ข้อแตกต่างระหว่างการปรับปรุงด้วยนวัตกรรม Innovation กับไคเซ็น Kaizen


25 พ.ย. 2021    nutnaree    657

    ปัจจุบันมีการพูดถึงนวัตกรรมกันมาก ก็ขอพูดถึงนวัตกรรมโดยเปรียบเทียบระหว่างกระต่ายกับเต่า นวัตกรรมเปรียบเสมือนกระต่ายคือเป็นการปรับปรุงแบบก้าวกระโดด แต่ไม่ต่อเนื่อง ดังภาพข้างล่างนี้

 

     หากหน่วยงานที่มีแต่การนำนวัตกรรม หรือ เทคโนโลยีมาใช้โดยไม่ได้นำ Kaizen มาใช้ ก็จะเป็นดังภาพคืออายุการใช้งานของเครื่องมือ เครื่องจักรจะไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดเพราะขาดการบำรุงรักษา และ ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ไม่นานก็ต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ จะเห็นได้จากสถานประกอบการที่ไม่มีการนำ Kaizen มาใช้ มักจะมีเครื่องจักรเสีย ทั้ง ๆ ที่ยังใหม่อยู่ คนที่ใช้เครื่องจักรก็ไม่ดูแล จะให้แต่ช่างซ่อมบำรุงดูแลอย่างเดียว เข้าทำนองที่ว่า “คนดูแลไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ดูแล” แน่นอนอายุการใช้งานของเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ก็สั้นกว่าที่ควรจะเป็น

 

     ส่วน Kaizen เปรียบเหมือนเต่าคือค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุดเดินสุดท้ายก็ชนะกระต่าย อย่างไรก็ตามทุกหน่วยงานต้องมีเครื่องจักร หรือ เทคโนโลยีในการผลิต ดังนั้นจะให้ดีจึงควรผนวกนวัตกรรม กับ การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) เข้าด้วยกันจะดีที่สุด ดังภาพต่อไปนี้

 

 

     ในภาพเมื่อหน่วยงานนำนวัตกรรม หรือ เครื่องจักร เข้ามาใช้ในการผลิตก็ควรจะนำระบบ 5ส. มาใช้ควบคู่กัน เพื่อทำความสะอาดและตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานของเครื่องจักร การบำรุงรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เสีย ไม่ใช่เสียแล้วจึงซ่อม ที่สำคัญใครใช้เครื่องจักรตัวไหนก็ควรดูแลเครื่องจักรตัวนั้น ส่วนช่างซ่อมบำรุงควรทำคู่มือพร้อมสอนพนักงานในการใช้ และ ดูแลเครื่องจักรเบื้องต้น รวมทั้งร่วมกันคิดกับผู้ใช้เครื่องจักรในการปรับ (Modify) เครื่องจักรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ได้อย่างเหมาะกับการผลิตของหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น

 

คุณลักษณะเปรียบเทียบระหว่าง Kaizen กับ Innovation

 

 

     ตารางข้างบนเป็นการเปรียบเทียบคุณสมบัติของ Kaizen กับ นวัตกรรม หนึ่งในคุณสมบัติของการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) คือ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิค หรือ เทคโนโลยี ที่ซับซ้อน เครื่องมือที่ใช้ในการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) เป็นเครื่องมือพื้นฐาน อาทิ เครื่องมือสถิติของคิวซี 7 ตัว (Check sheet, Cause-and- effect diagram, Graph, Pareto diagram, Histogram, Control chart, Scatter diagram) บ่อยครั้งที่ใช้สามัญสำนึกแก้ไขปัญหา สำหรับคุณสมบัติของนวัตกรรม (Innovation) คือการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ซับซ้อน รวมทั้งต้องใช้การลงทุนมหาศาล

 

     การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) เป็นการบ่มเพาะการเปลี่ยนแปลงที่ละเล็ก ละน้อย แต่ต่อเนื่อง และไม่ได้ใช้ต้นทุนจำนวนมหาศาลในการคิดค้นสิ่งใหม่ในขณะที่นวัตกรรมจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันทันทีทันใดในแต่ละช่วงเวลา แต่ไม่สามารถให้บุคลากรทุกคนมาร่วมได้