การวิเคราะห์การลงทุน


22 พ.ค. 2563    อภิมุข    1,041

การวิเคราะห์การลงทุนเป็นวิธีหนึ่งที่ป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการได้ การเริ่มต้นธุรกิจมีความเสี่ยงสูงยิ่งเงินลงทุนสูงความเสี่ยงก็ยิ่งสูงตาม ดังนั้นเจ้าของกิจการที่จะเริ่มลงทุนในกิจการใหม่ๆหรือเป็นกิจการที่จะลงทุนเพื่อการขยายควรวิเคราะห์การลงทุนก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนดีหรือไม่ นอกจากนั้นการวิเคราะห์การลงทุนยังทำให้เราทราบว่าการลงทุนนี้จะมีผลตอบแทนกลับมาเท่าไหร่ด้วย การลงทุนสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ

 

    1. การลงทุนเพื่อทดแทนและปรับปรุง เช่นซื้อเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่า เพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็ได้
    2. การลงทุนเพื่อขยายกิจการ เป็นการลงทุนในการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานใหม่ รวมทั้งเพิ่มสายการผลิต
    3. การลงทุนเพื่อเริ่มธุรกิจ เป็นการลงทุนในกิจการใหม่

 

    มีตัวชี้วัดทางการเงินที่นิยมนำมาวิเคราะห์การลงทุน 4 ตัวชี้วัด ซึ่งทาง BSC จะอธิบายในหัวข้อ การตัดสินใจการลงทุน การวิเคราะห์การลงทุนที่ดีไม่ควรวิเคราะห์เพียงการเงินด้านเดียวแต่ควรวิเคราะห์ทั้งหมด 6 ด้านคือ

 

    - วิเคราะห์ด้านตลาด มีช่องว่างตลาดไหม ขายได้ไหม
    - วิเคราะห์ด้านเทคนิค คือผลิตได้ไหม ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง
    - วิเคราะห์ด้านการเงิน ด้วยการจัดทำความเป็นไปได้ของโครงการ
    - วิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ ดูว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมไหม ยังลงทุนได้ไหม
    - วิเคราะห์ด้านการบริหาร มีบุคลากรพร้อมไหม มีประสบการณ์บริหารไหม
    - วิเคราะห์สิ่งแวดล้อมโดยล้อมว่าพร้อมไหม ติดกฏหมายหรือข้อบังคับอะไรไหม

 

การวิเคราะห์การลงทุนมีขั้นตอนดังนี้

 

 

    จากขั้นตอนการวิเคราะห์การลงทุนข้างบนนี้ทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้รับผิดชอบจัดทำโครงการลงทุนต้องมีการวางแผนหาข้อมูลให้ครบเพื่อให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำและถูกต้องขึ้น การหาข้อมูลและกำหนดรูปแบบการลงทุนในโครงการนั้นจะต้องหาข้อมูลทางการเงินด้วยเพื่อนำมาจัดทำประมาณการทางเงินซึ่งคือการพยากรณ์ว่าการลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนและมีรายได้ ค่าใช้จ่ายเท่าใด โดยการรวบรวมข้อมูลนั้นจะต้องมีการหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ดังนี้

 

    1. เงินลงทุนในโครงการ ก็คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการลงทุน เงินลงทุนส่วนนี้จะรวมถึงเงินลงทุนในทรัพย์สินถาวรและเงินทุนหมุนเวียนด้วย คุณจะต้องหาข้อมูลราคาเครื่องจักร ราคาค่าสร้างโรงงาน ค่าตกแต่งสำนักงาน อุปกรณ์สำนักงานและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าด้วย รวมทั้งจำนวนเงินที่จะสต๊อกวัตถุดิบและการให้เครดิตกับลูกหนี้การค้า เมื่อทราบจำนวนเงินทั้งหมดแล้วก็ให้มาคำนวณว่าเจ้าของว่ามีเงินลงทุนเท่าใด ส่วนที่เหลือก็จำเป็นต้องไปขอเงินกู้หรือหาผู้ร่วมทุนเพื่อให้โครงการนี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ
    2. การกำหนดระยะเวลาของการจัดทำประมาณการทางการเงิน ควรจะจัดทำประมาณการอย่างน้อย 3 ปีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและอย่างน้อย 5 ปีสำหรับธุรกิจขนาดกลาง
    3. รายได้ที่จะได้รับจากการลงทุนตลอดระยะเวลาที่เราจัดทำประมาณการทางการเงิน
    4. ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนตลอดระยะเวลาการจัดทำประมาณการ
    5. จำนวนเงินกู้ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ระยะเวลาการคืนหนี้และอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะต้องเสียให้กับสถาบันการเงินและจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือน
    6. ทรัพย์สินที่จะต้องซื้อเพื่อการลงทุนมีอะไรบ้าง ราคาเท่าใด
    7. บุคลากรที่จะจ้างและค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายในแต่ละปี
    8. ประมาณการลูกหนี้การค้าที่จะเกิดขึ้นหากต้องให้เครดิตเทอม
    9. กฏหมายที่เกี่ยวข้องและข้อบังคับของธุรกิจที่จะต้องปฏิบัติตาม
    10. การวางระบบต่างๆต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าใด
    11. ค่าจดทะเบียนและค่าธรรมเนียมต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

    สำหรับปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์การลงทุนก็คือ เงินลงทุนของโครงการ กระแสเงินสดรับจ่ายของโครงการและการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ความน่าลงทุน หากคุณสามารถหาข้อมูลและจัดทำปัจจัยสำคัญของการวิเคราะห์การลงทุนได้แล้วคุณก็สามารถประเมินและตัดสินใจลงทุนได้ด้วยความเสี่ยงที่น้อยกว่าการไม่วิเคราะห์เลย เพราะผู้ประกอบการไทยมักมีความกล้าได้กล้าเสีย เมื่อมองว่าเป็นโอกาสก็ลงทุนเลยโดยไม่วิเคราะห์และหาข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งจะพบกับความล้มเหลวได้ง่าย จึงขอให้ผู้จะเริ่มลงทุนศึกษาการวิเคราะห์การลงทุนเพิ่มเติมได้จากการสัมมนา อบรม ที่หน่วยงานภาครัฐจัดอบรมให้