ระยะที่ 4 : พัฒนาอุตสาหกรรมครบวงจร


26 มิ.ย. 2020    อภิมุข    1,714

 

2523

ริเริ่มโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำ  มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกระจายรายได้สู่ชนบท  ซึ่งเป็นการเกื้อหนุนการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคของประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ขึ้น  เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่  และพัฒนาผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมให้เป็น ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ รู้หลักการคิดก่อนการลงทุนหรือขยายกิจการ และสามารถบริหารงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยดำเนินการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องทุกจังหวัด

ปัจจุบัน ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีสมาชิกผ่านการฝึกอบรมโครงการ คพอ. จำนวน 280 รุ่น มีสมาชิกกว่า 8,800 ราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 

2525

ริเริ่มโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย

รัฐบาลมีนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งเติบโตรุดหน้า มีความสามารถในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนาการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนาการตลาดต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ แต่ด้วยผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมักมีเงินทุนน้อย อาจก่อเกิดปัญหาสภาพคล่อง (Cash Flow) เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน จนอาจส่งผลกระทบการประกอบธุรกิจ และการรักษาสภาพการจ้างแรงงาน

 

โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยจึงเป็นอีกหนึ่งบริการที่เกื้อหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนดำเนินกิจการต่อไปได้ ด้วยการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับจัดหาวัตถุดิบ เครื่องมือ อุปกรณ์ การผลิต การจ้างแรงงานในการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้

 

จากจุดเริ่มต้นของโครงการในปี พ.ศ. 2525 ที่มีเงินทุนเริ่มแรกเพียง 4 ล้านบาท ปัจจุบันเงินทุนได้เพิ่มจำนวนเป็น 450 ล้านบาท โดยให้บริการกู้ยืมตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึง 1 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียงร้อยละ 6

 

ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยายบริการเพิ่มเติมไปยังส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมในภาคใต้ตอนล่าง


ต่อมาใน พ.ศ. 2539 ได้เปลี่ยนเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ตอนล่าง และเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ใน พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ยะลา พัทลุง สตูล นราธิวาส

 

2526

ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 - 2529) ซึ่งให้ความสำคัญกับประชาชนในชนบทให้สามารถช่วยเหลือตนเองและชุมชนได้มากกว่าจะมองที่ผลผลิตและรายได้ของประเทศ


ต่อมาใน พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 ปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สกลนคร

 

2527

ริเริ่มดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จากเจตนารมณ์ในการสืบสานตามโครงการพระราชดำริ เพื่อการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ของทุกภูมิภาค ให้มีงานทำ มีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้น้อมนำพระราชดำริสู่การปฏิบัติ โดยสนับสนุนด้านวิชาการในการพัฒนาและฝึกอบรมราษฎร รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เน้นในเรื่องของการพัฒนาอาชีพของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง


โดยมอบหมายให้สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน เป็นหน่วยงานบริหารโครงการ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ เป็นหน่วยงานร่วม แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน รวม 9 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดำเนินการโดย สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี (ดำเนินการโดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ) โดยแต่ละโครงการจะมีการจัดกิจกรรมฝึกอบรมชาวบ้านในด้านการพัฒนาการผลิต และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานและคุณภาพสอดคล้องตามความต้องการของตลาดนอกจากนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรม รวมถึงจัดทำโครงการสนับสนุนการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ อีกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยมีโครงการเด่น ๆ ดังต่อไปนี้

 

งานวันกระจูด (พ.ศ. 2527)

เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงสนพระทัยในงานฝีมือเสื่อกระจูด ที่ราษฎรทำอยู่ เพราะมีลวดลายสวยงาม น่าจะได้มีการส่งเสริมและอนุรักษ์ให้เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้รับมอบหมายร่วมกับจังหวัดนราธิวาสให้จัดประกวดและแข่งขันผลิตภัณฑ์เสื่อกระจูดขึ้นเรียกว่า งานวันกระจูด ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2527 ณ ศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการจัดประกวด และแข่งขันการสานเสื่อกระจูด การแสดงสินค้ากระจูดและการแสดงแนวคิดด้านการออกแบบใหม่ ๆ โดยใช้กระจูดในงานดังกล่าว


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรการประกวดและแข่งขันสานเสื่อกระจูด การสาธิต และการจัดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2527 เนื่องจากการจัดงานได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงมีการจัดงานวันกระจูดขึ้นอีกในปีถัดมา และมีการจัดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี จังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2543)

ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี จังหวัดพะเยา เป็นโครงการหนึ่งของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ศูนย์ฯ แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับราษฎรในจังหวัดพะเยา ซึ่งประสบปัญหาความยากจน แต่ส่วนใหญ่มีพื้นฐานดั้งเดิมและทักษะเชิงช่างอัญมณีและเครื่องประดับมาก่อน

พิธีเปิดศูนย์ฯ มีขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2543 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี


รูปแบบการดำเนินการประกอบด้วยการฝึกอบรมที่ครบวงจร อาทิ การเจียระไนอัญมณี การทำเครื่องประดับเงิน ทำให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วสามารถเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือประกอบอาชีพในลักษณะของอุตสาหกรรมในครอบครัวเพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ศูนย์ฯยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนงานฝีมือประเภทหัตถกรรมของภาคเหนือและสินค้าเกษตรอีกด้วย

 

โครงการรักษ์อัมพวา สร้างเสน่ห์ชุมชน (พ.ศ. 2549)

โครงการรักษ์อัมพวาเป็นหนึ่งในโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2549 และวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ใน พ.ศ. 2550 ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการภารกิจสำคัญของโครงการรักษ์อัมพวาคือ การร่วมฟื้นฟูและสืบสานชีวิตพอเพียงแบบอัมพวา


โดยเสริมสร้างปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เพื่อให้เอกลักษณ์แห่งวิถีภูมิปัญญาไทยดำรงไว้ให้ยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้พึ่งพาและมองเห็นเสน่ห์ในวิถีของตนเอง อาทิ การสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่มีเสน่ห์และเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น อย่างขนมไทย น้ำตาลปึก หรือผลไม้ เพื่อสร้างอัมพวาเป็นชุมชนต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทั้งด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยง (พ.ศ. 2555)

สืบเนื่องจากพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555 คราวเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเยี่ยมโรงเรียนและราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้ทำการอนุรักษ์ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ากะเหรี่ยงไว้ให้อยู่ควบคู่กับวิถีชีวิตของชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และจังหวัดตาก ดำเนินการสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ จนสรุปเป็นหลักคิด “การตลาดนำการผลิต” ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ชาวกะเหรี่ยงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง

อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จากนั้นสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ให้สามารถรองรับต่อความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตด้วยการส่งเสริมให้มีการก่อตั้งกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอขึ้น


จากนั้นทำการทดลองตลาดในร้านภูฟ้า และในร้านอุปนายิกา งานกาชาด ประจำปี 2555 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม ลูกค้ามีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์อย่างมาก นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ พร้อมทั้งช่วยให้ราษฎรชาวกะเหรี่ยงเกิดความภูมิใจและหวงแหนภูมิปัญญาของตน ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคุณค่าที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน

 

2531

ก่อตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ

ช่วง พ.ศ. 2530 - 2531 ประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก มีการขยายกำลังการผลิตอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่จะมาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ ไม่ได้มีการพัฒนาให้เติบโตตามไปด้วย


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ก่อตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ : MIDI ขึ้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยเน้นกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานขึ้นรูปโลหะ ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญ


เนื่องจากชิ้นส่วนต่าง ๆ ล้วนทำจากโลหะ พลาสติก และจากเครื่องจักรในการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังได้มีการจัดตั้งชมรมและสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนของประเทศไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศอีกด้วย


ภายหลังเมื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีการปรับโครงสร้างองค์กร ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2539 สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน พร้อมกับขยายการดำเนินงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

2532

ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันตก และภาคตะวันออก

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยายงานบริการไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการปฏิบัติงาน และร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวมทั้งเป็นแกนกลางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาค


โดยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี สระบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว


ถัดมาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 มีพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

 

ตั้งศูนย์พัฒนาเครื่องเคลือบดินเผาภาคเหนือ

สืบเนื่องจากภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดลำปาง มีผู้ประกอบการด้านเครื่องเคลือบดินเผาจำนวนมาก ประกอบกับภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ การผลิตต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และมีการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค


คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกขึ้น เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 ในรูปโครงการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาภาคเหนือ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรมเซรามิกของท้องถิ่นและของประเทศให้มีมาตรฐานด้านคุณภาพเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ และสามารถผลิตสินค้าที่แข่งขันกับต่างประเทศได้


ระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2540 ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งได้ให้การสนับสนนุในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการผลิต การส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมเซรามิกมาประจำที่ศูนย์ฯ และส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น

เดิมศูนย์ฯ แห่งนี้สังกัดศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ใน พ.ศ. 2538 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และต่อมาใน พ.ศ. 2551 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการแบ่งส่วนราชการเป็นการภายในใหม่จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก”