ธุรกิจสำหรับเจ้าของคนเดียว
เพื่อการจัดตั้งธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเอง ผู้เริ่มต้นธุรกิจก็ควรมีความรู้ในเรื่องรูปแบบการจดทะเบียนธุรกิจ จากขั้นตอนเริ่มธุรกิจข้างบนเราได้ก้าวผ่านมาถึงขั้นตอนการเริ่มธุรกิจ (Start up)แล้ว ก่อนจะอธิบายถึงรูปแบบการจดทะเบียนของธุรกิจ อยากให้ผู้อ่านทราบว่าธุรกิจในประเทศเราแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆคือ
ธุรกิจผลิต (Manufacturing Business)
ธุรกิจซื้อขายสินค้าหรือซื้อมาขายไป (Merchandising Business)
ธุรกิจบริการ (Services Business)
ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจประเภทไหนก็ตาม ก็ต้องมีรูปแบบการจดทะเบียนธุรกิจทั้งสิ้น ซึ่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เป็น(SMEs) นี้ผู้เขียนจะขอแบ่งให้เข้าใจได้ง่ายๆเป็น 2 ลักษณะคือ
บุคคลธรรมดา ที่เป็นเจ้าของคนเดียว
นิติบุคคล ที่มีเจ้าของหลายคน
การพิจารณาเลือกรูปแบบธุรกิจ
ซึ่งในบทนี้เราจะกล่าวเฉพาะการจัดตั้งธุรกิจสำหรับบุคคลธรรมดา ที่เป็นเจ้าของคนเดียว โดยมีรูปแบบการจดทะเบียนได้ 2 รูปแบบคือ
จดทะเบียนพาณิชย์ ผู้ประกอบการสามารถใช้ชื่อของตัวเองจดทะเบียนได้เลยหรือจะใช้ชื่อร้านที่ต้องการให้ลูกค้าจดจำได้ง่ายเป็นชื่อที่จดทะเบียนพาณิชย์ก็ได้ การเสียภาษีก็ไม่ต้องไปขอเลขผู้เสียภาษี ให้ใช้เลขบัตรประชาชนของผู้จดได้เลย กิจการค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา(เจ้าของคนเดียว) ต้องจดทะเบียนพาณิชย์มีดังนี้
1. ผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
2. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าไม่ว่าอย่างใดๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่าง คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
3. นายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
4. ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้ คิดราคารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปหรือในวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตได้มีราคารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
5. ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับ จำนำ และการทำโรงแรม
6. ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิตัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
7. ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
8. ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
9. บริการอินเทอร์เน็ต
10. ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
11. บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
12. การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
13. การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
14. การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
15. การให้บริการตู้เพลง
16. โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
** ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dbd.go.th/ewt_news.php?nid=373
อย่างไรก็ตามยังมีบางกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่
1. การค้าเร่ การค้าแผงลอย
2. พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
3. พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
4. พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
5. พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
6. พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515 (คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
จากกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็น พ่อค้าเร่ พ่อค้ารถเข็น หรือเป็นพ่อค้าแผงลอยตามตลาดนัด ก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์ก็ได้ ทั้งนี้รวมไปถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วย
จดทะเบียนพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ เป็นการจดทะเบียนสำหรับผู้ที่ทำการค้าอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือมีร้านค้าออนไลน์นั่นเอง ปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เปิดร้านค้าอยู่บนเว็บไซค์ทั้งของตนเองและฝากขายกับเว็บผู้อื่น ดังนั้นผู้ประกอบการที่ค้าขายทางอินเตอร์เน็ตควรมีความรู้ว่ากิจการของตัวเองจำเป็นต้องจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ซึ่งผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นจะเป็น บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้นและประกอบกิจการขายในเชิงพาณิชย์โดยเป็นอาชีพปกติ ซึ่งกิจการที่ต้องจดทะเบียนมีดังนี้
1. มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้แก่ บุคคลที่มีเว็บไซต์เพื่อทำการซื้อขายสินค้าหรือบริการ
2. ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP : Internet Service Provider)
3. ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)
4. ให้บริการเป็นตัวกลางหรือตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace)
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของคนเดียวมักเข้าข่ายกิจการในข้อ 1 ก็คือขายสินค้าผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แต่ก็ไม่ต้องตกใจว่าต้องจดทะเบียนทุกรายไปแม้ว่าคุณจะมีเว็บไซค์ของตัวเองก็ตามเพราะยังมีการแบ่งว่าเว็บไซค์ประเภทไหนที่ต้องจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์บ้างได้แก่
1. เว็บไซค์นั้นต้องมีระบบการสั่งซื้อ เช่น ระบบกรอกฟอร์ม ระบบตะกร้า มีระบบการชำระเงิน ออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ เช่น การโอนเงินผ่านระบบบัญชี การชำระด้วยบัตรเครดิต หรือ e-cash , e-wallet เป็นต้น
2. เว็บไซค์ที่มีระบบสมัครสมาชิก เพื่อรับบริการข้อมูลหรืออื่น ๆ โดยมีการคิดค่าใช้จ่าย (ถือเป็นการขายบริการ) เช่น บริการข่าวสาร/บทความ/หนังสือ การรับสมัครงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
3. เว็บไซค์ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการรับจ้างโฆษณาสินค้าหรือบริการของผู้อื่น และมีรายได้จากการโฆษณานั้น
4. เว็บไซค์ที่รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ด้วยกัน หรือโฆษณาว่าเป็นผู้รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ เพราะถือว่าการออกแบบเว็บไซต์นั้นมีช่องทางการค้าปกติบนอินเทอร์เน็ต
5. เว็บไซต์ให้บริการเกมส์ออนไลน์ที่คิดค่าบริการจากผู้เล่น (เจ้าของเว็บไซต์ต้องจดทะเบียน)
6. เว็บไซต์ที่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่นให้ Download เกมส์เพลงริงโทน ภาพยนตร์ เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่มีร้านค้าและได้จดทะเบียนพาณิชย์ไว้แล้ว หากมีเว็บไซค์ซึ่งเป็นร้านค้าบนอินเตอร์เน็ตและมีตะกร้าให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ได้ต้องจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม และต้องยื่นเสียภาษีรายได้ทั้งที่ร้านค้าตามทะเบียนพาณิชย์และร้านค้าทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถไปดาวน์โหลดคู่มือการจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงพาณิชย์ได้ ที่นี่ Download
ตอนนี้ผู้ประกอบการมือใหม่ก็คงทราบแล้วว่าตัวเองควรจดทะเบียนแบบไหน และควรจดทะเบียนหรือไม่จะเป็นแบบบุคคลธรรมดาแล้วยื่นเพียงภาษีรายได้ก็พอ จากประสบการณ์ที่ผ่านของผู้เขียนขอให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการรายใหม่รายใดที่มีเงินลงทุนครั้งแรกไม่เกิน 100,000 บาท คาดว่าจะมียอดขายเดือนละไม่เกิน 20,000 บาท น่าจะเริ่มทำธุรกิจไปก่อนจนมียอดขายที่เติบโตขึ้น เมื่อจะขยายกิจการและลงทุนเพิ่มขึ้นค่อยมาพิจารณาถึงการจดทะเบียนพาณิชย์ ถ้าการลงทุนนั้นต้องลงทุนเงินจำนวนมากเพราะเป็นธุรกิจขนาดกลางแล้วก็อาจพิจารณาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ได้ สำหรับผู้ที่มีการลงทุนตั้งแต่ 100,000 -500,000 บาทก็ควรพิจารณาว่าตัวเองจำเป็นต้องมีหน้าร้านไว้ขายของไหม จำเป็นต้องมีป้ายและชื่อที่หน้าร้านหรือไม่เพื่อให้กิจการดูดีน่าเชื่อถือขึ้น ถ้าคิดว่าจำเป็นต้องมีร้านค้าก็ควรจดทะเบียนพาณิชย์ไว้เลย หากคิดว่ายังไม่จำเป็นก็อาจจะรอให้ดำเนินการไปแล้วสัก 6-12 เดือนก่อน เพื่อจะทราบทิศทางธุรกิจว่าจะไปได้ดีไหม มีความมั่นคงหรือไม่ค่อยพิจารณาไปจดทะเบียนภายหลังก็ได้
29
พ.ย.
2021