คู่มือการเขียนแผนธุรกิจ


22 พ.ค. 2563    อภิมุข    6,701

การเขียนแผนธุรกิจ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เจ้าของกิจการใหม่หรือกิจการที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วควรจัดทำแผนธุรกิจไว้ทุกปีเพราะแผนธุรกิจนั้นจะช่วยกำหนดทิศทางให้กับธุรกิจ เนื่องจากแผนธุรกิขจะมีรายละเอียดกลยุทธ์ต่างๆที่สามารถทำให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้ แผนธุรกิจประกอบไปด้วยรายละเอียดของกิจกรรมแต่ละกิจกรรมทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการใช้แผนธุรกิจในการดำเนินธุรกิจได้ คู่มือการเขียนแผนธุรกิจนี้ทาง BSC จะใช้แบบฟอร์มแผนธุรกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นแบบฟอร์มหลักในการเขียนแผน โดยผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ในคู่มือเขียนแผนธุรกิจนี้จะอธิบายหัวข้อต่างๆให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้ผู้เขียนแผนสามารถเขียนแผนธุรกิจของตนเองได้

 

แผนธุรกิจฉบับของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมประกอบไปด้วย 8 หัวข้อดังนี้

    1. ความเป็นมาของธุรกิจ
    2. ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า/บริการของธุรกิจ
    3. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาด
    4. แผนบริหารจัดการ
    5. แผนการตลาด
    6. แผนการผลิต
    7. แผนการเงิน
    8. แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยง

 

ขออธิบายรายละเอียดที่ควรเขียนลงไปในแต่ละหัวข้อคือ

 

    1. ความเป็นมาของธุรกิจ
ผู้เขียนควรเขียนประวัติของกิจการว่าเริ่มทำเมื่อไหร่ กิจการทำอะไร มีความเป็นมาอย่างไรเพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงแนวคิดในการจัดตั้งธุรกิจ หากเป็นธุรกิจใหม่ก็เล่าถึงความเป็นมาที่อยากจะทำธุรกิจใหม่นี้ เมื่อเล่าถึงความเป็นมาแล้วก็ต้องเขียนถึงวิสัยทัศน์ของธุรกิจว่าอยากให้ธุรกิจเป็นแบบไหนในอนาคตอีก 5-10 ปี เพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นไปตามที่คิดไว้ธุรกิจก็ต้องมีพันธกิจ (ภาระกิจ) ที่จะต้องทำอะไรบ้าง เช่นต้องการขยายตลาดให้ทั่วประเทศก็มีพันธกิจที่ต้องมีช่องทางขายให้มากครอบคลุมทั้งประเทศ เป็นต้น สำหรับข้อ 1.5 ของหัวข้อนี้คือเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งผู้เชียนต้องตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขจะได้วัดผลวาได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ หัวข้อความเป็นมาเป็นหัวข้อที่เราต้องจินตนาการเรื่องในอนาคตที่อยากบรรลุผลโดยหาปัจจัยแห่งความสำเร็จว่าถ้าเราจะบรรลุผลได้จะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างเช่น มีต้นทุนต่ำ หรือมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ เป็นต้น

 

    2. ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า/บริการของธุรกิจ
หัวข้อนี้ค่อนข้างง่ายเพราะผู้เขียนทราบอยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ตนเองคืออะไร เพียงแต่ต้องใส่รายละเอียดเพื่อให้ผู้อ่านแผนธุรกิจเข้าใจว่าขายอะไรหากมีรูปภาพประกอบก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

 

    3. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาด
หัวข้อนี้จะประกอบไปด้วย 9 ข้อเล็ก ซึ่งมีความยากเพราะผู้เขียนต้องไปศึกษาอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์ตนเองให้ละเอียดโดยหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนว่ามีสภาวะตลาดอของธุรกิจเป็นอย่างไร มีการแข่งขันสูงหรือไม่ ส่วนแบ่งการตลาดได้มากน้อยแค่ไหน และมีแนวโน้มของธุรกิจดีหรือไม่ ผู้เขียนควรกำหนดว่าลูกค้าที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เป็นใคร ตลาดที่จะเข้าไปขายมีสภาพเป็นอย่างไร ใครเป็นคู่แข่งขันคู่แข่งรายสำคัญบ้าง รวมทั้งต้องวิเคราะห์ SWOT Analysis คือต้องวิเคราะห์ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจ และวิเคราะห์ถึงโอกาสและอุปสรรคที่มีของธุรกิจด้วย ผู้เขียนจะต้องให้ความสำคัญในการหาข้อมูลเพราะการมีข้อมูลไม่ครบก็จะมีความเสี่ยงมากตามไปด้วย การที่ผู้เขียนไม่วิเคราะห์อุตสาหกรรมและตลาดให้ละเอียดก่อนทำธุรกิจก็อาจเกิดความล้มเหลวต้องเลิกกิจการไปได้

 

    4. แผนบริหารจัดการ
ให้ใส่แผงผังองค์กรว่าใครมีหน้าที่อะไรและกิจการแบ่งงานและสายการบังคับบัญชาอย่างไร ในหัวข้อนี้ควรใส่ประวัติของผู้บริหารเพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารงานด้วย

 

    5. แผนการตลาด
ผู้เขียนจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการตลาดเพื่อนำมาประกอบการวางแผนตลาดได้ หัวข้อนี้มีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากการจะกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดได้จะต้องมีความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์ เพราะกลยุทธ์จะมีทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและด้านการส่งเสริมการขาย โดยผู้เขียนต้องทราบแน่ชัดแล้วว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าใคร ใครเป็นลูกค้าตัวจริงของกิจการ การวางกลยุทธ์ตลาดได้จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายยอดขายก่อนว่าจะขายเดือนละเท่าไหร่หรือปีละเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลขเป้าหมายแล้วจึงมาวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

 

    6. แผนการผลิต
เมื่อเรากำหนดเป้าหมายการขายไปแล้วก็ต้องมาวางแผนการผลิตให้ละเอียด ในหัวข้อนี้จะบอกถึงที่ตั้งของโรงงาน, เครื่องจักร, เครื่องมือ, อุปกรณ์ และใส่รายละเอียดเรื่องกำลังการผลิตของกิจการ, กระบวนการผลิตตั้งแต่แรกจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป เมื่อผู้เขียนได้เขียนแผนแล้วก็จะพบว่าจะต้องเพิ่มเติมเครื่องมืออุปกรณ์อะไรบ้างเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้

 

    7. แผนการเงิน
ในหัวข้อนี้ผู้เขียนจำเป็นต้องเติมตัวเลขตามช่องว่างที่กำหนดไว้ตั้งแต่ข้อ 7.1-7.9 หากข้อใดหรือช่องใดท่ไม่สามารถเติมตัวเลขได้ก็ให้เว้นเอาไว้ก่อนได้ สำหรับหัวข้อ 7.10-7.12 ซึ่งเป็นการจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด งบดุล ผู้เขียนจำเป็นต้องให้ผู้มีความรู้ในการจัดทำงบการเงินเป็นคนจัดทำให้ หากหาคนทำให้ไม่ได้ก็ไปดาวน์โหลดโปรแกรมจัดทำงบประมาณการที่มีให้ฟรีในอินเตอร์เน็ตและทดลองจัดทำด้วยตนเองก่อน แผนการเงินมักถูกเว้นเอาไว้ไม่ใส่อะไรเลยสำหรับผู้เขียนแผนธุรกิจที่ไม่ได้เรียนเรื่องบัญชีและการเงินมา อย่างไรก็ตามหัวข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวตัดสินว่าธุรกิจที่เราคิดจะลงทุนหรือดำเนินการนั้นจะมีกำไรหรือไม่ จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ BSC จึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะดำเนินธุรกิจใหม่หรือเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจไปไม่เกิน 3 ปีสมัครเข้าร่วมอบรมในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดอบรมทุกปีโดยไปที่เว็บไซค์นี้ www.nec.dip.go.th

 

    8. แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยง
เป็นหัวข้อที่ให้ผู้เขียนแผนธุรกิจประเมินความเสี่ยงธุรกิจที่ตนเองดำเนินการอยู่เพื่อหาทางแก้ไขไว้ก่อนที่จะเกิดขึ้น เช่น ธุรกิจมีความเสี่ยงคือราคาวัตถุดิบอาจขึ้นไปประมาณร้อยละ 10 ทำให้มีผลกระทบกับกำไรของกิจการที่จะลดลงอีกร้อยละ 20 ดังนั้นธุรกิจจึงต้องหาแนวทางแก้ไขไว้ก่อน เช่นเปลี่ยนแหล่งซื้อหรือใช้วัตถุดิบอื่นมาทดแทนวัตถุดิบเดิมที่มีราคาที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

    หากสังเกตดีๆจะเห็นว่าในแบบฟอร์มแผนธุรกิจยังมีอีก 2 ส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงคือส่วนของภาคผนวกซึ่งเป็นส่วนที่เอาให้แนบเอกสารที่เป็นประโยชน์สำหรับแผนธุรกิจ เช่น ใบรับรองมาตรฐานต่างๆที่กิจการได้รับ และอีกส่วนคือบทสรุปผู้บริหาร ซึ่งอยู่ในหน้าแรกของแผนธุรกิจ

 

    บทสรุปผู้บริหารคือบทที่ผู้เขียนแผนจะต้องย่อใจความของแผนธุรกิจทั้งหมดให้เหลือแค่ 1-2 หน้า เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของธุรกิจ เนื้อหาของบทสรุปผู้บริหารควรเขียนเป็นสามส่วนดังนี้

 

    ส่วนที่หนึ่ง เขียนถึงประวัติความเป็นมาโดยย่อของกิจการ บอกถึงสินค้าหรือบริการที่ผลิตและจำหน่าย บอกถึงคุณสมบัติพิเศษของสินค้าหรือบริการในด้านประโยชน์ใช้สอย รูปลักษณ์ คุณภาพ ความคงทน ฯลฯ เขียนถึงความสามารถของผู้บริหารและขนาดของธุรกิจว่าใหญ่เล็กเพียงใด และมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

 

    ส่วนที่สอง เขียนถึงโอกาสทางการตลาด โดยระบุถึงเป้าหมายตลาด(ตัวเลข) ที่กิจการต้องการบรรลุผลบอกถึงส่วนแบ่งตลาดที่คาดว่าธุรกิจจะสามารถครองได้ สภาพของการแข่งขัน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมของธุรกิจ ควรเขียนถึงความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจด้วยว่ามีจุดเด่นอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน เช่นมีความเหนือเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าหรือมีความแตกต่างของสินค้าหรือบริการ ที่ลูกค้าเป้าหมายชื่นชอบมากกว่า

 

    ส่วนที่สาม ใส่ข้อมูลทางการเงิน เช่นเงินลงทุนของเจ้าของ กำไรจากการจัดทำประมาณการ ระยะเวลาในการคืนทุน อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในการจัดทำประมาณการทางการเงินไว้ เพื่อสรุปให้ผู้อ่านทราบว่ากิจการมีความเป็นได้ในธุรกิจสูง