การนำสินค้าใหม่ไปทำวิจัยตลาด


26 พ.ค. 2563    อภิมุข    1,173

การวิจัยตลาดในปัจจุบัน มีเหตุผลมาจาก

 

    1. วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้นลงและตลาดอิ่มตัวเร็ว (Maturity Stage)

    2. มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดตลอดเวลา

    3. ต้องการหาโอกาสทางการตลาด

    4. ต้องการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อหาพฤติกรรมที่แตกต่างกัน อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม

    5. ความเจริญก้าวหน้าทางการตลาด และการค้าระหว่างประเทศ

 

    เมื่อกิจการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่กิจการควรจะต้องทำคือ การนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นไปทำการวิจัยทดสอบตลาดว่า ผู้บริโภคเต็มใจจะจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ จากการดำเนินการในขั้นตอนนี้ จะทำให้กิจการสามารถพยากรณ์ขนาดของตลาด ทราบแนวโน้มของยอดขายที่จะเกิดขึ้น ทราบพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคและสามารถกำหนดกลยุทธ์ตลาดที่เหมาะสมกับสถานการณ์จริงได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น การทดสอบตลาดยังช่วยให้กิจการทราบจุดอ่อน จุดแข็งของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อีกด้วย

 

    *ข้อควรระวัง คือ การวิจัยตลาดอาจให้ผลที่คาดเคลื่อนจากสภาพตลาดจริงได้ ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การทดสอบตลาดจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่งว่าจะนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่ตลาดจริง ผลการวิจัยตลาดอาจล้าสมัยเสียแล้ว บางครั้งการวิจัยตลาดอาจทำให้คู่แข่งขันทราบความเคลื่อนไหว และปรับกลยุทธ์ตลาดเสียก่อนที่กิจการจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดจริง แต่อย่างไรก็ดีการวิจัยตลาดก็พอที่จะช่วยลดโอกาสที่ผลิตภัณฑ์ใหม่จะล้มเหลวได้ไม่น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการทดสอบตลาดว่าจะทำได้เหมือนบรรยากาศตลาดจริงมากน้อยเพียงใด

 

    หลายกิจการจึงอาจข้ามขั้นตอนการทดสอบตลาดและนำเงินที่ควรจะทำการทดสอบตลาดไปลงทุนในระยะแนะนำตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดแทน บางรายก็ไม่แน่ใจว่าผลการทดสอบแนวคิด และการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ทำไว้อย่างดีเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบตลาดให้ความลับของกิจการรั่วไหลและเสียเวลาโดยใช่เหตุ

 

 

    การวิจัยการตลาด หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีระบบเกี่ยวข้องกับการออกแบบ การเก็บรวบรวม การวิเคราะห์ข้อมูล และการรายงานผลข้อมูล เพื่อให้รู้ว่าบริษัทกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางการตลาดแบบใด การนำสินค้าใหม่ไปทำวิจัยการตลาด การวิจัยการตลาดสำหรับสินค้าใหม่ก่อนนำออกสู่ตลาด ก็เพื่อที่จะเรียนรู้ปัญหาของสินค้าใหม่ ประโยชน์ของผลการวิจัยขึ้นอยู่กับความชำนาญในการวางรูปโครงการและการปฏิบัติ การลงทุนในด้านนี้อาจเป็นการสูญเสีย ถ้าการวางรูปโครงการนั้นเป็นไปแบบไม่ถูกต้อง การวิจัยการตลาดที่มีประสิทธิภาพจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนดังนี้

 

      1. การกำหนดปัญหา เป็นการระบุวัตถุประสงค์ การกำหนดปัญหาต้องชัดเจน, แน่นอน, ไม่คลุมเครือ และมีขอบเขตที่เหมาะสม

      2. การออกแบบวิจัย การกำหนดปัญหาจะนำไปสู่การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยอย่างชัดเจน

      3. การกำหนดวิธีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการจัดเก็บข้อมูลปฐมภูมิอาจทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีผสมกัน ดังต่อไปนี้ เช่น การส่งแบบสอบถามไปให้ตอบกลับมาทางไปรษณีย์ การโทรศัพท์ไปสอบถาม การส่งพนักงานไปสัมภาษณ์ การสังเกต การทดลอง หรือการจำลองสถานการณ์ เป็นต้น

      4. การออกแบบกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลจากประชากรทั้งหมด ย่อมจะเกินขีดความสามารถของนักวิจัยการตลาดที่จะทำ จึงต้องสุ่มเอาสมาชิกของประชากรแต่เพียงบางส่วนออกมาเป็นตัวอย่างเพื่อทำการศึกษา แล้วนำผลที่ได้ไปทำนายผลการศึกษาของประชากรทั้งหมดอีกทอดหนึ่ง

      5. การสร้างเครื่องมือจัดเก็บข้อมูล เครื่องมือที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือแบบสอบถาม หลักการสำคัญในการออกแบบสอบถามนั้นมีอยู่ว่า ต้องให้สะดวกต่อการใช้ทั้งทางฝ่ายนักวิจัยการตลาดเองและฝ่ายผู้ให้ข้อมูล ต้องเหมาะกับวิธีจัดเก็บที่จะใช้ และต้องสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ตรงกับความต้องการ

      6. การลงมือจัดเก็บข้อมูล ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นการลงมือปฏิบัติงานภาคสนาม แต่ก่อนที่จะออกสนามจริงๆ ต้องมีการวางแผนก่อน โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับตารางการทำงาน งบประมาณ การจัดเตรียมพนักงานสัมภาษณ์ และมาตรการในการวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานภาคสนาม ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ของการทำการวิจัยการตลาดจะนำมาใช้จ่ายในขั้นตอนนี้ และบรรดาความผิดพลาดทั้งหลายของผลการวิจัยส่วนมากก็จะเกิดในขั้นตอนนี้เช่นกัน

      7. การประมวลผลข้อมูล เมื่อได้มีการบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์มจัดเก็บข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการรวบรวมเข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นระเบียบเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป หากจะวิเคราะห์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ต้องใส่รหัสแก่ข้อมูลเสียตั้งแต่ตอนนี้

      8. การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นขั้นตอนในการแปรรูปข้อมูลโดยอาศัยเทคนิคทางสถิติเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้สารสนเทศประเภทที่ตรงกับความต้องการออกมา ทั้งนี้โดยอาศัยระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

      9. การจัดทำรายงานและการเสนอผลการวิจัย หมายถึง การจัดทำผลการวิจัย ซึ่งอาจอยู่ในภาษาเทคนิคเฉพาะการวิจัยออกมาเป็นภาษาสามัญ เพื่อนำไปเสนอต่อนักบริหารการตลาดต่อไป การเสนอผลการวิจัยอาจทำเป็นเอกสารและ/หรือเสนอด้วยวาจาก็ได้ หลังจากที่ได้เสนอผลการวิจัยแล้ว อาจจำเป็นต้องติดตามผลเพื่อความมั่นใจว่านักบริหารการตลาดจะใช้ผลการวิจัยได้ถูกต้อง และเพื่อรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของนักวิจัยการตลาดด้วย