7 ยุทธวิธีสร้างกิจการเจริญเติบโตช่วงเศรษฐกิจขาลง
08
ต.ค.
2020
พลอยไพลิน
495
ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนที่ต้องทำกิจการส่วนตัวหรือแม้แต่พนักงานเงินเดือนเองก็เป็นกังวลว่า “เราจะทำอย่างไร เพื่อพยุงกิจการ หรือร้านค้าของเราให้อยู่รอด” โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ได้มีโอกาสเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่จังหวะ และมีที่ปรับตัวได้และปรับตัวไม่ได้ ส่วนใหญ่ทุกคนมีประสบการณ์และเตรียมภูมิคุ้มกันไว้บ้างแล้ว เมื่อได้เจอปัญหาอะไร ก็งัดกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้รับมือกันไป ในส่วนเถ้าแก่หน้าใหม่ก็อาจจะต้องศึกษาหาข้อมูลการปรับตัว ซึ่งมีให้ค้นหาได้ทั่วๆ ไป และในที่นี้ขอนำเสนอ “7 ยุทธวิธีที่จะช่วยสร้างธุรกิจหรือกิจการของเราให้เจริญเติบโตในช่วงเศรษฐกิจขาลง” ดังนี้
1. การหาลูกค้าใหม่ๆ เพื่อขยายฐานให้กว้างขึ้น
ควรเริ่มหาลูกค้ารายใหม่ๆ ให้กับบริษัท ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเหมือนกันในสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว โดยอาจจัดตั้งทีมขึ้นมาสักหนึ่งทีมทำหน้าที่เสมือนกับพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า แต่มีอะไรที่เหนือมากกว่าพนักงานขายทั่วไป โดยทำหน้าที่ค้นหาและสร้างลูกค้ารายใหม่ขึ้นมา ซึ่งการได้ลูกค้ารายใหม่เข้ามาจะทำให้สามารถกำหนดและสร้างตลาดในกลุ่มใหม่ๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ยังเป็นผลดีกับทางบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะการที่บริษัทมีลูกค้าใหม่เข้าเพิ่มมากขึ้น ก็เปรียบเสมือนกับการขยายฐานพีระมิดที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับทางบริษัท จงจำไว้ว่า “ยิ่งเศรษฐกิจมีภาวะถดถอยมากเท่าไร ยิ่งต้องหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น”
2. การจัดการ เรื่องการเงิน
การจัดการเงิน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องดู โดยเฉพาะกระแสเงินสด หรือ Cash Flow อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการประกอบธุรกิจคือเรื่องของ “เงิน” ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเงินจะเป็นสิ่งที่หายากมาก ดังนั้นการจัดการควบคุมการใช้จ่ายเงิน ต้องทำอย่างรัดกุมและคุ้มค่าที่สุด หากกระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง ควรรีบหาเงินมาสำรองจ่ายไปก่อนในทันที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่อาจหยุดชะงัก ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะหายตามไปด้วย
3. การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
การกำหนดเป้าหมายและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเปรียบเสมือนการวางแผนการล่วงหน้าอย่างคร่าวๆ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนคือ กำหนดเป้าหมายปลายทางที่ต้องการจะไปถึง เช่น ถ้าเป็นการขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าประเภทต่างๆ ก็ควรกำหนดยอดที่ควรขายให้ได้เอาไว้ล่วงหน้า ให้ชัดเจนเพื่อสร้างแรงกระตุ้น อีกทั้งยังสามารถนำมาคำนวณตัวเลขรายรับทางบัญชีได้ล่วงหน้าอีกด้วย
4. เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย
การค้นหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตสินค้า หรือนำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ให้เกิดความเหมาะสม ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตก้าวหน้าให้บริษัท เพราะจะช่วยทำให้เรามีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยถูกลงกว่าเดิม อีกทั้งจัดให้พนักงานของบริษัทได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรบริษัทไปในตัวอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทที่ต้องการประสบความสำเร็จ
5. ปรับปรุงการบริการลูกค้า
หลายคนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การปรับปรุงการบริการลูกค้าไม่ใช่สิ่งสำคัญ ที่ควรทำในช่วงเศรษฐกิจขาลง ควรหันไปให้ความสนใจเรื่องอื่นๆ ในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดน่าจะดีกว่า ซึ่งถ้าคำตอบคือ แค่ต้องการประคองธุรกิจให้อยู่รอด เหตุผลที่ให้มาก็คงเหมาะสมกันดี แต่ถ้าคิดจะให้ธุรกิจเจริญเติบโต ความคิดข้างต้นถือเป็นความคิดที่แย่มาก ทั้งนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาลูกค้าเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงบริษัทของเราให้อยู่รอดมาโดยตลอด ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนมักไม่อยากลงทุนและไม่ใช้สินค้าหรือบริการที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวยิ่งต้องทำให้บริษัทต้องเร่งปรับปรุงและดูแลเอาใจใส่ลูกค้าให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเดิมที่เป็นรายได้หลักเอาไว้นั่นเอง
6. การฝึกอบรมพนักงาน
การพัฒนาพนักงาน ก็เป็นการเพิ่มศักยภาพของบริษัทอีกทางหนึ่ง การฝึกอบรมพนักงานถือเป็นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง เพราะพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้นที่จะนำวิชาความรู้ที่ได้มาจากการฝึกอบรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานได้อย่างดียิ่งอีกด้วย
7. จัดระบบการจัดการผู้ขาย หรือตัวแทนจำหน่าย
การค้าขายสินค้าทั่วไปนั้น ตัวแทนจำหน่ายหรือ Supplier มีอิทธิพล และอำนาจในการต่อรองค่อนข้างสูง เช่น อาจขึ้นราคาวัตถุดิบที่เราต้องการนำมาใช้ผลิตสินค้า หรือการตั้งเงื่อนไขในการจำหน่ายสินค้าให้เรา ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการคือ พูดคุยตกลงกันในเรื่องต่างๆ ให้แต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์ที่ไปด้วยกันได้ ซึ่งบางทีตัวแทนจำหน่ายอาจช่วยเหลือเราทางด้านเทคนิคต่างๆ หรือแม้แต่กระทั่งด้านการเงินก็เป็นไปได้