“PONK SMiTHi” เครื่องประดับจากเทคนิคโมกุเม่ กาเน่
งานชิ้นเดียวในโลกลวดลายเฉพาะ ไม่ซ้ำใคร คุณพ้อง พรสมิทธิกุล ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับทองฝังเพชร ได้นำเทคนิคโมกุเม่ กาเน่ (Mokume Gane) เทคนิคดั้งเดิมในการผลิตลวดลายโลหะ ที่เกิดจากการผสานโลหะตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ด้วยกระบวนผลิตก่อเกิดเป็นลวดลาย โดยลวดลายของโมกุเม่ กาเน่ เกิดจากความแตกต่างของสี และคุณสมบัติของเนื้อโลหะนั้น ๆ ซึ่งจะนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องประดับทุกชนิด ภายใต้แบรนด์ PONK SMiTHi ด้วยเทคนิคโมกุเม่ กาเน่นี้เอง ที่สร้างจุดเด่นให้เครื่องประดับชิ้นนั้น ๆ มีลวดลายเฉพาะชิ้นเดียวในโลก แต่หากมองย้อนกลับเข้าสู่ธุรกิจซึ่งก็เหมือนธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วไป ที่ยังขาดแนวคิดและแนวทางที่จะนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จึงได้เข้าร่วมโครงการ Genius Academy 2017 (ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจสู่ฐานราก AEC) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการ ได้นำความรู้และคำแนะนำที่ได้ไปต่อยอดธุรกิจ เริ่มจากปรับกระบวนการคิด กำหนดแนวทางให้ธุรกิจ รวมทั้งนำจุดแข็งที่จะเป็นโอกาสในการสร้างข้อได้เปรียบคู่แข่ง มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2 ชุด ชุดที่ 1 เป็นแหวนและกำไลคู่ ซึ่งเป็นคู่ที่ติดกัน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน โดยเมื่อลูกค้าซื้อจะดึงชิ้นของผู้หญิงออกจากชิ้นของผู้ชาย และชุดที่ 2 เป็นรูปแบบของ Collection ที่ใช้เงื่อนมัด (Knot) สื่อความหมายถึงความสัมพันธ์การเชื่อมผสานกันอย่างลึกซึ้ง มุ่งเจาะตลาดญี่ปุ่นที่ชื่นชอบงานที่มีความละเอียดสูงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ประมาณ 5-10% คุณพ้อง พรสมิทธิกุล บริษัท สมิทธี จิวเวลรี่ จำกัด 261/434 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อยกรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ : 08 9109 2922 http://smithijewel.com ที่มา : รายงานประจำปี 2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2560
สร้อยเครื่องเงินผสมผ้าไหมไทย ร้านฐิติวรรณเครื่องเงิน
“เครื่องเงิน” เครื่อง ประดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ของเขวาสินรินทร์มรดกทาง วัฒนธรรมที่ผ่านกระบวนการ ขัดเกลาและมีการสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันเหลือผู้ผลิตน้อยราย คุณฐิติวรรณ อยู่ครบ เจ้าของร้านฐิติวรรณ เครื่องเงิน ตัวแทนบรรพบุรุษ เขวาสินรินทร์ที่ต้องการ สืบทอดมรดกนี้ให้เป็นที่รู้จัก ในวงกว้างมิให้เลือนหาย ไปตามกาลเวลาจึงพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ผ่านโครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและ ภูมิปัญญา ประจำปี 2560 โดยนำผ้าไหม ของจังหวัดสุรินทร์มาพัฒนาให้คงทนขึ้น มาเป็น ส่วนประกอบของสายสร้อยคอและกำไล แทน การใช้เครื่องเงินทั้งชิ้น สร้างลวดลายใหม่ที่ สวยงามแปลกตาอีกทั้งลดต้นทุนการผลิตจาก การลดปริมาณการใช้เครื่องเงินลงได้ เจาะกลุ่ม ลูกค้าที่ชื่นชอบงานเครื่องประดับแฮนด์เมด อีกทั้ง สามารถร่วมออกแบบลวดลายของตนเองได้ด้วย ด้วยราคาที่ไม่สูงนัก เฉลี่ย 2,500-2,800 บาท เท่านั้น จากเดิมที่ต้องขายในราคา4,500 บาท เนื่องจากต้นทุนของเครื่องเงินที่สูง ผู้บริโภคจึง ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ทางร้านมี รายได้เพิ่มมากขึ้นกว่า20% ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่พัฒนางานมา คุณฐิติวรรณ อยู่ครบ ร้านฐิติวรรณเครื่องเงิน 282 หมู่ 1 ต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ 32000 โทรศัพท์ : 08 1391 7423 ที่มา : รายงานประจำปี 2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2560
บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด เสริมศักยภาพการผลิตด้วยไอที
เมื่อวงการเครื่องประดับอยู่ในสภาวะการแข่งขันสูง บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด ผู้ผลิตอัญมณีไทยขนาดกลาง จึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์ธุรกิจจากการรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า มาเป็นการออกแบบเครื่องประดับด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นของตนเองแล้วนำไปเสนอขายให้ลูกค้าแทนทำให้กระบวนการผลิตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเรื่องของขั้นตอนการทำงาน รวมถึงปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องบริหารจัดการ “เมื่อก่อนแหวนหนึ่งวงใช้พลอยอย่างมาก 10 เม็ด ออร์เดอร์เข้ามา 1,000 ชิ้น ก็เตรียมพลอยแค่ 10,000 เม็ด แต่พอเป็นงานแฟชั่นเน้นดีไซน์ กำไลบางชิ้นต้องใช้พลอยถึง 1,000 เม็ด คละกัน 10 สี 10 ไซส์ ช่างที่ต้องเตรียมวัตถุดิบ เดิมใช้วิธีเขียนลงกระดาษแล้วไปเบิกของมาผลิต ก็ทำงานยากขึ้นและช้าลง” โจทย์ใหม่อันท้าทายนี้ ทำให้คุณธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ทายาทรุ่นที่สองที่เข้ามาบริหารกิจการ ต้องมองหาตัวช่วย นั่นก็คือระบบไอที ซึ่งจะมาเสริมศักยภาพการผลิตให้กับองค์กรเป็นที่มาของการเข้าร่วมโครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ที่ชื่อว่า Double M JeGe’++ 2 ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการธุรกิจเครื่องประดับมาใช้ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโปรแกรมนี้พัฒนาโดยบริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิญมาเป็นที่ปรึกษาช่วยพัฒนาธุรกิจให้กับ SMEs หลังจากการเข้าร่วมโครงการ ECIT ผลอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ทราบข้อมูลและขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิต สามารถประมวลผลและจัดทำรายงานที่เป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว สามารถบริหารทรัพยากรในการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบ ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เห็นผลชัดเจน ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทอยู่ที่การส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากตลาดในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายได้โดยรวมมีการเติบโตราว 15-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องมา 2 ปี หลังจากที่บริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์มาเน้นงานดีไซน์ คุณธันยพรยอมรับว่าหากไม่มีระบบไอทีซึ่งเป็นผู้ช่วยสำคัญแล้ว เธอคงไม่สามารถฝ่าวิกฤตธุรกิจมาได้อย่างเช่นทุกวันนี้ คุณธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งออก บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด 315, 60/2 ถ.ประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2587 0030-5 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
เพิ่มผลิตภาพ อัญมณีไทย เตรียมสยายปีกสู่ AEC
จากการเปิดคลินิกจิวเวลรี่เล็ก ๆ เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจผู้ผลิตอัญมณีเพื่อการส่งออกที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในคุณภาพของสินค้า บ่งบอกถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของคุณสุพร รัตนสนเท่ห์กุล ผู้ก่อตั้งบริษัท พรอสเพอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และการเรียนรู้ต่าง ๆ มากมายกว่าจะมายืนตรงจุดนี้ ก่อนหน้านี้บริษัท เคยประสบปัญหาทั้งเรื่องของการผลิตสินค้าไม่ทัน และคุณภาพของสินค้าจากการชุบโรเดียมแบบปากกาที่ไม่สามารถทำให้บริเวณที่ชุบมีความเงางามได้ ส่งผลให้ลูกค้าต้องขอคืนสินค้าทั้งหมด เกิดความเสียหายอย่างมาก จากปัญหาดังกล่าว คุณสุพร รัตนสนเท่ห์กุล จึงเข้าร่วมโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ” กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านการผลิต ในการเข้าร่วมอบรม ทางกรมฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูระบบการผลิตของบริษัท โดยให้ความรู้แก่พนักงานถึงคุณสมบัติของเคมีที่มีต่อชิ้นวัสดุ การปรับกระบวนการด้านเวลา กระแสไฟฟ้า และเคมี ให้มีความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น ทำให้ลดงานซ่อมจากการคืนสินค้าจากเดิมอัตราร้อยละ 50 ลดลงเหลือร้อยละ 20 และสามารถลดต้นทุนค่าแรงจ้างงานซ่อมจากเดิม 2,000 วงต่อเดือน ลดลงเหลือ 100 วงต่อเดือน นับเป็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างดี ปัจจุบันคุณสุพร ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมก้าวสู่เวทีการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยการสร้างแบรนด์ของตัวเองเพื่อรองรับตลาดอาเซียน รวมถึงการสร้างเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าอย่างกว้างขวาง ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของคุณสุพร ที่ไม่หยุดนิ่งกับการพัฒนาคุณภาพอัญมณีไทยไปสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน คุณสุพร รัตนสนเท่ห์กุล บริษัท พรอสเพอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 286 ถ.สุรวงศ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทร. 0 2727 0435-8 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
บริษัท เซาเทอลี่ จำกัด ลดความสูญเสีย = ลดต้นทุนและเวลา
สำหรับโลกธุรกิจแล้ว “เวลา” ก็นับเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ “ต้นทุน” ที่เป็นตัวเงิน ก่อนหน้านี้ บริษัท เซาเทอลี่ จำกัด ผู้ผลิตงานเครื่องประดับเงินและทองคำป้อนตลาดยุโรปและออสเตรเลียต้องประสบปัญหาในกระบวนการผลิต เช่น สีของทองคำไม่ได้เฉดตามที่ลูกค้าต้องการ การผลิตบางออร์เดอร์เสียหายเกือบทั้งลอต ทำให้ต้องหล่อชิ้นงานซ้ำ ๆ และซ่อมชิ้นงานหลายครั้งกว่าจะผ่านตามความต้องการลูกค้าจึงทำได้ล่าช้าและเป็นปัญหาบ่อยครั้ง เมื่อปี 2556 จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ในอุตสาหกรรมรายสาขา (ด้านการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ)” โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการผลิตโดยเน้นกระบวนการทำงานให้ดีขึ้นและลดปริมาณความสูญเสียประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีเครื่องจักรผลิตที่ทันสมัย แต่หลายขั้นตอนยังต้องอาศัยความรับผิดชอบ จากแรงงานเป็นสำคัญ โครงการจึงเน้นให้ความรู้ทางวิชาการเพื่อปรับฐานความรู้ให้กับพนักงานในแผนกต่าง ๆ ให้มีความรู้ด้านกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง และให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตตั้งแต่แม่พิมพ์ การติดต้นเทียนที่เหมาะสม การปรับทางเดินน้ำโลหะให้เหมาะกับดีไซน์ของชิ้นงาน การหล่อ การแต่งประกอบชิ้นงาน และกระบวนการชุบ รวมทั้งข้อควรระวังในการจัดหาวัตถุดิบและเครื่องจักร เนื่องจากพบว่าวัตถุดิบและเครื่องจักรมีผลต่อกระบวนการผลิตในบางออร์เดอร์ของบริษัท “การปลุกจิตวิญญาณ ปลุกความตื่นตัวของพนักงานเราที่มีร้อยกว่าชีวิตให้มีความระมัดระวังและใส่ใจมากขึ้น ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมโครงการ บริษัทมีของเสียลดลงมาก ปริมาณการหล่อซ่อมและการซ่อมชิ้นงานลดลงอย่างชัดเจน สามารถส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด ส่งผลให้มีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นในที่สุด” คุณนุชนาถ นันทบุรุษ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท เซาเทอลี่ จำกัด กล่าว เมื่อสามารถลดได้ทั้งต้นทุนและเวลา ศักยภาพการแข่งขันก็ย่อมจะผกผันไปในทางตรงกันข้าม คุณนุชนาถ นันทบุรุษ บริษัท เซาเทอลี่ จำกัด 16/23 ซ.ลุงสอง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000 โทร. 038 053 850-1 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2556