ปลัดฯ ณัฐพล นำทีม MIND ลงพื้นที่อีสานตอนล่าง เร่งเดินหน้านโยบายทั้ง 4 มิติ ทั้งความสำเร็จของธุรกิจ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ เพื่อให้โรงงานใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
จ.อุบลราชธานี 7 กรกฎาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (รปอ.) นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (หน.ผตร.อก.) นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (ผตร.อก.) นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ชปอ.) นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารจากหน่วยงานส่วนกลาง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการบูรณาการงานของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายวรรณเวทย์ ศิวารัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี (อสจ.อุบลราชธานี) นายบุญรวย เลิศวนิชย์ทิพย์ อุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร (อสจ.มุกดาหาร) และนายชาติศักดิ์ จันทร์สุคนธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดยโสธร (อสจ.ยโสธร) ให้การต้อนรับพร้อมนำเสนอผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงสร้างบุคลากร งบประมาณ ผลผลิต ตัวชี้วัด แผนการดำเนินงานในปี 2566 และคำของบประมาณปี 2567 ตลอดจนข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
สำหรับ สอจ.อุบลราชธานี ปัจจุบันมีบุคลากร 31 คน มีโรงงาน 779 โรงงาน มีเหมืองแร่ที่ได้ประทานบัตร 12 แปลง โดย สอจ. มีการประยุกต์นโยบาย MIND ทั้ง 4 มิติ ด้วยแนวคิดการทำงานมุ่งกำกับควบคู่กับการดูแลอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้โรงงานช่วยเหลือชุมชนและการะจายรายได้ รวมถึงการส่งเสริม SME ให้สามารถแข่งขันได้
ปัจจุบันมีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัด โดยจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี เนื้อที่กว่า 1800 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เกษตรแปรรูป เทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ เป็นต้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับ GDP ของจังหวัดให้สูงขึ้น ส่วนในด้านการส่งเสริมอัตลักษณ์มีการพัฒนาผ้ากาบบัว ซึ่งเป็นสินค้าเด่นของจังหวัด โดยเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีการนำนวัตกรรมผสานรูปแบบสมัยใหม่ และการสร้างตลาดออนไลน์ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ด้านความคืบหน้าการก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567
ด้าน สอจ.มุกดาหาร ปัจจุบันมีบุคลากร 23 คน โดยมุ่งเน้นการทำงานด้วย “หัว และใจ” พร้อมการบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ใน สอจ. เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบาย MIND ตั้งแต่การสร้างความเข้าใจในมิติต่าง ๆ ให้กับบุคลากร ชุมชน และโรงงาน ทำให้โรงงานมีการช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง สร้างความสุขให้เกิดขึ้นโดยรอบโรงงาน ส่วนในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว ปัจจุบันมีโรงงานได้รับการรับรอง GI ครบ 100% ด้านการรายงานข้อมูลการประกอบการของโรงงาน ในระบบ iSingleForm ปัจจุบันรายงานแล้ว 124 โรงงาน จากทั้งหมด 125 โรงงาน ขณะที่การชี้เป้าอุตสาหกรรมที่ต้องผลักดันในพื้นที่ มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาง มีแนวคิดพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยให้สูงขึ้น
สอจ.ยโสธร ปัจจุบันมีบุคลากร 29 คน มีโรงงาน 190 โรงงาน พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดประกอบอาชีพด้านการเกษตร ดังนั้นจึงมุ่งยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูงขึ้น ส่วนในด้านการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน จะใช้แนวทางการตักเตือนเพื่อให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขเป็นลำดับแรก หากยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไข จะใช้ยาแรงด้วยการสั่งให้หยุดดำเนินการ นอกจากนี้ การทำให้ชุมชนและโรงงานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ใช้แนวทางการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของชุมชนโดยรอบโรงงานเพื่อรับทราบปัญหา และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ส่วนในการรายงานข้อมูลในระบบ iSingleForm พบปัญหาข้อมูลโรงงานที่ยังไม่เป็นปัจจุบัน ข้อมูลไม่ตรง หนึ่งคนมีหลายใบอนุญาต จึงแก้ไขด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ พร้อมเปิดพื้นที่ สอจ. ให้บริการช่วยเหลือโรงงานในการกรอกข้อมูล โดยขณะนี้มีการกรอกข้อมูลในระบบแล้วเกือบ 100%
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ มีการพัฒนาระบบ Digital Government เพื่อนำมาใช้เป็นช่องทางในการจัดเก็บข้อมูลและบริการของหน่วยงาน ซึ่งทุกโรงงานจะต้องเข้ามารายงานข้อมูลการดำเนินการในระบบเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนในด้านการแก้ไขข้อร้องเรียน สอจ. จะต้องมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงในอนาคตอาจมีการทบทวนข้อกฎหมายให้มีความเหมาะสม และเพิ่มโทษให้สูงขึ้น เพื่อให้โรงงานไม่กล้ากระทำความผิด รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการตั้งโรงงานจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น โรงงานยางที่มีกลิ่น อาจมีการกำหนดเป็นเงื่อนไข 7 ข้อ เข้ามาควบคุม นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านผลกระทบของโรงงานในด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่วนในด้านการชี้เป้าอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา สอจ. มักดำเนินการตามคำขอของจังหวัด ดังนั้น จึงควรกลับมาพิจารณาว่าจะกำหนดทิศทางการทำงานอย่างไรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน เพื่อให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนยิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน รสอ.ณัฏฐิญา กล่าวว่า การชี้เป้าอุตสาหกรรมในพื้นที่ควรมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve เช่น การพัฒนาภาคเกษตรสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น หรือการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศขยายไปสู่การพัฒนาในระดับที่โตขึ้น ส่วนในด้านการกรอกข้อมูลใน iSingleForm ถือเป็นโอกาสในการทำความสะอาดการจัดเก็บข้อมูลครั้งใหญ่ให้มีความเป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อย่างไรก็ดีขณะนี้ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชัน (Super App) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจโรงงานเพื่อทำให้เกิดความสะดวก เป็นมาตรฐานเดียวกัน และยังสามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกลางเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลใน iSingleForm ได้อีกด้วย ส่วนความคืบหน้าด้านคำของบประมาณ Flagship ปี 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอไปยังสภาพัฒน์ ขณะที่งานด้านการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนขอให้บูรณาการกับดีพร้อม เพื่อยกระดับหมู่บ้านแสงแรกแห่งสยามให้เป็นชุมชนดีพร้อมต่อไป นอกจากนี้ในส่วนของจังหวัดที่เป็นตะเข็บชายแดน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการส่งออก จะต้องมีระบบการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าวัตถุอันตราย รวมถึงควรพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย
หน.ผตร.อก. ขอให้ สอจ. ดำเนินการให้สอดคล้องเป็นไปตามแผนและตัวชี้วัด มุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด รวมถึงการกำกับดูแลและป้องกันผลกระทบจากโรงงาน ต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลกากอุตสาหกรรม ส่วนในด้านการผลักดันให้โรงงานดำเนินการให้ครบถ้วนทั้ง 4 มิติ ควรส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และมีการถอดบทเรียนตัวอย่างความสำเร็จเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และขยายผลในเชิงกว้างต่อไป
ผตร.ภาสกร ฝากให้ สอจ. มุ่งเน้นการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยพิจารณาจากความต้องการของโรงงาน ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ส่วนในด้านการปล่อยสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ขณะนี้กำลังมีสินเชื่อตัวใหม่ มุ่งเน้นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม วงเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะให้บริการได้เร็ว ๆ นี้
ชปอ. กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานส่วนกลางได้จัดทำระบบ Call Center เพื่อให้คำปรึกษาด้านการกรอกข้อมูลใน iSingleForm แล้ว และขอความร่วมมือทุกท่านตรวจสอบข้อมูลของโรงงานในพื้นที่พร้อมกำชับให้มีการ Update ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ส่วนการรับชำระค่าธรรมเนียมโรงงาน ขอให้ฝ่ายบัญชีเข้าไปตรวจเช็คและติดตามโรงงานที่ยังไม่ได้มีการชำระ ส่วนกรณีที่มีโรงงานปิดตัว หรือยังไม่ได้มีการประกอบการขอให้แจ้งมาที่หน่วยงานส่วนกลางต่อไป อย่างไรก็ดีประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการจัดอบรมการกรอกข้อมูลในระบบเกี่ยวกับเรื่องกากอุตสาหกรรม และสารเคมีต่าง ๆ จึงขอเชิญชวนเจ้าหน้าที่ทุกท่านเข้าร่วมการอบรมดังกล่าวด้วย
นายดุสิต อนันตรักษ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ข้อมูลการจัดทำระบบ Super App ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม การตรวจโรงงาน (ตรวจการณ์ทั่วไป) บน Web Based Application เพื่อให้วิศวกรของ สอจ. และ กรอ. ใช้เป็นคู่มือในการตรวจโรงงาน (Work Instruction) ให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ระบบจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บข้อมูลด้วยอุปกรณ์ Smart Phone เช่น การถ่ายรูป การอัดเสียง การอัดวิดีโอ และการกำหนดโลเคชั่น เป็นต้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการตรวจโรงงาน ซึ่งระบบนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการอัพเดทข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบหน้าจอการทำงานบนมือถือ คอมพิวเตอร์ และทดสอบการใช้งานจริง ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน