“ดีพร้อม” โชว์ผลสำเร็จขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อาหาร ปั้นเชฟไฟแรงรุ่นแรก 1,300 คน ประดับครัวไทย พร้อมต่อยอดสู่ครัวโลก คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,500 ล้านบาท
จ.นนทบุรี 21 มีนาคม 2568 - นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานพิธีการปัจฉิมนิเทศและมอบใบประกาศนียบัตรโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวรายงานสรุปภาพรวมโครงการฯ ร่วมด้วย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายศุกกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นางดวงดาว ขาวเจริญ นายสุรพล ปลื้มใจ และนายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นนทบุรี
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายเรือธงสำคัญในการมุ่งยกระดับทักษะและปลดล็อคศักยภาพของคนไทยในการสร้างงาน สร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อพัฒนาความสามารถของคนไทยให้สร้างมูลค่า เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เสริมทักษะเดิม (Reskill) โดยเฉพาะสาขาอาหารไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังที่สุด เพราะเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาติ
โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้นำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อยกระดับสินค้า ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ได้เร่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาหลักที่ได้รับมอบหมาย คือ แฟชั่นและอาหาร โดยเฉพาะสาขาอาหาร ซึ่งไทยได้รับการขนานนามว่าเป็น ”ครัวของโลก” จึงมอบหมายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ร่วมบูรณาการ 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” โดยมุ่งสร้างกำลังคนผ่านการพัฒนาและสร้างทักษะด้านอาหาร รวมถึงเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอาหาร ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1. สร้างสรรค์และต่อยอดทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2. โน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบผ่านการเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่าและมีความหมาย (Storytelling) และ 3. เผยแพร่ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ Influencer ซีรีส์ ละครย้อนยุค
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ การพัฒนาหลักสูตรอาหารไทย (ตำรับ) โดยจัดทำสื่อความรู้เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือหลักสูตรและคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการโดยเชื่อมต่อกับกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงการสร้างแรงงานทักษะสูง หรือครูผู้สอน (Train The Trainer) เพื่อให้ครูผู้สอนเข้าใจและนำไปต่อยอดถ่ายทอดให้กับผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program) ด้วยหลักสูตรที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้สามารถนำทักษะและองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพ พร้อมเข้ารับการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป
ซึ่งในปีที่ผ่านมา “ดีพร้อม” สามารถพัฒนาและเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรสาขาอาหารกว่า 1,300 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานวิชาชีพ จำนวน 1,040 คน และสร้างครูผู้สอน (Train The Trainer) จำนวน 325 คน และจากความสำเร็จนี้ จะเป็นอีกหนึ่งพลัง Soft Power จากอาหารไทยที่เชฟชุมชนได้รังสรรค์เมนู บอกเล่าคุณค่า เรื่องราว และความมีเสน่ห์ของอาหารไทยให้เป็นที่รู้จัก เกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นทูตวัฒนธรรมด้านอาหารที่สามารถถ่ายทอดรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับไปสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,500 ล้านบาท นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย
24
มี.ค.
2025