เปิดใจให้ความรู้กันแบบไม่กั๊ก จุดเริ่มต้นการสร้างกลุ่มให้แข็งแรง


03 มี.ค. 2022    nutnaree    85

 

เมื่อสมาชิกมีความรู้จริงในงานแล้ว เดี๋ยวผลสัมฤทธิ์จะตามมาเอง… 

 

     คลัสเตอร์อุตสาหกรรมไม้ยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เพิ่งรวมตัวกันในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยธุรกิจหลักๆ จะเป็นขั้นตอนกลางน้ำ ที่นำพืชทางเศรษฐกิจของภาคใต้ อย่าง “ไม้ยางพารา” มาแปรรูปแล้วส่งออก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับไม้ยางพารา ที่ให้น้ำยางได้น้อยลง หรือไม่สามารถให้น้ำยางได้อีกต่อไป


     คุณชาลี นราพงศ์ เมืองศรี ตัวแทนของคลัสเตอร์เล่าให้ฟังว่า กลุ่มของเขาอยากจะผลักดันเรื่องการทำผลผลิตออกมาให้ได้คุณภาพใกล้เคียงกันมากที่สุด ซึ่งสมาชิกภายในกลุ่มเองก็ต้องมาช่วยกันหาตรงกลางว่า จะกำหนดคุณภาพแบบไหน ถึงจะทำให้โรงงานทั้ง 19 แห่งที่อยู่ภายในกลุ่มสามารถแปรรูปไม้ยางพาราออกมาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด


     แต่ก่อนที่จะกำหนดคุณภาพไม้ยางพาราร่วมกันได้นั้น สิ่งที่สมาชิกต้องเรียนรู้ก่อนเลยก็คือ “กระบวนการผลิต” ว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไร ถึงจะทำให้ผลผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพตามที่วางไว้ ซึ่งความรู้ในส่วนนี้ก็จะได้มาจากการแชร์และพูดคุยอย่างเปิดใจ ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนวิธีการเลื่อยไม้ การอาบน้ำยา การอบแห้ง หรือต้องอบไม้อย่างไรให้ได้ไม้ที่มีสีขาวนวล เพื่อนำไปขายในราคาที่สูงขึ้นได้


     นอกจากนี้การเข้ามารวมกลุ่มกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เปิดโอกาสให้โรงงานใหญ่ๆ และโรงงานเล็กๆ ได้ทำความรู้จักกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เข้าไปศึกษาดูงานในโรงงานของกันและกัน หากมีอะไรจะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันขาย ช่วยกันสร้างรายได้ไปด้วยกัน หรือถ้าโรงงานใดติดปัญหา ก็สามารถให้ความช่วยเหลือ หรือช่วยผลิตให้กันได้


     ในสเต็ปต่อไปทางกลุ่มวางแผนไว้ว่า จะขอความช่วยเหลือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาหลักสูตรการเลื่อยไม้ หรือโรงเรียนนายม้า เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเลื่อย และแปรรูปไม้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนายไม้จะเป็นผู้ที่ควบคุมกระบวนการผลิตที่คอยเลื่อยไม้ ยกไม้ที่มีน้ำหนักมาก รวมไปถึงการทำงานกับเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงอันตราย เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความระมัดระวังค่อนข้างสูง


     อีกหนึ่งสิ่งที่คุณชาลีและกลุ่มอยากต่อยอดเพิ่มเติมเลยก็คือ การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยเหลือในการทำงาน อย่างนวัตกรรมออโตเมชัน เครื่องเลื่อยไม้ที่ทางกลุ่มมีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังใช้งานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม้ยางพารามีตำหนิตามธรรมชาติที่ต้องคัดออก และรูปทรงที่ไม่สม่ำเสมอ แต่เครื่องนี้เหมาะที่จะนำมาเลื่อยไม้ที่มีลักษณะกลมและไม่มีตำหนิ นอกจากนี้ทางกลุ่มของคุณชาลียังอยากพัฒนาโปรแกรมโต๊ะเลื่อยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ และหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติม


     การเข้ามารวมกลุ่มกันจนเป็นคลัสเตอร์ดั่งในทุกวันนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี ที่ทุกคนจะหันมาช่วยกันส่งเสริมธุรกิจไม้ยางพาราของไทย ทั้งในเรื่องของการช่วยกันขาย รวมถึงการให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาให้ไม้ยางพารามีคุณภาพใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งสเต็ปแรกของการนำไปสู่การทำงานที่เวิร์กเลยก็คือ การแชร์ความรู้กันอย่างเปิดใจ และมองสมาชิกร่วมกลุ่มเป็นเหมือนเพื่อนคู่ค้าที่ไม่ใช่คู่แข่ง แล้วร่วมกันพัฒนาให้ธุรกิจและคลัสเตอร์ค่อยๆ แข็งแรงไปด้วยกัน