ระยะที่ 2 : เน้นการเพิ่มผลผลิต
26
มิ.ย.
2020
อภิมุข
1,314
2501
จัดทำวารสารอุตสาหกรรมสาร
อุตสาหกรรมสารเป็นวารสารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการส่งเสริมความรู้ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งตีพิมพ์มายาวนานกว่า 50 ปี โดยถือกำเนิดขึ้นเป็นฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 นับเป็นวารสารทางราชการที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดและยังคงตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน
จากรูปเล่มที่ใช้การพิมพ์โรเนียวเป็นใบปลิวแล้วเย็บเข้าเป็นเล่ม มีจำนวนพิมพ์ในปีเริ่มต้น 700 -800 ฉบับ จนมาถึง พ.ศ. 2507 จึงได้มีการปรับปรุงเป็นเล่ม ปัจจุบันอุตสาหกรรมสารเป็นวารสารราย 2 เดือน จำนวนพิมพ์ครั้งละ 5,000 ฉบับ เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย แนวโน้มของอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต การตลาด การบริหารจัดการ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การให้บริการต่าง ๆ ตลอดจนตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอุตสาหกรรม
นอกเหนือจากการจัดทำในรูปสิ่งพิมพ์ ต่อมายังได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสารในรูปแบบวารสารดิจิตอล ซึ่งสามารถอ่านได้ทั้งบนเว็บไซต์และผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยงานราชการแห่งแรกที่เผยแพร่วารสารขององค์กรในรูปแบบ Mobile Application
2504
เปลี่ยนร้านไทยอุตสาหกรรมเป็นร้านนารายณ์ภัณฑ์
หลังจากร้านไทยอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้นตามลำดับ และมีความจำเป็นต้องย้ายร้านไปที่ใหม่เพื่อให้กว้างขวางกว่าเดิม จึงได้ย้ายมาตั้งสำนักงานที่อาคารนารายณ์ภัณฑ์ ถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2504 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ร้านนารายณ์ภัณฑ์” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่ออาคาร นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาใน พ.ศ. 2527 คณะรัฐมนตรีมีนโยบายปรับปรุงกิจการร้านนารายณ์ภัณฑ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นลักษณะธุรกิจ โดยมีเอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและช่วยเหลือชาวบ้านในด้านหัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันร้านนารายณ์ภัณฑ์เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับภาคเอกชน และมีร้านสาขาจำนวน 7 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ กระบี่ ชลบุรี และภูเก็ต
2505
จุดเริ่มต้นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและกองทุนพิเศษสหประชาชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านการพัฒนาการจัดการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการฝึกอบรม ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลข่าวสารด้านการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2505 ตามข้อตกลงองค์การสหประชาชาติจะให้ความร่วมมือ และความช่วยเหลือในด้านการจัดตั้งและดำเนินงานของศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ศูนย์ฯ ในฐานะเป็นผู้ให้การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำ
ต่อมาได้มีการขยายงานให้บริการปรึกษาแนะนำและได้รับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติต่อไปอีก 3 ปี ความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติได้สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2512 ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ชาวไทยก็ได้ดำเนินงานเองโดยตลอด
ภายหลังได้โอนงานของศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาอยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อ พ.ศ. 2515 จากนั้นได้จัดตั้งเป็นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติใน พ.ศ. 2537 เป็นหน่วยงานอิสระสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีมูลนิธิเพื่อสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติรองรับการดำเนินงาน
2506
เริ่มงานออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้น หรือในชื่อเดิมคือ โครงการศูนย์กลางการออกแบบอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า รวมทั้งบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการทั่วไป โดยนายชิน ทิวารี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการบรรจุหีบห่อ ได้มอบนโยบายพร้อมทั้งสนับสนุนให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในด้านนี้
ใน พ.ศ. 2510 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (Asian Packaging Federation : APF) ตามคำเชิญของสถาบันการบรรจุภัณฑ์แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหพันธ์ฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในทางวิชาการด้านบรรจุภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิกและร่วมมือกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ในประเทศแถบเอเชีย
ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมให้แก่สหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชียหลายครั้งด้วยกัน รวมถึงการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของประเทศไทยในการจัดประกวดบรรจุภัณฑ์ Asia Star Awards ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของสมาพันธ์ฯ ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
นอกจากนี้ยังได้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้นำขององค์กรนี้ โดยนายทำนุ วะสีนนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในขณะนั้น เคยดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ