ระยะที่ 1 : ก่อร่างสร้างงาน
26
มิ.ย.
2020
อภิมุข
1,742
2485
ตั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรม
รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เห็นความจำเป็นในการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2484 และประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย การหวังพึ่งสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศทำได้ยากขึ้น ขณะที่มีความจำเป็นต้องอุปโภคบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีวัตถุดิบอยู่มากมาย แต่โรงงานที่ทำการผลิตมีอยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเพื่อขจัดความขาดแคลนและตอบสนองความต้องการของประชาชน
รัฐบาลจึงได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงการอุตสาหกรรมขึ้น เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. 2495) และกรมอุตสาหกรรมได้ถูกเปลี่ยนเป็น “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” ในสังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยมีภารกิจหลักเพื่อมุ่งส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่จำเป็นของประเทศเป็นการเร่งด่วนโดยเน้นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่จำเป็นต่อการครองชีพ ใน พ.ศ. 2485 นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น
1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง
2. กองอุตสาหกรรมในครอบครัว แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกการทอ แผนกร่มและหมวก แผนกเชือก และแผนกผลิตภัณฑ์ทั่วไป
3. กองอุตสาหกรรมทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกค้นคว้า แผนกจัดตั้งโรงงาน แผนกอาชีพอุตสาหกรรม และแผนกเครื่องอาหาร
4. กองเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการค้า และแผนกสินค้าไทย
ส่งเสริมการปั่นด้ายแบบใหม่
กระทรวงการอุตสาหกรรมได้พิจารณาเห็นว่าผ้าและด้ายทอผ้า รวมทั้งไหมในท้องตลาดมีปริมาณน้อยลง จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินการส่งเสริมการปั่นด้ายแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบพื้นเมืองขึ้นในจังหวัดที่มีการปลูกฝ้ายเป็นสินค้า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2486 ด้ายและผ้าขาดแคลนยิ่งขึ้น จึงเร่งส่งเสริมโดยขยายโครงการเดิมให้ประชาชนมีความรู้ และมีเครื่องมือพร้อมที่จะประกอบอาชีพปั่นด้ายไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ภายใน 1 ปี เพื่อให้สามารถผลิตเส้นด้ายให้เพียงพอป้อนเครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุกที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตามการดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากสถานการณ์สงครามคับขันยิ่งขึ้น การคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก การจัดสร้างเครื่องมือไม่สะดวก ราคาฝ้ายสูงขึ้นกว่าเดิมและหาซื้อได้ยากเพราะมีการแย่งซื้อกัน และผู้รับการอบรมส่วนใหญ่ก็ไม่กลับไปประกอบอาชีพที่ได้รับการอบรมมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้เลิกการส่งเสริมไปใน พ.ศ. 2487
2486
เริ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมรายย่อย
การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ อีกโครงการหนึ่งของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในช่วงเวลานี้ คือ การส่งเสริมการทอผ้า การทอกระสอบและฟั่นเชือกจากปอกระเจาและใยมะพร้าว ทำเชือกจากป่านรามี่หรือป่านลพบุรี ทำเชือกเย็บรองเท้า จักสาน ซึ่งต่อมาได้ช่วยบรรเทาความขาดแคลนได้มากในยามสงคราม
2487
งานหยุดชะงักเพราะถูกระเบิดสงคราม
ในห้วงของสงครามมหาเอเชียบูรพา บริเวณเขตพระนครมีการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ที่ทำการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายในกระทรวงการอุตสาหกรรม (วังกรมหลวงปราจิณกิติบดีเดิม) เชิงสะพานเทเวศร์ทางด้านถนนลูกหลวง รวมทั้งห้องค้นคว้าทดลองถูกทิ้งระเบิด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487
เป็นเหตุให้เอกสารถูกไฟไหม้เสียหายเกือบหมด การทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระหว่าง พ.ศ. 2488-2490 จึงต้องหยุดชะงักลงได้รับเพียงงบประมาณเงินเดือน งบใช้สอยปกติ งบค่าซื้อหนังสือและตำราเท่านั้น ข้าราชการฝีมือดีจึงทยอยกันลาออกไปประกอบกิจอื่นเป็นจำนวนมาก
2491
ชุบชีวิตงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขึ้นใหม่
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณพิเศษ 327,000 บาท เพื่อปลูกสร้างที่ทำการใหม่ แทนหลังเดิมที่ถูกระเบิดเสียหาย เป็นโรงงานค้นคว้าทดลอง มีพื้นคอนกรีต ฝาไม้ หลังคาสังกะสี โดยไม่สร้างอาคารสูง เพื่อสงวนงบประมาณไว้สำหรับการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรให้ได้มากที่สุด เนื่องจากของเก่าได้รับความเสียหายไม่หลงเหลืออยู่เลย
นับเป็นการชุบชีวิตงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ หลังจากต้องหยุดชะงักไปเพราะถูกระเบิดสงคราม หลังจากนั้นก็ได้รับงบประมาณดำเนินการเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนสามารถซื้อเครื่องจักรมาทำการทดลองค้นคว้าตามโครงการที่ได้วางไว้ นอกจากนี้ยังได้ขยายสาขา ร้านไทยอุตสาหกรรม ตามภูมิภาคต่างๆ เพิ่มเติม รวมกับร้านสาขาที่เปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2491 รวมเป็น 7 แห่ง คือ
1. ร้านไทยอุตสาหกรรมสามยอด
2. ร้านไทยอุตสาหกรรมราชดำเนิน
3. ร้านไทยอุตสาหกรรมบางลำภู
4. ร้านไทยอุตสาหกรรมบางรัก
5. ร้านไทยอุตสาหกรรมลพบุรี
6. ร้านไทยอุตสาหกรรมปราจีนบุรี
7. ร้านไทยอุตสาหกรรมเชียงใหม่
ร้านไทยอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางขายสินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เปรียบเหมือนตลาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั่นเอง
เริ่มงานค้นคว้าทดลอง
งานการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในครอบครัว เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง และเป็นงานที่อยู่ในนโยบายของรัฐบาลตลอดมาโดยการค้นคว้าทดลองของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เริ่มจากการซื้อเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นมาเตรียมไว้ จากนั้นได้จัดสร้างโรงงานทดลองค้นคว้าขึ้น 1 หลัง ต่อมาใน พ.ศ. 2493 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีการ ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับการถนอมอาหาร โดยทดลองการตากแห้ง การดองเค็ม และการอัดขวด เพื่อถนอมอาหารให้ดีขึ้น พร้อมทั้งทดลองดัดแปลงกี่กระตุกเป็นกี่ที่ใช้กำลังมอเตอร์
พ.ศ. 2494 ได้มีการ ทดลองเรื่องการอบแห้ง (Dehydration) ผลไม้และผักต่าง ๆ สร้างตู้อบขนาดเล็กแบบใช้ไฟฟ้าเป็นความร้อนเพื่ออบกล้วย ด้วยเล็งเห็นว่ากล้วยในเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ สามารถพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมได้ รวมทั้งมีการสั่งซื้อเครื่องขูดลอกและเครื่องสางป่านรามี่จากญี่ปุ่น 2 เครื่อง ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตมากกว่าการลอกด้วยมือถึง 25 เท่า
งานค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ในครอบครัวมีความหลากหลายมากขึ้น ในช่วง พ.ศ. 2495 ทั้งการทดลองสร้างเครื่องทอกระสอบขนาดเล็ก ทดลองทำเครื่องเขิน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทดลองทำโครงการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพน้ำรัก ทดลองกะเทาะถั่วลิสงด้วยเครื่องจักร ทดลองใช้เครื่องทุ่นแรงในอุตสาหกรรมร่มและดัดแปลงเครื่องจักรให้เหมาะกับการผลิตแบบไทย ทดลองทำเครื่องตีเยื่อกระดาษสาให้ฟูเหมาะกับการช้อนกระดาษและออกแบบตะแกรงช้อนเยื่อ ซึ่งได้ผลเร็วกว่าการช้อนแบบเดิม เพิ่มผลผลิตจากวันละ 150 แผ่นเป็น 500 แผ่น ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการให้ความสำคัญพัฒนานวัตกรรมการผลิตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2492
สำรวจภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
กระทรวงการอุตสาหกรรมได้ทำการสำรวจภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมกับกระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นข้อมูลสถิติวัตถุดิบและอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักรสำหรับจัดทำฐานข้อมูลสำคัญในการวางแผนด้านนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รับหน้าที่ในการสำรวจโรงงาน วัตถุดิบ และอุตสาหกรรมเฉพาะท้องที่จังหวัดพระนครและธนบุรี
การสำรวจครั้งสำคัญนี้เสร็จสิ้นลงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รวบรวมตัวเลขสถิติจัดหมวดหมู่ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “ สถิติวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2492”
แบ่งส่วนราชการใหม่
ต่อมาได้มีพระราชกำหนดจัดวางระเบียบราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2494 แบ่งส่วนราชการใหม่เป็น
1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง
2. กองสืบค้นและทดลอง แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสืบค้นวัตถุดิบและอุตสาหกรรม และแผนกทดลอง
3. กองส่งเสริมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกวิชาการและสถิติ แผนกอุตสาหกรรมในครอบครัว และแผนกอุตสาหกรรมโรงงาน
4. กองส่งเสริมผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการตลาดและอุปกรณ์ และแผนกเผยแพร่สินค้าไทย
2495
จัดตั้งโรงงานนำร่อง
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณในการจัดตั้งโรงงานนำร่อง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและอุตสาหกรรมขนาดย่อมให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้ประชาชน ประกอบการอุตสาหกรรมได้ถูกต้องตามหลักวิชาการและทันสมัย โดยโรงงานนำร่องที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2498 มีดังนี้
1. โรงงานเครื่องหวายและจักสาน
2. โรงงานทอผ้า ย้อมสี ทอแถบ และถุงเท้า
3. โรงงานทอผ้าภูมิภาค
4. โรงงานร่มพระนคร
5. โรงงานร่มเชียงใหม่
6. โรงงานทำเข็มหมุดและคลิป
7. โรงงานทอกระดาษสา
8. โรงงานเครื่องเขิน
9. โรงงานทดลองเครื่องจักรประดิษฐ์ไม้ไผ่
นอกจากนี้ยังได้รับโอนโรงงานบางกอกเย็บสานอุตสาหกรรมจากโรงงานหมวกไทยมาดำเนินการต่อ และใน พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งโรงงานไทยโลหะภัณฑ์ โดยยืมเงินจากกองสลากกินแบ่งของรัฐบาลมาดำเนินการในขั้นแรก พร้อมทั้งได้รับงบประมาณจัดตั้งโรงงานเครื่องเคลือบดินเผาขึ้นเป็นลำดับสุดท้าย ใน พ.ศ. 2497 ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจโรงงานเหล่านี้ต่อจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็สามารถรับช่วงกิจการต่อไปได้ รวมถึงมีการเปิดรับประชาชนที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ
2496
เปลี่ยนแปลงส่วนราชการอีกครั้ง
ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่วนราชการในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2496 แบ่งส่วนราชการดังนี้
1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง
2. กองค้นคว้าและทดลอง แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกค้นคว้าวัตถุดิบและอุตสาหกรรมและแผนกทดลอง
3. กองส่งเสริมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกวิชาการและสถิติ แผนกอุตสาหกรรมในครอบครัว และแผนกอุตสาหกรรมโรงงาน
4. กองส่งเสริมผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการตลาดและอุปกรณ์ และแผนกเผยแพร่สินค้าไทย
5. ร้านไทยอุตสาหกรรม (นารายณ์ภัณฑ์)