บริษัท ทองม้วนไทยพัฒนา จำกัดปรับโฉมขนมขบเคี้ยวไทยโกอินเตอร์
เมื่อห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ขยายฐานมาปักหลักที่จังหวัดกาญจนบุรี ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของคนไทยต้านกระแสไม่ไหวต้องปิดตัวลง เจ้าของห้างท้องถิ่นอย่างคุณสุกัญญากิจสวัสดิ์ ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการหันมาขายขนมทองม้วน ของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัด พร้อมกับขบคิดหาทางออกให้กับวิกฤตเศรษฐกิจของตนเอง วันหนึ่งขณะคุณสุกัญญานั่งดูโทรทัศน์เห็นข่าวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการจนประสบความสำเร็จจึงมองเห็นลู่ทางว่าทองม้วนของตนน่าจะมีอนาคตสดใสได้ จึงหอบทองม้วนอันใหญ่ๆ พองๆ รูปทรงดั้งเดิม บรรจงเรียงอยู่ในถุงพลาสติกมัดหนังสติ๊ก มาขอพบผู้บริหารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ออกรายการทีวีเมื่อวันก่อน คุณมนูญ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาผู้ที่ออกรายการในวันนั้นได้ตั้งโจทย์ให้คุณสุกัญญาตีให้แตกดังนี้ 1. ทำทองม้วนให้มีขนาดพอคำ 2. เมื่อกัดทองม้วนแล้วต้องไม่แตกไม่ร่วงเลอะเทอะ ไม่ต้องแหงนหน้ากิน 3. ต้องทำทองม้วนให้แตกต่างจากคนอื่น และ 4. ต้องใส่บรรจุภัณฑ์ที่พอดีทองม้วนกระทบกันแล้วไม่แตกหัก พร้อมตบท้ายด้วยการให้ภาพของการพาทองม้วนไทยไปต่างประเทศ คุณสุกัญญาใช้เวลาขบคิดจนตีโจทย์แตกอย่างหมดเปลือก พลิกโฉมทองม้วนไทยหน้าตาบ้านๆ ให้กลายเป็นทองม้วนไฮโซ ลดขนาดให้พอดีคำ พัฒนารสชาติทองม้วนให้แตกต่างจากที่มีทั่วไปในท้องตลาด เช่น ทองม้วน ช็อคโกแลต ทองม้วนหมูหยอง ทองม้วนฝอยทอง ทองม้วนน้ำพริกเผา พร้อมจับใส่บรรจุภัณฑ์อันทันสมัยหลากหลายรูปแบบรวมทั้งคุณสุกัญญายังเข้ารับการอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารตามเกณฑ์ต่างๆ จนได้รับการรับรองจาก อย.ตลอดจนการผลิตตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ไปร่วมออกงาน แสดงสินค้ากับกรมฯ แสวงหาความรู้ในการนำสินค้าออกจำหน่ายต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งให้ “ทองม้วน” ขนมขบเคี้ยวแบบไทยๆออกไปประกาศศักดิ์ศรีบุกตลาดต่างประเทศได้จนถึงทุกวันนี้ จากทองม้วนโมเดล “ส่งขนมไทยไปไกลถึงต่างแดน” กลยุทธ์สำคัญคือ การพัฒนาตนเองแบบไม่เคยหยุดนิ่ง สมกับชื่อ “ทองม้วนไทยพัฒนา” เพราะไม่หยุดที่จะค้นคว้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหารมากมายได้จากการสังเกตและลงมือทำ พัฒนาสูตรจนมีทองม้วนถึง 30 รสชาติ ตอบสนองลูกค้าในหลายประเทศทั่วโลก มีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศถึง 70% ส่วนในประเทศมีขายเฉพาะห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมยกฐานะขีดความสามารถทองม้วนท้องถิ่นกลายเป็นทองม้วนไฮโซที่เป็นสินค้าส่งออกทำเงิน สร้างงานให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นและสร้างรายได้เข้าประเทศปีหนึ่งๆ จำนวนไม่น้อย คุณสุกัญญา กิจสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทองม้วนไทยพัฒนา จำกัด 284/53 ถ.แสงชูโต ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โทรศัพท์ : 0 3451 3505 โทรสาร : 0 3451 1533 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
“จะโหรม” ร้อนแรงรสแกงไทยในอาเซียน
จากร้านขายพริกแกงปักษ์ใต้เล็กๆ ในตลาดเมืองตรัง เติบโตกลายเป็นธุรกิจ SMEs ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในคุณภาพของสินค้าว่ามีรสชาติเข้มข้น เต็มเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ในวัฒนธรรมอาหารของชาวปักษ์ใต้แท้ๆ “จะโหรม” เป็นชื่อแบรนด์ของน้ำพริกปักษ์ใต้ที่มีมากกว่า 40 สูตรวางจำหน่ายอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแมคโครทุกสาขา และขายดีอยู่ในลำดับต้นๆ ของสินค้าหมวดน้ำพริก ซึ่งคุณเกษร อาลิแอ เจ้าของน้ำพริกและพริกแกงสูตรเด็ดจากจังหวัดตรังและครอบครัวร่วมกันพัฒนาต่อยอดสินค้าจนประสบความสำเร็จ ซึ่งอีกไม่นาน น้ำพริก “จะโหรม” จะมีโรงงานแห่งใหม่บนพื้นที่ขนาด 4 ไร่ เพื่อขยายกำลังการผลิต เพราะมีแผนว่า “Jaroam Curry Paste” จะบุกตลาดชาติอาเซียนที่มีวัฒนธรรมการบริโภคที่คล้ายคลึงกัน เมื่อมีโครงการที่จะขยายงาน ผู้บริหาร “จะโหรม” จึงเข้าร่วมอบรมโครงการ “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่ AEC” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดและเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการจัดการโรงงาน การจัดทำการรับรองมาตรฐานสินค้า และการขยายตลาด “ปัจจุบัน ‘จะโหรม’ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 40-50 ตันต่อเดือน มีสัดส่วนการขายแบ่งออกเป็นสินค้าที่ผลิตให้กับคู่ค้า 30% และการทำตลาดภายใต้แบรนด์จะโหรมอีก 70% หลังจากโรงงานแห่งใหม่เปิดตัวกำลังการผลิตจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด OEM ในภูมิภาคอาเซียน” คุณจีรวุฒิ จีรวรางกูร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ดีแอนด์จี ฟู๊ดซัพพลาย จำกัด กล่าวพร้อมกับให้ข้อมูลแนวคิดการบุกตลาดของจะโหรมว่า จะมุ่งไปยังประเทศอาเซียนที่มีประชากรมุสลิม โดยจะเริ่มทยอยออกบูธและโรดโชว์ในงานต่างๆ ที่หลายหน่วยงานจัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและหาโอกาสจับคู่ทางธุรกิจ จากร้านเครื่องแกงในตลาดสดเล็กๆ ก็สามารถก้าวสู่การค้าสากลได้หากมองการณ์ไกล มุ่งมั่นพัฒนา และรักษาคุณภาพเป็นสำคัญ คุณจีรวุฒิ จีรวรางกูร บริษัท ดีแอนด์จี ฟู๊ดซัพพลาย จำกัด 53 หมู่ที่ 4 ต.นาบินหลา อ.เมือง จ.ตรัง 92000 โทร. 075 224 056 โทรสาร 075 224 448 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
กล้วยตากออร์แกนิก “จิราพร” ปลูกด้วยรัก แปรรูปด้วยใจ
กล้วยน้ำว้ามีอยู่ดาษดื่นในประเทศไทยและมีผู้ประกอบการแปรรูปกล้วยนับพันนับหมื่นรายทั่วประเทศ การสร้างความแตกต่างด้วยสูตรหรือกรรมวิธีเฉพาะย่อมทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณจิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิราพร ฟู้ดส์ ได้พบความแตกต่างนั้น คือการคัดสรรกล้วยน้ำว้าที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์และจะตัดต่อเมื่อมีอายุครบ 110 วัน นับจากแทงยอดปลี และเข้าสู่กระบวนการผลิตที่สะอาด ทันสมัยในลานตากหลังคาทรงโดม รวมถึงการคงเอกลักษณ์รสชาติกล้วยตากแบบฉบับภูมิปัญญาไทยไว้อย่างครบถ้วน จากจุดเริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2534 ด้วยการซื้อกล้วยจากผู้ผลิตในชุมชนมาแบ่งบรรจุและจำหน่ายเป็นสินค้าของฝากพื้นบ้านบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก พอปี 2534 ก็ค่อยๆ ขยับมาสร้างแผงตากเอง และพัฒนาสู่กระบวนการโรงงานผลิต “กล้วยตากจิราพร” ในที่สุด โดยเพิ่มความพิถีพิถันและใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต มุ่งมั่นสร้างมาตรฐานของสินค้าซึ่งปัจจุบันได้รับทั้งมาตรฐาน อย. GAP (Good Agriculture Practices) GMP (Good Manufacturing Practice) มาตรฐาน ACT-IFOAM ของยุโรป และล่าสุดได้รับการรับรองมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) การใส่ใจในคุณภาพการผลิตส่งผลให้กล้วยตากจิราพรที่ผลิตในหลังคาโดมได้รับการยอมรับในมาตรฐานด้านความสะอาดและปลอดภัยสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ คุณจิราพรเห็นความสำคัญของการพัฒนาจึงหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ เมื่อศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดอบรมโครงการ “กล้วยอินทรีย์” เธอจึงเข้าร่วมโครงการซึ่งได้รับประสบการณ์ที่ดีและได้นำความรู้มาพัฒนากิจการทั้งด้านการผลิต การตลาด ซึ่งยอดขายก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนอกจากจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในแถบยุโรปเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ส่วนตลาด AEC ที่กำลังหอมหวนอยู่ในขณะนี้จิราพร ฟู้ดส์ สนใจตลาดพม่าและกัมพูชา ซึ่งได้มีการเจรจาธุรกิจไปบ้างแล้ว แต่ยังติดปัญหาด้านราคาค่าขนส่ง แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อถึงเวลาที่เข้าสู่ AEC ทั้งการแข่งขันและความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้จะทำให้พบโอกาสและทางเลือกใหม่ๆ อีกมากมาย คุณจิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิราพร ฟู้ดส์ 174/1 หมู่ที่ 5 ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก 65110 โทร. 055 391 024, 08 1888 0477, 08 7211 3232 เว็บไซต์ www.jirapornbanana.com ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
น้ำพริกกลุ่มแม่บ้านแพรกษา พร้อมแข่งตลาดนานาชาติ
ที่มาของกลุ่มแม่บ้านแพรกษา หมู่ที่ ๗ คุณสมน้อย ศรีสมวงศ์ ประธานกลุ่มเล่าว่า “ความที่หลายครอบครัวในตำบลแพรกษาประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสลิดขาย และมักเหลือปลาขนาดเล็กที่ไม่สามารถนำไปขายได้ ปีพ. ศ. ๒๕๔๗ แม่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลแพรกษา ประมาณ ๑๐ครัวเรือน จึงรวมตัวกันนำปลาสลิดขนาดเล็กมาแปรรูปเป็นปลาแห้งและนำบางส่วนไปประกอบเป็นน้ำพริกปลาสลิดรสชาติต่าง ๆ จัดจำหน่ายในนาม “น้ำพริกแม่น้อย” มีจุดขายที่ความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์และรสชาติอร่อย นับเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี” สูตรน้ำพริกของกลุ่มไม่เป็นรองใคร แต่กลุ่มขาดความรู้เรื่องการทำบัญชี ตลอดจนความรู้เรื่องการตลาดและการผลิตที่มีประสิทธิภาพปี ๒๕๕๕ กลุ่มจึงเข้าร่วม “กิจกรรมพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน (Community Industries Management Efficiency Development : CIMED)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมไม่กี่เดือน รายได้ของกลุ่มที่ได้รับแต่เดิมเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อเดือนได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๐ “เรามีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น มีการทำนามบัตรไปแจกลูกค้าในงาน OTOP ที่เมืองทอง เพื่อลูกค้าจะได้รู้จักเรามากขึ้น สินค้าก็ขายดีขึ้น มีลูกค้าโทรสั่งอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลลูกค้ามักจะซื้อเป็นของฝาก เพราะเราทำตามคำแนะนำจากทางกรมฯใช้แพคเกจจิ้งเป็นแบบสุญญากาศ เพื่อให้สามารถเก็บไว้ทานได้นานหลายเดือน” ในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ คุณสมน้อยให้ข้อคิดว่า “ถ้าเราจะไปสู่อาเซียน เราต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง ปลาก็ต้องมีคุณภาพส่งออกได้ แพคเกจจิ้งก็ต้องดี สต็อกสินค้าต้องมีพร้อมขายตลอดเวลา รวมทั้งต้องแข่งขันกับตัวเอง มีการพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกค้าติดใจ ไม่ใช่ซื้อครั้งเดียวแล้วไม่มีการสั่งซื้อต่อ” ซึ่งคติการทำงานนี้ใช้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ๑๐ ปีที่แล้วที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งกลุ่มหรืออีก ๒ ปีข้างหน้าที่ AEC จะมาถึง คุณสมน้อย ศรีสมวงศ์ ประธานกลุ่มแม่บ้านแพรกษา หมู่ที่ ๗ ๒๑ บ้านสุดใจ ม. ๗ สุดใจ พุทธรักษา ต. แพรกษา อ. เมืองสมุทรปราการ จ. สมุทรปราการ ๑๐๒๘๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๗๐๓ ๖๕๖๖ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
ก้านเห็ดหอมปรุงรส i hed มุ่งมั่นพัฒนา สู่ของฝากชั้นนำ
i hed เริ่มต้นจากการเป็นเมนูอร่อยประจำบ้าน ผลิตจากก้านเห็ดหอมปรุงรสคุณภาพดี หมักปรุงรสและทอดตามหลักสุขอนามัยและหลังจากมีโอกาสเข้าร่วม “กิจกรรมเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation: NEC)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อ ๕ ปีก่อน คุณณัชชา นันทกาญจน์ จึงเห็นโอกาสในการพัฒนาก้านเห็ดหอมปรุงรสให้กลายเป็นธุรกิจทำเงิน จนกระทั่งในปี ๒๕๕๕ เธอได้จดทะเบียนแบรนด์ i hed และตัดสินใจลาออกจากงานประจำ โดยผันตัวเองมาเป็นสถาปนิกอิสระเพื่อจะได้มีเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจอย่างจริงจัง ด้วยมีประสบการณ์ธุรกิจน้อย จึงหมั่นแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องหนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้ความรู้ด้านการพัฒนากระบวนการผลิตที่ช่วยยืดอายุการเก็บสินค้าให้ยาวนานขึ้น การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยคงสภาพสินค้าหลังการผลิตและยังสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัย ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ i hed ยังเป็นเพียงธุรกิจในครัวเรือน ที่จำหน่ายในชุมชนเล็ก ๆ เพราะคุณณัชชาต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนมั่นใจว่าสามารถรับมือกับตลาดผู้บริโภคในวงกว้าง แต่เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับยุค AEC เธอกล่าวอย่างมีความหวังว่า “เมื่อครั้งที่ได้เข้าร่วมโครงการที่ NEC ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มีผู้ให้แนวคิดว่าเราสามารถสร้างสินค้าให้เป็นเหมือนสินค้า OTOP คือมีสินค้าบางจำพวกที่ชาวต่างชาติต้องซื้อติดกลับไปเป็นของฝาก ไม่ว่าจะเป็นของเล่นอาหาร หรือของที่ระลึกอะไรต่าง ๆ แต่ก็คงจะดีถ้าเราสามารถสร้างแบรนด์ i hed ให้กลายเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวที่มากรุงเทพฯ รู้สึกว่านี่คือผลิตภัณฑ์ที่ควรซื้อติดไม้ติดมือเป็นของที่ระลึก” คุณณัชชา นันทกาญจน์ เจ้าของกิจการ Healthy Republic ๓๐๑/๑๘๘ ม. ๖ ซ. ประชาชื่น แยก ๑-๒-๑๗ ถ. ประชาชื่น แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๕๙๒๐ ๕๕๓๐ อีเมล : marketing.ihed@gmail.com ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
บริษัท ชัยจินดาซีฟู้ด จำกัดความรู้บริหารเชิงลึกผสานความรู้พื้นบ้าน
คุณวันชัย โพธิเพียรทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยจินดาซีฟู้ด จำกัด เป็นหนึ่งใน SMEs ที่สร้างกิจการบนศักยภาพพื้นฐานของจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นเมืองท่าติดชายทะเล โดยดำเนินธุรกิจผลิตอาหารแห้งและการทำประมงในแบบฉบับพื้นบ้านมาร่วม ๒๐ ปีสามารถนำพากิจการเติบใหญ่ มีรายได้ต่อปีประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท แต่คุณวันชัยตระหนักดีว่า ความรู้และประสบการณ์จากการปฏิบัติและการบริหารแบบกิจการครอบครัวไม่เพียงพอต่อการเปิดเสรีการค้าอาเซียนที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและเงื่อนไขการค้าที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ความรู้เชิงลึกในการบริหารจัดการทั้งด้านการเงิน การค้า การลงทุน การบริหารบุคคล ความรู้ด้านกฎหมาย ความรู้ด้านการตลาดและอีกมากมายจะเป็นสิ่งจำเป็นในการนำพาองค์กรให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบแบบแผน ซึ่งหลังจากคุณวันชัยได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาการสร้างภาวะผู้นำรุ่นที่ ๘ “กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้นำความรู้มาใช้ในการพัฒนาองค์กร และถ่ายทอดความรู้สู่พนักงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม “ในการบริหารกิจการมีปัญหาเกิดขึ้นตลอด เวลา ไม่ต้องดูไกลระดับอาเซียน แค่ในไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ค่าแรงขึ้น ๓๐๐ บาท ต้องคิด ต้องหาวิธีการทำอย่างไรให้ดำเนินกิจการต่อไปได้โดยต้นทุนไม่มากขึ้น ความรู้ที่ได้จาก คพอ.เป็นความรู้ที่สามารถปฏิบัติและแก้ไขปัญหาได้จริง และสิ่งสำคัญผมได้มิตรภาพมากมาย เป็นห้องเรียนธุรกิจที่ได้แลกเปลี่ยนวิธีคิด วิธีบริหาร ซึ่งสำคัญมาก กิจการ SMEs จะอยู่รอดและเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อสามารถจัดการกับปัญหา” เมื่อเปิดการค้าเสรีอาเซียนในปี ๒๕๕๘ จังหวัดสมุทรสาครจะมีศักยภาพเติบโตอีกมาก พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นประตูเปิดรับวัตถุดิบอาหารทะเลและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ แต่ก็เป็นประตูสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศด้วยเช่นกัน คุณวันชัย โพธิเพียรทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยจินดาฟู้ด จำกัด ๓๕/๓๙ หมู่ ๔ ต. โคกคาม อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ๗๔๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๓๔ ๘๔๐ ๓๕๒-๓ อีเมล : dryfood@hotmail.com ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด เพิ่มรสชาติ ปราศจากสารพิษ กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร
บริษัท ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๕๔ มุ่งผลิตวัตถุดิบเกษตรออร์แกนิกเพื่อผลิตเครื่องปรุงอาหารไทย อาทิ น้ำจิ้มไก่ ซอสพริก และน้ำจิ้มเครื่องเคียงต่าง ๆ ซึ่งจัดว่าเป็นตลาดใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน วัตถุดิบส่วนใหญ่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก โดยได้สร้างไร่ชิตาไว้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ ส่วนโนว์ฮาวการผลิตก็รับถ่ายทอดจากบริษัทแม่คือ บริษัท เอสแอนด์เจ โปรดักท์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดลำพูน ในปีที่ผ่านมา บริษัท ชิตาฯ ได้เข้าร่วม กิจกรรมพัฒนาเชื่อมโยงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร” กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น น้ำสลัดชนิดข้นและใสที่ใช้ส่วนผสมน้ำส้มสายชูหมักจากสับปะรดออร์แกนิค มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีเส้นใยอาหารสูงและเอ็นไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีนจากธรรมชาติในขณะเดียวกันก็มีรสชาติกลมกล่อมและสีสันสวยงาม นอกจากนั้นยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อินทรีย์ใหม่ ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มรักสุขภาพที่มีกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ คุณสมเกียรติโอวรารินท์ ผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด เห็นว่า มีโอกาสเติบโตสูงมาก “เราพุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าผู้มีกำลังซื้อสูงในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีการศึกษาคุณภาพและประโยชน์ของสินค้าประเภทนี้กันอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีโอกาสขยายพื้นที่ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศกลุ่ม AEC ไม่ว่าในลาวหรือในเวียดนาม ซึ่งขณะนี้มีอยู่ ๑-๒ ราย ที่สนใจที่จะมาร่วมเป็นแหล่งปลูกพืชอินทรีย์ให้กับทางบริษัท” ขนาดตลาดที่ขยายใหญ่ขึ้นจากข้อตกลง AEC แนวโน้มความนิยมในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่จะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย คุณสมเกียรติ โอวรารินท์ ผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด จำกัด ๒๙๙ ม.๗ ต. นครเจดีย์ อ. ป่าซาง จ. ลำพูน ๕๑๑๒๐ โทรศัพท์ : ๐๕๓ ๕๕๕ ๒๔๘-๙ โทรสาร : ๐๕๓ ๕๕๕ ๒๔๙ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
โรงงานแปรรูปเนื้อสุกร บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ลดพลังงาน – ลดต้นทุน – ลดโลกร้อน
โรงงานผลิตสุกรของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งปี ๒๕๔๖ ดำาเนินธุรกิจผลิตเนื้อสุกรแปรรูปแช่เย็นและแช่แข็งปัจจุบันมีปริมาณการผลิตประมาณ ๔๑,๐๐๐,๐๐๐ ตัน/ปี การที่กิจการมีความก้าวหน้า เนื่องจากมีการนำระบบมาตรฐานต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการแข่งขันในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะการแข่งขันเสรีในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีผลในปี ๒๕๕๘ นี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญคือ การใช้พลังงานและการจัดหาพลังงานทดแทนสำหรับใช้ในกระบวนการผลิต “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเรื่องของนโยบายการปรับค่าแรงทั่วประเทศหรือเรื่องของพลังงาน หากได้ความช่วยเหลือจากทางการในเรื่องการจัดหาพลังงานทดแทน เช่น การลงทุนในส่วนของโซลาร์เซลล์ ประเทศไทยน่าจะใช้ประโยชน์จากพลังงานตรงนี้ได้มาก” คุณอนันต์ วงษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพีเอฟ แสดงความเห็น เพื่อปรับปรุงการจัดการด้านพลังงาน บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วม “กิจกรรมการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management: TEM) รุ่นที่ ๑๐” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อจบกิจกรรมสามารถลดค่าปริมาณการใช้พลังงานรวมได้ ๒,๐๙๕,๐๘๒ MJ/ปี มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลง ๑,๘๔๐,๐๕๑ บาท/ปี คิดเป็นร้อยละ ๗.๕๑ จากค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานรวมก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ๒๔,๔๙๑,๒๕๔.๘๕ บาท/ปี ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมร่วมมือร่วมใจในการบริหารจัดการพลังงาน จะไม่เพียงยังประโยชน์ ต่อองค์กร แต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศด้วย คุณอนันต์ วงษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ๒๖/๒ หมู่ ๗ ถ. สุวินทวงศ์ ต. คลองนครเนื่องเขต อ. เมือง จ. ฉะเชิงเทรา ๒๔๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๓๘ ๕๙๓ ๖๘๔-๖ โทรสาร : ๐๓๘ ๕๙๓ ๖๘๔๗ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
ยูนิเกรนมาร์เกตติ้ง สร้างเอกลักษณ์ ‘ข้าวธรรม’
สินค้าเกษตรคุณภาพดี สามารถขยับชั้นจากการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ธรรมดา (Commodity Goods) มาสู่สินค้ามีแบรนด์ได้ เช่น กล้วยหอมโดล แอปเปิ้ลฟูจิ และกีวีเซสปรี เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ของไทยก็เช่น ส้มธนาธร หรือผักผลไม้โครงการหลวง ซึ่งการสร้างแบรนด์และการวางตำแหน่งสินค้าในระดับสูงได้ ย่อมหมายถึงการใส่ใจคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต คุณปนิธิ เหล่าธรรมทัศน์ ซีอีโอ บริษัท ยูนิเกรนมาร์เก็ตติ้ง (1999) จำกัด ผู้คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจค้าข้าวมากว่า ๓๐ ปี มองเห็นโอกาสเดียวกันนี้ จึงได้พัฒนาข้าวพรีเมียมแบรนด์ “ข้าวธรรม” ออกสู่ตลาดด้วยการปูทางเรื่องแบรนด์มาก่อนล่วงหน้าหลายปี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างความแตกต่างจากข้าวในประเทศและต่างประเทศในยุคที่เงื่อนเวลา AEC กระชั้นเข้ามา เนื่องจากหลายประเทศ ในอาเซียนล้วนผลิตข้าวได้จำนวนมากและผู้บริโภคไม่ทราบถึงความแตกต่าง ระยะแรกของการสร้างแบรนด์ในตลาดค้าปลีก ยูนิเกรนฯ พบปัญหามากมาย เนื่องจากเดิมมีความชำนาญด้านค้าส่ง โดยครอบครัวมีประสบการณ์ค้าส่งข้าวมานานถึง ๖๐ ปี แต่ผู้บริหารหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อได้เข้าร่วม “กิจกรรมพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในนาม “ไทยฟู๊ดคลัสเตอร์” ผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมคุณปนิธิ เห็นว่ามีประโยชน์อย่างมาก ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม มีการพัฒนาทั้งด้านผลิตภัณฑ์ และการตลาดอย่างต่อเนื่อง “คอนเซ็ปต์ของกลุ่ม คือ ทุกคนในกลุ่มต้องช่วยตัวเองส่วนหนึ่งและทางกรมฯ ช่วยสนับสนุนในส่วนหนึ่ง เช่น ในเรื่องของการออกงานและการอบรม สมาชิกในกลุ่มอาจอยู่คนละสายงาน แต่พอมานั่งคุยกันรับฟังการทำงานในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น เหมือนมี consult เพราะว่าเจ้าของธุรกิจมาแนะนำถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยตัวเอง ผมได้ความรู้จากเพื่อน ๆ มากมาย ผมว่าแค่นี้ก็คุ้มค่ามากแล้ว” การมุ่งสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ แบรนด์องค์กร รวมทั้งการผนึกกำลังสร้างแบรนด์ให้กับประเทศไทย จึงเป็นภารกิจสำคัญร่วมกันของผู้ประกอบการไทยในเวลานี้ คุณปนิธิ เหล่าธรรมทัศน์ ซีอีโอ บริษัท ยูนิเกรนมาร์เก็ตติ้ง (1999) จำกัด สำนักงาน : ๑๕๖ ถ. เฉลิมเขตร์ ๑ แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบฯ กทม. ๑๐๑๐๐ โรงงาน : ๕๐/๕ ม. ๑๒ ถ. พุทธมณฑล สาย ๕ ต. ไร่ขิง อ. สามพราน จ. นครปฐม ๗๓๒๑๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๘๑๑ ๙๖๗๐-๓ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
คุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต ลมใต้ปีกของ “นกพิราบ”
แม้ผัก ผลไม้ดอง และอาหารกระป๋องตรา “นกพิราบ” จะเป็นที่รู้จักของสังคมไทยมานานกว่ากึ่งศตวรรษ แต่ก็ไม่อาจหยุดนิ่งในการพัฒนาตรงกันข้าม การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์นกพิราบดำรงอยู่ในใจผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม การผลิตอาหารกระป๋อง คุณภาพวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางนับเป็นหัวใจสำคัญ “เรามีการปรับปรุงกิจการอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพพื้นฐาน แต่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ ทำให้ยากในการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง” คุณวิสุทธิ์ รัชตสวรรค์ กรรมการบริหาร บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด อธิบาย เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วม“กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP-PIA)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคนิค SPC (Statistical Process Control) ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องมือพื้นฐานทั่วไป เช่น การปรับปรุงคุณภาพผักหัวห่อแน่น ซึ่งเดิมอุณหภูมิการเพาะปลูกเป็นปัจจัยที่ควบคุม ไม่ได้ แต่สามารถชดเชยด้วยปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น ระยะปลูก ปริมาณ ปุ๋ย และอายุตัด หรือการใช้ปัจจัยน้ำหนักต่อพื้นที่ของโคนก้านและปลายก้านมาช่วยคำนวณเพื่อกำหนดขนาดผักหั่น หรือการปรับปรุงรสชาติ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าลูกค้าให้ความสำคัญกับรสชาติมากกว่ากลิ่นและเนื้อสัมผัส อันนำมาสู่การวิเคราะห์ตรวจสอบทางเคมีและย้อนกลับสู่กระบวนการปลูกและกระบวนการผลิตวัตถุดิบเพื่อให้ได้รสชาติสม่ำเสมอ นอกจากการรักษามาตรฐานผลิตภัณฑ์ คุณวิสุทธิ์เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงาน การหาพันธมิตรจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายฐานการผลิตและขยายตลาดเพื่อรองรับ AEC ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป คุณวิสุทธิ์ รัชตสวรรค์ กรรมการบริหาร บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ๓๗ หมู่ ๑ ซ. สุขสวัสดิ์ ๔๓ ถ. สุขสวัสดิ์ ต. บางครุ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ ๑๐๑๓๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๘๑๙ ๓๑๑๑ โทรสาร : ๐ ๒๘๑๙ ๓๔๒๒ อีเมล : info@peacecanning.com ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012