การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้สอดคล้องกับกระแสการบริโภค


26 พ.ค. 2020    อภิมุข    1,325

 ปัจจุบันสภาพตลาดมีการแข่งขันสูงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์สั้นลง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะอยู่รอดได้ในตลาด จึงต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มี “ความใหม่” ที่แตกต่างและเป็นสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตรงกับลักษณะความต้องการของผู้บริโภค

 

ความหมายของผลิตภัณฑ์ใหม่ สามารถจำแนกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ 3 ลักษณะคือ

 

    1. Innovative Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดนำเสนอในตลาดมาก่อน หรือเป็นแนวคิดใหม่ที่ผู้บริโภคอาจยังคาดไม่ถึง เช่น อากาศยานไร้คนขับ(โดรน)

    2. Replacement Product of Modify Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ขายอยู่แล้วในตลาด ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภคได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่

    3. Imitative or Me-too Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับกิจการเรา แต่ไม่ใหม่ในท้องตลาด เกิดจากการที่กิจการเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้กิจการมีโอกาสทำกำไรสูง จึงเสนอผลิตภัณฑ์นั้นเข้าสู่ตลาดเพื่อขอส่วนแบ่งตลาดบ้าง

 

 

    กระแสการบริโภคในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคมีต้องการที่หลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยแปลงได้เร็ว เนื่องจากผู้บริโภคมีช่องทางในการหาข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบข้อมูลและคุณภาพสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตควรหาข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะนำไปพัฒนาสินค้าใหม่ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เหนือกว่าคู่แข่งขัน อุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน ได้ก้าวเข้าสู่ “care business” นอกจากผลิตภัณฑ์อาหารจะให้ความอร่อยจากการบริโภคแล้ว ยังต้องมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจึงมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างประโยชน์ดังกล่าว ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความสนใจในการดูแลสุขภาพและรักษ์โลกมากขึ้น

 

แนวโน้มผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในศตวรรษที่ 21 ได้แก่

    1. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ บำรุงสมอง และรวมถึงผิวพรรณ

    2. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผลิตจากพืช หรือสมุนไพร

    3. ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง

    4. ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโดปรตีนสูง

    5. ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่นมีเกลือต่ำ หวานน้อย ไขมันต่ำ

    6. ผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบอินทรีย์

    7. ผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำหนักและดูแลรูปร่าง (เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ)

    8. ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนักกีฬา

    9. ผลิตภัณฑ์อาหารขนมขบเคี้ยวที่ประโยชน์ต่อสุขภาพ

    10. ผลิตภัณฑ์อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกัน

    11. ผลิตภัณฑ์อาหารชูจุดขายเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย

    12. ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

 

    เมื่อผู้ประกอบการอาหารทราบแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภค ก็ควรนำความต้องการของผู้บริโภคมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเช้าที่มีวัตถุประสงค์เพิ่มวิตามินหรือรับประทานแล้วช่วยชะลอวัย โดยมีส่วนผสมของวิตามินรวมที่เพียงพอคิดเป็น 40% ที่ควรได้รับต่อวัน มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือมีคอลลาเจนที่ช่วยฟื้นฟูผิวหนัง หรือพัฒนาเป็นอาหารที่ช่วยดูแลสุขภาพ เป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณไขมันต่ำ โดยเฉพาะไขมันชนิดไม่ดี (Low Density Lipoprotein ; LDL) เป็นอาหารที่มีเกลือต่ำ น้ำตาลต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่มีเส้นใยอาหารสูง และมีโปรตีนสูง นอกจากนี้ยังต้องเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อย เพราะเรามักพบว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพมักมีรสชาติแย่ ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถทานติดต่อกันเป็นเวลานานได้

 

    จากแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการจะต้องนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มของตนเอง และต้องสื่อสารกับผู้บริโภคให้เกิดการรับรู้ด้วยว่าผลิตภัณฑ์ของเราสามารถตอบสนองความต้องการในด้านใดของผู้บริโภค ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าของผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์ของเรา