การจัดตั้งธุรกิจนิติบุคคล


29 พ.ย. 2564    nutnaree    3,208

 

        ตามที่กล่าวไว้แล้วว่าในเรื่องการจัดตั้งธุรกิจสำหรับเจ้าของคนเดียวในบทที่แล้ว ธุรกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์หรือจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ล้วนเป็นธุรกิจขนาดเล็กทั้งนั้น หากกิจการของเราเริ่มต้นด้วยการร่วมหุ้น หรือมีการดำเนินการร่วมกับผู้อื่นจำนวนหลายคนและมีเงินลงทุนจำนวนมากกว่า 500,000 บาทขึ้นไป ผู้ประกอบการก็ควรต้องเลือกรูปแบบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะเหมาะสมกว่า

 

มารู้จักนิติบุคคลกันก่อนว่านิติบุคคล คืออะไร?

 

     นิติบุคคล คือบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นเพื่อให้มีความสามารถ มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบได้ตามกฎหมายเหมือนกับบุคคลธรรมดา เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของบุคคลมากกว่าสองคนขึ้นไปเพื่อร่วมทุนกันและเพื่อก่อตั้งกิจการรวมทั้งดำเนินกิจกรรมด้วยกัน สำหรับนิติบุคคลจะไม่สามารถกระทำการเหมือนบุคคลธรรมดาได้ทุกเรื่องเพราะเป็นการรวมตัวกัน ดังนั้นนิติบุคคลจึงต้องมี “ผู้แทน” กระทำการแทน ผู้แทนนี้จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ซึ่งการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

  • 1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

  • 2. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

  • 3. บริษัทจำกัด

     ** นอกจากสามประเภทนี้แล้วยังมีนิติบุคคลอีกสองประเภทที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจคือ สมาคมและมูลนิธิ แต่ในธุรกิจทั่วไปนั้นนิติบุคคลสามประเภทนี้สำคัญที่สุด

 

     1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด  ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยความรับผิดชอบของหุ้นส่วนแบ่งได้เป็นสองจำพวกคือหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด คือเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนั่นเอง จะเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบไม่จำกัดจำนวน แต่จะมีหน้าที่และสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆของกิจการ ส่วนหุ้นส่วนอีกจำพวกหนึ่งคือหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด หุ้นส่วนจำพวกนี้จะรับผิดชอบในหนี้สินไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ลงทุนไป แต่จะไม่มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีเพียงสิทธิในการสอบถามผลการดำเนินงานของห้างเท่านั้น

 

     2. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล  เป็นห้างหุ้นส่วนที่มีบุคคล 2 คนขึ้นไปมาร่วมลงทุนกัน โดยหุ้นส่วนทุกคนไม่จำกัดความรับผิดชอบ และแต่ละคนก็มีอำนาจในการจัดการกิจการของห้าง ทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมีขั้นตอนการจดทะเบียนเหมือนกันดังนี้

 

 

     สำหรับผู้ที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนได้ ที่นี่ Download

     **หรือสอบถามได้ที่เว๊ปไซค์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ www.dbd.go.th/main.php?filename=index

 

     3. บริษัทจำกัด  เป็นนิติบุคคลที่มีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปร่วมกันทำกิจการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรจากการดำเนินกิจการนั้นและนำกำไรมาแบ่งปันกัน โดยบริษัทจำกัด จะแบ่งทุนออกเป็นหุ้น มูลค่าหุ้นละเท่าๆ กัน เช่นหุ้นละ 100 บาทเป็นต้น สำหรับผู้ลงทุนในบริษัท เราจะเรียกว่าผู้ถือหุ้น ดังนั้นผู้ที่จะไปจดทะเบียนบริษัทจึงต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งอย่างน้อยจำนวน 3 คน และการจดทะเบียนบริษัทค่อนข้างจะยุ่งยากในการพิมพ์เอกสาร จึงขอแนะนำให้ใช้บริการของบริษัทที่รับจดทะเบียนนิติบุคคลจะดีกว่าซึ่งราคาค่าบริการประมาณ 2,000-3,000 บาท ทำให้เราประหยัดเวลาและไม่เกิดข้อผิดพลาดในการยื่นเอกสารได้ ผู้สนใจจดทะเบียนบริษัทสามารถสอบถามเพิ่มเติมตามที่อยู่ข้างล่าง

 

 

     เมื่อคุณได้จดทะเบียนเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเรียบร้อยแล้ว นิติบุคคลจะต้องไปขอเลขผู้เสียภาษีอากรจากรมสรรพากรซึ่งเป็นเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลักเพื่อใช้ในการยื่นภาษีต่อไป เมื่อทราบว่าการจดทะเบียนนิติบุคคลทำอย่างไรบ้าง หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยต่อว่าควรจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือจดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดดี หรือว่ายังไม่ควรจดทะเบียนนิติบุคคลเลย ไปจดเป็นทะเบียนพาณิชย์ก่อนดีไหม ผู้เขียนขอแยกประเด็นออกเป็นข้อๆเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้

  • คุณควรจดเป็นนิติบุคคลในกรณีที่คุณมีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการถือหุ้น การแบ่งผลกำไร และความรับผิดชอบในหนี้สินต่างๆเพราะการจดทะเบียนพาณิชย์มีเจ้าของคนเดียว อาจจะเป็นข้อถกเถียงว่าจะใช้ชื่อใคร และต่อไปในอนาคตอาจมีปัญหาได้

  • กิจการที่ต้องติดต่อประมูลงานราชการหรือรับงานจากบริษัทใหญ่ๆทั้งในประเทศและบริษัทข้ามชาติ จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทมากกว่าการจดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเพราะจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เนื่องจากบริษัทจำกัด จะต้องนำส่งงบการเงินที่ตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะถูกตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีภาษีอากรเท่านั้น

  • กิจการที่มีการติดต่อนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประโยชน์ในทางภาษีและเพื่อให้ได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้าต่างประเทศเพราะเป็นกิจการที่เป็น company limited กรณีนี้ก็ไม่ควรจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด

 

     จากประเด็นต่างๆที่กล่าวมาแล้ว คุณคงพอตัดสินใจได้ว่าจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลดีหรือไม่ หรือจะดำเนินการไปก่อนสักพักให้มีลูกค้ามากขึ้นแล้วค่อยไปจดทะเบียนภายหลัง ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับหุ้นส่วนและความพร้อมในเงินลงทุนเพราะการจดเป็นนิติบุคคลมีภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นทุกปี เช่นค่าจัดทำบัญชี ค่าตรวจสอบบัญชี ค่าภาษีต่างๆ เป็นต้น