จ.พัทลุง 12 กุมภาพันธ์ 2563 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 นายธรรมนูญ เกตุแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด อ.ควนขนุน
การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการติดตามรับฟังแนวทางการดำเนินงานและรับฟังความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งมอบหมายให้ กสอ. เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาในถอดแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา (เครื่องฉีดโฟม Latex Foaming Matchine) เพื่อลดต้นทุนในการผลิตยางพาราและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา
สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด เป็นแหล่งผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่ใหญ่ที่สุดใน จ.พัทลุง ซึ่งผลิตน้ำยางข้นพาราฟิต ParaFIT เพื่อใช้แปรรูปเป็นหมอนและที่นอนยางพาราที่ได้คุณภาพจากฝีมือเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง ภายใต้แบรนด์ ‘ตะลุงลาเท็กซ์’ โดยหมอนยางพารา รุ่น ‘เปี่ยมสุข’ ประกอบด้วย หมอนหนุน หมอนรองคอ หมอนเด็ก ที่นอนเด็ก และหมอนข้าง ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพเพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราให้มีมากขึ้น ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนดังกล่าว และได้มอบหมายให้ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สำนักงานเลขานุการกรม และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านต่าง ๆ อาทิ การถอดแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา (เครื่องฉีดโฟม Latex Foaming Matchine) เพื่อลดต้นทุน โดยการรวบรวมข้อมูลและจัดหาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านมาดำเนินการภายใน 30 วัน การประสานงานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในเรื่องการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (มอก.) ให้แก่ผลิตภัณฑ์ การประสานงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสีย การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการออกแบบคอลเลคชั่นให้กับผู้ประกอบการเพื่อเป็นการทดสอบตลาด รวมถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ตลอดจนการช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราของผู้ประกอบการให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขว้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายให้แก่ชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว