จับตามองการประชุม คณะกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงาน โครงการขอสินเชื่อผลิตภัณฑ์ยาง


05 ก.พ. 2558    Admin    814

โครงการขอสินเชื่อยางเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในมาตการที่ 2  เพื่อผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นและการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น (แนวทางนี้เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 2 โครงการ คือโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงินกู้ 15,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางวงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท หมายความว่ารัฐบาลยอมจ่ายเงิน 750 ล้านบาท แทนผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยกู้เงินให้ธนาคารเจ้าหนี้ ในสองโครงการนี้) ในการประชุมครั้ังนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยการประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานโครงการขอสินเชื่อผลิตภัณฑ์ยาง และผู้ประกอบกิจการโรงงานที่แสดงเจตจำนงในการขอสินเชื่อ เพื่อชี้แจงรายละเอียดและแนวปฏิบัติ  ในวันพุธที่ 28 มกราคม 2558 เวลา 8.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชุณหะวัน  ชั้น 3  อาคาร สปอ. สรุปสาระสำคัญของการประชุมได้ดังนี้   ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุมเพื่อทราบ เป็นการประชุมครั้งที่แล้วพิจารณาเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการพิจารณาการขอสินเชื่อในการตรวจสอบรับรองความเหมาะสม  และแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบติดตามและเร่งรัดเพื่อนำผลมาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและให้ สศอ. ติดตามผลจากธนาคารออมสินและประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้คณะทำงานฯ  รายงานความก้าวหน้าทุกเดือน ระเบียบวาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุม ระเบียบวาระที่ 3 ไม่มีเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องพิจารณา  ในส่วนแรกเป็นเรื่องที่ประชุมพิจารณาแนวทางปฏิบัติ และหลักเกณฑ์อนุมัติการปล่อยสินเชื่อ  โดยธนาคารออมสินพิจารณาคุณสมบัติผู้ประกอบการเบื้องต้นและแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการได้ 3 กลุ่ม
               กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของธนาคารพร้อมจะดำเนินการต่อไปได้                    
               กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีหลักประกันสินเชื่อและเอกสารประกอบโครงการไม่ชัดเจน
             กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันสินทรัพย์
ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีปัญหาที่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3  ด้วยสาเหตุดังนี้
           -  หลักทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกันสินเชื่อเป็นหลักทรัพย์ที่ได้จดจำนองเพื่อค้ำประกันสินเชื่ออื่นกับธนาคารพาณิชย์อยู่ก่อนแล้ว
                  -  ผู้ประกอบการไม่มีแผนธุรกิจแผนการตลาดและแผนการบริหารงานที่ชัดเจน
                  -  ผู้ประกอบการไม่ได้ประมาณการเรื่องเงินทุนหมุนเวียน และหลักทรัพย์ที่จะค้ำประกันเพิ่มเติม
                  -  สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (DE) ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารออมสิน
                  -  ผู้ประกอบการหลายรายยื่นขอรับการสนับสนุนสินเชื่อโดยรวมทั้งการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การซื้อ
ที่ดิน การสร้างอาคารรวมทั้งเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่สนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเท่านั้น จะทำให้วงเงินที่ได้รับการสนับสนุนปรับลดลงน้อยกว่าที่ยื่นไว้
    ความไม่มั่นใจของธนาคารออมสินในการปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาถึงหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อที่ยังถือหลักเกณฑ์ปกติเช่นเดิมยังไม่ผ่อนปรนให้สำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เนื่องจากยังไม่ชัดเจนในเรื่อง “ขยายกำลังการผลิต” ครอบคลุมเฉพาะเครื่องจักรเท่านั้นหรือไม่หรือรวมถึงการสร้างใหม่/ขยายโรงงานซื้อเครื่องจักรใหม่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมติ  ครม.   ไม่มีรายละเอียดระบุไว้ชัดเจน   ณ ปัจจุบันผู้ประกอบการยื่นกู้เข้ามาแล้วทั้งหมด 22 ราย ส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาความเหมาะสมของกำลังการผลิตกับเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีรวมถึงปัญหาด้านมลภาวะแล้ว 3 ราย  และผ่านหลักเกณฑ์เบื้องต้นแล้ว 2 ราย อีก 1 รายอยู่ระหว่างการพิจารณา วงเงิน 570 ล้านบาท  ส่วนที่เหลือจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 และ 3 อีก 19 ราย เนื่องจากธนาคารออมสินพบปัญหาที่ไม่ผ่านการพิจารณาข้างต้น        ผู้แทนสมาคมถุงมือยาง ได้ให้ข้อมูลว่าเรื่องวัตถุประสงค์ของโครงการได้เป็นมติไปก่อนหน้านี้แล้วโดยตัวโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ขยายปริมาณการใช้ยาง”  หากสงสัยให้ทำเรื่องสอบถามไปที่  กนย. หรือ  คสช.  และยังเสนอให้ธนาคารออมสินทำความเข้าใจและคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ  เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อด้วยว่าหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันสินเชื่อจะใช้หลักทรัพย์ที่เกิดใหม่จากการเข้าร่วมโครงการเป็นตัวค้ำประกันและให้ธนาคารออมสินคลายความกังวลใจเนื่องจากสถานการณ์การตลาดถุงมือไทยซึ่งปัจจุบันผลิตไม่พอจำหน่าย  โดยไทยต้องซื้อถุงมือยางจากมาเลเซียที่ซื้อยางของไทยไปผลิตถุงมือกลับมาเพื่อขายส่งออก และในเวียดนาม มีโรงงานผลิตถุงมือยาง 14 เครื่อง และ 7 เครื่องที่ผลิตได้นั้น    เข้ามาทำสัญญาให้ไทยเป็นตลาดส่งออกให้      
     ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ได้ให้ข้อมูลสถานการณ์ถุงมือยางว่าทั่วโลกผลิตได้ 1 แสนล้านชิ้น  ไทยผลิต 2.7 หมื่นล้านชิ้น  มาเลเซีย  ผลิต 7 หมื่นล้านชิ้น  ตลาดโลกโตขึ้นเฉลี่ย 10 % ต่อปี แต่อัตราการเติบโตไปอยู่ที่ มาเลเซีย  จึงต้องทำโครงการเพื่อขยายกำลังการผลิตและการใช้ยางของประเทศให้ มากขึ้น  และได้ขอรายชื่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสินที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ เพื่อให้สมาชิกสมาคมได้ติดต่อประสานงานโดยตรงด้วย มติที่ประชุมให้ธนาคารออมสินประสานงานกับสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาสรุปประเด็นปัญหาที่ยังปล่อยสินเชื่อไม่ได้ให้ที่ประชุมพิจารณาแก้ไขต่อไป 
     เรื่องพิจารณาในส่วนที่สอง  การดำเนินการจัดทำ Public Service Account (PSA) เพื่อขอรับการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้แก่ธนาคารออมสินเมื่อธนาคารได้พิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการตามกฎ ระเบียบ  นโยบาย  คำสั่ง  ข้อบังคับของธนาคาร อย่างรอบคอบแล้ว ประธานที่ประชุมได้มีบัญชาให้  สศอ.  จัดประชุมวงเล็กภายในอาทิตย์หน้า โดยเชิญ  นายอำนวย  ปะติเส (รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เป็นประธาน  และให้เชิญผู้เกี่ยวข้องได้แก่  ธนาคารออมสิน  กระทรวงการคลัง  สำนักงบประมาณ  สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางและผู้เกี่ยวข้อง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ  เพื่อหาข้อสรุป และนำเสนอ ครม. โดยเร็ว  และนัดประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานโครงการขอสินเชื่อผลิตภัณฑ์ยางครั้งต่อไปในกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2558 หลังจากได้ข้อสรุปการประชุมวงเล็กแล้ว ข้อเสนอแนะ   จากเรื่องพิจารณาแนวปฏิบัติในส่วนแรก  ประเด็นปัญหาที่ธนาคารออมสินพบในเรื่องไม่มีแผนธุรกิจแผนการตลาดและแผนการบริหารงานที่ชัดเจนที่ผู้ประกอบการ 19 ราย ต้องจัดทำเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อนั้น  เนื่องจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเครื่องมือและงบประมาณอยู่แล้ว ประธานที่ประชุมได้บัญชาให้ผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำเรียน อสอ. ว่าควรพิจารณาระดมเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ และพิจารณางบประมาณเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่แจ้งประสงค์ขอกู้ในโครงการนี้ด้วย

แหล่งที่มาข้อมูล

เรียบเรียง : สิทธิชนคน กสอ.