“อธิบดีณัฏฐิญา” ชูนโยบาย “ดีพร้อม คอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ร่วมดัน GDP โตขึ้นอีก 1% เดินหน้าตามนโยบาย “รมว.เอกนัฏ” ปฏิรูปอุตสาหกรรม ตอบสนองทุกความต้องการของเอสเอ็มอี
กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2568 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แถลงข่าวทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ในปี 2568 โดยมี นางดวงดาว ขาวเจริญ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้มีการปฏิรูปการดำเนินงานโฉมใหม่ โดยมองภาพการพัฒนาให้กว้างขึ้น ตอบสนองประเด็นปัญหาเชิงมหภาคของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในเรื่องแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจโลกกับการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเดิมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ การดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ รวมไปถึงภารกิจการช่วยเหลือให้วิสาหกิจไทยปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ให้อยู่รอด เดินต่อ และเติบโตสู่สากล พร้อมยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพิ่มผลิตภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดรับกับแนวคิดของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มอบนโยบายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลก พร้อมช่วยเหลือส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” และตามนโยบาย “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ของนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจไทยเดินหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลกใหม่ใบเดิมอย่างมั่นคง ดีพร้อมจึงมีแนวคิดในการสร้าง “ดีพร้อมคอมมูนิตี้” (DIPROM Community) ซึ่งเป็นการนำวิสาหกิจไทย เข้ามาสู่ระบบบริหารจัดการของดีพร้อม โดยดีพร้อมจะส่งเสริมและสนับสนุนด้วย 6 กลไกที่สำคัญ คือ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytic) เทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (Technology /Digital /Innovation /Creative) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Funding) การเชื่อมสิทธิประโยชน์ (Privilege) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร (Networking) และการผลักดันธุรกิจสู่สากล (Connect to the world) เพื่อให้วิสาหกิจไทยในระบบการพัฒนาสามารถ “สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเครือข่าย” เพิ่มศักยภาพวิสาหกิจไทยให้สามารถยกระดับธุรกิจให้เติบโต และแข่งขันได้อย่างมั่นคงในอนาคต รวมไปถึงเกิดเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภายในดีพร้อมคอมมูนิตี้และสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปแบบวิสาหกิจขนาดใหญ่สามารถดูแลวิสาหกิจขนาดเล็กได้ (Big Brother) เป็นฮีโร่ที่ดีพร้อมสร้างเพื่อให้วิสาหกิจไทยเดินหน้าไปด้วยกัน และเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมนิคมฯ SME ในอนาคต นางสาวณัฏฐิญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” เป็นการปฏิรูปดีพร้อมสู่องค์กรทันสมัย เฟ้นหาฮีโร่ผู้นำธุรกิจไทย พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดีอยู่คู่ชุมชน ภายใต้ กลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ดังนี้ ให้ที่ 1 : ให้ทักษะใหม่ : เพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิม (Upskill) สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) และสร้างทักษะใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ (New skill) โดยการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย มีมาตรฐานรับรองทักษะ ผ่านการเพิ่มทักษะเพื่อการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ทั้งในด้านการเริ่มต้นประกอบธุรกิจใหม่ การยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล และการบริหารจัดการธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย (SOFT POWER) ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายหลักที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งดีพร้อมเป็นหน่วยร่วมในการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเพื่อให้ผู้ผ่านการพัฒนาทักษะใหม่มีรายได้สูงขึ้นและสามารถก้าวข้ามหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ให้ที่ 2 : ให้เครื่องมือที่ทันสมัย : เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการติดอาวุธที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) Standard การได้รับมาตรฐาน และการรับรอง 2) Productivity การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3) Research การศึกษาค้นคว้าวิจัย 4) Innovation การสร้างนวัตกรรม และ 5) Network การสร้างและขยายเครือข่ายการสนับสนุนให้วิสาหกิจไทยได้ก้าวเดินได้อย่างแข็งแรง พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 5.0 โดยการใช้เทคโนโลยี AI และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ ดีพร้อมยังมีการให้บริการเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจากศูนย์บริการของดีพร้อมทั่วประเทศ ทั้งในส่วนศูนย์ให้บริการวิชาการ ศูนย์ให้บริการเครื่องมือต่าง ๆ และศูนย์จัดแสดงสินค้า อาทิ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (BSC) ศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) เป็นต้น ให้ที่ 3 : ให้โอกาสโตไกล ช่วยเหลือวิสาหกิจให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ทั้งในประเทศและระดับสากล ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ให้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ รวมทั้งการบูรณาการทุกภาคส่วน ช่วยเหลือวิสาหกิจได้อย่างตรงกับปัญหาหรือตรงตามความต้องการของวิสาหกิจ ดีพร้อมจึงให้ความสำคัญในเรื่องการสนับสนุนปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยให้วิสาหกิจไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามศักยภาพของผู้ประกอบการและธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อการส่งเสริมรายอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงระหว่างวิสาหกิจ หรือเชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็น Supply Chain ที่เข้มแข็ง การสร้างโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการเสริมสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ที่ 4 : ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชน ดีพร้อมได้มีการนำแนวคิด BCG มาปรับใช้ในธุรกิจ พร้อมทั้งส่งเสริมด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวให้กับวิสาหกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ (Industry 5.0) และการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งสร้างความยั่งยืนและอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ อันนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้งอันจะนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้งต่อไป สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดรับกับแนวทาง “สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถ “เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน (Balanced and Sustainable Growth)” ในส่วน ปฏิรูปดีพร้อม มุ่งพัฒนาองค์กรให้ดีพร้อม เพื่อเตรียมรับมือกับบริบทและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ภายใต้ความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น สอดรับกับเรื่อง “การปรับตัวของภาครัฐ” โดยปี 2568 ดีพร้อม มีแนวคิดในการปฏิรูปองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรของดีพร้อม โดยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับยุคสมัยเข้ามาปรับใช้ ได้แก่ 1. การพัฒนาองค์กร อาทิ การพัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค เป็นแหล่งสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้กับหน่วยงานในภูมิภาค การยกระดับระบบการให้บริการของดีพร้อมให้ก้าวทันยุคของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับนโยบาย “การปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล” ด้วยระบบ DIPROM ECOSYSTEM 2. การพัฒนาบุคลากร มุ่งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และสมรรถนะที่สำคัญให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนการไปฝึกปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถในมิติที่หลากหลาย ทั้งด้านวิชาการและการให้บริการวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพ “ดีพร้อม เชื่อมั่นว่า ภายใต้กลยุทธ์ 4 ให้ และ 1 ปฏิรูป ที่จะเร่งขับเคลื่อนในปี 2568 นี้ จะเป็นการดำเนินงาน เชิงรุกที่ออกไปส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกด้านได้อย่างตรงจุดตามนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งเป้าผลักดัน GDP ประเทศให้เติบโตอีก 1% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 180,000 ล้านบาท ผ่านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ โดยดีพร้อมมีซัพพลายเชนที่พร้อมสนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศ ผ่านการใช้จ่ายในโครงการลงทุนเครื่องจักรภาครัฐ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างขีดความสามารถ Productivity และ Standard ภายใต้ Industry 5.0 พร้อมเชื่อมโยงกลไกการตลาด อีกทั้งยังเน้นแพลตฟอร์ม ‘Made by Thais’ เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจากการบริโภค ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2569 ดีพร้อมได้ตั้งคำของบประมาณไว้ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 50,000 ล้านบาท นโยบายทั้งหมดนี้จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นใจได้ว่าการกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นอีก 1% นั้นสามารถทำได้แน่นอน” นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย
27 ม.ค. 2568
ปลัดฯ ณัฐพล ระดมขุนพล MIND ตั้งรับนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2568 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2569 โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดประชุม ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายกฯ กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 มีกรอบวงเงิน 3.7 ล้านล้านบาท ขอให้ทุกหน่วยพิจารณาใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพใช้เท่าที่จำเป็น และพยายามไม่สร้างรายจ่ายประจำให้เพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นต้นทุนสะสมในทุกปี ซึ่งปรับเปลี่ยนยาก และขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์กับพี่น้องประชาชนจริง ๆ ขอตั้งเป้าหมายการจัดทำงบประมาณปี 69 ว่า “การเติบโตทางประสิทธิผล” ใช้งบอย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยต้องตรงกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ประกอบด้วย 1) ไม่ลดสัดส่วนงบลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 2) ไม่เพิ่มงบดำเนินงาน และงบประมาณ แต่เน้นเพิ่มประสิทธิผล 3) ไม่เพิ่มอัตรากำลัง โดยพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ให้มีศักยภาพพร้อม ๆ กับการดูแลสวัสดิการอย่างทั่วถึง รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชน เพื่อกระจายความเท่าเทียม และสวัสดิการต่าง ๆ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ตลอดจนการแก้ปัญหาเรื่องเร่งด่วนให้กับประเทศไทย ส่วนความท้าทายที่ในวันนี้ คือ ภัยธรรมชาติ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องวางแผนเตรียมพร้อมรับมือ
24 ม.ค. 2568
“ดีพร้อม” ขานรับนโยบาย “รมว.เอกนัฏ” มุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรม จับมือ ส.อ.ท. ลงนาม MOU ยกระดับการพัฒนา Industry 5.0 อย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ 13 มกราคม 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายปรนนท์ ฐิตะวรรโณ ประธานสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม นายอัครพล สุขตา รองประธานสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานคณะทำงานปฏิรูปอุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 นายอมฤต ฟรานเซน เลขาธิการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องบุษราคัมบอลรูม โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ เอเทรียม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นการปฏิรูปทั้งระบบของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งปรับปรุงการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอน เพื่อให้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งหากอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็ง ก็จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในระยะยาว “กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ให้เติมเต็มห่วงโซ่อุตสาหกรรมในปัจจุบัน และมีระบบการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่ตั้งใจเดินหน้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทั่วโลกย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต และบริการ รวมถึงสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคดิจิทัล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการ “ผลัดใบเศรษฐกิจ” ในศตวรรษที่ 21 ให้กับประเทศไทย รวมทั้งมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วน การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเกิดความเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคการผลิต ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่ Industry 4.0 และ 5.0 ทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิต และด้านผลิตภัณฑ์ ในการยกระดับศักยภาพและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล คาดจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท “ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนางาน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ดีพร้อมในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม และ ส.อ.ท. จะเข้าไปให้การส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนา ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่ Industry 4.0 หรือ Industry 5.0 อาทิ ด้านการพัฒนาบุคลากร การพัฒนากระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังร่วมกันให้การสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและบุคคลทั่วไปให้มีความตระหนักและสามารถเพิ่มทักษะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และบุคคลทั่วไป รวมทั้งยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ โดยความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลารวม 3 ปี โดย โครงการนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. กว่า 16,000 ราย จะเป็นการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่น ๆ ใช้เป็นต้นแบบในการยกระดับภาคการผลิตต่อไปในอนาคต “การปรับตัวไปสู่ยุค Industry 4.0 และ 5.0 เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง เนื่องจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้าน ESG หรือการผลิตที่ยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้จะทำให้สินค้าไทยก้าวข้ามกำแพงการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อมได้เหนือกว่าประเทศอื่น”
24 ม.ค. 2568
"อธิบดีณัฏฐิญา" นำทีมผู้บริหารดีพร้อม เร่งการดำเนินงานตามนโยบาย "รมว.เอกนัฏ" ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส
กรุงเทพฯ 8 มกราคม 2568 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 94-1/ 2568 โดยมี นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และผ่านระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ ได้มีการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณและผลการดําเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในส่วนของผลการเบิกจ่ายและรายการงบลงทุนที่ยังไม่ได้ดำเนินการผูกพันสัญญา (ประเภทครุภัณฑ์และประเภทสิ่งก่อสร้าง) และการกันเงินเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมการนำเสนอภาพรวมคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ประกอบด้วย แผนงานบุคลากร แผนงานพื้นฐาน แผนงานยุทธศาสตร์ และแผนงานบูรณาการ ภายใต้การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมและวิสาหกิจไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ตลอดจนพัฒนาปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมและวิสาหกิจไทย และยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร นอกจากนี้ ยังได้มีการรายงานผลการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ประจำปีบัญชี 2568 ไตรมาสที่ 1 และรายงานข้อมูลของระบบสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนการติดตามการดำเนินโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในปี 2568 ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงระบบฯ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร และสาขาเเฟชั่น ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
24 ม.ค. 2568
“อธิบดีณัฏฐิญา” นั่งหัวโต๊ะ ประชุม คกก. พิจารณาคัดเลือก คนดี ศรี กสอ. และข้าราชการพลเรือนดีเด่น ตัวอย่างคนดีเดินหน้านโยบาย "รมว.เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 9 มกราคม 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก คนดี ศรี กสอ. และข้าราชการพลเรือนดีเด่น กสอ. ประจำปี พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการคัดเลือก “คนดี ศรี กสอ.” และข้าราชการพลเรือนดีเด่น กสอ. ประจำปี 2567 รวมไปถึงการพิจารณาหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือก คนดี ศรี กสอ. ประจำปี พ.ศ. 2567 และการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น กสอ. ประจำปี 2567 ตัวอย่างคนดีของหน่วยงาน เดินหน้านโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกลุ่มเป้าหมายของ คนดี ศรี กสอ. ประกอบไปด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างเหมาบริการ สำหรับข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประกอบไปด้วย ข้าราชการ และลูกจ้างประจำ ทั้งนี้ จะมีการแจ้งเวียนหน่วยงาน กอง/ศูนย์ภาค เพื่อเสนอชื่อบุคลากรที่มีคุณสมบัติ และกำหนดการลงคะแนนเลือกผู้ถูกเสนอชื่อในระบบออนไลน์ของดีพร้อม ในวันที่ 20 - 21 มกราคม 2568
24 ม.ค. 2568
“อธิบดีณัฏฐิญา” นำทีมดีพร้อมเสริมความรู้ สู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล เน้นการดำเนินงานตามนโยบาย "รมว.เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 8 มกราคม 2568 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระเบียบวินัยที่ดีพร้อม (DIPROM) นำสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ” พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วม โดยมี นายวีระพล ผ่องสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระเบียบวินัยที่ดีพร้อม (DIPROM) นำสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ และระเบียบของทางราชการที่กำหนดไว้เป็นหลักและแบบแผนความประพฤติให้สามารถปฏิบัติตนและปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง มีคุณธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ พร้อมทั้งให้บริการด้วยหัวใจ อันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลแก่ทางราชการ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดีพร้อมใช้ธรรมมาภิบาลและยึดวินัยข้าราชการที่ดีในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานสอดรับตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารด้านคุณธรรมและจริยธรรม (Chief Ethic Promotion Officer – CEPO) ให้เกียรติมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรม “สื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมจริยธรรมให้ดีพร้อม” ซึ่งเป็นการส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น สร้างแรงจูงใจให้บุคลากรในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมและเผยแพร่แนวคิดหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางจริยธรรมเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ร่วมกันขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ในปีที่ผ่านมาอีกด้วย
24 ม.ค. 2568
"ดีพร้อม" บูรณาการ DIPROM Center 5 เดินหน้า "สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ด้วยหัวและใจ" ตามนโยบาย "รมว.เอกนัฏ"
จ.ขอนแก่น 9 มกราคม 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ตรวจเยี่ยมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 (ศภ.5 กสอ.) พร้อมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน โดยมี นางสาวจินดา ธนาดํารงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 ถนนมิตรภาพ ตำบลสำราญ อำเภอเมือง การลงพื้นที่ดังกล่าว อสอ.ณัฏฐิญาฯ ได้มอบแนวทางการดำเนินงานของดีพร้อม ด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในสังกัด อก. ในเชิงพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยอาศัยกลไกของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ร่วมกับ ดีพร้อม ในการร่วมกันยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม 2) ยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจชุมชน 3) เร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอัจฉริยะ 4) เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ และ 5) สนับสนุนและพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ด้วยการฝึกอบรมพัฒนาความรู้และให้ข้อมูลการส่งเสริมธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิด BCG/ Net Zero รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM ITC) ด้วยการบูรณาการการใช้เครื่องจักรกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ พร้อมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสถานประกอบการ การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยความคิดสร้างสรรค์/อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ หรือ Soft Power การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน การจัดทำแผนธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากอาคาร การปรับปรุงพื้นที่ให้น่าอยู่ การปล่อยสินเชื่อ DIPROM PAY ช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ การระบบ Ecosystem บูรณาการข้อมูลในพื้นที่ การส่งเสริมพัฒนาด้านวัสดุเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การส่งเสริมพัฒนาวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ รวมถึงการทบทวนการเชื่อมโยงเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ ศภ.5 กสอ. ได้นำเสนอบทบาทและภารกิจของ ศภ.5 กสอ. พื้นที่รับผิดชอบ แผนและผลการดำเนินงาน พ.ศ. 2568 รวมถึงการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียน ประกอบด้วย การปล่อยสินเชื่อ การบริหารสินเชื่อ งานนิติกรรม แนวทางการดำเนินงานในอนาคต (ลด NPL) เป็นต้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนตามนโยบายดังกล่าวข้างต้นต่อไป
22 ม.ค. 2568
"ดีพร้อม" ดันร้านอาหารเชฟชุมชน ตอบโจทย์ซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย "รมว.เอกนัฏ"
จ.ขอนแก่น 9 มกราคม 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย พร้อมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน นางสาวจินดา ธนาดํารงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ โรงแรมเลอ แคสเซีย จังหวัดขอนแก่น การฝึกอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ซึ่งดีพร้อมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการและเลขานุการร่วม คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จึงได้กำหนดแนวทางด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1) สร้างสรรค์และ ต่อยอด โดยการใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “เทคโนโลยี” เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ 2) โน้มน้าว โดยการจูงใจให้เปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบให้หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เช่น Storytelling การเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่า มีความหมาย หรือมีนัยยะสำคัญ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ หรือสิ่งต่าง ๆ และ 3) เผยแพร่ โดยการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเครื่องมือในการเผยแพร่ เช่น Influencer ซีรีส์ ละครย้อนยุค เป็นต้น จึงเป็นที่มาของ “การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย ที่จะยกระดับศักยภาพพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้เป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถนำอัตลักษณ์หรือวัตถุดิบของชุมชนมาประยุกต์สร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหาร สามารถเชื่อมโยงธุรกิจ รวมถึงเผยแพร่อัตลักษณ์วิถีชุมชน อันจะเป็นการสร้างแรงดึงดูดและกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หลักสูตรในการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการพัฒนาเมนู Amazing Thai Taste สู่เชิงพาณิชย์และการบริหารจัดการร้านอาหาร ประกอบด้วยองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) ด้านการยืดอายุและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร 2) ด้านกฏ ระเบียบ และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง 3) ด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ และ 4) ด้านการบริหารจัดการร้านอาหาร โดยมี คณะวิทยากรสถาบันอาหารและผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการให้ความรู้ และทักษะต่าง ๆ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
22 ม.ค. 2568
"ดีพร้อม" ร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินงานวันสตรีสากล 2568 ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามนโยบาย "รมว.เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 8 มกราคม 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Officer - CGO) ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินงานวันสตรีสากล ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมดรุณวิถี กรมกิจการเด็กและเยาวชน ชั้น 11 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานวันสตรีสากล จัดขึ้นเพื่อร่วมกันพิจารณาการรับรองผลรางวัลการคัดเลือกสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่นในสาขาต่าง ๆ เพื่อประกาศเกียรติคุณเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2568 จำนวน 16 สาขา 79 รางวัล และเตรียมการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2568 ซึ่งปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2568 โดยวันสตรีสากลเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ การร่วมบูรณาการดังกล่าวของดีพร้อมสอดรับกับตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
22 ม.ค. 2568
“ดีพร้อม” เดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “รมว.เอกนัฏ” อัพสกิลบุคลากรดีพร้อม ประเมินสถานประกอบการ ต่อยอดธุรกิจไทยอย่างยั่งยืน
จ.ปทุมธานี 7 มกราคม 2568 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การใช้งาน Thailand i4.0 CheckUp” ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางเกษราภรณ์ โกวิทลวากุล ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ ห้องบุษกร ชั้น 1 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปัจจุบันกฎกติกาการค้าโลก รวมไปถึงข้อกีดกันการค้าต่าง ๆ และมาตรฐานด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวด ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การค้าในตลาดโลกเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการที่อยู่รอดได้และเป็นผู้ชนะในเกมนี้จะต้องมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตชั้นสูง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และมีวัสดุเหลือทิ้งหรือขยะออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด สอดรับกับนโยบาย กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและบิ๊กดาต้าประสานเข้ากับเทคโนโลยีเอไอ เพื่อปรับปรุงระบบการผลิตสามารถลดต้นทุนลงให้ได้มากที่สุด รวมทั้งสามารถพยากรณ์ทิศทางความต้องการของตลาดและแนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคต โดยได้มอบหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถพัฒนาและแข่งขันในโลกยุคปัจจุบันได้ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลมาใช้ในการกำหนดทิศทางในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม การจะยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มจากการประเมินความพร้อมของธุรกิจตัวเองอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร การลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ตอบโจทย์อนาคต นอกจากนี้ การทราบถึงระดับความพร้อมขององค์กรในปัจจุบันยังช่วยลดความเสี่ยงในการเผชิญกับความล้มเหลว และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง องค์กรที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นใจจะมีความได้เปรียบ และสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ภายใต้การนำของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และมีบทบาทในการสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เล็งเห็นความสำคัญของการประเมินความพร้อมอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยดิจิทัลและเป็นมาตรฐานกลางของประเทศในการชี้วัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมไทย ผ่านการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การใช้งาน Thailand i4.0 CheckUp” ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้รับความรู้ความเข้าใจในการประเมินความพร้อมอุตสาหกรรมของประเทศไทย สามารถพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์และประเมินความพร้อมของสถานประกอบการ รวมถึงการนำทักษะความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาสถานประกอบการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการยกระดับสู่อุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับหัวข้อหลักในหลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วย 1) ความหมายและความสำคัญของภาคอุตสาหกรรม 2) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมอุตสาหกรรม และ Industry Maturity Index ของประเทศไทย และ 3) นิยามและความหมายของมิติย่อย 1 – 17 ในระดับความพร้อม 1 ถึง 6 เพื่อทราบถึงคุณลักษณะของสถานประกอบการในระดับความพร้อมต่าง ๆ “ในการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ดีพร้อมให้มีความรู้ความเข้าใจในการประเมินความพร้อมอุตสาหกรรมของประเทศไทย สามารถพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์และประเมินความพร้อมของสถานประกอบการ รวมถึงการนำทักษะความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุรพล กล่าวทิ้งท้าย
22 ม.ค. 2568