ระยะที่ 6 : สร้างเครือข่ายสู่สากล
2546 ริเริ่มโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น จากสถิติของการส่งออกสินค้าในกลุ่มแฟชั่นของไทย พบว่ามีแนวโน้มการส่งออกที่ลดลงตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มศักยภาพหรือเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่น นำไปสู่ความร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ภายใต้การจัดสรรงบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2546 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546 การดำเนินงานโครงการนี้ ใช้ยุทธศาสตร์ของ “การตลาดด้านแฟชั่น” เป็นตัวนำการพัฒนาทั้งระบบคือ ฉุดดึงและสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “แฟชั่น” ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำครบวงจร เพื่อให้ขยายตัวและเติบโตไปด้วยกัน โดยมีแนวคิดการพัฒนาใน 3 มิติ คือ สร้างคน สร้างธุรกิจ สร้างเมือง ดังนี้ มิติการสร้างคน : โครงการศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่น โครงการศูนย์รวบรวมแนวโน้มแฟชั่นโลก โครงการรวบรวมผลงานแฟชั่นนักออกแบบไทย มิติการสร้างธุรกิจ : โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มิติการสร้างเมือง : โครงการจัดงานแสดงสินค้า โครงการเจาะตลาดเป้าหมาย โครงการสร้างภาพลักษณ์กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2546 - 2548) โดยแบ่งระยะเวลาดำเนินโครงการระยะแรก 1 ปี 6 เดือน (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2546) เพื่อระดมกำลัง ความคิดความสามารถในการดำเนินยุทธศาสตร์ ผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางแฟชั่น (Fashion Center) ของภูมิภาคใน พ.ศ. 2548 และเป็นศูนย์กลางแฟชั่นแห่งหนึ่งของโลกภายใน พ.ศ. 2555 2547 เพิ่มโอกาสผ่านโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) สืบเนื่องจากการที่สถาบันศศินทร์และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้เชิญศาสตราจารย์ไมเคิล อี.พอร์เตอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาให้คำแนะนำในฐานะเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทย และมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Competitiveness : Creating the Foundations for Higher Productivity” เมื่อ พ.ศ. 2546 หนึ่งใน 6 แนวทางหลักที่ศาสตราจารย์พอร์เตอร์ ได้เสนอแนะไว้ คือ การที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องประสานงานร่วมกันเพื่อสร้างคลัสเตอร์ (Cluster) หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกอันสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการปฏิบัติ และขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างและพัฒนาการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ภายใต้กรอบของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (National Committee on Competitive Advantage : NCC) โดยได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างและพัฒนาการรวมกลุ่มได้ประมาณ 58 กลุ่ม โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ ๆ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 2548 เริ่มความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้การดำเนินงานส่วนหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ โดยมีการจัดทำโครงการขอรับความช่วยเหลือในแทบทุกสาขาต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต จนมาถึง พ.ศ. 2548 จึงได้เริ่มโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ โครงการความร่วมมือกับ GTZ (พ.ศ. 2548) ช่วง พ.ศ. 2548 - 2549 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มของไทยทั้งหมดร้อยละ 63 ใช้บริโภคในประเทศ ร้อยละ 30 ใช้เพื่อการผลิตไบโอดีเซล และส่วนที่เหลือร้อยละ 7 เพื่อการส่งออก ปาล์มน้ำมันจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตที่ประชาชนให้ความสนใจ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงร่วมมือกับสำนักงานเพื่อความร่วมมือทางวิชาการแห่งประเทศเยอรมนี (GTZ) จัดทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมในพื้นที่ ความร่วมมือครั้งนี้ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ทั้งด้านการส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน เกิดการรวมกลุ่มคลัสเตอร์น้ำมันปาล์ม เพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและเกษตรกรเครือข่าย ด้านการส่งเสริมเกษตรกรให้มีการคัดเลือกพันธุ์ปาล์มและวิธีการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนต้นเก่า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในโรงงาน โดยมีการนำร่องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนที่จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2552) วิกฤตการเงินโลกใน พ.ศ. 2551 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวอย่างรุนแรง รวมถึงเศรษฐกิจไทย ประกอบกับขณะนั้นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเริ่มคลี่คลายลง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการมองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน และที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังเป็นคู่ค้าและเป็นนักลงทุนที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยมาโดยตลอด จึงได้หารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) เพื่อความร่วมมือในการดำเนินงานโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษากับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น และผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐไทยกับภาครัฐญี่ปุ่น และภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนญี่ปุ่น ความร่วมมือดังกล่าวได้สนับสนุนการทำธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนในระยะเวลาต่อมา ร่วมมือกับ JICA พัฒนา SMEs ในภูมิภาค (พ.ศ. 2553) ในโอกาสครบรอบ 120 ปี ในการสถาปนาทางการทูตระหว่างไทย - ญี่ปุ่น และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Japan - Thailand Economic Partnership Agreement : J-TEPA) ทั้งสองประเทศจึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น ขึ้น เพื่อเร่งสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในเชิงรุกด้านต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เช่น โครงการพัฒนาเครื่องมือและวางระบบส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ในภูมิภาค โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเพื่อมาให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาเครื่องมือและระบบในการให้บริการ SMEs ในภูมิภาค โดยนำร่องที่จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ตอนบน มีระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 – 2554 ปรากฏว่าโครงการนำร่องทั้งสองพื้นที่ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และเป็นไปตามเป้าประสงค์และแผนงานที่วางไว้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือในการขยายช่องทางการตลาดของ SMEs ขององค์การเพื่อการส่งเสริมเอสเอ็มอีและนวัตกรรมภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (Small & Medium Enterprises and Regional Innovation : SMRJ) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน SMES Expo ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้พื้นที่กับผู้ประกอบการไทยที่มีผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมแสดงในงาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงงาน จำนวน 16 ราย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งมีผู้สนใจเข้ารับข้อมูลจากผู้ประกอบการภายในงานไม่ต่ำกว่า 100 ราย ร่วมมือกับ UNIDO จัดทำ รายงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2555) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จากประเทศเวียดนาม จัดทำรายงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Report 2011) ภายใต้ชื่อ “ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืน : กับสิ่งแวดล้อมเงินปันผลเศรษฐกิจและสังคม” (Industrial energy efficiency for sustainable wealth creation: capturing environmental, economic and social dividends) รายงานดังกล่าวเป็นผลการดำเนินงานของ UNIDO ซึ่งระบุว่าจากปริมาณการใช้พลังงาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศกำลัง พัฒนามุ่งลดช่องว่างระหว่างรายได้กับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้หลักการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ผลจากรายงานนี้มุ่งหวังว่า จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีผลิตภาพเพิ่มมากขึ้น โดยในการดำเนินงานUNIDO จะสนับสนุนงบประมาณ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนสถานที่และประสานงานภาคเอกชนไทย มีเป้าหมายให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการ 100 โรงงาน และผลักดันแนวทางนี้สู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป โครงการฯ นี้มีเป้าหมายเชื่อมโยงกัน 3 ส่วนได้แก่ การเข้าถึงบริการทางพลังงานที่ทันสมัยอย่างกว้างขวาง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว 2549 ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับยุคสมัย และให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ จึงมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งปรับแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเน้นการสร้างและพัฒนารูปแบบ แนวทาง และขั้นตอนการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริหารและแผนงาน กลุ่มเทคโนโลยีและการจัดการ กลุ่มอุตสาหกรรมรายสาขาและกลุ่มผู้ให้บริการ โดยในแต่ละกลุ่มประกอบด้วยหน่วยงานระดับสำนัก ทำหน้าที่สร้างและพัฒนารูปแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมและทำงานในลักษณะเชื่อมโยงบูรณาการกัน ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการให้บริการผู้ประกอบการและวิสาหกิจ ต่อมาในปี 2550 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยมีการปรับปรุงและพัฒนาส่วนราชการและวิธีปฏิบัติงาน ตลอดจนระบบการบริหารบุคคลให้ทันสมัย รองรับกับยุทธศาสตร์และคำรับรองการปฏิบัติราชการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีการจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์ และปรับเปลี่ยนสำนักงานเลขานุการกรม เป็นสำนักบริหารกลาง รวมทั้ง แยกสำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เป็นสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม และสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและดูแลได้ทั่วถึง ทั้งนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551 2551 จัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง นับจากที่มีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก มาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปางอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนของจังหวัดลำปาง จัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่วยสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง เพื่อเป็นอาคารศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าเซรามิกและสินค้าหัตถอุตสาหกรรมของจังหวัดลำปางที่ครบวงจร เป็นทั้งศูนย์กลางของการเจรจาการค้า (Business Center) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ เป็นแหล่งบริการข้อมูล ข่าวสารและองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การบริหารจัดการ โดยให้บริการในลักษณะศูนย์บริการธุรกิจ (Business Opportunity Center : BOC) เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงกลุ่มอุตสาหกรรมของจังหวัดลำปางให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และเพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมการตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับต่างประเทศ จัดตั้งสมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน อุตสาหกรรมสนับสนุนเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยสร้างมูลค่าการลงทุนเป็นจำนวนมาก และเป็นหัวใจสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนที่ต้องการจะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เดิมทีกลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มมีการรวมตัวกันเป็นชมรมและสมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือกันในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่แล้ว สมาคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งจึงทำหน้าที่เป็นตัวแทน หรือตัวกลางนำเอาความต้องการจากสมาชิกส่วนใหญ่มาแจ้งให้ภาครัฐรับทราบ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ จะนำเอาความต้องการของผู้ประกอบการมากำหนดนโยบาย วางแผนขับเคลื่อนและออกแบบกิจกรรมส่งเสริมให้ตรงกับความต้องการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่อุตสาหกรรมนั้น ๆ สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน (Alliance For Supporting Industries Association หรือ A.S.I.A) เป็นการรวมตัวของ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย สมาคมเครื่องจักรกลไทย สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต สมาคมผู้ประกอบธุรกิจวัตถุอันตรายสมาคมสมองกลฝังตัวไทย สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศ และสมาคมไทยคอมโพสิทโดยมีสมาชิกรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 รายเพื่อผนึกกำลังและสร้างความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสนับสนุนของประเทศมีความเข้มแข็ง สร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างสมาชิก และประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ จัดตั้งศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ วิเคราะห์ วิจัยด้านอุตสาหกรรม การผลิตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงมีแนวคิดก่อตั้งศูนย์การวิจัยและทดสอบตามมาตรฐานสากลขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาศูนย์ทดสอบในต่างประเทศ โดยร่วมกับสถาบันวิจัย KOBELCO ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งโครงการศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ วิเคราะห์ วิจัยด้านอุตสาหกรรม (Technical Service Network Center : TSNC) ขึ้น เปรียบเสมือนตัวกลางในการประสานความต้องการของลูกค้าในภาคการผลิตที่ต้องการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมของเมืองไทย ในเบื้องต้นศูนย์แห่งนี้มีหน้าที่จัดส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังศูนย์เครือข่าย สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สถาบันยานยนต์ (TAI) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) สถาบันอาหาร (NFI) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (TPI) โดยศูนย์เครือข่ายแต่ละแห่งนั้นจะมีห้องทดสอบ หรือห้องแล็บอยู่แล้ว ในขณะที่สถาบันวิจัย KOBELCO จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบสินค้าและการวิจัยในด้านต่าง ๆ เข้าไปให้ความรู้ และฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์เครือข่าย เพื่อให้การทดสอบและวิจัยนั้น ๆ ได้มาตรฐานเดียวกันกับสถาบันวิจัย KOBELCO ประเทศญี่ปุ่น จึงสร้างความมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบจาก TSNC จะเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยสู่สากล และช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการในการนำสินค้าที่ผลิตไปทดสอบยังต่างประเทศ ริเริ่มโครงการสร้างและพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ส่วนใหญ่ยังขาดทรัพยากรและบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ การมีผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและสนับสนุนธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็นมาก นี่คือความสำคัญของ “ผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม” (Service Provider : SP) หรือที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consultant) ซึ่งจากการศึกษาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพบว่า ยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของธุรกิจ และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอยู่มีสภาพที่กระจัดกระจาย ขาดศูนย์รวมที่จะเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินการให้เป็นเอกภาพ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาผู้ให้บริการ ซึ่งสามารถรองรับและช่วยยกระดับคุณภาพของธุรกิจ SMEs ให้อยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 4 ส่วนคือ การพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบรับรองคุณภาพ ผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม การส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม และการส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการใช้บริการผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมให้แพร่หลายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลจากการดำเนินงานพบว่า สามารถพัฒนาศักยภาพของที่ปรึกษาทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายการเป็นที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างมีคุณภาพ 2554 การช่วยเหลือสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย มหาอุทกภัยใน พ.ศ. 2554 มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมทั้งสถานประกอบอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงเร่งดำเนินการช่วยเหลือและฟื้นฟูภาคการผลิตและแรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้จัดศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 5 ศูนย์ และประสานความช่วยเหลือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ซึ่งได้จัดรถสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์จำนวน 10 คัน พร้อมผู้เชี่ยวชาญจำนวน 30 คน เพื่อช่วยเหลือด้านการระบายน้ำออกจากเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ บางกะดี และนวนคร ทำให้โรงงานในนิคมฯ หลายแห่งทยอยกลับเข้าสู่ระบบการผลิตได้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการส่งรถและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ส่งมอบความช่วยเหลือด้านสิ่งของและอุปกรณ์ที่จำเป็นผ่านองค์กรต่างๆ รวมมูลค่า 1,000 ล้านเยนหรือประมาณ 400 ล้านบาท ฟื้นฟูสถานประกอบการ SMEs หลังน้ำลด อุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ในประเทศไทย ตั้งแต่กลางปีถึงปลายปี 2554 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลายส่วนต้องหยุดชะงักชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่เริ่ม ชะลอตัวจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยมุ่งเน้นกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ครอบคลุม 31 จังหวัด ภายใต้งบกลางที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล 148 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยการดำเนินงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งในด้านการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น และการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกช่วยเหลือกิจการในด้านต่าง ๆ ตามสภาพปัญหาของแต่ละแห่ง จากนั้นช่วยกระตุ้นตลาดด้วยการจัดพาผู้ประกอบการออกแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจ มีการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการฟื้นฟูสถานประกอบการ พร้อมทั้งจัดทำเว็บไซต์ www.ช่วยน้ำท่วม.com เพื่อเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมกันนี้ ได้จัดคลินิกอุตสาหกรรมและให้บริการเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผลการดำเนินงานได้รับผลเป็นที่น่าพอใจแม้ว่างบประมาณและระยะเวลาดำเนินงานจะมีจำกัดคือ มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 5 เดือน (เมษายน - สิงหาคม พ.ศ. 2555) 2555 การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร อุตสาหกรรมอาหารไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในอาเซียน และจากสถานการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 20 ต่อปี โดยสถิติ พ.ศ. 2554 อาหารแปรรูปของไทยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 7 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักของประเทศ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังประสบปัญหาด้านการรักษามาตรฐานและประสิทธิภาพของการผลิต ขาดการวิจัยและพัฒนาอาหาร ทั้งยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่สามารถบูรณาการความร่วมมือเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดที่จะเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารผ่านการวิจัยและพัฒนา ด้วยเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยก้าวกระโดดไปข้างหน้าและผลิตอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ผ่านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร (Thailand Food Valley) หัวใจสำคัญคือ การเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐ หน่วยงานมหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน โดยกำหนดพื้นที่ซึ่งมีความพร้อมเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปอย่างเป็นระบบ เชิญชวนองค์กรธุรกิจเข้ามาลงทุนและมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม โดยการสนับสนุนงบวิจัยและสิ่งอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาภาคเกษตรได้ อีกทั้งยังเพิ่มคุณค่าและมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกไม่เฉพาะแค่การเป็น “ครัวของโลก” เท่านั้น เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ใน พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่กติกาเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งจะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายการผลิตการลงทุน แรงงานฝีมือ การค้าการบริการและเงินทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอย่างเสรี การเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ AEC จึงเป็นภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีการวาง Roadmap to AEC เริ่มต้นจากจัดทำโครงการเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีหลักสูตรที่เน้นให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและผลกระทบต่อกิจการ หลักสูตรการประเมินศักยภาพและความสามารถของกิจการตนเอง เพื่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จากนั้นมีการประมวลผลในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อนำไปจัดทำแผนที่ธุรกิจ (Roadmap) เข้าสู่ AEC ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม เป็นต้น โดยหัวข้อการบรรยายจะมีการปรับให้เหมาะกับผู้เข้าอบรมในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมและแต่ละพื้นที่เป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านบุคลากร ด้านเงินทุน และด้านการผลิต รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ใน พ.ศ. 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ 9 สาขา คือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยมีรูปแบบการดำเนินกิจกรรม 4 รูปแบบ ประกอบด้วยกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการสาขาเป้าหมาย กิจกรรมสร้างและพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมาย และกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ
26 มิ.ย. 2020
ระยะที่ 5 : วางรากฐาน SMEs
2536 ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคอีก 6 ศูนย์ เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเพิ่มขึ้นอีก 6 ศูนย์ ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี รวมเป็น 11 ศูนย์ ภายหลังได้มีพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2539 จึงมีการเปลี่ยนชื่อศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใหม่ ดังนี้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดพิจิตร เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดบุรีรัมย์ เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 ต่อมาใน พ.ศ. 2548 ได้ย้ายที่ทำการไปจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต 2537 เริ่มโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชนบท โดยพัฒนาระบบการผลิตอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการให้แก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร จนสามารถสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้อย่างเป็นระบบ โดยโครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 และ 2 (ปีงบประมาณ 2537 - 2539 และ 2540 - 2542) เป็นการค้นหาหมู่บ้านที่มีศักยภาพ เพื่อนำสู่กระบวนการพัฒนาให้ความช่วยเหลือ ระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2543 - 2545) มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการตลาดของผลิตภัณฑ์ ให้ราษฎรชนบทสามารถช่วยเหลือตนเองได้และมีสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น ในช่วงต้นมีจำนวนหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 117 หมู่บ้าน ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2545 - 2548 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดงานสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมและผ้าทอไทย ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อแสดงความก้าวหน้าของสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนสินค้าพื้นบ้าน สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน และช่วยส่งเสริมการตลาด 2538 ริเริ่มสื่อโทรทัศน์ ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของสื่อโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้บุกเบิกรายการ “คลินิกอุตสาหกรรม” เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำด้านการลงทุน การเริ่มต้นธุรกิจ และการให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรม มีรูปแบบเป็นรายการสด ความยาว 55 นาที ออกอากาศเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลา 22.05 - 23.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) ออกอากาศครั้งแรกใน พ.ศ. 2538 และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก จนทำให้ต่อมาใน พ.ศ. 2543 ได้เพิ่มความถี่ในการออกอากาศเพื่อสนองความต้องการของผู้ชมมากขึ้น เป็นรายการคลินิกอุตสาหกรรมภาคกลางวัน แพร่ภาพก่อนเที่ยง ความยาว 25 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดี รายการคลินิกอุตสาหกรรมแพร่ภาพออกอากาศเป็นเวลายาวนานเกือบ 10 ปี ก่อนที่จะสิ้นสุดการจัดรายการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 นับเป็นรายการหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้เกิดการผลิตรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวในวงการอุตสาหกรรมอีกหลายรายการในเวลาต่อมา รวมถึงได้นำชื่อรายการ “คลินิกอุตสาหกรรม” มาใช้เป็นกิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการในการจัดงานต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 2539 แบ่งส่วนราชการในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้างหน่วยงานครั้งใหญ่ (Reengineering) โดยยุบรวมและยกเลิกกองงานหลายกอง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภารกิจ โดยได้กำหนดโครงสร้างองค์กรใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2539 เกิดเป็นหน่วยงานต่าง ๆ 18 หน่วยงาน คือ 1. สำนักงานเลขานุการกรม 2. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 มีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา 3. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลกสุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก 4. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี 5. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม 6. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สกลนคร 7. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ 8. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ 9. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 มีพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ 10. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 มีพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี สระบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว 11. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต 12. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ยะลา พัทลุง สตูล นราธิวาส 13. สำนักนโยบายและแผนส่งเสริมอุตสาหกรรม 14. สำนักบริหารงานส่งเสริมอุตสาหกรรม 15. สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม 16. สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม 17. สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 18. สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กำเนิดโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) ได้ให้ความเห็นชอบในโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท (สอช.) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ให้เกิดการขยายกิจการ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในชนบท ทำให้ธุรกิจชุมชนมีความยั่งยืน โดยดำเนินงานในลักษณะ 3 ประสาน ระหว่างภาครัฐคือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธุรกิจเอกชน ซึ่งได้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และประชาชนในพื้นที่ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โครงการ 3 ประสาน” โดยใช้หลักการตลาดเป็นตัวนำการผลิต ซึ่งในเบื้องต้นมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งกลุ่มชาวบ้านและช่วยชักจูงธุรกิจเอกชนให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ โครงการ สอช. ได้เริ่มดำเนินงานนำร่องใน พ.ศ. 2539 ด้วยงบประมาณสนับสนุน 27.5 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 6 เดือน สามารถชักจูงธุรกิจเอกชนให้สนใจการลงทุนในชนบทจำนวน 42 ราย มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมโครงการ 6 องค์กร และเกิดธุรกิจชุมชนที่เป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจเอกชนและประชาชนในพื้นที่ จำนวน 12 โครงการ ต่อมาจึงได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินมากขึ้นตามลำดับ เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคและกระจายงานสู่ประชาชนในพื้นที่ชนบทได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น 2540 ยกร่างพระราชบัญญัติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เริ่มนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ด้วยเห็นว่าการพัฒนาที่ครบวงจรตั้งแต่ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม จะเป็นรากฐานที่จะทำให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน คำว่า “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” จึงถือได้ว่าก่อเกิดมาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งได้นำไปใช้บัญญัติในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ยกร่างขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้ตราออกมาเพื่อจัดระบบการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นวิสาหกิจหลักของประเทศ ผลจากกฎหมายฉบับนี้จึงเกิดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้น และเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของภาครัฐในรูปของนิติบุคคล ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานในการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนา SMEs จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ที่บูรณาการการดำเนินงานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร SMEs 2542 จัดทำโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับและปรับปรุงความสามารถในการประกอบธุรกิจ จึงได้ผลักดันมาตรการและโครงการต่าง ๆ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในโครงการสำคัญคือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “โครงการ 13” (เนื่องจากเป็นโครงการลำดับที่ 13 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในขณะนั้น) ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2542 ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 โดยได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการจากโครงการเงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (งบมิยาซาว่า) ลักษณะการดำเนินงานของโครงการคือ จัดหาทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมให้คำปรึกษาเชิงลึกกับสถานประกอบการที่ได้รับคัดเลือก โดยเน้นสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องหนัง โลหะการ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เซรามิก หัตถอุตสาหกรรม พลาสติก อัญมณีเครื่องเรือน และผลิตภัณฑ์ยาง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค โครงการ 13 ระยะที่ 1 ประสบความสำเร็จด้วยดี จึงมีการดำเนินการต่อเนื่องภายใต้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (โครงการ 13 ระยะที่ 2) ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2544 จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นับเป็นฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่วิกฤตการณ์ทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2540 ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลังจากมองเห็นความสำคัญของแนวคิดหลักการ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในลักษณะเดียวกับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (โครงการ 13) โดยเน้นการจัดหาทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำกับสถานประกอบการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP) นับจาก พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อพลิกฟื้นสถานประกอบการให้เข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถให้มีศักยภาพมากขึ้น เริ่มจากการกำหนดแผนพัฒนาสถานประกอบการ 5 แผน ประกอบด้วย แผนพัฒนากระบวนการผลิต แผนพัฒนาระบบมาตรฐาน แผนพัฒนาเทคโนโลยี (R&D) แผนพัฒนาการเงินและบัญชี และแผนการตลาด ซึ่งต่อมาได้ปรับการดำเนินงาน 2 รูปแบบ คือ MDICP ภูมิภาค ซึ่งกำหนดแผนพัฒนาสถานประกอบการไว้ 3 แผน และ MDICP ส่วนกลาง ซึ่งกำหนดแผนพัฒนาสถานประกอบการไว้ 8 แผน โครงการ MDIC นับเป็นโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการหลายพันราย ด้วยการส่งทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเข้าไปช่วยแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาสถานประกอบการ เพื่อให้ SMEs ภายในประเทศเข้าสู่ระบบการค้าสากล และสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยให้บริการแก่ SMEs ภาคการผลิตที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เซรามิกและแก้ว ยาและเคมีภัณฑ์ ไม้และเครื่องเรือน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก โลหะการและเครื่องหนัง จัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการจัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2542 ให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) หรือ Institute for small and Medium Enterprises Development (ISMED) เพื่อเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือ ช่วยกอบกู้และเสริมศักยภาพ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทย ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ การสร้างผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจที่ประกอบการอยู่แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เบื้องต้นสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล พ.ศ. 2542 - 2546 จากนั้นสถาบันฯ สามารถมีรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจหน่วยงานราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นสามารถให้บริการพัฒนาด้านต่าง ๆ แก่ SMEs ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น 2543 จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับแรกของประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ดำเนินงาน “โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ภายใต้แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2542 ได้มีการยกร่างแผนแม่บทการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีเนื้อหาครอบคลุมแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม (การผลิต) ภาคการค้า และภาคบริการ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อชี้แจงแนวคิดและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ตาก ขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา และชลบุรี ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทฯ ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2543 และได้นำมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตามกรอบของแผนแม่บทดังกล่าว 2545 ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมฯ ได้มีการปฏิรูประบบราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจ และวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบของการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยได้กำหนดให้มีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการตามลำดับขั้น กำหนดตัวชี้วัดของการปฏิบัติงาน ในแต่ละระดับ (KPI) อย่างชัดเจน รวมทั้งการวัดผลความพึงพอใจของผู้รับบริการ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการบริการให้สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น พลิกฟื้นผู้ประกอบการ ด้วยโครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย ธุรกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2540 ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดสภาพคล่องผนวกกับตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่สำคัญหดตัวอย่างรุนแรง รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นแกนกลางดำเนิน โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย (Invigorating Thai Business: ITB) เพื่อพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายหลักคือพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 2,600 กิจการทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท และมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับคณะที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันเครือข่ายรวม 27 หน่วยงาน เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันยานยนต์ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) วิเคราะห์ปัญหาและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกพร้อมให้การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านต่างๆ เช่น การผลิต การตลาด การบริหาร จัดการ การเงินการบัญชี เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้สภาวะวิกฤต จากการประเมินผลของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พบว่าโครงการชุบชีวิตธุรกิจไทยประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการสามารถแก้ไขปัญหาและปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจให้คงสภาพการจ้างแรงงานไว้ได้ รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและมีตลาดใหม่ ริเริ่มโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ รากฐานเดิมของโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปิดกิจการค่อนข้างมาก ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานของประเทศเป็นจำนวนมาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการเสริมสร้างนักลงทุนใหม่ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและยกระดับแรงงานและนักศึกษา ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation : NEC) ใน พ.ศ. 2545 เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็น 1 ใน 7 กลยุทธ์หลักภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย จากนโยบายดังกล่าวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation : NEC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โครงการนี้สนับสนุนให้บัณฑิตใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และพนักงานที่มีศักยภาพ ให้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการจนสามารถก่อตั้งกิจการได้ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้และขีดความสามารถ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การฝึกอบรมการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มทักษะการประกอบการเฉพาะด้าน รวมถึงบ่มเพาะองค์ความรู้เพื่อให้สามารถจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) อย่างละเอียดนอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังจัดให้มีการให้บริการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดกิจกรรมเปิดตัวธุรกิจสินค้าและบริการให้กับผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านการอบรม เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และการเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุน รวมทั้งการจับคู่เจรจาธุรกิจ การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเดิม
26 มิ.ย. 2020
ระยะที่ 4 : พัฒนาอุตสาหกรรมครบวงจร
2523 ริเริ่มโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกระจายรายได้สู่ชนบท ซึ่งเป็นการเกื้อหนุนการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคของประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และพัฒนาผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมให้เป็น ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ รู้หลักการคิดก่อนการลงทุนหรือขยายกิจการ และสามารถบริหารงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยดำเนินการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องทุกจังหวัด ปัจจุบัน ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีสมาชิกผ่านการฝึกอบรมโครงการ คพอ. จำนวน 280 รุ่น มีสมาชิกกว่า 8,800 ราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 2525 ริเริ่มโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย รัฐบาลมีนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งเติบโตรุดหน้า มีความสามารถในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนาการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนาการตลาดต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ แต่ด้วยผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมักมีเงินทุนน้อย อาจก่อเกิดปัญหาสภาพคล่อง (Cash Flow) เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน จนอาจส่งผลกระทบการประกอบธุรกิจ และการรักษาสภาพการจ้างแรงงาน โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยจึงเป็นอีกหนึ่งบริการที่เกื้อหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนดำเนินกิจการต่อไปได้ ด้วยการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับจัดหาวัตถุดิบ เครื่องมือ อุปกรณ์ การผลิต การจ้างแรงงานในการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ จากจุดเริ่มต้นของโครงการในปี พ.ศ. 2525 ที่มีเงินทุนเริ่มแรกเพียง 4 ล้านบาท ปัจจุบันเงินทุนได้เพิ่มจำนวนเป็น 450 ล้านบาท โดยให้บริการกู้ยืมตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึง 1 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียงร้อยละ 6 ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยายบริการเพิ่มเติมไปยังส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมในภาคใต้ตอนล่าง ต่อมาใน พ.ศ. 2539 ได้เปลี่ยนเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ตอนล่าง และเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ใน พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ยะลา พัทลุง สตูล นราธิวาส 2526 ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 - 2529) ซึ่งให้ความสำคัญกับประชาชนในชนบทให้สามารถช่วยเหลือตนเองและชุมชนได้มากกว่าจะมองที่ผลผลิตและรายได้ของประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 ปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สกลนคร 2527 ริเริ่มดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากเจตนารมณ์ในการสืบสานตามโครงการพระราชดำริ เพื่อการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ของทุกภูมิภาค ให้มีงานทำ มีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้น้อมนำพระราชดำริสู่การปฏิบัติ โดยสนับสนุนด้านวิชาการในการพัฒนาและฝึกอบรมราษฎร รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เน้นในเรื่องของการพัฒนาอาชีพของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน เป็นหน่วยงานบริหารโครงการ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ เป็นหน่วยงานร่วม แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน รวม 9 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดำเนินการโดย สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี (ดำเนินการโดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ) โดยแต่ละโครงการจะมีการจัดกิจกรรมฝึกอบรมชาวบ้านในด้านการพัฒนาการผลิต และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานและคุณภาพสอดคล้องตามความต้องการของตลาดนอกจากนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรม รวมถึงจัดทำโครงการสนับสนุนการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ อีกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยมีโครงการเด่น ๆ ดังต่อไปนี้ งานวันกระจูด (พ.ศ. 2527) เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงสนพระทัยในงานฝีมือเสื่อกระจูด ที่ราษฎรทำอยู่ เพราะมีลวดลายสวยงาม น่าจะได้มีการส่งเสริมและอนุรักษ์ให้เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้รับมอบหมายร่วมกับจังหวัดนราธิวาสให้จัดประกวดและแข่งขันผลิตภัณฑ์เสื่อกระจูดขึ้นเรียกว่า งานวันกระจูด ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2527 ณ ศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการจัดประกวด และแข่งขันการสานเสื่อกระจูด การแสดงสินค้ากระจูดและการแสดงแนวคิดด้านการออกแบบใหม่ ๆ โดยใช้กระจูดในงานดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรการประกวดและแข่งขันสานเสื่อกระจูด การสาธิต และการจัดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2527 เนื่องจากการจัดงานได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงมีการจัดงานวันกระจูดขึ้นอีกในปีถัดมา และมีการจัดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี จังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2543) ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี จังหวัดพะเยา เป็นโครงการหนึ่งของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ศูนย์ฯ แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับราษฎรในจังหวัดพะเยา ซึ่งประสบปัญหาความยากจน แต่ส่วนใหญ่มีพื้นฐานดั้งเดิมและทักษะเชิงช่างอัญมณีและเครื่องประดับมาก่อน พิธีเปิดศูนย์ฯ มีขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2543 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี รูปแบบการดำเนินการประกอบด้วยการฝึกอบรมที่ครบวงจร อาทิ การเจียระไนอัญมณี การทำเครื่องประดับเงิน ทำให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วสามารถเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือประกอบอาชีพในลักษณะของอุตสาหกรรมในครอบครัวเพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ศูนย์ฯยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนงานฝีมือประเภทหัตถกรรมของภาคเหนือและสินค้าเกษตรอีกด้วย โครงการรักษ์อัมพวา สร้างเสน่ห์ชุมชน (พ.ศ. 2549) โครงการรักษ์อัมพวาเป็นหนึ่งในโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2549 และวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ใน พ.ศ. 2550 ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการภารกิจสำคัญของโครงการรักษ์อัมพวาคือ การร่วมฟื้นฟูและสืบสานชีวิตพอเพียงแบบอัมพวา โดยเสริมสร้างปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เพื่อให้เอกลักษณ์แห่งวิถีภูมิปัญญาไทยดำรงไว้ให้ยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้พึ่งพาและมองเห็นเสน่ห์ในวิถีของตนเอง อาทิ การสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่มีเสน่ห์และเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น อย่างขนมไทย น้ำตาลปึก หรือผลไม้ เพื่อสร้างอัมพวาเป็นชุมชนต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทั้งด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยง (พ.ศ. 2555) สืบเนื่องจากพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555 คราวเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเยี่ยมโรงเรียนและราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้ทำการอนุรักษ์ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ากะเหรี่ยงไว้ให้อยู่ควบคู่กับวิถีชีวิตของชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และจังหวัดตาก ดำเนินการสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ จนสรุปเป็นหลักคิด “การตลาดนำการผลิต” ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ชาวกะเหรี่ยงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จากนั้นสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ให้สามารถรองรับต่อความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตด้วยการส่งเสริมให้มีการก่อตั้งกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอขึ้น จากนั้นทำการทดลองตลาดในร้านภูฟ้า และในร้านอุปนายิกา งานกาชาด ประจำปี 2555 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม ลูกค้ามีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์อย่างมาก นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ พร้อมทั้งช่วยให้ราษฎรชาวกะเหรี่ยงเกิดความภูมิใจและหวงแหนภูมิปัญญาของตน ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคุณค่าที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน 2531 ก่อตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ช่วง พ.ศ. 2530 - 2531 ประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก มีการขยายกำลังการผลิตอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่จะมาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ ไม่ได้มีการพัฒนาให้เติบโตตามไปด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ก่อตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ : MIDI ขึ้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยเน้นกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานขึ้นรูปโลหะ ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญ เนื่องจากชิ้นส่วนต่าง ๆ ล้วนทำจากโลหะ พลาสติก และจากเครื่องจักรในการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังได้มีการจัดตั้งชมรมและสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนของประเทศไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศอีกด้วย ภายหลังเมื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีการปรับโครงสร้างองค์กร ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2539 สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน พร้อมกับขยายการดำเนินงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบให้กว้างขวางยิ่งขึ้น 2532 ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันตก และภาคตะวันออก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยายงานบริการไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการปฏิบัติงาน และร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวมทั้งเป็นแกนกลางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาค โดยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี สระบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ถัดมาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 มีพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งศูนย์พัฒนาเครื่องเคลือบดินเผาภาคเหนือ สืบเนื่องจากภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดลำปาง มีผู้ประกอบการด้านเครื่องเคลือบดินเผาจำนวนมาก ประกอบกับภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ การผลิตต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และมีการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกขึ้น เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 ในรูปโครงการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาภาคเหนือ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรมเซรามิกของท้องถิ่นและของประเทศให้มีมาตรฐานด้านคุณภาพเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ และสามารถผลิตสินค้าที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ ระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2540 ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งได้ให้การสนับสนนุในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการผลิต การส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมเซรามิกมาประจำที่ศูนย์ฯ และส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น เดิมศูนย์ฯ แห่งนี้สังกัดศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ใน พ.ศ. 2538 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และต่อมาใน พ.ศ. 2551 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการแบ่งส่วนราชการเป็นการภายในใหม่จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก”
26 มิ.ย. 2020
ระยะที่ 3 : ส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค
2515 สำรวจเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการกระจายโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวกันอยู่ในกรุงเทพมหานครออกสู่ต่างจังหวัด และขจัดปัญหาแรงงานอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 - 2519) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการสำรวจเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงาน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ วางแผน และกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ต่างจังหวัด โดยมีการสำรวจขั้นต้นเพื่อวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ผลการสำรวจครั้งนั้นพบว่า ควรมีการจัดตั้งการประกอบกิจการอุตสาหกรรมใหม่ ๆ คือ อุตสาหกรรมผลิตผลไม้ อาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเล อุตสาหกรรมผลิตอาหารเนื้อ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา ปรับปรุงส่วนราชการต่าง ๆ ใหม่ ได้มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ภายในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 277 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ดังนี้ 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกสารบรรณ แผนกคลัง แผนกห้องสมุด และแผนกการเจ้าหน้าที่ 2. กองบริการอุตสาหกรรม 3. กองแผนงาน 4. กองอุตสาหกรรมในครอบครัว 5. กองส่งเสริมหัตถกรรมไทย 6. กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านไทยอุตสาหกรรม และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านไทยอุตสาหกรรม ขยายงานสู่ภูมิภาค กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยายงานให้บริการไปยังส่วนภูมิภาคในเขตภาคเหนือ โดยจัดตั้งสถาบันบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือขึ้นที่ถนนทุ่งโฮเต็ล จังหวัดเชียงใหม่ โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารที่ทำการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2515 จากนั้นใน พ.ศ. 2516 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือ และใน พ.ศ. 2526 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จนกระทั่ง พ.ศ. 2538 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน 2518 แบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ดังนี้ 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกสารบรรณ แผนกบัญชีและการเงิน แผนกห้องสมุด แผนกการเจ้าหน้าที่ และแผนกพัสดุกลาง 2. กองแผนงาน 3. กองบริการอุตสาหกรรม 4. กองบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือ 5. กองอุตสาหกรรมในครอบครัว 6. กองส่งเสริมหัตถกรรมไทย 7. กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ 8. กองเพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรม และยังคงมีหน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านไทยอุตสาหกรรม 2520 เริ่มจัดประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย บรรจุภัณฑ์นับเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย หรือ Thai Star Packaging Awards ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเวทีในการแสดงผลงานและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมได้เห็นโอกาสในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดต่อไป ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมในการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (Asia Star Awards) ซึ่งจัดโดยสหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (Asian Packaging Federation : APF) และมีประเทศสมาชิกร่วมส่งผลงานเข้าประกวด โครงการส่งเสริมวิชาชีพอุตสาหกรรม เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างงาน กระจายรายได้สู่ชนบท เพิ่มรายได้ของประชากรและรายได้ประชาชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดทำ โครงการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรม โดยมีเนื้องานประกอบด้วย 1) โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมในชนบท ซึ่งได้มีการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเริ่มต้นแห่งแรกที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (เดิมชื่อ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ) 2) โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมในเมือง ได้มีการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในแหล่งเสื่อมโทรม ได้แก่ ดินแดง คลองเตย และทุ่งสองห้อง ซึ่งปัจจุบันได้หยุดการดำเนินงานไปแล้ว เนื่องจากมีหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาทำหน้าที่ฝึกอาชีพโดยตรง โดยตลอดช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมให้ประชาชนที่มีฝีมือในการประกอบอาชีพ ใช้เวลาว่างเสริมสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ
26 มิ.ย. 2020
ระยะที่ 2 : เน้นการเพิ่มผลผลิต
2501 จัดทำวารสารอุตสาหกรรมสาร อุตสาหกรรมสารเป็นวารสารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการส่งเสริมความรู้ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งตีพิมพ์มายาวนานกว่า 50 ปี โดยถือกำเนิดขึ้นเป็นฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 นับเป็นวารสารทางราชการที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดและยังคงตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน จากรูปเล่มที่ใช้การพิมพ์โรเนียวเป็นใบปลิวแล้วเย็บเข้าเป็นเล่ม มีจำนวนพิมพ์ในปีเริ่มต้น 700 -800 ฉบับ จนมาถึง พ.ศ. 2507 จึงได้มีการปรับปรุงเป็นเล่ม ปัจจุบันอุตสาหกรรมสารเป็นวารสารราย 2 เดือน จำนวนพิมพ์ครั้งละ 5,000 ฉบับ เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย แนวโน้มของอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต การตลาด การบริหารจัดการ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การให้บริการต่าง ๆ ตลอดจนตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอุตสาหกรรม นอกเหนือจากการจัดทำในรูปสิ่งพิมพ์ ต่อมายังได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสารในรูปแบบวารสารดิจิตอล ซึ่งสามารถอ่านได้ทั้งบนเว็บไซต์และผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยงานราชการแห่งแรกที่เผยแพร่วารสารขององค์กรในรูปแบบ Mobile Application 2504 เปลี่ยนร้านไทยอุตสาหกรรมเป็นร้านนารายณ์ภัณฑ์ หลังจากร้านไทยอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้นตามลำดับ และมีความจำเป็นต้องย้ายร้านไปที่ใหม่เพื่อให้กว้างขวางกว่าเดิม จึงได้ย้ายมาตั้งสำนักงานที่อาคารนารายณ์ภัณฑ์ ถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2504 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ร้านนารายณ์ภัณฑ์” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่ออาคาร นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาใน พ.ศ. 2527 คณะรัฐมนตรีมีนโยบายปรับปรุงกิจการร้านนารายณ์ภัณฑ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นลักษณะธุรกิจ โดยมีเอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและช่วยเหลือชาวบ้านในด้านหัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ปัจจุบันร้านนารายณ์ภัณฑ์เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับภาคเอกชน และมีร้านสาขาจำนวน 7 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ กระบี่ ชลบุรี และภูเก็ต 2505 จุดเริ่มต้นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและกองทุนพิเศษสหประชาชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านการพัฒนาการจัดการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการฝึกอบรม ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลข่าวสารด้านการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2505 ตามข้อตกลงองค์การสหประชาชาติจะให้ความร่วมมือ และความช่วยเหลือในด้านการจัดตั้งและดำเนินงานของศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ศูนย์ฯ ในฐานะเป็นผู้ให้การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำ ต่อมาได้มีการขยายงานให้บริการปรึกษาแนะนำและได้รับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติต่อไปอีก 3 ปี ความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติได้สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2512 ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ชาวไทยก็ได้ดำเนินงานเองโดยตลอด ภายหลังได้โอนงานของศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาอยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อ พ.ศ. 2515 จากนั้นได้จัดตั้งเป็นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติใน พ.ศ. 2537 เป็นหน่วยงานอิสระสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีมูลนิธิเพื่อสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติรองรับการดำเนินงาน 2506 เริ่มงานออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้น หรือในชื่อเดิมคือ โครงการศูนย์กลางการออกแบบอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า รวมทั้งบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการทั่วไป โดยนายชิน ทิวารี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการบรรจุหีบห่อ ได้มอบนโยบายพร้อมทั้งสนับสนุนให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในด้านนี้ ใน พ.ศ. 2510 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (Asian Packaging Federation : APF) ตามคำเชิญของสถาบันการบรรจุภัณฑ์แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหพันธ์ฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในทางวิชาการด้านบรรจุภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิกและร่วมมือกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ในประเทศแถบเอเชีย ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมให้แก่สหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชียหลายครั้งด้วยกัน รวมถึงการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของประเทศไทยในการจัดประกวดบรรจุภัณฑ์ Asia Star Awards ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของสมาพันธ์ฯ ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 นอกจากนี้ยังได้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้นำขององค์กรนี้ โดยนายทำนุ วะสีนนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในขณะนั้น เคยดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ 2507 จุดเริ่มต้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเสนอ และได้มีการจัดตั้งสำนักงานเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำและวิเคราะห์โครงการขอกู้เงิน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม วินิจฉัยชี้ขาดในการให้กู้เงินต่อไป ต่อมาใน พ.ศ. 2513 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม (สธอ.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมขนาดย่อมทั่วไป รวมทั้งอุตสาหกรรมหัตถกรรม ก่อนที่จะปรับสถานะเป็นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและสามารถระดมทุนและเงินกู้ได้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเมื่อ พ.ศ. 2534 ใน พ.ศ. 2545 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2508 เปิดอาคารที่ทำการถาวร หลังจากต้องย้ายสถานที่ทำการถึง 9 แห่ง นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในฐานะกองอุตสาหกรรมกระทั่งเปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่มีสถานที่ทำการเป็นสัดส่วน ประกอบกับเมื่อต้องประสบภัยจากสงคราม ทำให้กองต่าง ๆ ในกรมฯ ต้องแยกย้ายกัน อยู่ตามหน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดความไม่สะดวกในการติดต่อและประสานงาน ใน พ.ศ. 2507 นายสอาด หงษ์ยนต์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น จึงได้ของบประมาณเพื่อสร้างที่ทำการถาวร ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นภายในบริเวณกระทรวงการอุตสาหกรรมบนถนนพระรามที่ 6 รวมค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 1,639,416 บาท การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2507 และมีพิธีเปิดอาคารในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2508 ในสมัยที่นายชิน ทิวารี เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปัจจุบันจึงได้ถือเอาวันที่ 11 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อมาเมื่ออาคารหลังนี้ชำรุดทรุดโทรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ ใน พ.ศ. 2536 และเพิ่มปริมาณพื้นที่การปฏิบัติงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เป็นจำนวน 17,227 ตารางเมตร บนพื้นที่ 2 ไร่ 25.5 ตารางวา คิดเป็นมูลค่าการก่อสร้างอาคารประมาณ 146 ล้านบาท การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2538
26 มิ.ย. 2020
ระยะที่ 1 : ก่อร่างสร้างงาน
2485 ตั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรม รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เห็นความจำเป็นในการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2484 และประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย การหวังพึ่งสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศทำได้ยากขึ้น ขณะที่มีความจำเป็นต้องอุปโภคบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีวัตถุดิบอยู่มากมาย แต่โรงงานที่ทำการผลิตมีอยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเพื่อขจัดความขาดแคลนและตอบสนองความต้องการของประชาชน รัฐบาลจึงได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงการอุตสาหกรรมขึ้น เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. 2495) และกรมอุตสาหกรรมได้ถูกเปลี่ยนเป็น “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” ในสังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยมีภารกิจหลักเพื่อมุ่งส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่จำเป็นของประเทศเป็นการเร่งด่วนโดยเน้นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่จำเป็นต่อการครองชีพ ใน พ.ศ. 2485 นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง 2. กองอุตสาหกรรมในครอบครัว แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกการทอ แผนกร่มและหมวก แผนกเชือก และแผนกผลิตภัณฑ์ทั่วไป 3. กองอุตสาหกรรมทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกค้นคว้า แผนกจัดตั้งโรงงาน แผนกอาชีพอุตสาหกรรม และแผนกเครื่องอาหาร 4. กองเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการค้า และแผนกสินค้าไทย ส่งเสริมการปั่นด้ายแบบใหม่ กระทรวงการอุตสาหกรรมได้พิจารณาเห็นว่าผ้าและด้ายทอผ้า รวมทั้งไหมในท้องตลาดมีปริมาณน้อยลง จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินการส่งเสริมการปั่นด้ายแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบพื้นเมืองขึ้นในจังหวัดที่มีการปลูกฝ้ายเป็นสินค้า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2486 ด้ายและผ้าขาดแคลนยิ่งขึ้น จึงเร่งส่งเสริมโดยขยายโครงการเดิมให้ประชาชนมีความรู้ และมีเครื่องมือพร้อมที่จะประกอบอาชีพปั่นด้ายไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ภายใน 1 ปี เพื่อให้สามารถผลิตเส้นด้ายให้เพียงพอป้อนเครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุกที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากสถานการณ์สงครามคับขันยิ่งขึ้น การคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก การจัดสร้างเครื่องมือไม่สะดวก ราคาฝ้ายสูงขึ้นกว่าเดิมและหาซื้อได้ยากเพราะมีการแย่งซื้อกัน และผู้รับการอบรมส่วนใหญ่ก็ไม่กลับไปประกอบอาชีพที่ได้รับการอบรมมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้เลิกการส่งเสริมไปใน พ.ศ. 2487 2486 เริ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมรายย่อย การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ อีกโครงการหนึ่งของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในช่วงเวลานี้ คือ การส่งเสริมการทอผ้า การทอกระสอบและฟั่นเชือกจากปอกระเจาและใยมะพร้าว ทำเชือกจากป่านรามี่หรือป่านลพบุรี ทำเชือกเย็บรองเท้า จักสาน ซึ่งต่อมาได้ช่วยบรรเทาความขาดแคลนได้มากในยามสงคราม 2487 งานหยุดชะงักเพราะถูกระเบิดสงคราม ในห้วงของสงครามมหาเอเชียบูรพา บริเวณเขตพระนครมีการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ที่ทำการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายในกระทรวงการอุตสาหกรรม (วังกรมหลวงปราจิณกิติบดีเดิม) เชิงสะพานเทเวศร์ทางด้านถนนลูกหลวง รวมทั้งห้องค้นคว้าทดลองถูกทิ้งระเบิด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 เป็นเหตุให้เอกสารถูกไฟไหม้เสียหายเกือบหมด การทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระหว่าง พ.ศ. 2488-2490 จึงต้องหยุดชะงักลงได้รับเพียงงบประมาณเงินเดือน งบใช้สอยปกติ งบค่าซื้อหนังสือและตำราเท่านั้น ข้าราชการฝีมือดีจึงทยอยกันลาออกไปประกอบกิจอื่นเป็นจำนวนมาก 2491 ชุบชีวิตงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณพิเศษ 327,000 บาท เพื่อปลูกสร้างที่ทำการใหม่ แทนหลังเดิมที่ถูกระเบิดเสียหาย เป็นโรงงานค้นคว้าทดลอง มีพื้นคอนกรีต ฝาไม้ หลังคาสังกะสี โดยไม่สร้างอาคารสูง เพื่อสงวนงบประมาณไว้สำหรับการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรให้ได้มากที่สุด เนื่องจากของเก่าได้รับความเสียหายไม่หลงเหลืออยู่เลย นับเป็นการชุบชีวิตงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ หลังจากต้องหยุดชะงักไปเพราะถูกระเบิดสงคราม หลังจากนั้นก็ได้รับงบประมาณดำเนินการเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนสามารถซื้อเครื่องจักรมาทำการทดลองค้นคว้าตามโครงการที่ได้วางไว้ นอกจากนี้ยังได้ขยายสาขา ร้านไทยอุตสาหกรรม ตามภูมิภาคต่างๆ เพิ่มเติม รวมกับร้านสาขาที่เปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2491 รวมเป็น 7 แห่ง คือ 1. ร้านไทยอุตสาหกรรมสามยอด 2. ร้านไทยอุตสาหกรรมราชดำเนิน 3. ร้านไทยอุตสาหกรรมบางลำภู 4. ร้านไทยอุตสาหกรรมบางรัก 5. ร้านไทยอุตสาหกรรมลพบุรี 6. ร้านไทยอุตสาหกรรมปราจีนบุรี 7. ร้านไทยอุตสาหกรรมเชียงใหม่ ร้านไทยอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางขายสินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เปรียบเหมือนตลาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั่นเอง เริ่มงานค้นคว้าทดลอง งานการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในครอบครัว เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง และเป็นงานที่อยู่ในนโยบายของรัฐบาลตลอดมาโดยการค้นคว้าทดลองของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เริ่มจากการซื้อเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นมาเตรียมไว้ จากนั้นได้จัดสร้างโรงงานทดลองค้นคว้าขึ้น 1 หลัง ต่อมาใน พ.ศ. 2493 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีการ ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับการถนอมอาหาร โดยทดลองการตากแห้ง การดองเค็ม และการอัดขวด เพื่อถนอมอาหารให้ดีขึ้น พร้อมทั้งทดลองดัดแปลงกี่กระตุกเป็นกี่ที่ใช้กำลังมอเตอร์ พ.ศ. 2494 ได้มีการ ทดลองเรื่องการอบแห้ง (Dehydration) ผลไม้และผักต่าง ๆ สร้างตู้อบขนาดเล็กแบบใช้ไฟฟ้าเป็นความร้อนเพื่ออบกล้วย ด้วยเล็งเห็นว่ากล้วยในเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ สามารถพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมได้ รวมทั้งมีการสั่งซื้อเครื่องขูดลอกและเครื่องสางป่านรามี่จากญี่ปุ่น 2 เครื่อง ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตมากกว่าการลอกด้วยมือถึง 25 เท่า งานค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ในครอบครัวมีความหลากหลายมากขึ้น ในช่วง พ.ศ. 2495 ทั้งการทดลองสร้างเครื่องทอกระสอบขนาดเล็ก ทดลองทำเครื่องเขิน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทดลองทำโครงการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพน้ำรัก ทดลองกะเทาะถั่วลิสงด้วยเครื่องจักร ทดลองใช้เครื่องทุ่นแรงในอุตสาหกรรมร่มและดัดแปลงเครื่องจักรให้เหมาะกับการผลิตแบบไทย ทดลองทำเครื่องตีเยื่อกระดาษสาให้ฟูเหมาะกับการช้อนกระดาษและออกแบบตะแกรงช้อนเยื่อ ซึ่งได้ผลเร็วกว่าการช้อนแบบเดิม เพิ่มผลผลิตจากวันละ 150 แผ่นเป็น 500 แผ่น ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการให้ความสำคัญพัฒนานวัตกรรมการผลิตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 2492 สำรวจภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กระทรวงการอุตสาหกรรมได้ทำการสำรวจภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมกับกระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นข้อมูลสถิติวัตถุดิบและอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักรสำหรับจัดทำฐานข้อมูลสำคัญในการวางแผนด้านนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รับหน้าที่ในการสำรวจโรงงาน วัตถุดิบ และอุตสาหกรรมเฉพาะท้องที่จังหวัดพระนครและธนบุรี การสำรวจครั้งสำคัญนี้เสร็จสิ้นลงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รวบรวมตัวเลขสถิติจัดหมวดหมู่ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “ สถิติวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2492” แบ่งส่วนราชการใหม่ ต่อมาได้มีพระราชกำหนดจัดวางระเบียบราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2494 แบ่งส่วนราชการใหม่เป็น 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง 2. กองสืบค้นและทดลอง แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสืบค้นวัตถุดิบและอุตสาหกรรม และแผนกทดลอง 3. กองส่งเสริมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกวิชาการและสถิติ แผนกอุตสาหกรรมในครอบครัว และแผนกอุตสาหกรรมโรงงาน 4. กองส่งเสริมผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการตลาดและอุปกรณ์ และแผนกเผยแพร่สินค้าไทย 2495 จัดตั้งโรงงานนำร่อง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณในการจัดตั้งโรงงานนำร่อง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและอุตสาหกรรมขนาดย่อมให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้ประชาชน ประกอบการอุตสาหกรรมได้ถูกต้องตามหลักวิชาการและทันสมัย โดยโรงงานนำร่องที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2498 มีดังนี้ 1. โรงงานเครื่องหวายและจักสาน 2. โรงงานทอผ้า ย้อมสี ทอแถบ และถุงเท้า 3. โรงงานทอผ้าภูมิภาค 4. โรงงานร่มพระนคร 5. โรงงานร่มเชียงใหม่ 6. โรงงานทำเข็มหมุดและคลิป 7. โรงงานทอกระดาษสา 8. โรงงานเครื่องเขิน 9. โรงงานทดลองเครื่องจักรประดิษฐ์ไม้ไผ่ นอกจากนี้ยังได้รับโอนโรงงานบางกอกเย็บสานอุตสาหกรรมจากโรงงานหมวกไทยมาดำเนินการต่อ และใน พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งโรงงานไทยโลหะภัณฑ์ โดยยืมเงินจากกองสลากกินแบ่งของรัฐบาลมาดำเนินการในขั้นแรก พร้อมทั้งได้รับงบประมาณจัดตั้งโรงงานเครื่องเคลือบดินเผาขึ้นเป็นลำดับสุดท้าย ใน พ.ศ. 2497 ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจโรงงานเหล่านี้ต่อจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็สามารถรับช่วงกิจการต่อไปได้ รวมถึงมีการเปิดรับประชาชนที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ 2496 เปลี่ยนแปลงส่วนราชการอีกครั้ง ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่วนราชการในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2496 แบ่งส่วนราชการดังนี้ 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง 2. กองค้นคว้าและทดลอง แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกค้นคว้าวัตถุดิบและอุตสาหกรรมและแผนกทดลอง 3. กองส่งเสริมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกวิชาการและสถิติ แผนกอุตสาหกรรมในครอบครัว และแผนกอุตสาหกรรมโรงงาน 4. กองส่งเสริมผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการตลาดและอุปกรณ์ และแผนกเผยแพร่สินค้าไทย 5. ร้านไทยอุตสาหกรรม (นารายณ์ภัณฑ์)
26 มิ.ย. 2020