5 ข้อควรระวังบริหารกิจการช่วงขาลง


08 ต.ค. 2563    พลอยไพลิน    315

   หากคุณกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงขาลง หากเปรียบการทำธุรกิจเหมือนการพายเรือ ในช่วงพายุเศรษฐกิจกำลังก่อตัวแบบนี้ ท่านเจ้าของกิจการ SMEs ส่วนใหญ่คงกำลังมองหาสิ่งของที่จะโยนลงจากเรือ เพื่อให้เรือธุรกิจของคุณประคองตัวอยู่ได้ภายในสภาวะตึงเครียดเช่นนี้ การลดต้นทุนเป็นวิธีการแรกที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและยังคงทำกำไรได้ แต่วิธีอื่นๆ ที่คุณกำลังคิดจะทำอาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมก็เป็นได้

 

    ฉะนั้น “5 ข้อควรระวัง” ต่อไปนี้อาจเป็นสิ่งคุณกำลังคิด แต่ไม่ควรจะทำในการบริหารธุรกิจในช่วงขาลงแบบนี้นะคะ

 

      1. การลดพนักงานหรือไล่ออก จริงอยู่ว่าเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายหลักของบริษัทที่รู้ๆ กันอยู่ และก็เป็นเรื่องจริงอีกเช่นกัน ที่ในช่วงนี้ความต้องการสินค้าหรือบริการลดลง แต่คุณอย่าลืมว่าพนักงานที่คุณฝึกมานั้นเป็นทรัพยากรที่มีค่า หากคุณให้พวกเขาออกไปตอนนี้ คิดหรือว่าคุณจะได้พวกเขากลับมาอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมา เพราะเขาอาจไปทำงานกับคนอื่นแล้ว ดังนั้นคุณควรจะลดชั่วโมงทำงาน (อาจลดค่าจ้างด้วย) แทนการให้ออกจากงาน คุณควรทำทุกวิธีเพื่อให้พนักงานที่มีความสามารถและมีความกระตือรือร้นยังทำงานอยู่กับคุณ

 

      2. ไม่ทำการตลาดเท่าที่ควร เป็นที่รู้กันว่า “งบประมาณการตลาดน่าจะต้องถูกปรับลดในช่วงเวลาแบบนี้” แต่เชื่อเถอะว่าลูกค้าเองก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ดังนั้นคุณควรต้องพยายามดึงดูดความสนใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าหรือบริการของคุณให้มากยิ่งกว่าเดิม หากคุณไม่มีแผนการตลาดก็ให้เริ่มเสียทันที ซึ่งมีแผนงานการตลาดหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้งบมากมาย

 

      3. เปลี่ยนคู่ค้าเพื่อประหยัดเงินเพียงนิดหน่อย หากคุณดำเนินกิจการมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว คุณคงมีคู่ค้า(Supplier) ประจำอยู่แล้ว ทำไมถึงจะทำลายความสัมพันธ์ที่สร้างร่วมกันมาเสีย จริงอยู่คุณอาจจะหาคู่ค้ารายใหม่ที่ให้ราคาถูกกว่าได้ แต่ถามว่าคุณกำลังเปรียบเทียบสินค้าที่เหมือนกันอยู่หรือเปล่า คู่ค้าทั้งสองเจ้ามีคุณภาพเหมือนกันหรือไม่ อีกทั้งคู่ค้าแต่ละเจ้านั้นมีความน่าเชื่อถือได้เหมือนกันไหม หากคำตอบของคุณคือ “ใช่” ขอแนะนำให้กลับไปคุยกับคู่ค้าเจ้าประจำของคุณก่อน เพราะเขาอาจจะอยากสู้กับคู่แข่งใหม่ก็เป็นไปได้

 

      4. ตัดราคาสินค้าหรือบริการ การตัดสินใจลดราคาสินค้าหรือบริการ เพราะหวังว่าช่วยเพิ่มยอดขายนั้น ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเลย มันอาจจะช่วยเพิ่มยอดขายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นยอดก็จะตกลงอีก แล้วคุณจะต้องลดราคาลงอีกไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่ภาพอนาคตที่แจ่มใสเป็นแน่ การให้ส่วนลดพิเศษและลดราคาแบบมีเหตุผลนั้นรับได้ แต่การลดราคาเพราะต้องการกระตุ้นยอดขายในช่วงนี้จะทำให้บริษัทย่ำแย่มากกว่า

 

      5. หยุดให้สินเชื่อ ไม่ได้บอกว่าให้คุณให้เครดิตกับลูกค้าไปแบบสะเปะสะปะนานเท่าไหร่ก็ได้ หรือไม่ไปเก็บเงินตามกำหนด แต่บางบริษัทจะปฏิเสธการให้เครดิตระยะยาวแก่ลูกค้า หรือบางบริษัทบังคับให้ลูกค้าจ่ายเงินสดเมื่อรับสินค้าหรือบริการแล้วด้วยซ้ำไป ซึ่งการกระทำแบบนี้จะทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างคุณกับลูกค้าเสียเปล่าๆ หากคุณทำให้พวกเขาซื้อของยากขึ้น “เขาก็จะเลิกซื้อไม่เพียงแค่ช่วงนี้แต่จะเลิกตลอดไป”

 

    การพาเรือธุรกิจล่องไปในมรสุมเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากคุณหลีกเลี่ยงข้อควรระวังดังกล่าวข้างต้นแล้ว เราเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้คุณประคองเรือต่อไปได้ รอเพียงเวลาฟ้าใสกลับคืนมาก็เท่านั้น