ระยะที่ 6 : สร้างเครือข่ายสู่สากล
26
มิ.ย.
2563
อภิมุข
1,903
2546
ริเริ่มโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
จากสถิติของการส่งออกสินค้าในกลุ่มแฟชั่นของไทย พบว่ามีแนวโน้มการส่งออกที่ลดลงตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มศักยภาพหรือเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่น นำไปสู่ความร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ภายใต้การจัดสรรงบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2546 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546 การดำเนินงานโครงการนี้ ใช้ยุทธศาสตร์ของ “การตลาดด้านแฟชั่น” เป็นตัวนำการพัฒนาทั้งระบบคือ ฉุดดึงและสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “แฟชั่น” ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำครบวงจร เพื่อให้ขยายตัวและเติบโตไปด้วยกัน โดยมีแนวคิดการพัฒนาใน 3 มิติ คือ สร้างคน สร้างธุรกิจ สร้างเมือง ดังนี้
มิติการสร้างคน : โครงการศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่น โครงการศูนย์รวบรวมแนวโน้มแฟชั่นโลก โครงการรวบรวมผลงานแฟชั่นนักออกแบบไทย
มิติการสร้างธุรกิจ : โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
มิติการสร้างเมือง : โครงการจัดงานแสดงสินค้า โครงการเจาะตลาดเป้าหมาย โครงการสร้างภาพลักษณ์กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2546 - 2548) โดยแบ่งระยะเวลาดำเนินโครงการระยะแรก 1 ปี 6 เดือน (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2546) เพื่อระดมกำลัง ความคิดความสามารถในการดำเนินยุทธศาสตร์ ผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางแฟชั่น (Fashion Center) ของภูมิภาคใน พ.ศ. 2548 และเป็นศูนย์กลางแฟชั่นแห่งหนึ่งของโลกภายใน พ.ศ. 2555
2547
เพิ่มโอกาสผ่านโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster)
สืบเนื่องจากการที่สถาบันศศินทร์และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้เชิญศาสตราจารย์ไมเคิล อี.พอร์เตอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาให้คำแนะนำในฐานะเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทย และมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Competitiveness : Creating the Foundations for Higher Productivity” เมื่อ พ.ศ. 2546
หนึ่งใน 6 แนวทางหลักที่ศาสตราจารย์พอร์เตอร์ ได้เสนอแนะไว้ คือ การที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องประสานงานร่วมกันเพื่อสร้างคลัสเตอร์ (Cluster) หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกอันสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการปฏิบัติ และขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างและพัฒนาการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ภายใต้กรอบของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (National Committee on Competitive Advantage : NCC)
โดยได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างและพัฒนาการรวมกลุ่มได้ประมาณ 58 กลุ่ม โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ ๆ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป
2548
เริ่มความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้การดำเนินงานส่วนหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ โดยมีการจัดทำโครงการขอรับความช่วยเหลือในแทบทุกสาขาต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต จนมาถึง พ.ศ. 2548 จึงได้เริ่มโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
โครงการความร่วมมือกับ GTZ (พ.ศ. 2548)
ช่วง พ.ศ. 2548 - 2549 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มของไทยทั้งหมดร้อยละ 63 ใช้บริโภคในประเทศ ร้อยละ 30 ใช้เพื่อการผลิตไบโอดีเซล และส่วนที่เหลือร้อยละ 7 เพื่อการส่งออก ปาล์มน้ำมันจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตที่ประชาชนให้ความสนใจ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงร่วมมือกับสำนักงานเพื่อความร่วมมือทางวิชาการแห่งประเทศเยอรมนี (GTZ) จัดทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมในพื้นที่
ความร่วมมือครั้งนี้ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ทั้งด้านการส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน เกิดการรวมกลุ่มคลัสเตอร์น้ำมันปาล์ม เพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและเกษตรกรเครือข่าย ด้านการส่งเสริมเกษตรกรให้มีการคัดเลือกพันธุ์ปาล์มและวิธีการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนต้นเก่า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในโรงงาน โดยมีการนำร่องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนที่จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2552)
วิกฤตการเงินโลกใน พ.ศ. 2551 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวอย่างรุนแรง รวมถึงเศรษฐกิจไทย ประกอบกับขณะนั้นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเริ่มคลี่คลายลง
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการมองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน และที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังเป็นคู่ค้าและเป็นนักลงทุนที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยมาโดยตลอด จึงได้หารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA)
เพื่อความร่วมมือในการดำเนินงานโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษากับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น และผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐไทยกับภาครัฐญี่ปุ่น และภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนญี่ปุ่น ความร่วมมือดังกล่าวได้สนับสนุนการทำธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนในระยะเวลาต่อมา
ร่วมมือกับ JICA พัฒนา SMEs ในภูมิภาค (พ.ศ. 2553)
ในโอกาสครบรอบ 120 ปี ในการสถาปนาทางการทูตระหว่างไทย - ญี่ปุ่น และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Japan - Thailand Economic Partnership Agreement : J-TEPA) ทั้งสองประเทศจึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น ขึ้น เพื่อเร่งสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในเชิงรุกด้านต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เช่น โครงการพัฒนาเครื่องมือและวางระบบส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ในภูมิภาค
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเพื่อมาให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาเครื่องมือและระบบในการให้บริการ SMEs ในภูมิภาค โดยนำร่องที่จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ตอนบน มีระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 – 2554 ปรากฏว่าโครงการนำร่องทั้งสองพื้นที่ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และเป็นไปตามเป้าประสงค์และแผนงานที่วางไว้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือในการขยายช่องทางการตลาดของ SMEs ขององค์การเพื่อการส่งเสริมเอสเอ็มอีและนวัตกรรมภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (Small & Medium Enterprises and Regional Innovation : SMRJ) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน SMES Expo ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้พื้นที่กับผู้ประกอบการไทยที่มีผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมแสดงในงาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงงาน จำนวน 16 ราย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งมีผู้สนใจเข้ารับข้อมูลจากผู้ประกอบการภายในงานไม่ต่ำกว่า 100 ราย
ร่วมมือกับ UNIDO จัดทำ รายงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2555)
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จากประเทศเวียดนาม จัดทำรายงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Report 2011) ภายใต้ชื่อ “ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืน : กับสิ่งแวดล้อมเงินปันผลเศรษฐกิจและสังคม” (Industrial energy efficiency for sustainable wealth creation: capturing environmental, economic and social dividends)
รายงานดังกล่าวเป็นผลการดำเนินงานของ UNIDO ซึ่งระบุว่าจากปริมาณการใช้พลังงาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศกำลัง พัฒนามุ่งลดช่องว่างระหว่างรายได้กับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้หลักการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ผลจากรายงานนี้มุ่งหวังว่า จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีผลิตภาพเพิ่มมากขึ้น โดยในการดำเนินงานUNIDO จะสนับสนุนงบประมาณ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนสถานที่และประสานงานภาคเอกชนไทย มีเป้าหมายให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการ 100 โรงงาน และผลักดันแนวทางนี้สู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป
โครงการฯ นี้มีเป้าหมายเชื่อมโยงกัน 3 ส่วนได้แก่ การเข้าถึงบริการทางพลังงานที่ทันสมัยอย่างกว้างขวาง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว
2549
ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเพิ่มเติม
เพื่อให้การดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับยุคสมัย และให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ จึงมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งปรับแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเน้นการสร้างและพัฒนารูปแบบ แนวทาง และขั้นตอนการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่ออกเป็น 4 กลุ่ม
ได้แก่ กลุ่มบริหารและแผนงาน กลุ่มเทคโนโลยีและการจัดการ กลุ่มอุตสาหกรรมรายสาขาและกลุ่มผู้ให้บริการ โดยในแต่ละกลุ่มประกอบด้วยหน่วยงานระดับสำนัก ทำหน้าที่สร้างและพัฒนารูปแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมและทำงานในลักษณะเชื่อมโยงบูรณาการกัน ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการให้บริการผู้ประกอบการและวิสาหกิจ
ต่อมาในปี 2550 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยมีการปรับปรุงและพัฒนาส่วนราชการและวิธีปฏิบัติงาน ตลอดจนระบบการบริหารบุคคลให้ทันสมัย รองรับกับยุทธศาสตร์และคำรับรองการปฏิบัติราชการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีการจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์ และปรับเปลี่ยนสำนักงานเลขานุการกรม เป็นสำนักบริหารกลาง รวมทั้ง แยกสำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เป็นสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม และสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและดูแลได้ทั่วถึง ทั้งนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551
2551
จัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง
นับจากที่มีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก มาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปางอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนของจังหวัดลำปาง จัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่วยสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง เพื่อเป็นอาคารศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าเซรามิกและสินค้าหัตถอุตสาหกรรมของจังหวัดลำปางที่ครบวงจร เป็นทั้งศูนย์กลางของการเจรจาการค้า (Business Center) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ เป็นแหล่งบริการข้อมูล ข่าวสารและองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การบริหารจัดการ
โดยให้บริการในลักษณะศูนย์บริการธุรกิจ (Business Opportunity Center : BOC) เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงกลุ่มอุตสาหกรรมของจังหวัดลำปางให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และเพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมการตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับต่างประเทศ