DIPROM ผนึก MIND “เปิดพื้นที่แสดงออก ไม่ตีกรอบความคิด” ดึงวัฒนธรรมถ่ายทอดพลังซอฟต์พาวเวอร์ผ่านศาสตร์แห่งอาหารไทย หวังดันครัวไทยสู่ตลาดโลก ตามนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ “ยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ทุกพื้นที่” ของ รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 13 มีนาคม 2568 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานงาน Exclusive Talk & Networking “ถ่ายทอดพลังซอฟต์พาวเวอร์ผ่านศาสตร์แห่งอาหารไทยสู่เวทีโลก” Shaping Soft Power through Thai Cuisine toward Global Influence โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ร่วมด้วย นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ นายสุรพล ปลื้มใจ และนายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอตฟต์พาวเวอร์อุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ผู้แทนจากหน่วยร่วมดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร และผู้ประกอบการเข้าร่วม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 7 โรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้การนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะดวก สะอาด โปร่งใส โดยมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิต การใช้พลังงานสะอาด การพัฒนาแรงงาน และผลักดันศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านและทุนทางวัฒนธรรมมาปรับใช้ เพื่อสร้างรายได้และโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่มุ่งสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้วยการส่งเสริมและยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพบุคลากร สร้างอาชีพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะสาขาอาหาร ที่ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการปรุงและรสชาติอาหารเท่านั้น แต่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมประจำชาติ ดังนั้น การที่จะผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารให้มีศักยภาพอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการสร้างวัฒนธรรมไทย (Thai Culture) และกลิ่นอายความเป็นไทยเพื่อรังสรรค์อาหารให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างมิติมุมมองวัฒนธรรม และสื่อถึงมนต์เสน่ห์ความเป็นไทย นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ อาทิ การท่องเที่ยวโดยใช้อาหารเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อุตสาหกรรมบันเทิงและคอนเทนต์โดยการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาหารไทยไปสู่สื่อระดับโลกผ่านภาพยนต์ รายการเกี่ยวกับอาหาร หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ภายใต้การนำของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ฯ สาขาอาหาร เดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างเชฟมืออาชีพจากทุกชุมชนทั่วประเทศและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยผ่านแผนงานโครงการต่าง ๆ ซึ่งการจัดงานในวันนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการยกระดับหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการในการขยายตลาดส่งออกสู่สากล การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจอาหาร และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 100 คน ประกอบด้วย ผู้ผลิตอาหารและวัตถุดิบ เชฟผู้พัฒนาเมนู ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ผู้ส่งออก และหน่วยงานด้านนโยบายและส่งเสริมของภาครัฐ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ดีพร้อม ได้สร้างครูผู้สอน (Train the Trainer) จำนวน 325 คน สร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program) จำนวนกว่า 1,300 คน ตลอดจนได้เข้ารับการทดสอบความรู้กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมอนามัย จนได้ใบรับรองความสามารถ อีกทั้ง ยังได้รับการส่งเสริมด้านตลาดด้วยการให้ความรู้เรื่องการสร้างคอนเทนต์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง การเพิ่มองค์ความรู้และทักษะ (Upskill) ด้วยการนำ AI ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยในยุคดิจิทัล อีกด้วย
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดีพร้อม ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ผ่าน กลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ที่มุ่งส่งเสริม พัฒนา และยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในทุก ๆ ด้านอย่างตรงจุด ด้วยการสร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพและเชฟอาหารไทยร่วมสมัยทั่วประเทศ จำนวน 17,000 คน ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. สร้างสรรค์และต่อยอดโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ 2. โน้มน้าวโดยการจูงใจให้เปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบให้หันมาสนใจอาหารไทยผ่านการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ (Storytelling ) ที่มีคุณค่า และ 3. เผยแพร่ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Influencer ซีรีส์ ละครย้อนยุค เป็นต้น คาดว่าจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ นำมาสู่การขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมให้ Soft Power อาหารไทย ก้าวไปสู่ระดับโลกต่อไป