การกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม


29 พ.ค. 2020    อภิมุข    742

เคยหรือไม่ที่คิดจะทำอะไร หรือฝันจะทำอะไรที่ชอบ บางคนอยากสุขภาพดี บางคนอยากปลูกบ้าน บางคนอยากเที่ยวเมืองนอก ฯลฯ หลายคนได้แต่คิด และส่วนใหญ่มักทำได้แต่ไม่ต่อเนื่อง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเราไม่ได้นำความคิด หรือ ความฝันนั้นมากำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นทิศทางนำไปสู่ความสำเร็จตามที่ต้องการ หากเราต้องการสุขภาพดี เราก็ต้องออกกำลังแล้วเราจะออกกำลังอย่างไรจนสร้างวินัยให้ตนเอง ก็ต้องกำหนดเป้าหมายที่ออกกำลังอย่างไรให้ต่อเนื่อง ถ้าเราต้องการปลูกบ้านเราก็ควรมีภาพบ้านที่เราอยากได้ว่าเป็นแบบไหน ราคาเท่าไหร่ จึงมากำหนดเป้าหมายเพื่อให้สร้างบ้านได้สำเร็จ

 

กฎทองเพื่อการกำหนดเป้าหมาย

   1. กำหนดเป้าหมายที่เราปรารถนาจริง ๆ ถามตนเองว่าทำไมเป้าหมายที่นี้จึงสำคัญและมีค่าสำหรับเรา แล้วเราจะจูงใจให้คนอื่นเห็นคุณค่าของเป้าหมายนี้อย่างไร

   2. เป้าหมายควรประกอบด้วย SMART เป้าหมายที่ดีจะต้องชัดเจน และเจาะจง และมีทิศทางที่จะทำให้เรารู้ว่าเป้าหมายที่กำหนดจะจบที่ใด

   Specific = เจาะจง เป้าหมายจะต้องชัดเจน และเจาะจง การกำหนดเป้าหมายก็เพื่อให้เรารู้ว่าจุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ไหน

   Measurable = วัดได้ การกำหนดผลอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยให้เราวัดระดับความสำเร็จได้ ดังนั้น หากกำหนดว่า "ลดรายจ่าย" เราจะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะทำได้สำเร็จ แต่หากกำหนดว่า "ลดรายจ่าย 1% ภายใน 1 เดือน" หรือ "ลดรายจ่าย 10% ภายใน 2 ปี"

   Attainable = ทำได้สำเร็จ เป้าหมายที่กำหนดจะต้องมั่นใจว่าทำได้สำเร็จ มิฉะนั้นจะทำให้เราขาดกำลังใจ และทอนความมั่นใจในตัวเองลง อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่สำเร็จง่ายเกินไปก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ตื่นเต้น และกลัวการล้มเหลวหากมีการกำหนดเป้าหมายที่เสี่ยงหรือท้าทายในอนาคต

   Relevant = เกี่ยวเนื่องกัน เป้าหมายควรเกี่ยวข้องกับทิศทางที่เราต้องการในงาน หรือในชีวิต

   Time-bound = เวลา เป้าหมายจะต้องมีเวลาสิ้นสุด อันทำให้เรารับรู้ถึงความเร่งด่วน และความสำเร็จเร็วขึ้น รวมถึงรับรู้ว่าจะฉลองความสำเร็จเมื่อไหร่

   3. เขียนเป้าหมายที่ต้องการให้เห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อทำให้เห็นเป้าหมายอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เป็นการเตือนตัวเองไม่ให้ออกนอกเส้นทาง keyword คือ ฉัน "จะ" ไม่ใช่ "อยากจะ"

     - ตัวอย่างเช่น "ปีนี้ฉันจะต้องลดต้นทุนการผลิตลง 10%" แทน "ปีนี้ฉันอยากลดต้นทุน 10%" ถ้าเราต้องการลดอัตราการลาออกของพนักงาน เราควรกำหนดเป้าหมาย "ฉันจะรักษาบุคลากรทั้งหมดที่มีจนถึงไตรมาสหน้า" แทนเป้าที่ว่า "ฉันจะลดปริมาณการลาออกของพนักงาน" จะเห็นว่าเป้าหมายแรกเป็นการสร้างแรงจูงใจที่จะไม่ให้มีการลาออกอย่างเด็ดขาด ในขณะที่แบบที่ 2 เป็นการที่แม้จะทำได้สำเร็จแต่ก็ยังมีการลาออกอยู่ดี

     - ควบคู่ไปกับการเขียนเป้าหมาย ควรมีการกำหนดตารางการนำเป้าหมายไปปฏิบัติ (To-do-list) อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

     - ติดเป้าหมายเพื่อเตือนความจำไว้หลาย ๆ จุด อาทิบนผนังห้อง หน้าจอคอมพิวเตอร์

 

   4. กำหนดแผนขั้นตอนการลงมือกระทำ ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่มักข้ามเพราะมุ่งผลลัพธ์เป็นสำคัญ การเขียนขั้นตอนจะช่วยให้เราเห็นความก้าวหน้าของเป้าหมายที่ต้องการทำ โดยเฉพาะเป้าหมายระยะยาว หรือเป้าหมายใหญ่ ๆ

 

   5. ติดอยู่กับเป้าหมายที่กำหนด หมั่นเตือนตนเองถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทบทวนเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายจะต้องชัดเจนถึงสิ่งท่ีเราต้องการและทำไมเราจึงต้องการตั้งแต่แรก

 

 

ทำไมต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน

   เป้าหมายที่ต้องการจะช่วยสร้างพลังขับ (Drive) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนด เมื่อมีแรงขับเราก็จะลงมือกระทำ โดยใช้ความสามารถ และคุณค่าที่มี และเมื่อเป้าหมายเป็นไปดังปรารถนาเราจะเข้าใจว่าความหมายของชีวิตคืออะไร จากประสบการณ์คนส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายจึงทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีแรงจูงใจ แต่หากมีการกำหนดเป้าหมาย หรือ รู้ความฝันของตนเองแล้วนำความฝันมากำหนดเป้าหมาย เมื่อเขาได้ดั่งฝันเขาก็จะมีความสุขมาก

 

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง :

   Golden Rules of Goal, mindtools.com