ไม่ควรเป็นคู่แข่ง แต่ควรเป็นคู่ค้า เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน


03 มี.ค. 2022    nutnaree    116

 

“สินค้าเหมือนกัน จำเป็นต้องแข่งกันเองหรือเปล่า…?”

 

     คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็น” คุณธา สิทธา สุขกันท์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมข้าวคนอินทรีย์ มองว่าถึงแม้ในกลุ่มของเราจะทำข้าวอินทรีย์เป็นหลักเหมือนกัน แต่เราก็สามารถช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มให้ดีขึ้นได้ ในแบบที่เป็นคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง ขอแค่มีโฟกัสที่จะเดินไปในเส้นทางเดียวกัน

 

     “ข้าวอินทรีย์” เป็นจุดเริ่มต้นของการมารวมกลุ่มกันของชาวนา ที่อยากจะพัฒนาข้าวอินทรีย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก แปรรูป ส่งออก การหาตลาด รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานการผลิตข้าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


     มาตรฐานของการผลิตข้าวเป็นสิ่งที่กลุ่มของเราให้ความสำคัญ ก่อนที่จะส่งผลผลิตออกไปได้นั้น จะต้องรู้ก่อนว่าตลาดของประเทศนั้นๆ มีมาตรฐานในการวัดแบบไหน เช่น การส่งออกข้าวไปที่อเมริกา ก็จะต้องยึดตามมาตรฐาน NOP หรือ Nation Organic Program (USDA) ซึ่งเป็นตลาดหลักๆ ของกลุ่มเรา แต่ถ้าส่งผลผลิตไปขายภายในประเทศไทย ก็จะต้องยึดตามมาตรฐาน Organic Thailand

 

     แน่นอนว่าก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะได้รับการตรวจว่าตรงตามมาตรฐานของตลาดหรือไม่นั้น สมาชิกภายในกลุ่มของเราก็จะมีการตรวจแบบภายในกันเองก่อน ผ่านการบันทึกข้อมูลของฟาร์มให้ตรงตามหลักมาตรฐานอินทรีย์สากล ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการปลูก การป้องกันการปนเปื้อน หลังจากนั้นจึงจะเชิญผู้ตรวจภายนอกเข้ามาช่วยตรวจให้อีกครั้งหนึ่ง อย่างที่ผ่านมาก็จะมีผู้ตรวจประเมินจากประเทศเยอรมันเข้ามาตรวจเช็ก และรับรองตั้งแต่เอกสารระบบควบคุมภายในกลุ่ม (ICS) แปลงนา ไปจนถึงผลผลิตข้าว 


     นอกจากนี้ผลของการบันทึกข้อมูลฟาร์ม ยังเป็นเหมือนข้อมูลส่วนกลาง ที่ช่วยให้คุณธาทราบอีกด้วยว่าในแต่ละพื้นที่จะปลูกข้าวประเภทไหน ผลิตข้าวได้ปริมาณเท่าไร และคาดการณ์ว่าจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงเวลาไหน เมื่อเวลามีผู้ซื้อมาติดต่อขอซื้อผลผลิต คุณธาจะสามารถแนะนำได้ทันทีเลยว่าพื้นที่ตรงไหน มีผลผลิตตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ


     การมารวมกลุ่มกันจนกลายเป็นคลัสเตอร์ นอกจากจะถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ทำให้สมาชิกได้รับองค์ความรู้ในเรื่องของการผลิต จนได้ข้าวอินทรีย์กลับมาแบบ 100% ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ต้องใช้สารเคมี แถมยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ด้วยการใช้ปุ๋ยน้ำหมัก จุลินทรีย์สรรพสิ่งจากคุณธาแล้ว ภายในกลุ่มเรายังมีแผนงานในการลงไปเยี่ยมสมาชิกในทุกๆ จังหวัดปีละครั้ง เพื่อพูดคุย หาแนวทางพัฒนาและเพิ่มผลผลิต ให้สอดคล้องไปกับความต้องการของตลาดอีกด้วย


     “เป้าหมายหลักที่ทางกลุ่มของเราอยากผลักดันต่อไป คือการทำแปลงข้าวแข็งอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะข้าวแข็งเป็นเหมือนจุดเด่นของกลุ่มเรา แถมยังมีความต้องการทางตลาดค่อนข้างสูง เหมาะที่จะนำไปแปรรูป แล้วผลิตเป็นเส้นพาสต้า หรือเส้นราเมง เพื่อส่งออกให้อเมริกาและยุโรปต่อไป”

 

     หากเราสามารถพัฒนาผลผลิตให้ดี ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดได้ สมาชิกในกลุ่มของเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาแข่งกันขายอีกต่อไป เพราะผลผลิตของพวกเขาจะมีคนมาจับจองไปโดยปริยาย ซึ่งจุดนี้ก็จะทำให้ความตั้งใจที่อยากจะยกระดับตลาดข้าวอินทรีย์ไทยให้ไปไกลสู่สากล อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม…


     หลายคนอาจมองว่าการทำข้าวอินทรีย์ หรือเกษตรอินทรีย์ คือเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่สำหรับคุณธาเอง เขามองว่าการไม่ลงมือทำต่างหาก ที่จะทำให้ผลลัพธ์ไม่เกิดขึ้นจริง หากสมาชิกมีโฟกัสเดียวกัน พัฒนาไปพร้อมกัน ก็จะช่วยให้เราเข้าใกล้กับเป้าหมายได้ไม่ยาก