มีมาตรฐานรองรับ ยกระดับสินค้า อีกหนึ่งวิธีพัฒนาคลัสเตอร์
สินค้าดี มีมาตรฐานรองรับ ตรวจสอบย้อนกลับได้ ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Organic Herbs Thailand) เป็นกลุ่มที่เน้นธุรกิจแบบกลางน้ำ ด้วยวิธีการแปรรูปสมุนไพรจากวัตถุดิบแบบออร์แกนิก เพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่ใช้ภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สกินแคร์ เซร่ำบำรุงผิวต่างๆ สบู่ แชมพู รวมไปถึงสินค้าประเภท Health Care อย่างน้ำขมิ้น น้ำมัลเบอร์รี เป็นต้น ก่อนที่จะมารวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เหมือนทุกวันนี้ คุณแม็ค ศิริพัฒน์ มีทับทิม ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังว่า พวกเขามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องมาตรฐาน ACT C and H มาก่อน จากนั้นจึงพัฒนากลุ่มขึ้นมาเป็นคลัสเตอร์ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกภายในกลุ่ม ได้รับการรองรับตามมาตรฐาน ACT C and H ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการการตรวจสอบเกิน 50% แล้ว และคาดว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดน่าจะได้มาตรฐานดังกล่าวมารองรับครบ 100% ภายในปี 2565 เมื่อสินค้ามีคุณภาพ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ACT C and H แล้ว การสร้างแบรนด์ และหาช่องทางการตลาด เพื่อส่งเสริมทางด้านการขายให้กับผู้ประกอบการ จึงเป็นสเต็ปต่อไปที่อยู่ในแผนของคุณแม็ค โดยคุณแม็คและทีมคณะกรรมการเอง ก็ช่วยกันสร้างเว็บไซต์ออนไลน์ อย่าง https://www.herbsstarter.com ขึ้นมา ซึ่งเว็บไซต์นี้จะเป็นเหมือนเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการสร้างแบรนด์ ตั้งแต่การออกแบบ Packaging ถ่ายภาพ ทำโลโก้ หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เข้าสู่แพลตฟอร์มการตลาดที่มีชื่อว่า “Health Harvest” https://healthharvest.bentoweb.com/th/mobile เพื่อช่วยโปรโมต และเป็นช่องทางในการจำหน่าย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่ม ได้มีการส่งออกไปยังประเทศจีนแล้วด้วย นอกจากมาตรฐานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของสมาชิกเพิ่มมากขึ้นก็คือ “ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ” ที่จะมีข้อมูลระบุไว้ตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานอะไรมารองรับหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเช็กข้อมูลย้อนกลับได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อไปนั้น มีคุณภาพ และเป็นของจริง ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะขึ้นตรงกับกระทรวงพาณิชย์เลย สามารถเชื่อถือได้แน่นอน การเข้ามารวมกลุ่มจนกลายเป็นคลัสเตอร์เหมือนดั่งทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือสร้างคอนเน็กชันในแวดวงธุรกิจของตัวเองเท่านั้น แต่สมาชิกในกลุ่มเองยังได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อีกไม่น้อย เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่เพิ่งเริ่มเข้าสู่คลัสเตอร์ในช่วงแรกๆ รวมไปถึงสำนักงานมาตรฐานเกษต อินทรีย์ (มกท.) ที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องมาตรฐาน ACT C and H. การดำเนินงานภายในกลุ่มจะไม่สามารถเดินต่อไปได้เลย หากขาดจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญ อย่าง “ความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก” ไป เมื่อไรก็ตามที่คนในกลุ่มมีทัศนคติตรงกัน มองเห็นเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งเน้นการแชร์ข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มากกว่าจะมานั่งแข่งขันกันเอง ก็จะทำให้กลุ่มเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วมากยิ่งขึ้น
03 มี.ค. 2022
หลากอาชีพ หลายผลิตภัณฑ์ สู่การรวมกลุ่มผลักดันให้เก่งกว่าเดิม
ทำสิ่งที่เด่นให้เก่งขึ้นมา อยากทำให้คนเกิดความรู้สึกว่า ถ้ามาอีสานต้องมาเที่ยวสปา ซื้อยาสมุนไพร คลัสเตอร์สบายดี เฮิร์บแอนสปา ศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมุนไพรแปรรูปและสปา อิสานเหนือ เป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์ที่อยู่ในแวดวงสมุนไพรไทย คุณน็อต รจสิทธิ์ ไกรวงศ์ ประธานคลัสเตอร์เล่าให้ฟังว่า ภายในกลุ่มจะมีผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร น้ำมันนวดสมุนไพร ยาหม่อง ยาดม ลูกประคบ นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแล้ว กลุ่มของคุณน็อตยังรวบรวมผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในแวดวงสมุนไพรเอาไว้อย่างครอบคลุม โดยมีตั้งแต่ผู้ที่ปลูกสมุนไพรโดยตรง ผู้ที่นำสมุนไพรไปแปรรูป ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ผู้จำหน่ายสินค้าน้ำสมุนไพร คุณหมอแพทย์แผนไทยที่เปิดคลินิกแพทย์แผนไทย โรงเรียนนวดแผนไทย โรงเรียนสปา ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดที่ทำให้คลัสเตอร์ของคุณน็อตแตกต่างไปจากคลัสเตอร์สมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มมีความหลากหลาย มาจากสายอาชีพที่แตกต่างกัน ทางคลัสเตอร์ของคุณน็อตจึงมีวิธีแบ่งสมาชิกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ฝ่ายแพทย์แผนไทย ฝ่ายสปา ฝ่ายเกษตรแปรรูป และฝ่ายตลาด นอกจากจะบริหารงานได้อย่างเป็นสัดส่วนแล้ว ยังทำให้สมาชิกสามารถเข้าถึงความรู้ที่ตัวเองต้องการได้ง่ายขึ้นด้วย กลุ่มของคุณน็อตไม่ได้มีแค่สินค้า หรือบริการเท่านั้น แต่จุดเด่นของกลุ่มอยู่ที่มีการให้ความรู้ คำปรึกษา เรื่องแพทย์แผนไทยจากคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของสมาชิกในกลุ่ม มีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากยิ่งขึ้น การผลักดันให้แพทย์แผนไทยและสมุนไพรเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น เป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มที่คุณน็อตอยากดำเนินงานต่อไป คุณน็อตอยากให้สมุนไพรไทยเป็นเหมือนของดีอีกอย่างหนึ่งของภาคอีสาน เมื่อไรที่มาก็จะต้องมาเที่ยวสปา และซื้อยาสมุนไพรติดไม้ติดมือกลับไป เหมือนกับที่เมื่อเราพูดถึงทุเรียนเมื่อไร ก็จะต้องนึกถึงจังหวัดจันทบุรี หรือตราดก่อนนั่นเอง เมื่อแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเป็นที่รู้จักแล้ว คนก็จะเริ่มหันมาให้ความสนใจ เดินทางมาถึงถิ่นอีสานเพิ่มมากขึ้น นอกจากสมาชิกในกลุ่มจะได้ส่งต่อความรู้ดีๆ เกี่ยวกับสมุนไพรไทยแล้ว ยังถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงคนในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากได้เข้ามารวมกลุ่มกันจนเป็นคลัสเตอร์ สิ่งหนึ่งที่อยู่ในความตั้งใจของคุณน็อตเลยก็คือ การพัฒนาศักยภาพของสมาชิก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ด้วยวิธีการลงไปพูดคุย ไปดูว่าธุรกิจของสมาชิกคนนั้นๆ ติดปัญหาเรื่องอะไร อยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษ เช่น การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแปรรูปผลิตภัณฑ์ ความรู้เรื่องการตลาด เป็นต้น คุณน็อตมองว่าการลงไปพูดคุยโดยตรงกับสมาชิกเลย จะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เมื่อเขามีความรู้ในเรื่องนั้นๆ แล้ว เขาก็จะนำไปพัฒนาธุรกิจของเขาต่อได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่กลุ่มจะเข้มแข็งได้นั้น ต้องมาจากโครงสร้างที่แข็งแรง ทั้งทางด้านทัศนคติของสมาชิก การบริหารจัดการ รวมไปถึงแผนการดำเนินงานที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือ และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาให้ธุรกิจของสมาชิกเติบโตเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนให้กลุ่มเดินทางไปสู่เป้าหมายที่วางร่วมกันไว้ได้อีกด้วย
03 มี.ค. 2022
เปิดใจให้ความรู้กันแบบไม่กั๊ก จุดเริ่มต้นการสร้างกลุ่มให้แข็งแรง
เมื่อสมาชิกมีความรู้จริงในงานแล้ว เดี๋ยวผลสัมฤทธิ์จะตามมาเอง… คลัสเตอร์อุตสาหกรรมไม้ยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เพิ่งรวมตัวกันในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยธุรกิจหลักๆ จะเป็นขั้นตอนกลางน้ำ ที่นำพืชทางเศรษฐกิจของภาคใต้ อย่าง “ไม้ยางพารา” มาแปรรูปแล้วส่งออก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับไม้ยางพารา ที่ให้น้ำยางได้น้อยลง หรือไม่สามารถให้น้ำยางได้อีกต่อไป คุณชาลี นราพงศ์ เมืองศรี ตัวแทนของคลัสเตอร์เล่าให้ฟังว่า กลุ่มของเขาอยากจะผลักดันเรื่องการทำผลผลิตออกมาให้ได้คุณภาพใกล้เคียงกันมากที่สุด ซึ่งสมาชิกภายในกลุ่มเองก็ต้องมาช่วยกันหาตรงกลางว่า จะกำหนดคุณภาพแบบไหน ถึงจะทำให้โรงงานทั้ง 19 แห่งที่อยู่ภายในกลุ่มสามารถแปรรูปไม้ยางพาราออกมาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด แต่ก่อนที่จะกำหนดคุณภาพไม้ยางพาราร่วมกันได้นั้น สิ่งที่สมาชิกต้องเรียนรู้ก่อนเลยก็คือ “กระบวนการผลิต” ว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไร ถึงจะทำให้ผลผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพตามที่วางไว้ ซึ่งความรู้ในส่วนนี้ก็จะได้มาจากการแชร์และพูดคุยอย่างเปิดใจ ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนวิธีการเลื่อยไม้ การอาบน้ำยา การอบแห้ง หรือต้องอบไม้อย่างไรให้ได้ไม้ที่มีสีขาวนวล เพื่อนำไปขายในราคาที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้การเข้ามารวมกลุ่มกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เปิดโอกาสให้โรงงานใหญ่ๆ และโรงงานเล็กๆ ได้ทำความรู้จักกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เข้าไปศึกษาดูงานในโรงงานของกันและกัน หากมีอะไรจะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันขาย ช่วยกันสร้างรายได้ไปด้วยกัน หรือถ้าโรงงานใดติดปัญหา ก็สามารถให้ความช่วยเหลือ หรือช่วยผลิตให้กันได้ ในสเต็ปต่อไปทางกลุ่มวางแผนไว้ว่า จะขอความช่วยเหลือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาหลักสูตรการเลื่อยไม้ หรือโรงเรียนนายม้า เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเลื่อย และแปรรูปไม้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนายไม้จะเป็นผู้ที่ควบคุมกระบวนการผลิตที่คอยเลื่อยไม้ ยกไม้ที่มีน้ำหนักมาก รวมไปถึงการทำงานกับเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงอันตราย เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความระมัดระวังค่อนข้างสูง อีกหนึ่งสิ่งที่คุณชาลีและกลุ่มอยากต่อยอดเพิ่มเติมเลยก็คือ การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยเหลือในการทำงาน อย่างนวัตกรรมออโตเมชัน เครื่องเลื่อยไม้ที่ทางกลุ่มมีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังใช้งานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม้ยางพารามีตำหนิตามธรรมชาติที่ต้องคัดออก และรูปทรงที่ไม่สม่ำเสมอ แต่เครื่องนี้เหมาะที่จะนำมาเลื่อยไม้ที่มีลักษณะกลมและไม่มีตำหนิ นอกจากนี้ทางกลุ่มของคุณชาลียังอยากพัฒนาโปรแกรมโต๊ะเลื่อยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ และหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติม การเข้ามารวมกลุ่มกันจนเป็นคลัสเตอร์ดั่งในทุกวันนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี ที่ทุกคนจะหันมาช่วยกันส่งเสริมธุรกิจไม้ยางพาราของไทย ทั้งในเรื่องของการช่วยกันขาย รวมถึงการให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาให้ไม้ยางพารามีคุณภาพใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งสเต็ปแรกของการนำไปสู่การทำงานที่เวิร์กเลยก็คือ การแชร์ความรู้กันอย่างเปิดใจ และมองสมาชิกร่วมกลุ่มเป็นเหมือนเพื่อนคู่ค้าที่ไม่ใช่คู่แข่ง แล้วร่วมกันพัฒนาให้ธุรกิจและคลัสเตอร์ค่อยๆ แข็งแรงไปด้วยกัน
03 มี.ค. 2022
สร้างตลาด .. ด้วยคุณภาพของสินค้า
“เพราะเราใส่ใจเรื่องคุณภาพ ทุกคนเลยตั้งใจทำกันมากเราเชื่อว่าถ้าสินค้าดี เดี๋ยวจะมีคนซื้อตามมา…” คลัสเตอร์ขอนแก่นเกษตรแปรรูป เป็นกลุ่มที่รวบรวมสินค้าประเภทพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพรเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักสลัด มะนาว หน่อไม้ ตะไคร้แห้ง กระเจี๊ยบแห้ง มันญี่ปุ่น สมุนไพรอบแห้ง โดยคุณทิด อาทิตย์ แสงโลกีย์ ประธานคลัสเตอร์ขอนแก่นเกษตรแปรรูป เล่าให้ฟังว่า จุดเด่นของกลุ่มเขาอยู่ที่ความหลากหลายทางด้านผลผลิต ที่สามารถหยิบจับมาพัฒนาเป็นอะไรก็ได้ แต่ไม่ว่าจะทำหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวไหน สิ่งที่คุณทิดให้ความสำคัญมากที่สุดเลยก็คือ “คุณภาพของสินค้า” เพราะคุณทิดเคยมีประสบการณ์ตรงจากการแนะนำสินค้าให้กับคนใกล้ตัว แต่พอเขาไปซื้อมากลับได้สินค้าที่มีคุณภาพต่างไปจากรอบที่คุณทิดเคยซื้อ คุณทิดเลยคิดว่าคุณภาพมีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง รวมไปถึงการบอกต่อ เพื่อให้เกิดตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย ตอนนี้คุณทิดและสมาชิกกำลังพัฒนา “แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูป” สินค้าตัวแรกของกลุ่มออกมา โดยผู้ซื้อสามารถเทน้ำใส่ลงไป แล้วถ้วยจะร้อนเอง พร้อมทานได้ภายในไม่กี่นาที คุณทิดได้ไอเดียนี้มาจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบ Hot Cup เลยนำมาจับคู่กับหน่อไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ปลูกง่าย แถมสมาชิกหลายๆ คนยังปลูกไว้อยู่แล้วด้วย ตอนนี้แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูปอยู่ในช่วงทดลอง และปรับสูตรให้มีความคงที่ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด หากทำออกมาให้ดี ก็มีโอกาสที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งตรงจุดนี้ก็ได้อุตสาหกรรมภาค 5 เข้ามาช่วยซัพพอร์ตด้วย ผลิตภัณฑ์อย่างแกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูปจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่ได้มารวมกลุ่มจนเป็นคลัสเตอร์เหมือนทุกวันนี้ นอกจากสมาชิกในกลุ่มจะได้พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ของผลผลิตในด้านต่างๆ แล้ว ธุรกิจของสมาชิกบางคนก็ยังได้ไอเดียสำหรับนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตัวเองอีกด้วย เช่น สมาชิกที่ปลูกเห็ด ก็ได้ไอเดียทำข้าวเกรียบจากสมาชิกที่ปลูกมันเทศญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งสมาชิกที่ทำสมุนไพรอบแห้ง ก็ได้ไอเดียในการทำชาสมุนไพรบัวสวยงาม จากสมาชิกที่ทำบัวสวยงามขาย ด้วยความที่กลุ่มของคุณทิด เพิ่งจะดำเนินงานมาได้เพียง 1 ปี คุณทิดเลยตั้งใจอยากที่จะพัฒนาแผนการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งหนึ่งในแผนที่คุณทิตวางไว้เลยก็คือ อยากให้มีหน้าร้านสำหรับกลุ่ม เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าของสมาชิก รวมถึงสินค้าในนามกลุ่มเพิ่มเติม นอกจากจะทำให้ผู้ซื้อรู้จักกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังได้รู้จักกลุ่มของคุณทิดไปในตัวด้วย การมารวมกลุ่มเพื่อช่วยกันพัฒนาทั้งศักยภาพของสมาชิก และผลิตภัณฑ์เองเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คุณทิดย้ำกับสมาชิกอยู่เสมอเลยก็คือ ต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจเรื่องคุณภาพของสินค้า เพราะไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้เท่านั้น แต่ผู้บริโภคก็จะได้รับสินค้าที่ดี มีคุณภาพไปด้วยนั่นเอง
03 มี.ค. 2022
หัวใจ ใจกล้า กุญแจหลักช่วยพัฒนาอุตสาหรรมคลัสเตอร์
“ทีมจะเข้มแข็งได้ ทุกคนต้องมาด้วยใจ แล้วพัฒนาไปร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คติในการดำเนินงานของประธานอุตสาหกรรมคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป จังหวัดน่าน อย่างคุณแอ๋ว วัชรี พรมทอง ที่เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของคลัสเตอร์เกิดมาจากความร่วมมือร่วมใจกันของ “ชุมนุมกาแฟน่าน” จนมองเห็นโอกาส และพัฒนามาเป็นคลัสเตอร์เหมือนดั่งทุกวันนี้ แต่กว่าที่จะผลักดันคลัสเตอร์ให้ประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างเช่นกัน หัวไวใจกล้าพากลุ่มSuccess คนที่จะเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเราได้ จะต้องเป็นคนที่หัวไวใจกล้า ทุ่มเทให้กับการทำงานร่วมกัน โดยที่ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก เราจะให้ความช่วยเหลือกันเสมอ เช่น หากครั้งไหนที่เราได้งบมาจำกัด ก็จะให้ผู้ประกอบการ 30 รายแรกไปก่อน เมื่อได้งบครั้งถัดไป ผู้ประกอบการ 30 รายแรก เขาก็ยินดีที่จะสละให้ผู้ประกอบการ 30 รายถัดไป เน้นพัฒนาเป็นเป้าหมายหลัก ด้วยความที่คลัสเตอร์ของเราตั้งมา 4 ปี สมาชิกส่วนใหญ่ก็จะปรับตัวกันได้แล้ว เพราะฉะนั้นในปีนี้เราจะเน้นไปที่ “การพัฒนา” เป็นหลัก โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นสมาชิกที่เริ่มเดินได้แล้ว ก็จะช่วยพัฒนาในเรื่องของตลาด ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการทำตลาด ทั้งออนไลน์ หรือการเชื่อมต่อกับ Modern trade รวมไปถึงการสร้างคอนเทนต์ต่างๆ ให้แข็งแรง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นสมาชิกที่เพิ่งตั้งไข่ ที่จะต้องช่วยเสริมในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การสร้าง Branding การทำ Packaging ทำระบบโรงงาน หรือคุณภาพสินค้าต่างๆ ให้สอดคล้องไปกับมาตรฐานของ อย. หน่วยงานรัฐช่วยผลักดันเหมือนพี่เลี้ยง อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ทำให้คลัสเตอร์ของเราเดินหรือวิ่งได้เร็วขึ้นก็คือ ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่คอยซัพพอร์ตทั้งด้านองค์ความรู้ และเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม รวมไปถึงช่วยพัฒนาเทคโนโลยีหลังบ้านของแบรนด์ต่างๆ เช่น โรงงานเห็ด ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก NIA ทำเป็นเห็ดเมืองหนาวของน่านจนประสบความสำเร็จ ด้วยการใช้ตู้แช่เย็น แล้วนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนา ตีตลาดให้ครอบคลุมพฤติกรรมผู้บริโภค แม้ตลาดออนไลน์จะเป็นเหมือนจุดยุทธศาสตร์ของการขายของในช่วงภาวะวิกฤตแบบนี้ แต่ตลาดการขายปลีกอย่าง Modern trade ในแม็คโคร หรือโลตัสเอง ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ไม่น้อย เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค ชอบที่จะจ่ายเงินแล้วได้ของเลย อยากเห็นอยากทดลองก่อนซื้อ ช่องทางนี้ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคได้ เมื่อเรามีช่องทางการขายอย่างหลากหลาย ก็จะตอบโจทย์พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ไม่ตกแถวเรื่องคุณภาพสินค้า “อย่ามุ่งตลาด จนขาดคุณภาพสินค้า” นี่เป็นหัวใจหลักของผู้ประกอบการเลย สินค้าของเราจะเกิดการบอกต่อ จนแปรผันกลับมาเป็นรายได้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณรักษาคุณภาพสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน หากคุณทำได้ ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคคนเดิมจะกลับมาซื้อซ้ำเท่านั้น แต่คุณอาจจะได้ลูกค้าคนใหม่ๆ ที่เกิดจากการบอกต่อของผู้บริโภคคนเดิมก็เป็นได้ และนี่ก็คือ 5 ปัจจัยหลัก ที่ช่วยเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป จังหวัดน่าน ของคุณแอ๋ว วัชรี พรมทอง เดินทางมาอย่างเข้มแข็ง จนถึงจุดที่เรียกได้ว่า “ประสบความสำเร็จ” นั่นเอง
03 มี.ค. 2022
PUVARA
สเปรย์กำจัดไรฝุ่น กลิ่นหอมที่มาพร้อมกับการบำบัด
17 ม.ค. 2022
ทางรัก
สูตรยกระดับสมุนไพรไทยด้วย Know How เยอรมนี
17 ม.ค. 2022
สมุนไพรแม่คำ
บำบัดความจนให้ชุมชน บำรุงความงามผู้คนด้วยธรรมชาติ
17 ม.ค. 2022
บ้านสวนมะนาวไทย
แปรรูปความเปรี้ยว เป็นทั้ง Food และ Cosmetics
13 ม.ค. 2022
มะม่วงแช่อิ่ม "วราพร" ต่อยอด 3 ผลิตใหม่สุดว้าว กิมจิมะม่วง มะม่วงกวนเคี้ยวนุ่มรสวาซาบิ และรสหม่าล่า
หากย้อนไป 60 ปี จากร้านเล็ก ๆ ที่ดองมะม่วงใส่โหลแก้วขายหน้าบ้าน ยกระดับสู่มะม่วงแช่อิ่มแบรนด์ "วราพร" ในบรรจุภัณฑ์รูปแบบซอง ส่งขายตามร้านสะดวกซื้อชื่อดัง จากการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้สามารถสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน คุณชัยพร โสธรนบุตร ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ซึ่งเข้ามารับช่วงต่อดูแลธุรกิจ ได้พลิกโฉมมะม่วงแช่อิ่มให้ดูทันสมัย โดยปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่ และตัดชิ้นมะม่วงแช่อิ่มให้รับประทานง่าย ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น และเพื่อการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของธุรกิจ จึงได้คิดพัฒนาต่อยอด แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเปิดตลาดใหม่ สามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น ซึ่งได้รับความรู้ในโครงการอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ 3 รายการ คือ กิมจิมะม่วง วางจำหน่ายตามร้านอาหารเกาหลี และร้านสะดวกซื้อ เพื่อรับประทานเป็นเครื่องเคียง ซึ่งได้รับคำแนะนำในด้านขั้นตอนการผลิต นำความรู้ทางด้านไบโอเทคเข้ามาช่วยต่อยอด ทำให้เกิดกระบวนการหมักดอง ทำให้มีรสชาติดีขึ้น ส่วนมะม่วงกวนเคี้ยวนุ่มรสวาซาบิ และรสหม่าล่า ซึ่งเป็นมะม่วงเม็ดกลม คุณชัยพรได้นำมาต่อยอดใหม่ จนเป็นผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่วางจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมัน และโมเดิร์นเทรด โดยมีแผนการวางขายผลิตภัณฑ์ใหม่ช่วงต้นปี 2563 สามารถเพิ่มยอดขายเพิ่มขึ้นและยังสามารถลดปริมาณวัตถุดิบเหลือทิ้ง จากการตัดแต่งมะม่วงแช่อิ่ม นำมาทำเป็นมะม่วงกิมจิ ซึ่งสามารถลดปริมาณของเสียได้ร้อยละ 2 หรือประมาณ 5 ล้านกิโลกรัมต่อปี คุณชัยพร โสธรนบุตร บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด 5 ถ.สุวินทวงศ์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000 โทรศัพท์ : 08 1434 6464, 08 7672 8687 https://www.woraporn.com/ ที่มา : รายงานประจำปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
24 มี.ค. 2020