น้ำพริกกลุ่มแม่บ้านแพรกษา พร้อมแข่งตลาดนานาชาติ


31 ม.ค. 2012    พลอยไพลิน    287

ที่มาของกลุ่มแม่บ้านแพรกษา หมู่ที่ ๗ คุณสมน้อย ศรีสมวงศ์ ประธานกลุ่มเล่าว่า “ความที่หลายครอบครัวในตำบลแพรกษาประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสลิดขาย และมักเหลือปลาขนาดเล็กที่ไม่สามารถนำไปขายได้ ปีพ. ศ. ๒๕๔๗ แม่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลแพรกษา ประมาณ ๑๐ครัวเรือน จึงรวมตัวกันนำปลาสลิดขนาดเล็กมาแปรรูปเป็นปลาแห้งและนำบางส่วนไปประกอบเป็นน้ำพริกปลาสลิดรสชาติต่าง ๆ จัดจำหน่ายในนาม “น้ำพริกแม่น้อย” มีจุดขายที่ความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์และรสชาติอร่อย นับเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี”

 

สูตรน้ำพริกของกลุ่มไม่เป็นรองใคร แต่กลุ่มขาดความรู้เรื่องการทำบัญชี ตลอดจนความรู้เรื่องการตลาดและการผลิตที่มีประสิทธิภาพปี ๒๕๕๕ กลุ่มจึงเข้าร่วม “กิจกรรมพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน (Community Industries Management Efficiency Development : CIMED)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมไม่กี่เดือน รายได้ของกลุ่มที่ได้รับแต่เดิมเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อเดือนได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๐

 

“เรามีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น มีการทำนามบัตรไปแจกลูกค้าในงาน OTOP ที่เมืองทอง เพื่อลูกค้าจะได้รู้จักเรามากขึ้น สินค้าก็ขายดีขึ้น มีลูกค้าโทรสั่งอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลลูกค้ามักจะซื้อเป็นของฝาก เพราะเราทำตามคำแนะนำจากทางกรมฯใช้แพคเกจจิ้งเป็นแบบสุญญากาศ เพื่อให้สามารถเก็บไว้ทานได้นานหลายเดือน”

 

ในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ คุณสมน้อยให้ข้อคิดว่า “ถ้าเราจะไปสู่อาเซียน เราต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง ปลาก็ต้องมีคุณภาพส่งออกได้ แพคเกจจิ้งก็ต้องดี สต็อกสินค้าต้องมีพร้อมขายตลอดเวลา รวมทั้งต้องแข่งขันกับตัวเอง มีการพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกค้าติดใจ ไม่ใช่ซื้อครั้งเดียวแล้วไม่มีการสั่งซื้อต่อ” ซึ่งคติการทำงานนี้ใช้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ๑๐ ปีที่แล้วที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งกลุ่มหรืออีก ๒ ปีข้างหน้าที่ AEC จะมาถึง

 

คุณสมน้อย ศรีสมวงศ์

ประธานกลุ่มแม่บ้านแพรกษา หมู่ที่ ๗

๒๑ บ้านสุดใจ ม. ๗ สุดใจ พุทธรักษา ต. แพรกษา อ. เมืองสมุทรปราการ

จ. สมุทรปราการ ๑๐๒๘๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๗๐๓ ๖๕๖๖

 

ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม