มีมาตรฐานรองรับ ยกระดับสินค้า อีกหนึ่งวิธีพัฒนาคลัสเตอร์


03 มี.ค. 2022    nutnaree    213

 

สินค้าดี มีมาตรฐานรองรับ ตรวจสอบย้อนกลับได้ ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้


     คลัสเตอร์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Organic Herbs Thailand) เป็นกลุ่มที่เน้นธุรกิจแบบกลางน้ำ ด้วยวิธีการแปรรูปสมุนไพรจากวัตถุดิบแบบออร์แกนิก เพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่ใช้ภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สกินแคร์ เซร่ำบำรุงผิวต่างๆ สบู่ แชมพู รวมไปถึงสินค้าประเภท Health Care อย่างน้ำขมิ้น น้ำมัลเบอร์รี เป็นต้น

 

     ก่อนที่จะมารวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เหมือนทุกวันนี้ คุณแม็ค ศิริพัฒน์ มีทับทิม ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังว่า พวกเขามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องมาตรฐาน ACT C and H มาก่อน จากนั้นจึงพัฒนากลุ่มขึ้นมาเป็นคลัสเตอร์ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกภายในกลุ่ม ได้รับการรองรับตามมาตรฐาน ACT C and H ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการการตรวจสอบเกิน 50% แล้ว และคาดว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดน่าจะได้มาตรฐานดังกล่าวมารองรับครบ 100% ภายในปี 2565


     เมื่อสินค้ามีคุณภาพ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ACT C and H แล้ว การสร้างแบรนด์ และหาช่องทางการตลาด เพื่อส่งเสริมทางด้านการขายให้กับผู้ประกอบการ จึงเป็นสเต็ปต่อไปที่อยู่ในแผนของคุณแม็ค โดยคุณแม็คและทีมคณะกรรมการเอง ก็ช่วยกันสร้างเว็บไซต์ออนไลน์ อย่าง https://www.herbsstarter.com ขึ้นมา ซึ่งเว็บไซต์นี้จะเป็นเหมือนเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการสร้างแบรนด์ ตั้งแต่การออกแบบ Packaging ถ่ายภาพ ทำโลโก้


     หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เข้าสู่แพลตฟอร์มการตลาดที่มีชื่อว่า “Health Harvest” https://healthharvest.bentoweb.com/th/mobile เพื่อช่วยโปรโมต และเป็นช่องทางในการจำหน่าย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่ม ได้มีการส่งออกไปยังประเทศจีนแล้วด้วย

 

     นอกจากมาตรฐานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของสมาชิกเพิ่มมากขึ้นก็คือ “ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ” ที่จะมีข้อมูลระบุไว้ตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานอะไรมารองรับหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเช็กข้อมูลย้อนกลับได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อไปนั้น มีคุณภาพ และเป็นของจริง ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะขึ้นตรงกับกระทรวงพาณิชย์เลย สามารถเชื่อถือได้แน่นอน


     การเข้ามารวมกลุ่มจนกลายเป็นคลัสเตอร์เหมือนดั่งทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือสร้างคอนเน็กชันในแวดวงธุรกิจของตัวเองเท่านั้น แต่สมาชิกในกลุ่มเองยังได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อีกไม่น้อย เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่เพิ่งเริ่มเข้าสู่คลัสเตอร์ในช่วงแรกๆ รวมไปถึงสำนักงานมาตรฐานเกษต

 

     อินทรีย์ (มกท.) ที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องมาตรฐาน ACT C and H. การดำเนินงานภายในกลุ่มจะไม่สามารถเดินต่อไปได้เลย หากขาดจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญ อย่าง “ความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก” ไป เมื่อไรก็ตามที่คนในกลุ่มมีทัศนคติตรงกัน มองเห็นเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งเน้นการแชร์ข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มากกว่าจะมานั่งแข่งขันกันเอง ก็จะทำให้กลุ่มเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วมากยิ่งขึ้น