การปรับปรุงสินค้าเดิมเพื่อลดต้นทุน


27 พ.ค. 2020    อภิมุข    1,115

กิจการจะทำอย่างไรที่จะค้าขายให้ได้กำไร วิธีการหลักๆก็มีอยู่ 2 ทางคือ ทางแรกขายให้ได้มากๆ กับลดต้นทุน ถามว่าขายได้มาแล้วกำไรมันมากด้วยหรือเปล่าก็อาจเป็นไปได้ ราคาขายกับต้นทุนสินค้ามีความแตกต่างกันมากมาก แต่หลายแห่งขายได้มาก ต้นทุนการขายก็มากตามไปด้วย กับวิธีการลดต้นทุน ถ้ากิจการสามารถลดต้นทุนสินค้าลงไปได้ 10 บาท/ชิ้น เท่ากับกิจการมีกำไรเพิ่มขึ้นทันที 10 บาทจากทุกชิ้นของสินค้าที่ขาย

 

โครงสร้างของต้นทุนสินค้า ซึ่งปกติจะประกอบด้วย

 

    1. วัตถุดิบทางตรง ( Direct material) คือ วัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตโดยตรง โดยส่วนมากมักจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ปากกา มี พลาสติกและหมึกเป็นวัตถุดิบทางตรง , ขนมปัง มีวัตถุดิบทางตรงคือ แป้งสาลี เนย ไข่ ผงยีสต์ ถุงบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น จำนวนในการใช้วัสดุ / วัตถุดิบทางตรงนี้จะแปรผันกับจำนวนหน่วยในการผลิตโดยตรง

    2. ค่าแรงทางตรง ( Direct labor ) เป็นค่าใช้จ่ายด้านแรงงานในการทำงานและผลิตสินสินค้าเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปช่น ค่าจ้างรายวัน/เงินเดือนของพนักงานฝ่ายผลิต ซึ่งจะแปรผันกับปริมาณการผลิตโดยตรง

    3. ค่าใช้จ่ายการผลิต ( Overhead ) เป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากจากค่าใช้จ่ายของวัสดุและค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน เช่น ค่าสาธารณูปโภค, ค่าเช่าโรงงาน, ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร, สวัสดิการต่างๆ เป็นต้น

    สภาวะตลาดปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง การปรับปรุงสินค้าเดิมที่ขายอยู่ เพื่อลดต้นทุน ทำให้กิจการสามารถเพิ่มกำไร แนวทางในการปรับปรุงเพื่อลดต้นทุน

 

    1. การทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด โดยการเปลี่ยนมาตรฐาน เช่น วัตถุดิบที่มีคุณภาพต่ำเกินไปมีของเสียมากทำให้ต้นทุนสูง ควรเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพที่ดีเข้ามาทดแทน หรือหาผู้ขายวัตถุดิบที่มีราคาถูกกว่า โดยการเปรียบเทียบจากผู้ขายหลายๆราย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด การวางแผนสั่งซื้อซึ่งการสั่งซื้อคราวละปริมาณมากๆ จะทำให้ได้ส่วนลดมาก มีการเปรียบเทียบราคาวัตถุดิบกับราคาตลาดที่อ้างอิงจากแหล่งต่างๆ เพราะราคาวัตถุดิบอาจมีการเปลี่ยนแปลง

    รวมถึงการปรับเปลี่ยนขนาดบรรจุภัณฑ์ หรือจำนวนบรรจุที่เหมาะสมต่อหีบห่อ ขนาดซองบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินไป จะมีราคาแพงกว่า การลดขนาดซองลงจะสามารถลดต้นทุนราคาซองบรรจุภัณฑ์ลงได้

    2. การผลิตเพื่อให้ได้สินค้าดีร้อยเปอร์เซ็นต์ของเสียเป็นศูนย์ ในการผลิตสินค้าเพื่อให้ได้สินค้าดีร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่มีของทิ้ง หรือการทำให้ของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste or Reject) เป็นสิ่งที่ฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพ และฝ่ายวิศวกรรมออกแบบ จะต้องออกแบบกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพ ตลอดจนบริหารจัดการเครื่องจักรอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต ให้สามารถรองรับวัตถุดิบในระหว่างการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

    3. ปรับช่วงการควบคุมคุณภาพให้เหมาะสม เช่น การควบคุมน้ำหนักบรรจุ หรือปริมาตรบรรจุให้มีช่วงควบคุมที่แคบที่สุดที่สามารถทำได้ เช่นน้ำหนักสุทธิ 60 กรัม/ซอง เราควรควบคุมน้ำหนักบรรจุให้อยู่ระหว่าง 60 – 65 กรัม/ซอง หรือควบคุมระหว่าง 58 – 65 กรัม/ซอง เพราะน้ำหนักทุก 1 กรัมที่เพิ่มไปคือต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น

    4. การลดโสหุ้ยการผลิตตด้วยการลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำได้โดยการลดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่อหน่วยผลิต และปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) เป็นเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่ราคาถูกลง

    5. การลดต้นทุนโดยการบริหารค่าล่วงเวลา ในการลดต้นทุนโดยการบริหารค่าล่วงเวลานั้น นิยมควบคุมค่าล่วงเวลาให้อยู่ในช่วงระหว่าง 7-15% ของฐานเงินเดือน ซึ่งสามารถใช้ค่าล่วงเวลานี้เป็นดัชนีชี้วัดสมรรถนะ (Performance Index) ของการบริหารจัดการได้ ซึ่งถ้าหาก %ค่าล่วงเวลา (%Over Time) มีค่ามากเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแผน ก็ต้องหาแนวทางการแก้ไขว่าเกิดจากสาเหตุใดบ้าง ซึ่งเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่ผู้จัดการส่วนและวิศวกรจะต้องไปค้นหาสาเหตุ ตลอดจนแนวทางการแก้ไข

    6. เพิ่มเปอร์เซ็นต์การใช้งานเครื่องจักร (% Utility) ซึ่งในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ มักจะมีการผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพของเครื่องจักร เช่น ผลิตที่ 50 % Utility หากหาช่องทางจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น จะทำให้สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมลดต่ำลง ปรับปรุงเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดี ไม่สูญเสีน เช่น ใช้ไฟมาก ทำให้วัตถุดิบตกหล่น หรือมีของเสียจากการผลิตมาก

    7. ลดต้นทุนไฟฟ้า การบำรุงรักษาและการดูแลเบื้องต้น โดยการปรับแต่งเครื่องจักรและการทำงานต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมโรงงาน เช่น การปรับอัตราส่วนการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ การทำความสะอาดระบบแสงสว่าง การหุ้มฉนวนท่อความร้อน เป็นต้น , การปรับปรุงขบวนการเดิมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือทำให้การสูญเสียต่างๆ ลดน้อยลง ซึ่งจะต้องตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยทั่วไปมาตรการนี้จะต้องการเงินลงทุนปานกลาง ทำได้โดยเพิ่มอุปกรณ์บางส่วนเข้าไปในกระบวนการผลิตตามคำแนะนำของบริษัทวิศวกรรม เช่น การนำความร้อนปล่อยทิ้งกลับมาใช้ใหม่ การเพิ่มอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน เป็นต้น , การเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือระบบ เมื่อการตรวจวิเคราะห์ขั้นต้น และคำแนะนำของบริษัทวิศวกรรม ชี้ให้เห็นว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มาก ทั้งนี้จะต้องมีการประเมินผลตอบแทนทางการเงินที่ได้จากการดำเนินการมาตรการดังกล่าว ซึ่งมาตรการนี้จะต้องมีการลงทุนสูง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการใช้พลังงานต่ำ