"ดีพร้อม" วิพากษ์ผลของคณะทำงานศึกษาปรับปรุงกฎหมายอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร โชว์นโยบาย "รมต.เอกนัฏ" แนวทางการช่วยเหลือ Disrupted Industries อุตสาหกรรมที่หยุดชะงัก และการส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าสู่ยุค Digital Transformation
กรุงเทพฯ 14 พฤศจิกายน 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานศึกษาปรับปรุงกฎหมายเพื่อดูแลอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถปรับตัวได้ทัน (Disrupted Industries) ภายใต้คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยมี ว่าที่ร้อยตรีไพศาล เอกคณิต เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ ในโอกาสขอเข้าพบ พร้อมหารือแนวทางการแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบ ร่วมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter)
การเข้าพบครั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้แจ้งวัตถุประสงค์ถึงการดูแลและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยศึกษาปัญหาของอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมทางการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและไม่สามารถปรับตัวได้ทัน รวมถึงพิจารณาศึกษากฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยรัฐที่ดูแลส่งเสริมการอุตสาหกรรม และเสนอแนะการปฏิรูปกฎหมายหรือการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่และบทบาทของดีพร้อม
อีกทั้ง ได้เสนอผลการศึกษา และแนวทางการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่หยุดชะงักด้วยการที่ดีพร้อมให้การช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ถูก Disrupt ผ่านการส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าสู่ยุค Digital Transformation การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม ด้วยการ Upskill/Reskill บุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้สามารถยกระดับการประกอบการให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการไทยผ่านระบบนิเวศเศรษฐกิจโดยใช้ Digital Economy การจัดสรรเงินกองทุน การส่งเสริมการเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม และการผลักดัน Low Carbon Industry รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สศอ.ควรสร้าง Digital Economy เป็น Ecosystem Economy ถ่ายทอดผลงานวิจัยจาก สวทช. ไปสู่ ดีพร้อม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ เร่งรัดให้เกิดการรายงานข้อมูลการปฏิบัติทั้งที่เป็น "กฏหมาย และไม่ใช่กฏหมาย" เข้าระบบและนำมาประมวลผลจัดระดับโรงงานชั้นดี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีและด้านการเงิน รวมถึงการผลักดันการซื้อขาย Carbon Credit ระดับ T-Ver การสร้างกลไกการทำ Life Cycle Assessment : LCA และการกำกับติดตามปัญหา "นอมินี" นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ได้เสนอให้ดีพร้อมส่งข้อมูลเรื่องการขอจัดตั้งกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มในรานงานการศึกษา ประกอบด้วย ภารกิจ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมตัวชี้วัดของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของคณะทำงานฯ ต่อไป
ทั้งนี้ รปอ.รก.อสอ.ณัฏฐิญา ได้ชี้แจงว่า ตามบทบาท ภารกิจของดีพร้อมจะดูแลครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมหกรรมเป้าหมายในอนาคต หรือ S-Curve รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน แม้กระทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งตอนนี้กำลังมุ่งเน้นภารกิจในการขับเคลื่อนภาคเกษตรอุตสาหกรรม โดยการนำศาสตร์ของอุตสาหกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับด้านเกษตร เพื่อพัฒนาต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไปจนถึงการตลาด อีกทั้งดีพร้อมยังมีเซ็นเตอร์กระจายตัวทั่วทุกภูมิภาค และได้ถูกกำหนดเป็นศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมนำร่อง คือ เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อรองรับในเรื่องผลผลิตที่ล้นตลาดนำมาแปรรูปทำให้เกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สามารถไปทดลองการผลิตและทำต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของตลาดยานยนต์จะไปในทิศทางของพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยจึงมีมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถ EV เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนรถยนต์ ICE และ HEV ที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อลดผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าและเพิ่มความสามารถในการส่งออก