตถกรรม ๔๓ หมู่ ๑๑ แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ๑๐๕๓๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๑๘๖ ๐๖๘๔, ๐๘ ๙๑๒๘ ๑๑๕๐ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2555
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม สานมรดกศิลป์ถิ่นอีสาน
สินค้าที่ระลึกทั่วทุกมุมโลกที่มีมูลค่าการซื้อขายมหาศาลในแต่ละปีนั้น ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ได้ซื้อเพื่อประโยชน์ใช้สอย หากแต่ซื้อเพราะพึงใจเสพมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) หรือเรื่องราวของท้องถิ่นหรือประเทศนั้น ๆ ในอดีต บ้านกุดนาขามเป็นเพียงพื้นที่แห้งแล้งสลับกับน้ำท่วมขัง ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จนราษฎรต้องอพยพไปทำงานรับจ้างในต่างถิ่น ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โรงงานเครื่องปั้นดินเผาสำหรับศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามได้ถือกำเนิดขึ้น ตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ราษฎรไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปทำงานที่อื่นและหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และด้วยทรงรำลึกถึงเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงที่แสดงถึงอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ของดินแดนแถบนี้ จึงน่าจะมีเครื่องปั้นดินเผาของภูมิภาคเดียวกันที่แสดงถึงอารยธรรมยุคปัจจุบันบ้าง ทรงแนะนำให้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของท้องถิ่นอีสานลงบนเครื่องปั้นดินเผา เช่น พิธีแห่บั้งไฟ พิธีจับปลาบึก การแสดงดนตรีโปงลาง เซิ้งเรณูนคร การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การผลิตผ้าแพรวา และดอกไม้ป่าในท้องถิ่น เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดแล้ว ยังได้พัฒนาศักยภาพทางด้านศิลปะของคนในชุมชนอีกด้วย ภายหลังศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามได้เปิดสอนอาชีพเพิ่มขึ้นอีกหลายแขนง อาทิ เครื่องเรือน ทอผ้า ดอกไม้ประดิษฐ์ ถนอมอาหารและโภชนาการ หล่อโลหะ ตีเหล็ก ทำอิฐบล็อก และปลูกหม่อน-เลี้ยงไหมเป็นต้น โดยปัจจุบัน มีพลตรีศักดา เปรุนาวิน ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๓ เป็นผู้ดูแลศูนย์ฯ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขามได้เข้าร่วม “กิจกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์” กับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้นำภูมิปัญญาอัตลักษณ์อีสานมาสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทรงคุณค่า มีสีสันและลวดลายที่แตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์อื่นในท้องถิ่น สร้างความหลากหลายให้กับผู้บริโภค ช่วยให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ ๐.๕ และยังทำให้สมาชิกผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้เทคนิคการผลิตใหม่ ๆก่อให้เกิดทักษะการทำงานที่หลากหลาย ส่งผลดีต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน พลตรีศักดา เปรุนาวิน ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๓ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อ. เจริญศิลป์ จ. สกลนคร ๔๗๒๙๐ โทรศัพท์ : ๐๔๒ ๗๐๙ ๑๖๒ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2555
ทำเล-อิ่มบุญ ส่งศิลป์ไทยสู่สากล
แม้ว่า AEC จะเป็นฐานการตลาดและการผลิตเดียวกัน ทว่าในความเป็นจริงแต่ละประเทศยังมีวัฒนธรรมและมีอัตลักษณ์ของตน จึงเป็นมนต์เสน่ห์ที่ไม่อาจผลิตสินค้าเลียนแบบกันได้ โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมที่มีจิตวิญญาณ อารยธรรมเฉพาะของแต่ละชุมชน บริษัท ทำเล-อิ่มบุญ จำกัด เริ่มต้นจากการรวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มพิทักษ์ชุมชนสร้างงานหัตถกรรมเพื่อการส่งออก’ เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชาวบ้านในตำบลดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ภายหลังได้ตั้งเป็นบริษัทเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว สินค้าหลักคือหัตถกรรมเพนต์สีฝีมือของชาวบ้านราว ๒๐-๕๐ คน โดยมีแหล่งจำหน่ายอยู่ที่สวนจตุจักร โดยคุณอังศุมาลิน บุญทา รับหน้าที่ดีไซน์ลวดลายบนกระเป๋า หมวก เนกไท เพื่อให้แบรนด์ Aimbun (อิ่มบุญ) ได้ชิ้นงานที่มีดีไซน์พิเศษ ขณะที่คุณพิทักษ์ บุญทา หมั่นเสริมความรู้ด้านการบริหารธุรกิจอยู่เสมอ โดยได้เข้าร่วมอบรม ‘โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)’ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านบัญชีและการตลาด ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีทิศทางยิ่งขึ้น เช่น การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์อิ่มบุญ การหมั่นออกร้านในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ เพื่อมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนในภาคอุตสาหกรรม (TOPOTOP)’ ซึ่งได้ความรู้ด้านการจัดจำหน่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุณพิทักษ์ได้นำความรู้ดังกล่าวมาถ่ายทอดให้กับเครือข่ายชาวบ้านด้วย กลุ่มลูกค้าหลักของอิ่มบุญคือชาวต่างชาติที่นิยมสินค้าทำมือที่มีชิ้นเดียวในโลก และมีรูปลักษณ์ไม่เหมือนใคร การที่สินค้าต่าง ๆ จะเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้นตามข้อตกลง AEC นั้น จึงเป็นโอกาสของสินค้าหัตถกรรมเพนต์สีจากดอกคำใต้ จังหวัดพะเยาที่จะได้อวดโฉมแก่ผู้บริโภคที่พิสมัยศิลปะมากขึ้น คุณพิทักษ์ บุญทา บริษัท ทำเล-อิ่มบุญ จำกัด ๑๗๔ หมู่ ๗ ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ๕๖๑๒๐ โทรศัพท์ : ๐๕๔ ๔๙๑ ๕๓๓, ๐๘ ๑๕๖๒ ๗๕๒๙ โทรสาร : ๐๕๔ ๔๙๑ ๕๓๔ เว็บไซต์ : www.aimbun.com ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2554
เอกลักษณ์หมอนไทย แข่งได้ในอาเซียน
“ปีที่ผ่านมา ผมไปออกงาน Expo ที่ลาว พบปัญหาภาษีแพงมาก เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าภาษีลดลง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจะขายได้มากขึ้น เพราะวัฒนธรรมเราใกล้เคียงกัน” คุณนัฐพร มหิพันธ์ ผู้นำกลุ่มด่านเหนือหมอนไทยให้ความเห็นต่อประเด็น AEC ตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศสมาชิกจะทยอยลดภาษีลงเป็นระยะ รวมถึงขจัดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ซึ่งตามแผนงาน กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) จะลดภาษีและขจัดมาตรการต่าง ๆ ภายใน ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ในระยะ ๓ ปีจากนี้ไป จึงเป็นช่วงเวลาเตรียมตัวของกลุ่มด่านเหนือหมอนไทยในการขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน คุณนัฐพรสืบสานความรู้การทำหมอนขิดมาจากบิดามารดา ซึ่งแต่เดิมมักทำผลิตภัณฑ์ในรูปลักษณ์เดิม จำหน่ายในแหล่งเดิม มาสู่การพัฒนาแบบแปลกใหม่และออกหาตลาดมากขึ้น เช่น งานออกร้านแสดงสินค้า งานนิทรรศการ ตลอดจนออกงานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งสามารถเพิ่มยอดขายได้ดีพอสมควร ทั้งนี้ได้ส่งเสริมให้สมาชิกภายในกลุ่มเข้าอบรมความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เข้ารับบริการ ‘กิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์’ กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๕ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยพัฒนาหมอนรองนั่งขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างดีไซน์ใหม่ให้ผลิตภัณฑ์เดิม ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความแตกต่างสามารถตั้งราคาจำหน่ายสูงขึ้นด้วย สิ่งที่คุณนัฐพรกังวลคือการเลียนแบบสินค้า แต่ตราบใดที่ยังรักที่จะทำอาชีพผลิตภัณฑ์จากพื้นเมืองนี้ ก็ต้องฉีกตัวเองออกจากคู่แข่ง หมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง “ต่อไปจะมีผู้บริโภคมากขึ้น เป็นผู้บริโภคทั้งอาเซียน ตราบใดที่เรามุ่งสร้างสรรค์และพัฒนาก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ” คือคำยืนยันความพร้อมจากผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเล็ก ๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ คุณนัฐพร มหิพันธ์ ประธานกลุ่มด่านเหนือหมอนไทย ๑๑๖/๒ บ.ด่านเหนือ ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ๔๖๑๓๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๑๙๖๕ ๖๗๓๙ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2554
เอราวัณล้านนา เอกลักษณ์ไทยเด่นในสหวัฒนธรรม
“วิญญาณของคนไทยในงานหัตถกรรมมีความละเอียดสูง ในโลกนี้ไม่มีใครสู้ได้ ยิ่งโลกก้าวหน้าไปในทางอุตสาหกรรมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสของงานหัตถกรรม” คุณธีระพงศ์ คำสิงห์แก้ว ผู้จัดการร้านเอราวัณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ตอบอย่างมั่นใจต่อคำถามว่า “AEC จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจหัตถกรรมไทยอย่างไรบ้าง” คุณธีระพงศ์เติบโตมาในครอบครัวผู้ผลิตงานหัตถกรรมล้านนาซึ่งเขาให้ความสำคัญกับ ‘การพัฒนาสินค้า (Product Development)’ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องการตลาด การเปิดโลกทัศน์ทางธุรกิจครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งได้เข้ารับการอบรม ‘โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.)’ กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๑ จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อปี ๒๕๔๙ นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุน ‘เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย’ เมื่อปี ๒๕๕๐ ทำให้ร้านเอราวัณล้านนามีศักยภาพในการขยายธุรกิจด้วยความเปี่ยมประสบการณ์ คุณธีระพงศ์ได้เข้าร่วม ‘โครงการ Creative Lanna’ ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๔ รวมทั้งได้รับโอกาสเป็นผู้จัดการศูนย์คัดเลือกและกระจายสินค้าหัตถกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (Northern-Thai Handicraft Center : NTHC) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าที่คุนหมิงและสิบสองปันนา ประเทศจีนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ๘ เดือน คุณธีระพงศ์จึงลงทุนและรับดำเนินการต่อซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ความสำเร็จในการทำตลาดร้านเอราวัณล้านนาที่จีนทำให้คุณธีระพงศ์มั่นใจว่า เมื่อเปิดเสรีอาเซียนแล้ว เอกลักษณ์ความเป็นไทยยังคงโดดเด่นท่ามกลางความเป็นสหวัฒนธรรม (multi-culture) “เมื่อคนมีฐานะ ก็มักสนใจงานศิลปะ งานแฮนด์เมดมากขึ้นซึ่งกรณีของจีนน่าจะสะท้อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอาเซียนได้เช่นกัน” คุณธีระพงศ์ คำสิงห์แก้ว ร้านเอราวัณล้านนา ๒๑๑ หมู่ ๕ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ๕๐๒๒๐ โทรศัพท์ : ๐๕๓ ๐๑๑ ๖๔๙, ๐๘ ๕๐๓๓ ๐๓๙๒ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2554