“สร้างความร่วมมือด้วยคุณธรรม” ค่านิยมที่ขับเคลื่อนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้ไปถึงเป้าหมาย


03 มี.ค. 2022    nutnaree    207

 

“สร้างความร่วมมือด้วยคุณธรรม” ค่านิยมที่ขับเคลื่อนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้ไปถึงเป้าหมาย

 

     ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังหลายร้อยล้านตันต่อปี และมีตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าอุปโภคและบริโภค ในชีวิตประจำวันของทุกคนหลายอย่าง เช่น เบเกอรี เจลาติน กระดาษ กาว ฯลฯ ทำให้คุณประไพพิศ เทพารส ผู้จัดการกลุ่มพลังงาน สังกัด สงวนวงษ์เอ็นเนอร์ยี และรองประธาน CDA ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจบนตลาดโลก

 

 มีพาร์ทเนอร์ที่รู้ใจมีชัยไปกว่าครึ่ง

     ช่วงแรกที่สงวนวงษ์เอ็นเนอร์ยี ได้พลิกของเสียในกระบวนการผลิตแป้ง อย่างน้ำเสียและกากมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ต้องทดลองอยู่หลายครั้งจนกว่าจะลงตัว แต่พอได้รับการชักชวนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 เพื่อเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์มันสำปะหลังและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง จึงเหมือนได้เพื่อนมาช่วยคิด ช่วยแชร์ไอเดีย แบ่งข้อมูล ข่าวสาร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน

 

 ไม่ใช่คู่แข่งแต่เป็นคู่ค้าคนสำคัญ

     การเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์มันสำปะหลัง นอกจากจะได้ทำงานร่วมกับสมาชิกภายในกลุ่มแล้ว ยังได้ทำงานร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้ประสานงานคลัสเตอร์ (Cluster Development Agent) หรือ CDA ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนใยแมงมุง คอยประสานงานและเชื่อมโยงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในคลัสเตอร์ให้ขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความเข้าใจให้สมาชิกว่าการเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์คือการสร้างเครือข่ายที่พร้อมจะสนับสนุนซึ่งกันและกันให้สามารถต่อสู้กับคู่แข่งต่างชาติได้ แม้หลายๆ ธุรกิจในกลุ่มจะผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่ทุกคนกลุ่มคือคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง โดยมีหัวใจหลักในการทำงานร่วมกันภายใต้ค่านิยมที่ว่า “สร้างความร่วมมือด้วยคุณธรรม” คือภายในกลุ่มต้องมีความซื่อสัตย์และเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน จึงจะสามารถขับเคลื่อนกลุ่มให้เข้มแข็งได้

 

 กำหนดแนวทางที่ชัดเจนและจัดกิจกรรมที่ตอบโจทย์

     อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการกำหนด KPI และแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน มีการจัดอบรมในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติการตามหัวข้อที่สมาชิกสนใจ เช่น การจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต การบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจะมีการวัดผลผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนผลลัพธ์ที่ได้จากการนำความรู้ไปปรับใช้จริง และถึงแม้สถานการณ์ในช่วงนี้จะไม่เอื้ออำนวยให้สมาชิกมารวมตัวกัน แต่ภายในกลุ่มก็ได้มีการปรับตัวมาประชุมและอบรมในรูปแบบออนไลน์แทน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

 

 ตั้งเป้าหมายรันคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง

     โดยในอนาคตทางกลุ่มตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากให้สมาชิกได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม เช่น การนำเทคโนโลยีทางด้าน Digital มาลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจมีความมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืนยิ่งขึ้น