ไฟเพชร โปรดักส์ ลุยธุรกิจโคมไฟ แบรนด์สินค้าสัญชาติไทย “TNB”
บริษัท ไฟเพชรโปรดักส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจสินค้าและบริการ ผลิตโคมไฟ เหล็ก ตู้กล่อง ออกแบบโคมไฟเหล็กทุกชนิด บริหารงานโดย ดร.ปิติพัฒน์ สุรพันธ์ธนะกุล ประธานกรรมการ ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจมากว่า 20 ปี ด้วยความชำนาญและประสบการณ์ด้านการผลิตโคมไฟที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานจึงเป็นที่มาของแนวคิด จะบุกตลาดสินค้าประเภทโคมไฟในชื่อแบรนด์สินค้าตนเอง ภายใต้ชื่อ TNB และเมื่อเริ่มลุยธุรกิจเองก็ได้รับความช่วยเหลือจากการเข้าร่วม โครงการ “สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งทางโครงการได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านระบบบัญชี และด้านการตลาด ที่จากเดิมบริษัทฯ เน้นเฉพาะแค่การผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงการบริหารจัดการ ส่งผลให้ไม่ทราบถึงต้นทุน กำไรที่แน่ชัด หรือตรงจุดไหนเป็นจุดบอดที่ทำให้สูญเสีย แต่เมื่อได้เรียนรู้ทำให้สามารถคิดรายรับ รายจ่าย คิดต้นทุน กำไร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังทำให้ทราบถึงการบริหารคน การดูแลพนักงาน การส่งเสริม ฝึกอบรมและพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเพิ่มช่องทางการขายในอนาคต ดร.ปิติพัฒน์ สุรพันธ์ธนะกุล บริษัท ไฟเพชรโปรดักส์ จำกัด 24/8 หมู่ 2 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150 โทรศัพท์ : 0 2964 7755, 06 1629 7936, 06 1626 5891 โทรสาร : 0 2964 7760 www.faipetchproduct.com ที่มา : รายงานประจำปี 2559 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2016
บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ จากคนขายหลอดไฟสู่การขายแสง
จากธุรกิจห้องแถวเล็กๆ สร้างธุรกิจมานานกว่า 40 ปี เติบโตจากการรับจ้างผลิตแบบ OEM ปัจจุบันบริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด คือผู้ผลิตอุปกรณ์แสงสว่างครบวงจร สร้างแบรนด์ Lekise จนโด่งดัง มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 150 ชนิด คุณสมนึก โอวุฒิธรรม กรรมการผู้จัดการ ทายาทธุรกิจผู้เข้ามาบริหารงานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา วางวิสัยทัศน์ขององค์กรไว้ว่า ที่นี่คือองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตลอดระยะเวลาที่เข้ามาบริหารงาน คุณสมนึกส่งพนักงานไปอบรมสัมมนา แล้วนำความรู้เรื่องต่าง ๆ กลับเข้ามาอบรมให้กับพนักงานในบริษัท แม้กระทั่งระบบ ISO ก็อบรมแล้วทำด้วยตนเองจนสำเร็จมาแล้ว แม้เรียนรู้ไม่เคยหยุด แต่แล้ววันหนึ่งก็รู้สึกว่าถึงทางตัน ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาถือว่าองค์กรแห่งนี้พัฒนาได้เร็ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าไม่รู้จะพัฒนาต่อไปในทิศทางใดถึงเวลาที่ต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ เมื่อรู้ว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำโครงการ MDICP รุ่น 11 ซึ่งพัฒนาศักยภาพ 5 แผน คุณสมนึกจึงได้เข้าร่วมอบรม ด้วยความหวังว่าอยากเปิดโลกทัศน์และมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับองค์กร หลังเข้าร่วมโครงการ บริษัทมี Road Mapที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนการผลิต โดยเลือกทำหลอด T5 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้นไปที่สินค้าที่มีนวัตกรรม จึงจัดตั้งทีมงานเรียนรู้เรื่อง Technology Road Map ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ในด้านงานบัญชีมีการนำระบบ ERP มาใช้ และมีการวางแผนการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ด้วยงประมาณ 50 ล้านบาท “เราได้เรียนรู้และพัฒนาค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญทีมงานก็สนุกกับการทำงาน ผมมองธุรกิจเป็นระบบมากขึ้น สุดท้ายผลจากการเข้าโครงการ MDICP สะท้อนมาที่ผลประกอบการ ยอดขายของเราเพิ่มขึ้นในเปอร์เซ็นต์ที่น่าพอใจมาก” นอกจากได้เรียนรู้การวางแผนงานอย่างเป็นระบบแล้ว องค์กรยังได้ค้นพบแนวคิดใหม่จากการเข้าอบรม นั่นคือ การเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับตนเอง จากที่เคยเป็นเพียงคนขายหลอดไฟ ปรับไปเป็นคนขายแสง เพราะวันหนึ่งหากโลกเปลี่ยนไปจนไม่จำเป็นต้องใช้หลอดไฟ คนขายหลอดไฟก็คงต้องตกงาน แต่คนขายแสงไม่มีวันตกงาน สิ่งที่ทำให้เกิดแสงจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่หลอดไฟอีกต่อไป คุณสมนึกจึงมีโครงการตั้ง R&D Center เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณสมนึก โอวุฒิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด 29/22 ถ.พระราม 2 ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โทรศัพท์ : 0 3441 9200 โทรสาร : 0 3441 9205 เว็บไซต์ : www.lekise.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความสำเร็จ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
วินสิตา...กระเป๋าจักรยานฝีมือคนไทย ตอบโจทย์ ตรงใจ นักปั่นจักรยาน
จากธุรกิจที่เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่สามารถตอบโจทย์นักปั่นจักรยานได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งาน คุณภาพ และราคาที่เหมาะสม ทำให้บริษัท วินสิตา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเป๋าจักรยานรายแรกในไทยมาตั้งแต่ปี 2530 สามารถครองแชมป์อยู่ในตลาดจักรยานของไทยได้อย่างยาวนาน แม้ธุรกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากที่มีการประกาศขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาในกระบวนการผลิต คุณอิศราภา สิงหเสนี ผู้จัดการฝ่ายส่งออกและการตลาด บริษัท วินสิตา จำกัด จึงได้สนใจเข้าร่วม “โครงการบริหารการผลิตเพื่อลดต้นทุน” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อนำความรู้ไปแก้ไขและปรับปรุงกระบวนการผลิต หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ ได้นำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ ทั้งในเรื่องการจับเวลาการทำงานเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน รวมถึงการพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และได้เปลี่ยนระบบการบริหารงานค่าจ้างรายเดือนและค่าจ้างรายวัน จากการทำงาน 8 ชม./วัน และมีค่าล่วงเวลาคิดเป็นชั่วโมง เป็นการเพิ่มงานเหมาให้ทำในช่วงเวลาพัก และช่วงเวลาเย็นหลังเลิกงาน โดยเพิ่มงานเหมาเป็นงานพิเศษให้กับพนักงานแทนการจ่ายค่าล่วงเวลา ทำให้พนักงานสามารถผลิตงานได้เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ สร้างความพึงพอใจให้แก่ทั้งนายจ้างและพนักงาน ปัจจุบัน “วินสิตา” เดินหน้าพัฒนาแบรนด์ เพื่อตอบโจทย์นักปั่นจักรยานและร้านจักรยาน พร้อมส่งเสริมด้านการขายและการตลาด เพราะถึงแม้จะเป็นผู้ผลิตกระเป๋าจักรยานรายแรกในไทย แต่เนื่องจากตลาดจักรยานเติบโตขึ้น มีจำนวนค่แข่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและแบรนด์ต่างประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพของสินค้า นอกจากนี้ยังมองหาตัวแทนผู้จำหน่ายสินค้าเพื่อขยายตลาดรับ AEC ทั้งที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อีกด้วย คุณอิศราภา สิงหเสนี บริษัท วินสิตา จำกัด 39/11-12 ถ.รามคำแหง เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510 โทร. 0 2540 8080 โทรสาร 0 2540 8083 เว็บไซต์ www.vincita.co.th ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2014
ถ่านอัดแท่งป้าจงดี ต่อยอดสู่ศูนย์ท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้
การมีโอกาสได้เรียนรู้และดูงานการทำถ่านอัดแท่งจากโครงการหลวงเมื่อปี 2545 เป็นการจุดประกายให้กับคุณพ่อของ คุณเด่นนภา รัษฐปานะ ผู้ผลิตและทำตลาดถ่านอัดแท่งตรา “ป้าจงดี” ซึ่งได้พัฒนาคุณภาพจนสามารถวางจำหน่ายในห้างแมคโครทั่วประเทศ ยกระดับให้เป็นสินค้าโอทอปของปทุมธานี และสามารถส่งออกผ่านคู่ค้าไปจำหน่ายอยู่ในหลายประเทศ หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณเด่นนภาในฐานะทายาทเข้ามาช่วยคุณพ่อดูแลกิจการ ปัจจุบันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธัญญะเข้มแข็ง จังหวัดปทุมธานี ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งในปี 2553 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เครื่องจักรและการผลิตเสียหาย จึงขอรับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เข้ามาดูแลเรื่องเครื่องจักร และรับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำมาปรับปรุงโรงงาน ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ปลายปี 2555 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2556 คุณเด่นนภายังมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ “การพัฒนาทายาทวิสาหกิจชุมชนรุ่นใหม่” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการต่อยอดธุรกิจ เช่น การพัฒนา “ถ่านดูดกลิ่น” ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีการเติบโตสูงกว่า50-60% นอกจากนั้นยังมองเห็นโอกาสจากธุรกิจท่องเที่ยวด้วย “เราเปิดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธัญญะเข้มแข็งเป็นศูนย์การเรียนรู้ และเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวหรือกลุ่มผู้สนใจมาศึกษาดูงานและสามารถพักค้างคืนเพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตได้อย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ซึ่งสามารถรองรับผู้ศึกษาดูงานได้กลุ่มละประมาณ 50 คน” คุณเด่นนภาเล่าถึงธุรกิจที่เธอสานต่อจากพ่ออย่างมีชีวิตชีวา หากมองว่าถ่านคือถ่าน มันก็จะเป็นเพียงถ่าน แต่สำหรับวิสาหกิจชุมชนธัญญะเข้มแข็งแล้ว ถ่านและโรงผลิตถ่านคือห้องเรียนขนาดใหญ่ที่คนในชุมชนได้มาเรียนรู้และสร้างโอกาสร่วมกัน คุณเด่นนภา รัษฐปานะ “ถ่านอัดแท่งป้าจงดี” วิสาหกิจชุมชนธัญญะเข้มแข็ง 133/354 หมู่บ้านเอ็มพี คลอง 6 ถ.รังสิต-นครนายก ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110 โทร. 0 2577 3253, 08 1458 5055 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
ลด กระชับ ปรับห่วงโซ่การผลิต กว่าจะเป็นเซรามิกชิ้นงาม
บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2534 ซึ่งคุณมนัส เชิดเกียรติศักดิ์ ผู้ก่อตั้งได้คลุกคลีในวงการเซรามิกมามากกว่า 50 ปี มุ่งมั่นศึกษาวิเคราะห์ จนได้ส่วนผสมของดินที่มีความพิเศษแตกต่างจากเซรามิกทั่วๆ ไป ปัจจุบันมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย และเพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขัน คราวน์ เซรามิคส์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตซึ่งมีสายโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรมากมายที่ต้องพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ โดยในปี 2556 บริษัทได้เข้าร่วมกิจกรรม “การเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมกับได้ชักชวนซัพพลายเออร์บางรายของคราวน์ฯ เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย “การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากผู้บริหารเห็นคุณค่า คุณมนัสจึงสนับสนุนให้ทายาทและพนักงานระดับหัวหน้าได้พัฒนาความคิดอยู่เสมอก่อนหน้านี้ก็ได้สนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการ MDICP รุ่น 10 และ 11” คุณทรงพล หนูคง ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด เล่าถึงวัฒนธรรมภายในองค์กรหลังเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม โรงงานมีการพัฒนาหลายด้านที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การลดรอบเวลาในการผลิตของกระบวนการอบโมลด์ ลดเวลาและจำนวนพนักงานของกระบวนการชุบเคลือบลงโดยการใช้เครื่องชุบเคลือบ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กร ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการยกระดับเครือข่ายผู้ส่งมอบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์เซรามิกบนโต๊ะอาหารที่ผลิตอย่างประณีตสวยงามกว่า 10 ล้านชิ้นต่อปี และส่งออกไปอวดโฉมอยู่บนโต๊ะอาหารต่างประเทศมากถึง 95% เป็นภาพสะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่าผู้ประกอบการใด ๆ ในโลก บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด 234 หมู่ที่ 17 ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 70110 โทร. 032 742 900-4 โทรสาร 032 742 905 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
ยางรีไซเคิล Miss Clean ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอนาคต
ภาพกองยางรถยนต์ที่ถูกทิ้งเป็นขยะก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ได้จุดประกายความคิดให้ คุณเยื้อง เสนทอง นำมาเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ด้วยการดัดแปลงเป็นของใช้นานาประโยชน์นับตั้งแต่ปี 2540 ผันชีวิตจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์รีไซเคิล สินค้าขึ้นชื่อของอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถังขยะที่ทำจากยางรถยนต์ขนาดต่าง ๆ คือจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ก่อนจะมีการพัฒนาดัดแปลงไปเป็นเฟอร์นิเจอร์ชุดโต๊ะเก้าอี้ เครื่องเล่นเด็ก เรื่อยไปจนถึงสุดยอดนวัตกรรมเสื้อผ้าที่ทำจากยางรถยนต์รีไซเคิล ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลานานนับสิบปี ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากยางรถยนต์ภายใต้แบรนด์ Miss Cleanได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ในการขยายกำลังการผลิตจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่ม ในปีที่ผ่านมา Miss Clean จึงขอรับการสนับสนุนจากกิจกรรม “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย” จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากเงินทุนแล้ว ยังได้รับคำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในอนาคต แม้ว่าธุรกิจจะประสบปัญหาขาดแรงงานฝีมือบ้างซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจ แต่การให้ความสำคัญกับคุณภาพผลิตภัณฑ์และรักษาคอนเซ็ปต์ “ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ของ Miss Clean จึงมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต ที่ทรัพยากรประเทศน้อยลง สวนทางกับประชากรที่มากขึ้น และขยะเหลือใช้ที่เพิ่มขึ้นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นทางเลือกลำดับต้น ๆ ของผู้บริโภคในอนาคต คุณเยื้อง เสนทองผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากยางรถยนต์ Miss Clean270/7 หมู่ที่ 3 ถ.เอเชีย ต.สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 84170โทร. 077 381 261, 08 1087 7593 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด ลดต้นทุนและความสูญเสีย = เพิ่มผลผลิต
ผู้บริหารองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ มักมีความกระตือรือร้นในการปรับองค์กรเพื่อรับมือการแข่งขันในยุค AEC โดยนำเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตยาจุดกันยุงชนิดขดก็เช่นเดียวกัน ได้มีการดำเนินการหาเครื่องมือที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตดังกล่าวข้างต้น โดยได้เข้าร่วม ‘โครงการ Lean Manufacturing’ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในช่วงแรก บริษัทประสบปัญหาความร่วมมือของพนักงาน แต่หลังจากการฝึกอบรมโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในด้านความรู้และความสามารถ พนักงานจึงให้ความร่วมมือในการปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยลำดับ หลังจากที่ได้นำ Lean TPM (Total Productivity Management) หรือการบริหารผลิตภาพโดยรวมมาใช้ บริษัทเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นขององค์กร โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมของพนักงาน การค้นหาสาเหตุของปัญหา และการวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้รับการอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างเห็นได้ชัด บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้รับจากการอบรมมาพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่ายิ่งขึ้น ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดที่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต คุณสุเมธ จำปาทอง บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด ๓๒๓ หมู่ ๖ เขตอุตสาหกรรมสุรนารี ถ.ราชสีมา-โชคชัย ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๔๔ ๒๑๒ ๙๙๐-๓ โทรสาร : ๐๔๔ ๒๑๒ ๙๙๔ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011