“FULAME” เครื่องหนังย้อมครามธรรมชาติ สร้างความแตกต่าง สู่เทรนด์แฟชั่นที่มีซิกเนเจอร์
คุณชูเกียรติ บุญเรือง นำวิชาความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ร่ำเรียนมา บวกกับความชื่นชอบวิชาเครื่องหนังมาตั้งแต่สมัยเรียนต่อยอดเป็นธุรกิจของตัวเอง สร้างแบรนด์ FULAME (ฟูลาเม่) โดยเริ่มต้นจากนำเครื่องหนังมาทำเป็นกระเป๋า สายกล้อง และพวงกุญแจ แต่เมื่อลองไปออกบูธขายก็พบว่างานเครื่องหนังที่คนอื่นขายไม่ต่างจากที่ตัวเองทำ จึงคิดทบทวนใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมีความแตกต่างจากของคนอื่นในท้องตลาด หลังจากการลองผิดลองถูกค้นหาเทคนิค วัสดุ และวิธีการใหม่ ๆ เพื่อมาปรับใช้กับงานเครื่องหนัง ในที่สุดก็ได้เทคนิคการย้อมครามบนเครื่องหนัง ซึ่งจะต่างจากเดิมที่เป็นการย้อมลงบนผืนผ้าที่เห็นกันทั่วไปโดยหลังจากที่ได้หัดย้อมลงบนแผ่นหนังได้สำเร็จ จึงต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องหนังย้อมครามธรรมชาติ เช่น เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า ซึ่งมีซิกเนเจอร์เฉพาะตัว แต่การจะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักและก้าวไปสู่สากล ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่มากขึ้นจึงได้เข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพนักออกแบบสู่สากลในรูปแบบ Academy ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม องค์ความรู้และคำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับแฟชั่นที่ได้รับถูกนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ตรงใจกลุ่มลูกค้าโดยนำเครื่องหนังย้อมครามธรรมชาติมาออกแบบเป็นชุดเดรสแบบสั้นและแบบยาวเจาะกลุ่มผู้หญิงที่ชื่นชอบแฟชั่นหรือเปลี่ยนการแต่งกายไปตามเทรนด์แต่เนื่องจากในกระบวนการผลิตต้องใช้ต้นทุนสูง ในระยะแรกจึงเป็นการพัฒนาชุดเดรสผ้าคราม และเครื่องประดับหนังที่ออกแบบมาให้เข้ากันกับชุด ซึ่งจากการนำผลิตภัณฑ์ไปออกบูธเพื่อจำหน่าย สามารถเพิ่มยอดขายจาก 40,000 - 50,000 บาท เป็น 150,000 บาท คุณชูเกียรติ บุญเรือง แบรนด์ FULAME 186 หมู่ 10 ถ.พหลโยธิน ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย 57110 โทรศัพท์ : 09 7192 4716 http://www.facebook.com/Fulame ที่มา : รายงานประจำปี 2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2560
บริษัท วี.เอส.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด คลัสเตอร์เครื่องหนังผนึกความแข็งแกร่ง
ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมไทยรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเครื่องหนัง คุณสุริยา ประทีปมโนวงศ์ ผู้จัดการ บริษัท วี.เอส.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด ผู้บุกเบิกตำนานเครื่องหนังไทย อย่างแบรนด์ DEVY และสวมหมวกอีกหนึ่งใบในฐานะนายกสมาคมเครื่องหนังไทย เล่าว่าในอดีตเครื่องหนังของไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มียอดจำหน่ายสูงทั้งในและต่างประเทศแต่ระยะหลังถูกคู่แข่งอย่างประเทศจีนแย่งตลาดไปไม่น้อย เนื่องจากสินค้ามีราคาถูกกว่า รวมถึงการเปิดเสรีทางการค้าทำให้มีการนำเข้าเครื่องหนังจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้งานฝีมือของคนไทยไม่ก้าวหน้าในตลาดโลกส่วนหนึ่งมาจากงานของไทยไม่เน้นไปที่แฟชั่น แต่เน้นเรื่องของการใช้งานที่คงทน ยาวนาน ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทันต่อแนวโน้มแฟชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้สามารถแข่งขันกับตลาดสากล สมาคมเครื่องหนังไทยจึงร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการจัดงานจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดในประเทศ และทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและจดจำมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนและพัฒนาในหลายด้าน เช่น การสร้างแบรนด์ การออกแบบ การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และการปรับตัวของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้ขยายตลาดส่งออกได้ดีแม้ในช่วงเศรษฐกิจผันผวน โดยปัจจุบันตลาดส่งออกเครื่องหนังของไทยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย และอังกฤษ “หลังจากสมาคมฯ ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกันพัฒนาวงการเครื่องหนังของไทยให้ได้มาตรฐานสากล สินค้าของเราสวยขึ้น ออกมาเป็นสไตล์ที่เมืองนอกต้องการ ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับสมาชิกของสมาคมฯ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมนี้” ในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะสูงขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้นำเอาการพัฒนาวิสาหกิจในลักษณะของการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ มาเป็นแนวทางหนึ่งของกลยุทธ์ที่ทำให้วิสาหกิจเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยการรวมกลุ่มคลัสเตอร์จะเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพให้กับสมาชิกกลุ่มให้สามารถแลกเปลี่ยนถ่ายโอนเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้กับสินค้า ผลิตภัณฑ์ และการสั่งซื้อวัตถุดิบ ฯลฯ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านภาคอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเครื่องหนังหรือเรียกว่า คลัสเตอร์เครื่องหนังกลุ่มได้รวมตัวกันเปิดตัวแบรนด์ “CLUS” เป็นครั้งแรก โดยเริ่มแรกมีสินค้า อาทิ รองเท้าคัทชูส์ รองเท้ามอคคาซิน รองเท้าสปอร์ต และรองเท้าแตะ ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตสินค้าที่มีตราผลิตภัณฑ์และคุณภาพ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ถึงกระบวนในการพัฒนาสินค้าการออกแบบ และการสร้างแบรนด์พร้อมกับโลโก้ ซึ่งจะทำให้เกิดการจดจำแก่ผู้บริโภครวมทั้งการสร้างความร่วมมือของสมาชิกภายในกลุ่มคลัสเตอร์ฯ ในยุค AEC นี้ ในฐานะนายกสมาคมเครื่องหนังไทย คุณสุริยามั่นใจว่า สินค้าเครื่องหนังไทยจะมีอนาคตสดใส ในตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน คุณสุริยา ประทีปมโนวงศ์ (ผู้จัดการ) บริษัท วี.เอส.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด 6/10 หมู่ 9 ซ.วัดบางพึ่งถ.พระราชวิริยาภรณ์ ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โทรศัพท์ : 0 2816 6896-8 โทรสาร : 0 2816 6895 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2557
“เซ็พเอิด” ส่งออกกระเป๋าหนัง ฝีมือคนไทย
จากอาชีพพยาบาลสาวหันมาจับธรุกิจกระเป๋าหนัง ด้วยความรักความชอบที่เป็นกำลังใจให้เดินหน้าต่อ ทำงานที่รักอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่หมั่นแวะเวียนเข้ามา จนทำให้เกิดความแข็งแกร่ง สร้างงาน สร้างรายได้ นำเงินตราจากต่างชาติเข้ากระเป๋าคนไทยได้อย่างภาคภูมิใจ คุณงามนิจ วิจัยธรรม เจ้าของบริษัท เซ็พเอิด จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเครื่องหนังสัตว์แท้และเทียมส่งออกตลาดญี่ปุ่น และยุโรป เล่าว่าหลังจากลาออกจากอาชีพพยาบาล ก็ได้เดินหน้าศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการผลิตกระเป๋าหนัง โดยตัดสินใจเข้ารับคำแนะนำจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพราะเชื่อมั่นในชื่อเสียง และคาดหวังว่าจะได้รับความรู้จากกรมฯซึ่งก็เป็นไปตามคาด คุณงามนิจ ได้ฝึกอบรมการทำกระเป๋าได้อย่างครบกระบวนการผลิต สามารถผลิตกระเป๋าออกมาใช้เองได้ในครอบครัว จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนสนใจกระเป๋าที่ทำ จึงสั่งผลิตจำนวน 200 ใบ ด้วยแรงงานเพียงคนเดียวนั่งทำจนเสร็จใช้เวลากว่า 1 เดือนเต็ม แต่เมื่อหักลบต้นทุนแล้ว มีกำไรเหลือเพียง 500 บาทเท่านั้น จึงเป็นที่มาที่ทำให้ต้องกลับไปศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการช่วยเหลือเพื่อเรียนรู้วิธีคำนวณกำลังการผลิต คำนวณความสูญเสีย ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ตลอดจนระบบการจัดการบริหาร ณ วันนี้ “เซ็พเอิด” มิใช่เพียงผู้ผลิตกระเป๋าหนังที่สามารถสร้างกำไรให้คุณงามนิจอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังมีการสร้างงานให้กับพนักงานอีกกว่า 100 ชีวิต ให้มีรายได้ ตลอดจนส่งออกสินค้ากระเป๋าหนังจนสร้างชื่อเสียง และนำเงินตราจากต่างชาติเข้าประเทศไทยได้อย่างประสบความสำเร็จ “ตลอด 26 ปี ที่ผ่านมาเรามีความตั้งใจ หมั่นศึกษาหาข้อมูลเสมอ และการได้ร่วมออกบูธศึกษาดูงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เราได้เห็นตลาด ได้พบเจอลูกค้าจากประเทศนั้น ๆ ก่อเกิดเป็นออร์เดอร์ในการจ้างผลิตประกอบกับการใส่ใจในทุกชิ้นงานการผลิต ความประณีตในการผลิตและดีไซน์ที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จ แม้แต่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ว่าจะพิษต้มยำกุ้ง หรือพิษแฮมเบอร์เกอร์เราก็ผ่านมาได้ด้วยดี” คุณงามนิจ วิจัยธรรม บริษัท เซ็พเอิด จำกัด 27/107 ซ.กาญจนาภิเษก 005/1 ถ.กาญจนาภิเษก แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160 โทร. 08 1845 5368 เว็บไซต์ www.shepherd.co.th ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
จากกระเป๋า OTOP ยกระดับสู่ตลาดอินเตอร์
การค้นพบตัวตนว่าชื่นชอบในผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋า เครื่องหนังและผืนผ้าเอกลักษณ์ไทยของ คุณศิริลักษณ์ เห็นถูก ประธานกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวาง นำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มแม่บ้าน คนทำงาน เติบโตขึ้นจนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 โดยผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ GHK ซึ่งได้เรียนรู้ร่วมกันทั้งในส่วนของการผลิต การสร้างแบรนด์ การทำตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมทั้งหมั่นเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกิจกรรม “การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกรายสาขา” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จนปัจจุบันสินค้าภายใต้แบรนด์ GHK ได้รับการยอมรับทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศมีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ฯลฯ การเรียนรู้และการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งส่งผลให้สินค้าของกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวางเติบโตขึ้นมากกว่า 60% โดยเพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน การผสมผสานระหว่างผ้าทอกับเครื่องหนัง รวมไปถึงการผลิตกระเป๋าสานจากหญ้าสามเหลี่ยมด้วยการนำวัตถุดิบที่มีสีสันสวยงามตามธรรมชาติและมีอยู่แห่งเดียวในโลกที่จังหวัดน่าน รังสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐาน OTOP ที่ได้รับรางวัลสินค้ายอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว ต่อเนื่องกันถึง 3 ปีซ้อน ปัจจุบันสินค้าต่างๆ ของกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวางจัดเป็นกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมที่มีการวางจำหน่ายในร้านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และร้านค้าชั้นนำภายในห้างสรรพสินค้า สำหรับก้าวต่อไปกับเวทีการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC สินค้าภายใต้แบรนด์ GHK ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ซึ่งทางกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐาน Carbon Footprint อย่างเป็นทางการแล้ว หรือแม้แต่การเข้าสู่ AEC ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มรอคอยและเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจครั้งสำคัญ คุณศิริลักษณ์ เห็นถูก ประธานกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวาง 328 ถ.ประชาอุทิศ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทร. 0 2691 1471, 08 9487 4407 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2556