ระยะที่ 5 : วางรากฐาน SMEs


26 มิ.ย. 2563    อภิมุข    1,253

 

2536

ตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคอีก 6 ศูนย์

เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเพิ่มขึ้นอีก 6 ศูนย์ ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี รวมเป็น 11 ศูนย์

ภายหลังได้มีพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2539 จึงมีการเปลี่ยนชื่อศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใหม่ ดังนี้

 

 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก

 

 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดพิจิตร เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี

 

 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม

 

 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์

 

 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดบุรีรัมย์ เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 ต่อมาใน พ.ศ. 2548 ได้ย้ายที่ทำการไปจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ

 

 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต

 

2537

เริ่มโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชนบท โดยพัฒนาระบบการผลิตอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการให้แก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร จนสามารถสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้อย่างเป็นระบบ โดยโครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ


ระยะที่ 1 และ 2 (ปีงบประมาณ 2537 - 2539 และ 2540 - 2542) เป็นการค้นหาหมู่บ้านที่มีศักยภาพ เพื่อนำสู่กระบวนการพัฒนาให้ความช่วยเหลือ


ระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2543 - 2545) มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการตลาดของผลิตภัณฑ์ ให้ราษฎรชนบทสามารถช่วยเหลือตนเองได้และมีสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น ในช่วงต้นมีจำนวนหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 117 หมู่บ้าน


ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2545 - 2548 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดงานสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมและผ้าทอไทย ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อแสดงความก้าวหน้าของสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนสินค้าพื้นบ้าน สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน และช่วยส่งเสริมการตลาด

 

2538

ริเริ่มสื่อโทรทัศน์

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของสื่อโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้บุกเบิกรายการ “คลินิกอุตสาหกรรม” เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำด้านการลงทุน การเริ่มต้นธุรกิจ และการให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรม มีรูปแบบเป็นรายการสด ความยาว 55 นาที


ออกอากาศเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลา 22.05 - 23.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) ออกอากาศครั้งแรกใน พ.ศ. 2538 และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก จนทำให้ต่อมาใน พ.ศ. 2543 ได้เพิ่มความถี่ในการออกอากาศเพื่อสนองความต้องการของผู้ชมมากขึ้น เป็นรายการคลินิกอุตสาหกรรมภาคกลางวัน แพร่ภาพก่อนเที่ยง ความยาว 25 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดี


รายการคลินิกอุตสาหกรรมแพร่ภาพออกอากาศเป็นเวลายาวนานเกือบ 10 ปี ก่อนที่จะสิ้นสุดการจัดรายการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 นับเป็นรายการหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้เกิดการผลิตรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวในวงการอุตสาหกรรมอีกหลายรายการในเวลาต่อมา

 

รวมถึงได้นำชื่อรายการ “คลินิกอุตสาหกรรม” มาใช้เป็นกิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการในการจัดงานต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

2539

แบ่งส่วนราชการในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้างหน่วยงานครั้งใหญ่ (Reengineering) โดยยุบรวมและยกเลิกกองงานหลายกอง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภารกิจ โดยได้กำหนดโครงสร้างองค์กรใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2539 เกิดเป็นหน่วยงานต่าง ๆ 18 หน่วยงาน คือ

 

1. สำนักงานเลขานุการกรม

2. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 มีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา

3. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลกสุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก

4. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี

5. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม

6. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สกลนคร

7. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์

8. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ

9. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 มีพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

10. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 มีพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี สระบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว

11. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต

12. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ยะลา พัทลุง สตูล นราธิวาส

13. สำนักนโยบายและแผนส่งเสริมอุตสาหกรรม

14. สำนักบริหารงานส่งเสริมอุตสาหกรรม

15. สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม

16. สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม

17. สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา

18. สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน

 

กำเนิดโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท

คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) ได้ให้ความเห็นชอบในโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท (สอช.) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ให้เกิดการขยายกิจการ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในชนบท ทำให้ธุรกิจชุมชนมีความยั่งยืน


โดยดำเนินงานในลักษณะ 3 ประสาน ระหว่างภาครัฐคือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธุรกิจเอกชน ซึ่งได้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และประชาชนในพื้นที่ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โครงการ 3 ประสาน” โดยใช้หลักการตลาดเป็นตัวนำการผลิต ซึ่งในเบื้องต้นมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งกลุ่มชาวบ้านและช่วยชักจูงธุรกิจเอกชนให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่


โครงการ สอช. ได้เริ่มดำเนินงานนำร่องใน พ.ศ. 2539 ด้วยงบประมาณสนับสนุน 27.5 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 6 เดือน สามารถชักจูงธุรกิจเอกชนให้สนใจการลงทุนในชนบทจำนวน 42 ราย มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมโครงการ 6 องค์กร และเกิดธุรกิจชุมชนที่เป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจเอกชนและประชาชนในพื้นที่ จำนวน 12 โครงการ


ต่อมาจึงได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินมากขึ้นตามลำดับ เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคและกระจายงานสู่ประชาชนในพื้นที่ชนบทได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

 

2540

ยกร่างพระราชบัญญัติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เริ่มนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ด้วยเห็นว่าการพัฒนาที่ครบวงจรตั้งแต่ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม จะเป็นรากฐานที่จะทำให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน


คำว่า “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” จึงถือได้ว่าก่อเกิดมาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งได้นำไปใช้บัญญัติในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ยกร่างขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้ตราออกมาเพื่อจัดระบบการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นวิสาหกิจหลักของประเทศ


ผลจากกฎหมายฉบับนี้จึงเกิดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้น และเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของภาครัฐในรูปของนิติบุคคล ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานในการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนา SMEs จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ที่บูรณาการการดำเนินงานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร SMEs

 

2542

จัดทำโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับและปรับปรุงความสามารถในการประกอบธุรกิจ จึงได้ผลักดันมาตรการและโครงการต่าง ๆ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

หนึ่งในโครงการสำคัญคือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “โครงการ 13” (เนื่องจากเป็นโครงการลำดับที่ 13 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในขณะนั้น) ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2542 ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 โดยได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการจากโครงการเงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (งบมิยาซาว่า)


ลักษณะการดำเนินงานของโครงการคือ จัดหาทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมให้คำปรึกษาเชิงลึกกับสถานประกอบการที่ได้รับคัดเลือก โดยเน้นสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องหนัง โลหะการ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เซรามิก หัตถอุตสาหกรรม พลาสติก อัญมณีเครื่องเรือน และผลิตภัณฑ์ยาง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค


โครงการ 13 ระยะที่ 1 ประสบความสำเร็จด้วยดี จึงมีการดำเนินการต่อเนื่องภายใต้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (โครงการ 13 ระยะที่ 2) ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2544

 

จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP)

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นับเป็นฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่วิกฤตการณ์ทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2540 ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง


หลังจากมองเห็นความสำคัญของแนวคิดหลักการ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในลักษณะเดียวกับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (โครงการ 13) โดยเน้นการจัดหาทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำกับสถานประกอบการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP)

นับจาก พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อพลิกฟื้นสถานประกอบการให้เข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถให้มีศักยภาพมากขึ้น เริ่มจากการกำหนดแผนพัฒนาสถานประกอบการ 5 แผน ประกอบด้วย แผนพัฒนากระบวนการผลิต แผนพัฒนาระบบมาตรฐาน แผนพัฒนาเทคโนโลยี (R&D) แผนพัฒนาการเงินและบัญชี และแผนการตลาด ซึ่งต่อมาได้ปรับการดำเนินงาน 2 รูปแบบ คือ MDICP ภูมิภาค ซึ่งกำหนดแผนพัฒนาสถานประกอบการไว้ 3 แผน และ MDICP ส่วนกลาง ซึ่งกำหนดแผนพัฒนาสถานประกอบการไว้ 8 แผน

 

โครงการ MDIC นับเป็นโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการหลายพันราย ด้วยการส่งทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเข้าไปช่วยแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาสถานประกอบการ เพื่อให้ SMEs ภายในประเทศเข้าสู่ระบบการค้าสากล และสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยให้บริการแก่ SMEs ภาคการผลิตที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เซรามิกและแก้ว ยาและเคมีภัณฑ์ ไม้และเครื่องเรือน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก โลหะการและเครื่องหนัง

 

จัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการจัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2542 ให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) หรือ Institute for small and Medium Enterprises Development (ISMED) เพื่อเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ

 

โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือ ช่วยกอบกู้และเสริมศักยภาพ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทย ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ การสร้างผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจที่ประกอบการอยู่แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน


เบื้องต้นสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล พ.ศ. 2542 - 2546 จากนั้นสถาบันฯ สามารถมีรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจหน่วยงานราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นสามารถให้บริการพัฒนาด้านต่าง ๆ แก่ SMEs ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

2543

จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับแรกของประเทศไทย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ดำเนินงาน “โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ภายใต้แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม


โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2542 ได้มีการยกร่างแผนแม่บทการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีเนื้อหาครอบคลุมแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม (การผลิต) ภาคการค้า และภาคบริการ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อชี้แจงแนวคิดและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ตาก ขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา และชลบุรี ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทฯ ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2543 และได้นำมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตามกรอบของแผนแม่บทดังกล่าว

 

2545

ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมฯ

ได้มีการปฏิรูประบบราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจ และวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

โดยเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบของการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยได้กำหนดให้มีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการตามลำดับขั้น กำหนดตัวชี้วัดของการปฏิบัติงาน ในแต่ละระดับ (KPI) อย่างชัดเจน รวมทั้งการวัดผลความพึงพอใจของผู้รับบริการ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการบริการให้สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น

 

พลิกฟื้นผู้ประกอบการ ด้วยโครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย

ธุรกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2540 ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดสภาพคล่องผนวกกับตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่สำคัญหดตัวอย่างรุนแรง รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นแกนกลางดำเนิน โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย (Invigorating Thai Business: ITB) เพื่อพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายหลักคือพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 2,600 กิจการทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท และมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2545


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับคณะที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันเครือข่ายรวม 27 หน่วยงาน เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันยานยนต์ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) วิเคราะห์ปัญหาและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกพร้อมให้การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านต่างๆ เช่น การผลิต การตลาด การบริหาร จัดการ การเงินการบัญชี เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้สภาวะวิกฤต


จากการประเมินผลของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พบว่าโครงการชุบชีวิตธุรกิจไทยประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการสามารถแก้ไขปัญหาและปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจให้คงสภาพการจ้างแรงงานไว้ได้ รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและมีตลาดใหม่

 

ริเริ่มโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่

รากฐานเดิมของโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปิดกิจการค่อนข้างมาก ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานของประเทศเป็นจำนวนมาก


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการเสริมสร้างนักลงทุนใหม่ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและยกระดับแรงงานและนักศึกษา ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation : NEC) ใน พ.ศ. 2545 เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็น 1 ใน 7 กลยุทธ์หลักภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย


จากนโยบายดังกล่าวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation : NEC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โครงการนี้สนับสนุนให้บัณฑิตใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และพนักงานที่มีศักยภาพ ให้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการจนสามารถก่อตั้งกิจการได้ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้และขีดความสามารถ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การฝึกอบรมการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มทักษะการประกอบการเฉพาะด้าน รวมถึงบ่มเพาะองค์ความรู้เพื่อให้สามารถจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) อย่างละเอียดนอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังจัดให้มีการให้บริการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดกิจกรรมเปิดตัวธุรกิจสินค้าและบริการให้กับผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านการอบรม เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และการเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุน รวมทั้งการจับคู่เจรจาธุรกิจ การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเดิม