การตัดสินใจการลงทุน


25 พ.ย. 2021    nutnaree    1,552

 

     ผู้ประกอบการที่จะตัดสินใจในการลงทุน ควรผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเสียก่อน ที่จะเลือกและตัดสินใจในโครงการที่ตนมั่นใจ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงทั้งนั้น การ  ตัดสินใจลงทุนควรใช้ข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ในเชิงคุณภาพจะประกอบไปด้วยข้อมูลเรื่องการตลาด เทคโนโลยี เศรษฐกิจ บุคลากร การจัดการ กฏหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับการตัดสินใจในเชิงปริมาณก็จะดูตัวเลขจากตัวชี้วัดด้านการเงิน 4 ตัวชี้วัด, ค่าReturn on investment, Return on asset, มีการจัดทำ sensitivity study, cost of risk, Break even analysis และดูข้อมูลสถิติต่างๆด้านตลาดด้วย ยิ่งเงินลงทุนจำนวนมากการตัดสินใจยิ่งยาก จึงต้องใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆให้มากเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน เมื่อการจัดทำตัวเลขต่างๆและผลการวิเคราะห์ออกมาไม่น่าพอใจก็ควรหยุดการลงทุนหรือชะลอการลงทุนเพื่อหาข้อมูลใหม่หรือเปลี่ยนโครงการไปลงทุนในธุรกิจอื่นแทน หลายคนที่วิเคราะห์ตัวเลขออกมาแล้วพบว่าผลตอบแทนการลงทุนต่ำก็ยังคงจะลงทุนเพราะไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไรดี สุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการไปและเสียเงินลงทุนไปหมดเพราะบอกว่าอยากทำไม่อยากคิดอะไรมาก การลงทุนแบบนี้อาจทำได้ถ้าคุณเป็นเศรษฐีแต่หากลงทุนหลายครั้งแล้วยังขาดทุนเรื่อยๆอาจกลายเป็นยาจกในวันข้างหน้าก็ได้

 

ขั้นตอนการตัดสินใจในการลงทุน

      1. ศึกษาและรวบรวมข้อมูลการลงทุน
      2. ประมาณกระแสเงินสดที่เกี่ยวข้อง
      3. กำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องการ
      4. เลือกเครื่องมือที่จะใช้วิเคราะห์
      5. ตัดสินใจเลือกหรือปฏิเสธ
      6. ติดตามและประเมินผลการลงทุน

 

     การตัดสินใจลงทุนจำเป็นต้องมีการจัดทำประมาณการเงินสดรับและค่าใช้จ่ายของโครงการตลอดระยะเวลาที่เราจัดทำประมาณการด้วย โดยทำประมาณการ(พยากรณ์)ให้เป็นกระแสเงินสดสุทธิ(รายรับหักรายจ่าย)เพื่อนำมาประเมินค่าของโครงการโดยเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่นิยมใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน 4 ตัวชี้วัดในการที่จะรับหรือปฏิเสธการลงทุนในโครงการหรือธุรกิจได้

 

วิธีที่นิยมนำมาการประเมินค่าโครงการหรือการลงทุนมี 4 ตัวชี้วัดนี้คือ
      1. ระยะเวลาการคืนทุน (Payback period)
      2. มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net present value หรือ NPV)
      3. อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน (Internal rate of return หรือ IRR)
      4. ดัชนีกำไร (Profitability index)

 

    ระยะเวลาการคืนทุน หรือ Payback period คือ  การหาระยะเวลาที่จะได้เงินสดรับเท่ากับเงินลงทุน สมมติเราลงทุนไปสองล้านและเราได้กำไรจากการลงทุนทุกเดือนๆละ 100,000 บาท การคำนวณคือเงินลงทุนเริ่มแรกหารด้วยเงินสดรับเฉลี่ยต่อปี เราก็สามารถหาค่าระยะเวลาได้ว่าเมื่อครบ 20 เดือนเราก็ได้เงินคืนเท่ากับเงินลงทุนครั้งแรกแล้ว การหาค่าระยะเวลาการคืนทุนนี้จะไม่คำนึงถึงเรื่องของเวลาจึงไม่ได้นำเงินอนาคตมาหามูลค่าเงินปัจจุบัน

 

 


     มูลค่าปัจจุบัน (Net present value หรือ NPV)
 เรามักได้ยินคนถามกันบ่อยๆว่าการลงทุนนี้มีค่า NPVเท่าใด นักลงทุนมักจะนิยมการคำนวณหาค่านี้เพราะการหาค่า NPV คือการนำมูลค่าของเงินสดรับสุทธิในอนาคตมาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วเปรียบเทียบกับเงินลงทุนเริ่มแรกว่าเป็นอย่างไร 

 

NPV มีค่าเป็นบวกถึงจะลงทุน

 

NPV มีค่าเป็นลบ จะไม่ลงทุน

 

     การคำนวณหาค่า NPV จะคำนึงถึงค่าของเงินกับเวลาด้วย เพราะเงินจำนวน 1 ล้านใน 3 ปีข้างหน้าจะไม่เท่ากับเงินจำนวน 1 ล้านในปัจจุบัน เราจึงนำเงิน 1 ล้านใน 3 ปีข้างหน้ามาคำนวณหาค่าปัจจุบันทำให้เงิน 1 ล้านนั้นไม่ถึงเงิน 1 ล้านในปัจจุบันแน่นอน เหตุผลเพราะหากเรานำเงินปัจจุบันจำนวน 1 ล้านบาทไปลงทุนหรือฝากไว้ที่ธนาคารก็จะได้อัตราผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยซึ่งเมื่อครบ 3 ปีก็จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าหนึ่งล้านบาทอย่างแน่นอน การคำนวณหาค่า NPVในปัจจุบันนี้ง่ายมากเพราะในโปรแกรมของ Excel มีสูตรหาค่า NPV ให้เรานำคำนวณได้เพียงแต่คุณต้องประมาณการว่าธุรกิจหรือโครงการที่คุณจะลงทุนนั้นมีเงินสดรับสุทธิแต่ละปีเท่าใด (เงินสดรับสุทธิคือรายได้ที่เป็นเงินสดหักค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดแล้ว)

 

 

     อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน (Internal rate of return หรือ IRR) เป็นการหาค่าของผลตอบแทนการลงทุนในรูปของเปอร์เซ็นต์ เพื่อทราบว่าโครงการที่จะลงทุนให้ผลตอบแทนมากหรือน้อยเท่าใดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องการหรือค่าของทุนที่เราตั้งไว้นั่นเอง เช่นเราตั้งอัตราผลตอบแทนที่น่าลงทุนไว้ร้อยละ 15 แต่เมื่อได้จัดทำประมาณการเงินสดรับสุทธิให้เป็นเงินปัจจุบันแล้วนำไปเทียบกับเงินลงทุนได้อัตราผลตอบแทนน้อยกว่าร้อยละ 15 เราก็อาจปฏิเสธการลงทุนได้เพราะผลตอบแทนที่ได้รับต่ำกว่าอัตราส่วนที่เราต้องการนั่นเอง การหาค่า IRR ก็คล้ายกับการหาค่า NPV คือต้องหาค่าว่าเงินสดรับในอนาคตเป็นเงินสดในปัจจุบันเช่นกันแต่การหาค่า IRR จะอยู่ในรูปของเปอร์เซนต์ในขณะที่ค่า NPV จะอยู่ในรูปของตัวเงินที่หักลบกับเงินลงทุนแล้ว ค่า IRR จะเป็นค่าเดียวเท่านั้นในรูปของเปอร์เซนต์แต่ค่า NPV จะมีหลายค่าขึ้นอยู่อัตราค่าของเงินลงทุนที่เรานำไปคำนวณ บางครั้งในโครงการเดียวกันผู้ประกอบการบางรายต้องการผลตอบแทน IRR แค่ร้อยละ 8 แต่สำหรับบางรายต้องการสูงถึงร้อยละ 15 ก็ได้ ทำให้เวลาคำนวณมีการแทนค่าอัตราผลตอบแทนที่ต่างกัน รายที่ต้องการร้อยละ 8 อาจจะลงทุนเพราะ NPV มีค่าเป็นบวก ในขณะรายที่ต้องการอัตราผลตอบแทนร้อยละ 15 และค่าของ NPV เป็นลบรายนั้นก็อาจปฏิเสธไม่ลงทุนก็ได้ แต่หากทั้งสองรายได้หาค่าของ IRR และพบว่าได้รับผลตอบแทนการลงทุนร้อยละ 13 ซึ่งค่า IRR จะมีเพียงค่าเดียวเท่านั้น รายที่ต้องการผลตอบแทนร้อยละ 15 ก็อาจพิจารณาเปลี่ยนใจใหม่ที่จะลงทุนก็ได้ ดังนั้น

 

ถ้า IRR มีค่ามากกว่าอัตราผลตอบแทนที่เราตั้งไว้ก็ลงทุนได้

 

ถ้า IRR มีค่าน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนที่เราตั้งไว้ก็ไม่ลงทุน

 

สูตรการคำนวณ IRR

 

     ดัชนีกำไร (Profitability index) คือการหาอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับสุทธิซึ่งคาดว่าจะได้รับในโครงการมาหารกับมูลค่าปัจจุบันของเงินสดจ่ายที่ลงทุนครั้งแรกในโครงการ หากมีค่ามากกว่าหนึ่งและมีค่าสูงมากก็แสดงว่าได้ผลตอบแทนกลับมาเกินหนึ่งเท่า เช่นมีค่าเป็น 2 ก็แสดงว่าเงินลงทุน 1 บาทในครั้งแรกได้รับผลตอบแทนมาเป็น 2 บาทนั่นเอง ก็แปลว่ามีกำไรถึง 100%

 

ถ้าดัชนีกำไรมีค่ามากกว่า 1 ถึงจะลงทุน

 

ถ้าดัชนีมีค่าน้อยกว่า 1 ก็ไม่ลงทุน

 

     ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้ด้านการเงินก็อาจจะไม่ทราบจะคำนวณหาค่าตัวชี้วัดเหล่านี้อย่างไร ทาง BSC ได้จัดทำตารางให้คุณกรอกตัวเลขประมาณการรายรับสุทธิ (กำไรจากการขายหักค่าใช้จ่าย) ให้คุณใส่ในช่องสีเหลือง รวมทั้งให้ใส่ค่าผลตอบแทนที่ต้องการสำหรับเงินลงทุนครั้งแรกของคุณโดยจำเป็นต้องใส่เป็นตัวเลขติดลบเสมอ เพราะถือว่าเป็นเงินที่จ่ายออกเพื่อนำมาคำนวณหาค่าตัวชี้วัดเหล่านี้ได้ การจัดทำประมาณการนี้จะมีระยะเวลาโครงการลงทุน 5 ปี หากค่าที่คำนวณออกมาได้เท่าใดให้นำมาเปรียบเทียบกับค่าที่ควรลงทุนได้ในบทความข้างบน คุณสามารถดาวน์โหลด ตารางการคำนวณหาค่าตัวชี้วัด ที่นี่ เพื่อนำมาตัดสินใจในการลงทุนต่อไป