ทัศนคติและคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ดี


22 พ.ค. 2020    อภิมุข    680

ไม่ใช่ว่าใครๆก็สามารถทำธุรกิจแล้วจะประสบความสำเร็จได้ มีหลายคนสงสัยว่าทำไมการทำธุรกิจนี้ถึงยากเหลือเกินกว่าที่จะขายของได้หมดหรือขายดี ทั้งที่ผู้ขายของส่วนใหญ่ก็มั่นใจว่าสินค้าของตนเองดีและมีคุณภาพสูง การจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องประกอบไปด้วยแนวความคิด อุปนิสัย และความสามารถ และนำมารวมกันในบุคคลคนเดียวได้ถึงจะประสบความสำเร็จ แต่บางคนอาจจะเถียงว่าทำไมคนบางคนไม่เห็นจะเก่งเลย นิสัยก็ไม่ดีด้วยทำไมถึงขายของได้ดีหล่ะ ตอบแบบง่ายๆเลยนะว่าคงโชคช่วยมั้ง สินค้าที่เขานำมาขายอาจเป็นของใหม่มีนวัตกรรมก็ได้ผู้ซื้อจึงอยากซื้อแต่รับรองได้ว่าธุรกิจนั้นจะไม่ยั่งยืนอย่างแน่นอน อยากให้ลองกลับไปดูบุคคลนั้นว่าพอผ่านไปเพียงไม่กี่ปีก็ต้องเลิกกิจการไปเองเพราะความที่นิสัยไม่ดีประกอบกับทัศนคติที่ไม่ดีทำให้เริ่มขายสินค้าไม่ได้นั่นเอง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งซึ่งทำธุรกิจขายเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และออกบูทตามงานต่างๆจนเป็นที่รู้จัก เปิดมาได้ไม่ถึงปีก็ประสบความสำเร็จจึงขยายร้านและมีสาขาอีก 5-6 สาขาและก็เริ่มขายแฟรนไชนส์ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าถ้าซื้อแฟรนไชน์เขาแล้วสามารถคืนทุนได้ภายในหนึ่งปีเพราะได้ผลตอบแทนสูง ในช่วงที่ขายแฟรนไชนส์นั่นเอง ที่ปรึกษาได้เข้าไปช่วยเหลือในการคิดต้นทุนและแนะนำให้ลดราคาสินค้าที่ให้แฟรนไชนส์เพื่อแฟรนไชนส์จะได้กำไรเกินร้อยละ50 ของราคาขายเพราะผู้ซื้อแฟรนไชน์ก็ต้องไปเช่าพื้นที่และมีค่าแรงงานของตนเองด้วย สมมติว่ากาแฟเย็นขายแก้วละ 20 บาทแต่เจ้าของแฟรนไชน์รายนี้ขายส่งในราคาประมาณ 15 บาทแต่เนื่องจากเวลาขายและจัดส่งไปจะเป็นในรูปแบบวัตถุดิบเพื่อไปประกอบเป็นกาแฟหนึ่งแก้วทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชน์ไม่สามารถคำนวณเป็นต้นทุนต่อแก้วได้ ผู้ประกอบการรายนี้ก็ไม่สนใจฟังคำเตือนของที่ปรึกษาและไม่ยอมปรับราคาขายส่งด้วยเพราะต้องการกำไรมากๆและรับเงินสดเร็วๆ ในระยะปีแรกก็ยังมีคนมาซื้อแฟรนไชน์จำนวนมากเปิดร้านเกือบทุกจังหวัด ผู้ประกอบการรายนี้ก็ได้เงินเข้ามาเป็นจำนวนมากทั้งๆที่ไม่ซื่อสัตย์กับคนซื้อแฟรนไชน์ของตัวเองเลย เมื่อเหตุการณ์ขายแฟรนไชน์ผ่านไปได้ประมาณ 1-2 ปีเรื่องต้นทุนสูง ราคาขายส่งที่แพงก็แดงขึ้นทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชน์ต้องเลิกกิจการไปหมด และเจ้าของกิจการรายนี้ก็ต้องเลิกกิจการไปด้วย รวมระยะเวลาการดำเนินธุรกิจไม่ถึง 4 ปีเลย แม้ว่าจะได้กำไรมากในระยะแรกแต่ก็ไม่ยั่งยืนเพราะความไม่ซื่อสัตย์นั่นเองและจนกระทั่งทุกวันนี้ไม่เคยมีใครได้ยินข่าวของผู้ประกอบการรายนี้อีกเลย

 

   ทัศนคติที่ดีจะทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างมีความสุข และการมีคุณสมบัติที่ดียิ่งทำให้ธุรกิจดีและยั่นยืนด้วย ทาง BSC ได้รวบรวมการเป็นผู้ประกอบการที่ดีควรมีคุณสมบัติอะไรบ้างมาเป็นข้อๆดังต่อไปนี้

 
  • มีทัศนคติในเชิงบวก ไม่มองอะไรเป็นลบ เพื่อจะได้มีความสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบรายหนึ่งมีโอกาสได้ไปขายสินค้าที่ประเทศจีน แต่ไปถึงแล้วต้องแบ่งพื้นที่บูทกับคนอื่นแถมสินค้าของตัวเองก็ขายไม่ได้เลย แต่เขามีทัศนคติที่ดีก็บอกคนอื่นว่ายังไงก็ดีกว่าไม่ได้มาจีน เพราะการมาที่ประเทศจีนนี้ทำให้เขาได้เห็นว่าตลาดต้องการอะไร เขาต้องปรับปรุงสินค้ายังไงบ้างแม้ว่าลูกค้ายังไม่สนใจซื้อแต่หากไปปรับปรุงตามที่ลูกค้าต้องการเขาก็จะขายได้ นอกจากนั้นเขายังได้รู้จักเพื่อนที่ต้องแบ่งบูทกันด้วย คนที่คิดบวกและพร้อมที่จะรับฟังก็จะสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาสินค้าของตนเองต่อไปได้

     
  • มีความมุ่งมั่น ขยันและอดทน คนที่ไม่มุ่งมั่นมักจะเลิกทำอะไรได้กลางคัน เช่นการเรียนหนังสือหากไม่มุ่งมั่นก็เรียนไม่จบ สำหรับความขยันถือเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการยุคปัจจุบันที่แข่งขันกันสูงมาก ได้เคยพบผู้ประกอบการรายหนึ่งเปิดร้านขายข้าวแกง และก๋วยเตี๋ยวหมู มีคนงาน 3 คนมีฝีมือในการทำอาหารอร่อยดี แต่เป็นคนขี้เกียจเพราะเคยทำงานเป็นลูกจ้างมาก่อน จึงเปิดร้านแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์และหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดร้านได้ประมาณ 1 ปีก็ต้องเลิกกิจการไปเพราะรายได้ที่ได้รับเพียงพอแค่จ่ายเงินเดือนคนงานและค่าเช่าเท่านั้นเนื่องจากวันขายอาหารน้อยไปและวันหยุดเป็นวันที่มีโอกาสขายได้มากเพราะร้านข้าวแกงร้านนี้อยู่แถบชานเมืองไม่ใช่ขายตามออฟฟิต

     
  • รู้จักการแสวงหาความรู้และโอกาสใหม่ๆอยู่เสมอ ผู้ประกอบการไม่ควรอยู่กับที่เพราะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดตลอดเวลา หากไม่พัฒนาหาความรู้มาปรับปรุงสินค้าและการทำงานของตนเองแล้วก็เหมือนเดินถอยหลังนั่นเองเพราะคู่แข่งขันรายใหม่ก็มักจะเดินหน้าอยู่เสมอ ผู้ประกอบการรายเก่าๆที่มีชื่อเสียงยังต้องปรับปรุงพัฒนาสินค้าและนำเสนอการให้บริการใหม่ๆอยู่เรื่อยๆเพราะไม่อยากล้าหลัง ดังนั้นควรหาโอกาสไปสำรวจตลาด อ่านหนังสือหรือหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเข้าโครงการต่างๆที่ภาครัฐจัดอบรม สัมมนา จะทำให้ไม่ล้าสมัยและยังสามารถนำเสนอสิ่งใหม่ๆให้ลูกค้าได้

     
  • ต้องมีเงินทุนของตนเอง ผู้ประกอบการบางรายเข้าใจว่าการมีแนวคิดและสร้างสรรค์สินค้าได้ก็สามารถขายสินค้าได้เลยหรือบางรายก็คิดว่าภาครัฐมีการให้เงินสนับสนุน ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากเราต้องช่วยตัวเอง เพราะการเริ่มธุรกิจใหม่ต้องเริ่มจากเจ้าของมีเงินลงทุนก่อนทั้งที่ต้องลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์แล้วยังต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเผื่อไว้ซื้อวัตถุดิบ จ้างแรงงานฯลฯ หากไม่เตรียมเงินสำรองเหล่านี้ไว้กิจการใหม่ก็เปิดได้ไม่นานคงต้องเลิกกิจการไปเพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอนั่นเอง

     
  • มีความเป็นผู้นำ ผู้ประกอบการที่คอยแต่เป็นผู้ตามมักจะต้องเป็นเบี้ยล่างของลูกจ้างตนเองเสมอ ความเป็นผู้นำจะทำให้มีความกล้าในการพูดและสอนลูกน้องได้ รวมทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและลูกจ้างด้วย

     
  • รู้จักประหยัดใช้เงินให้ถูกประเภท ผู้ประกอบการที่ใช้เงินเกินตัวมักประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและร้อนเงินเสมอ หากมีกำไรแล้วควรใช้เงินเฉพาะกำไร หรือตั้งเงินเดือนให้ตนเองและใช้เฉพาะเงินเดือนของตนเอง สำหรับส่วนเกินที่เหลือเป็นเงินกำไรก็ควรนำไปขยายกิจการหรือสำรองไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายตลาดให้มากขึ้นต่อไป

     
  • มีความชอบและชำนาญในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ หากไม่มีความรู้ในธุรกิจที่ทำและต้องอาศัยคนอื่นหรือลูกจ้างก็อาจไม่ประสบความสำเร็จได้ ควรหาประสบการณ์ก่อนมาทำธุรกิจนั้นเช่น ต้องการเป็นเจ้าของร้านทำผม แต่ตัวเองก็ตัดผมและทำผมไม่เป็นจึงต้องจ้างช่างมาช่วยทำผม เมื่อช่างลาออกก็ต้องจ้างช่างคนใหม่อีก กิจการร้านทำผมก็อาจต้องเลิกไปเมื่อหาช่างทำผมไม่ได้

     
  • มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี การทำธุรกิจต้องอาศัยเครือข่าย, ลูกค้า, คู่ค้า หากผู้ประกอบการเป็นคนที่เข้าถึงยากไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีก็จะทำกิจการใหญ่โตและมั่นคงยาก การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีอาจจะเริ่มจากการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้างและการเข้าไปอบรมในหลักสูตรต่างๆทางด้านจิตวิทยาและมนุษย์สัมพันธ์

     
  • มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า หากทำธุรกิจอยู่บนความหลอกลวงแล้วธุรกิจก็ต้องปิดไปเหมือนตัวอย่างที่ได้เล่าในฟังในตอนต้นแล้ว

     

    จากคุณสมบัติที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากในการปฏิบัติเลยสำหรับเจ้าของกิจการ เพียงแต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามคุณลักษณะแต่ละข้อเท่านั้นเอง สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วก็ลองถามตนเองว่ามีครบทุกข้อแล้วหรือยัง หากยังขาดคุณสมบัติข้อใดก็รีบปิดจุดอ่อนของตนเองเพื่อจะได้เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต