ระยะที่ 3 : ส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค


26 มิ.ย. 2020    อภิมุข    872

 

2515

สำรวจเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เพื่อเป็นการกระจายโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวกันอยู่ในกรุงเทพมหานครออกสู่ต่างจังหวัด และขจัดปัญหาแรงงานอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 - 2519) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการสำรวจเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงาน

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ วางแผน และกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ต่างจังหวัด โดยมีการสำรวจขั้นต้นเพื่อวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล


ผลการสำรวจครั้งนั้นพบว่า ควรมีการจัดตั้งการประกอบกิจการอุตสาหกรรมใหม่ ๆ คือ อุตสาหกรรมผลิตผลไม้ อาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเล อุตสาหกรรมผลิตอาหารเนื้อ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา

 

ปรับปรุงส่วนราชการต่าง ๆ ใหม่

ได้มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ภายในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 277 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ดังนี้

 

1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกสารบรรณ แผนกคลัง แผนกห้องสมุด และแผนกการเจ้าหน้าที่

2. กองบริการอุตสาหกรรม

3. กองแผนงาน

4. กองอุตสาหกรรมในครอบครัว

5. กองส่งเสริมหัตถกรรมไทย

6. กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านไทยอุตสาหกรรม

 

และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านไทยอุตสาหกรรม

 

ขยายงานสู่ภูมิภาค

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยายงานให้บริการไปยังส่วนภูมิภาคในเขตภาคเหนือ โดยจัดตั้งสถาบันบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือขึ้นที่ถนนทุ่งโฮเต็ล จังหวัดเชียงใหม่ โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารที่ทำการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2515

จากนั้นใน พ.ศ. 2516 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือ และใน พ.ศ. 2526 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จนกระทั่ง พ.ศ. 2538 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน

 

2518

แบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่

ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ดังนี้

1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกสารบรรณ แผนกบัญชีและการเงิน แผนกห้องสมุด แผนกการเจ้าหน้าที่ และแผนกพัสดุกลาง

2. กองแผนงาน

3. กองบริการอุตสาหกรรม

4. กองบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือ

5. กองอุตสาหกรรมในครอบครัว

6. กองส่งเสริมหัตถกรรมไทย

7. กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ

8. กองเพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรม และยังคงมีหน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านไทยอุตสาหกรรม

 

2520

เริ่มจัดประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย

บรรจุภัณฑ์นับเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย หรือ Thai Star Packaging Awards ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเวทีในการแสดงผลงานและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมได้เห็นโอกาสในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดต่อไป


ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมในการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (Asia Star Awards) ซึ่งจัดโดยสหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (Asian Packaging Federation : APF) และมีประเทศสมาชิกร่วมส่งผลงานเข้าประกวด

 

โครงการส่งเสริมวิชาชีพอุตสาหกรรม

เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างงาน กระจายรายได้สู่ชนบท เพิ่มรายได้ของประชากรและรายได้ประชาชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดทำ โครงการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรม โดยมีเนื้องานประกอบด้วย


1) โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมในชนบท ซึ่งได้มีการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเริ่มต้นแห่งแรกที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (เดิมชื่อ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ)

2) โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมในเมือง ได้มีการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในแหล่งเสื่อมโทรม ได้แก่ ดินแดง คลองเตย และทุ่งสองห้อง ซึ่งปัจจุบันได้หยุดการดำเนินงานไปแล้ว เนื่องจากมีหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาทำหน้าที่ฝึกอาชีพโดยตรง


โดยตลอดช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมให้ประชาชนที่มีฝีมือในการประกอบอาชีพ ใช้เวลาว่างเสริมสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ