Category
ก้าวสู่ Service Provider มืออาชีพ ความรู้-ทักษะ-จิตบริการ
การบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนแปลงให้เท่าทันต่อโลกภายนอก ไม่เพียงแต่เป็นการมองจากภายในสู่ภายนอก (inside-out) เท่านั้น แต่การมองจากภายนอกเข้ามาในองค์กร (outside-in) ก็จะช่วยเพิ่มมุมมองที่แตกต่าง ผู้บริหารที่ดีจึงมักเปิดโลกทัศน์ของตนด้วยการรับฟังคำแนะนำจากที่ปรึกษามืออาชีพ ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ดำเนินอาชีพที่ปรึกษา (Consultant)หรือผู้ประกอบการการให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Service Provider : SP) คุณรัชดา เทพนาวา เป็นผู้ประกอบการ Service Providerโดยได้เข้าร่วม ‘โครงการอบรมผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม’เพื่อเพิ่มพูนความรู้รอบด้านทั้งเทคนิควิศวการ การจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี ตลอดจนทักษะและจรรยาบรรณการให้คำปรึกษา เพื่อนำความรู้เหล่านั้นไปช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านอุตสาหกรรมยางพารา และด้านพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีผลในปี ๒๕๕๘ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากต้องปรับตัวเพื่อแข่งขัน SP ที่เตรียมพร้อมก็จะให้คำปรึกษาได้อย่างถูกทิศทาง “SP ก็ต้องมีการพัฒนาตนเองจากการเป็นนักบริการธุรกิจอุตสาหกรรมไปสู่ที่ปรึกษาเชิงลึก ซึ่งควรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างน้อย ๑-๒ สาขาที่ไทยมีความโดดเด่น เช่น ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น รวมถึงทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ พร้อมด้วยจิตบริการ เพื่อรองรับการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมในตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” การดำเนินงานของคุณรัชดาจึงเป็นการเตรียมพร้อมพัฒนาศักยภาพตนเอง ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อเดินเข้าหาโอกาสที่เกิดขึ้นจาก AEC มากกว่าจะเห็นเป็นอุปสรรค คุณรัชดา เทพนาวา บริษัท เจเอ็มทู จำกัด ๒๒๑ หมู่ ๖ ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ๙๐๑๑๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๑๕๙๙ ๔๙๒๐ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
กลุ่มอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์ จ.มหาสารคาม เตรียมนมชั้นดีเสิร์ฟอาเซียน
ประวัติศาสตร์การดำเนินธุรกิจในแต่ละภูมิภาค แต่ละทวีปล้วนเคยรวมกลุ่มเพื่อสร้างศักยภาพทางการค้าหรือความได้เปรียบบางประการร่วมกัน AEC ก็เช่นเดียวกัน หาก SMEs เข้าใจ ก็สามารถจำลองแนวคิดการรวมกลุ่มนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างพลังให้กับกลุ่มหรือชุมชนของตนได้ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด โชคจำเริญฟาร์ม โรงงานอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์ในจังหวัดมหาสารคาม รวมตัวกันกว่า ๓๐ ราย จัดตั้งเป็น ‘กลุ่มอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์’ และได้เข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาการรวมกลุ่ม และเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster)’ ของส่วนส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการสานประโยชน์ภายในกลุ่ม รวมทั้งยังได้จัดจ้างคณะที่ปรึกษาเข้ามาให้คำแนะนำในการสร้างอุตสาหกรรมให้ทันสมัย (Industrial Modernization) นอกจากนั้นกลุ่มยังได้เข้าร่วมอบรม ‘Creative Innovation Thinking’ กิจกรรมต่อเนื่องของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม เช่น การคิดผลิตภัณฑ์นมรูปแบบใหม่ และรสชาติใหม่ ๆ เป็นต้น ปัจจุบันวัวกว่า ๑๐๐ ตัวในโชคจำเริญฟาร์ม รีดน้ำนมได้วันละ ๕๕๐-๖๐๐ ลิตร เมื่อได้น้ำนมดิบจะบรรจุใส่ถุงขายและส่งต่อไปยังสหกรณ์เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำนม จากนั้นจะส่งเข้าโรงงานพาสเจอร์ไรซ์ที่อยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อผลิตนมส่งตามโรงเรียนและร้านค้า กลุ่มมีแผนจะเพิ่มจำนวนโคนมเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำนมให้ได้มากขึ้น โดยเพิ่มสมาชิกในกลุ่ม และจะเข้าควบรวมกิจการโรงงานอื่นมาเป็นของกลุ่ม “เราจะผลิตเพิ่มขึ้น โดยไม่ลืมว่าน้ำนมทุกถังต้องผ่านการตรวจเข้มด้านคุณภาพทุกวัน ทุกครั้ง ในด้านคุณภาพ จึงเชื่อได้ว่าเราเข้มแข็งไม่แพ้เพื่อนบ้าน ดังนั้น ถ้าจะแข่งขันเรื่องนมหรือโคนมในกลุ่มประเทศอาเซียน เชื่อว่าสู้ได้แน่นอน” คุณจำเริญกล่าวอย่างมั่นใจ คุณจำเริญ ศิริตื้นลี ประธานกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์ ๑๕๖ หมู่ ๕ ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ๔๔๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๙๒๗๖ ๒๘๘๗ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
สหกรณ์ฯ สวนยางควนโพธิ์ พิสูจน์ยางไทยอันดับ 1
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการผลิตยางคุณภาพส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เกษตรกรจำนวนมากขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งพันธุ์ยาง ต้นยาง กระบวนการได้มาซี่งน้ำยาง การทำยางแผ่น และการรมควัน เนื่องงจากขาดเงินทุนและเทคโนโลยีความรู้ใหม่ๆ โดยโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันหลายแห่งของการเกษตรในชุมชนควนโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ "เมื่อปี 2537 รัฐบาลมีนโบายส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจัง จนทำให้มีโรงงานผลิตยางรมควันเพิ่มขึ้นมากถึง 700 แห่ง แต่พอผ่านมานานเกือบ 20 ปี เตาและอุปกรณ์ต่างๆ ก็เริ่งชำรุด ทำให้ผลผลิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรปกติการรมควัน 3 คืน ก็สุกแล้ว แต่ถ้าเตามีปัญหาจะใช้เวลานานขึ้นและต้องใช้ฟืนมาก" คุณการีม ยูหันนัน ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางควนโพธิ์เล่าถึงสภาพการผลิตซึ่งการใช้เวลาและเชื้อเพลิงมากขึ้น ก็เท่ากับต้นทุนมากขึ้นนั่นเอง คุณการีม และสามชิกสหกรณ์อีกจำนวนหนึ่งจึงได้เข้าร่วม 'โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตยางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้' ของศูนย์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อสองปีที่แล้ว และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาคุณภาพการผลิตยางรมควัน เช่น การใช้มอเตอร์อัดลมเพื่อเพิ่มความร้อนในเตา การสำรวจและซ่อมจุดชำรุดเพื่อให้เตาเก็บความร้อนได้ดีที่สุด เป็นต้น รวมถึงจัดหาช่างซ่อมบำรุงเตาที่มีความชำนาญ ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น คุณการีมให้ความเห็นว่า หากยังต้องการรักษาการเป็นอันดับหนึ่งของผู้ส่งออกยางพาราโลก ควรต้องมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีคณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะ ซี่งสวนยางแต่ละพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีอายุการปลูกต่างกัน เทคโนโลยีการผลิตต่างกัน ย่อมต้องการการพัฒนาที่แตกต่างกันด้วย หากมีความรู้และมีกำลังพร้อม การค้าเสรีก็จะไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับอุตสาหกรรมยาง คุณการีม ยูหันนัน ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางควนโพธิ์ 243 หมู่ 2 ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล 91140 ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
ไอศกรีมโฮมเมด IceGoodies คุณภาพไม่มีวันละลาย
ไอศกรีม IceGoodies เกิดจากครอบครัวเล็ก ๆ ที่ชอบทานไอศกรีมเป็นประจำ แต่พบว่าไอศกรีมทั่วไปมีการปรุงแต่งรสชาติมากเกินความจำเป็นแทนที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีตามธรรมชาติ หากต้องการให้รสชาติอร่อยต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมากไอศกรีมที่มีคุณภาพดี รสชาติอร่อยจึงมักมีราคาสูง ครอบครัวเล็ก ๆ นี้จึงสร้างทางเลือกด้วยการทำทานกันเองภายในครอบครัว แจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงได้ลองรับประทาน และได้รับแรงเชียร์ให้เปิดร้านเล็ก ๆ ขายในชุมชนที่อาศัยอยู่ เมื่อได้รับการตอบรับดี จึงขยับขยายวางจำหน่ายในร้านอาหารและร้านกาแฟ รวม ๕ แห่ง โดยมีสินค้ามากถึง ๑๕ รสชาติ โดยคุณบุษรินทร์ เกษมชัยนันท์ ได้เข้าอบรม ‘โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)’ กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๘ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เข้าใจถึงจุดอ่อนของสินค้าที่ต้องปรับปรุง จึงเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ไอศกรีม โฮมเมด IceGoodies และได้ความรู้เรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดจนมีสายสัมพันธ์ที่ดีจากเพื่อนร่วมรุ่นอบรม IceGoodies ขยายการรับรู้ของแบรนด์โดยใช้ Social Network ในการโปรโมทสินค้า และมีโอกาสต่อยอดรับผลิตไอศกรีมตามออร์เดอร์ต่าง ๆ แม้กิจการไอศกรีมนี้ยังเป็นเพียงกิจการเล็กๆ และยังไม่ได้เตรียมการใด ๆ สำหรับ AEC แต่อนาคตหากคิดขยับขยาย ส่งจำหน่ายไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ย่อมต้องคำนึงเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิต อนามัย บรรจุภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายเป็นสำคัญ จึงจะแข่งขันได้กับขนมและอาหารหวานนานาชนิดที่วางจำหน่ายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียนนี่เอง เพราะไม่ว่ากฎเกณฑ์การค้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ‘คุณภาพ’ เท่านั้นที่จะช่วยให้แข่งขันได้ยืนนาน คุณบุษรินทร์ เกษมชัยนันท์ ไอศกรีมโฮมเมด IceGoodies ๙๙/๔๗๖ หมู่ ๘ ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : ๐๘ ๓๙๐๐ ๖๖๐๖ เว็บไซต์ : www.facebook.com/IceGoodies ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
กุลธรเมททัลโปรดักส์ พร้อมรับ-รุก ยุค AEC
“AEC ถ้าปรับตัวได้จะมองเห็นโอกาสจากขนาดของตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ประเทศในอาเซียน ๑๐ ประเทศมีประชากร ๙% ของโลก (๕๘๓ ล้านคน) ถ้าอาเซียนบวก ๓ รวมจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะคิดเป็นประชากร ๓๑% ของโลก (๒,๐๖๘ ล้านคน) และถ้าอาเซียนบวก ๖ รวมอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะมีประชากรมากถึง ๕๐% ของโลก (๓,๒๘๔ ล้านคน) ซึ่งคิดเป็นมูลค่า ๑๒,๒๕๐ พันล้าน US$ หรือ ๒๒% GDP โลก” คุณเฉลิมชัย รุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทกุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด ให้ทรรศนะต่อ AEC การเตรียมพร้อมองค์กรเพื่อรับโอกาสใหม่ที่จะมาถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบริษัทได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้พนักงานอยู่เสมอ โดยในปีที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาศักยภาพที่สำคัญคือ ‘โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแช่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP)’ โดยการประเมินผลสิ้นปีมีผลกำไรเพิ่มขึ้นกว่า ๓๐% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓ และ ๕ ปีก่อนหน้านั้นที่มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการเตรียมพร้อมทรัพยากรบุคคลโดยเน้นการมีส่วนร่วม การคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) และองค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation Organization : IO) ซึ่งจะก่อให้เกิดองค์กรแห่งความมั่งคั่ง (High Performance Organization : HPO) ในที่สุดกุลธรเมททัลโปรดักส์ทำธุรกิจแปรรูปชิ้นส่วนโลหะด้วยขบวนการผลิตงานทุบขึ้นรูปร้อน (Hot Forging) งานกลึง ไส ตัด เจาะ (Machining) และงานชุบแข็ง (Heat Treatment) เพื่อป้อนบริษัทแม่เป็นหลัก คือ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น แต่เมื่อเข้าโครงการ MDICP ได้กระจายความเสี่ยงของธุรกิจโดยผลิตชิ้นงานป้อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ศักยภาพของทรัพยากรบุคคลและความรวดเร็วในการคิดตัดสินใจ (Competitive Advantage of Human Resource & Speed of Management Process) จะเป็นตัวชี้วัดการแข่งขันของธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business) คุณเฉลิมชัยยกตัวอย่างว่า ถ้าค่าแรงไทยแพง ก็อาจย้ายโรงงานไปพม่าซึ่งกำลังสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่พร้อมกับจะสร้างทาง Motorway มากาญจนบุรีที่อาจมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนค่าแรงงานและค่าขนส่งในอนาคต ถ้าการขายชิ้นส่วนแบบเดิมได้ผลตอบแทนน้อยก็ต้องเพิ่มมูลค่าหรือผลิตชิ้นงานที่ยากขึ้นเพื่อหลีกหนีจากคู่แข่ง เป็นต้น คือต้องปรับวิธีคิด วิธีทำธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปิดเสรี กุลธรเมททัลโปรดักส์จึงพร้อมแล้วสำหรับการแข่งขันในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในระดับประเทศ หรือในระดับภูมิภาคที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้ คุณเฉลิมชัย รุ่งเรือง บริษัท กุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด ๑๒๓ ซ.ฉลองกรุง ๓๑ ถ.ฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ๑๐๕๒๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๗๓๙ ๖๖๓๘-๔๒ โทรสาร : ๐ ๒๗๓๙ ๖๖๔๓ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011