ความสุข 8 ประการ เพื่อสร้างความสุขในองค์กร


26 พ.ค. 2020    อภิมุข    818

   ความสุขในสถานที่ทำงาน (Happy Workplace-HWP) ด้วยการใช้เครื่องมือความสุข 8 (Happy 8) ประการ เป็นแนวคิดที่ช่วยส่งเสริมความสุขทั้งทางกายและจิตใจให้พนักงาน อันจะส่งผลต่อความสุขในครอบครัว และ ในสังคม ในหน่วยงาน ทั้งนี้ความสุขในหน่วยงานประกอบด้วย 2 มุม คือ

 

     1. พัฒนาคนเพื่อปรับให้เข้ากับวิสัยทัศน์หน่วยงาน

     2. หน่วยงานที่พนักงานทำงานมีความสุข

 

   แนวคิดความสุข 8 ประการ ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) เชื่อว่าคนทำงานจะมีความสุขก็ต่อเมื่อสามารถจัดสมดุลของความสุข 3 ส่วน คือ

 

     1. ความสุขส่วนตัว

     2. ความสุขของครอบครัว

     3. ความสุขขององค์กร/สังคม

 

 

ความสุข 8 ประการ ประกอบด้วย

   1. การเป็นผู้มีสุขภาพดี (Happy Body) หมายถึงการดูแลตัวเองไม่ให้เป็นภาระกับผู้อื่นด้วยการมีสุขภาพกายดี ทานอาหารที่มีคุณค่าเหมาะสม

   2. การเป็นผู้รักการเรียนรู้และเป็นมืออาชีพในงานของตนเอง (Happy Brain) หมายถึง มีพลังหรือ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อปรับตนเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งมีความสุขในการปรับปรุงและแสดงสิ่งใหม่ ๆ ที่ตนเองมีให้ผู้อื่นรู้

   3. การเป็นผู้ที่รักและดูแลครอบครัวตนเองได้ (Happy Family) หมายถึง มีความมั่นใจ ปลอดภัย และ สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวของตนเอง

   4. การเป็นผู้ที่มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น (Happy Heart) หมายถึง การมีจิตใจรับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคม รวมทั้งมีเมตตาต่อผู้อื่น

   5. การเป็นผู้ใช้เงินเป็น (Happy Money) หมายถึง การมีวินัยกับตนเองในการใช้จ่ายเงิน สามารถบริหารงบค่าใช้จ่าย และการเก็บออมในแต่ละเดือน

   6. การเป็นผู้ที่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเอง (Happy Relax) หมายถึง การที่เรารู้จักบริหารเวลาเพื่อการผ่อนคลายอย่างมีประสิทธิผล และ พอใจในการแก้ไขปัญหาของตนเอง รวมทั้งทำให้ชีวิตไม่ยุ่งยากและไม่เครียด

   7. การเป็นผู้ที่รักและดูแลองค์กร/สังคมของตนเอง (Happy Society) หมายถึง การมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนบ้าน และ ไม่เป็นต้นเหตุของความยุ่งยากต่าง ๆ รวมทั้งไม่เอาเปรียบผู้อื่น และ มีพฤติกรรมภายใต้กรอบของสังคม

   8. การเป็นผู้มีคุณธรรมและความกตัญญู (Happy Soul) หมายถึง ตระหนักในเรื่องจริยธรรม และ คุณธรรม การให้อภัย รู้จักให้และมีความกตัญญูรู้คุณคน

   แม้จะมีเครื่องมือความสุข 8 ตัว แต่ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวทั้ง 8 ตัว ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาหนักคือ Happy Money รองลงไปคือ Happy Relax

 

 

ระบบการสร้างองค์กรแห่งความสุข

 

   ก. ปัจจัย (Input) แบ่ง 3 เรื่องหลักคือ

     1) การบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Practices) คือ การกำหนดระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่องสำคัญคือ ค่าจ้างที่สมเหตุสมผล การกำหนดและแจ้งให้ทุกคนทราบในเรื่องการแสดงการยอมรับในความสามารถ และรางวัลที่เหมาะสม รวมถึงผลประโยชน์ที่เหมาะสม การประเมินผลการปฏิบัติงานที่ยุติธรรม และ การวางแผนเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งงานของพนักงาน

     2) ผู้นำกับนโยบาย เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นในการดำเนินการสร้างองค์กรแห่ง ความสุข หากต้องการให้โครงการนี้สำเร็จผู้บริหารระดับสูงจะต้องกำหนดนโยบายที่ช่วยสร้างคุณค่าให้พนักงาน

     3) บรรยากาศในการทำงาน รวมถึงสภาพที่ทำงานที่ทำให้พนักงานมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกัน สถานที่ทำงานที่ดียังรวมถึงความสะอาด และความปลอดภัย

 

   ข. กระบวนการ (Process) แบ่งเป็น

     1) เครื่องมือ Happy 8 การใช้เครื่องมือความสุข 8 ประการ ขึ้นกับแต่ละหน่วยงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานควรมีการปรับการใช้ Happy8 ทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าคลอบคลุมทุกเรื่องที่จำเป็นต้องปรับปรุง

     2) ทีมงาน หรือ คณะกรรมการองค์กรแห่งความสุข เป็นคณะกรรมการที่มาจากงานบุคคล และ ตัวแทนจากทุกแผนก ที่มารวมกันเพื่อกำหนดว่าจะทำอะไรในหน่วยงาน

     3) การสื่อสารเรื่ององค์กรแห่งความสุขในสถานที่ทำงาน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก การสื่อสารนี้มีทั้งการให้ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ และ การอบรม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนในหน่วยงานทราบข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างองค์กรแห่งความสุขว่าคืออะไร ทำไมต้องทำ ทำเพื่อใคร และ ใครได้ประโยชน์อย่างไร

     4) การดูแล และ ติดตามประเมินผลความสุขในหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างถูกต้อง ตลอดถึงทราบความคืบหน้าของโครงการว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ หรือทราบผลกระทบของโครงการต่อความสุขของพนักงานในหน่วยงาน การดูแลและติดตามประเมินโครงการจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

   ค. ผลลัพธ์ (Outcome) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งสำหรับบุคลากร และ สองคือสำหรับองค์กร ในส่วนของบุคลากรคือเรื่องสุขภาพที่ดีขึ้น และ ผลการวัดระดับความสุขโดยใช้เครื่องมือ Happynometer วัดผลก่อนทำโครงการและหลังทำโครงการว่าความสุขของบุคลากรในแต่ละกิจกรรมที่หน่วยงานเลือกทำพบว่าสูงขึ้น อัตราการเข้า-ออกของพนักงานลดลง พนักงานที่ทำงานอย่างมีความสุขจะส่งผลดีต่อหน่วยงานในหลายแง่มุม ที่สำคัญคือ อัตราการเข้า-ออกลดลง ผลต่อเนื่องจากการมีความสุขของพนักงานคือ หน่วยงานมีผลผลิต (Productivity) อันเนื่องมาจากประสิทธิผลของการปฏิบัติงานของพนักงานสูงขึ้น ภาพลักษณ์ (Image) ของหน่วยงานก็ดีขึ้นตามมา