การเตรียมแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อ


25 พ.ย. 2564    nutnaree    2,700

 

     ผู้ประกอบการหลายท่านมีความเข้าใจผิดที่คิดว่าการเขียนแผนธุรกิจออกมาดีจะต้องได้เงินกู้แน่นอนเมื่อนำแผนไปขอเงินกู้จากธนาคาร ตามที่ได้อธิบายในบทความเรื่องหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาการให้สินเชื่อและเรื่องการยื่นขอสินเชื่อแล้ว ผู้ประกอบการก็คงจะพอเข้าใจว่าธนาคารมองธุรกิจและตัวเจ้าของกิจการเป็นสำคัญในอันดับแรกก่อน ส่วนการเขียนแผนธุรกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การขอสินเชื่อเร็วขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมภาษณ์หรือหาข้อมูลมากนักการมีแผนธุรกิจทำให้ประหยัดเวลาการหาข้อมูลของเจ้าหน้าที่สินเชื่อเท่านั้นเองรวมทั้งการแผนธุรกิจก็จะช่วยให้ผู้เขียนได้ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจมากขึ้นอีกด้วย มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไปอบรมการเขียนแผนธุรกิจและส่งแผนให้ธนาคารเพื่อขอสินเชื่อแล้วแต่ได้รับการปฎิเสธไม่ให้วงเงินจึงมีความเข้าใจผิดว่าทำไมมีแผนธุรกิจให้แล้วทำไมยังไม่ให้เงินกู้อีก ปัจจัยที่ธนาคารให้ความสำคัญในเบื้องต้นของการให้สินเชื่อก็คือ

 

     1. ผู้ประกอบการรายนั้นเป็นลูกหนี้ NPL(มีหนี้ค้างเกิน 3 งวดขึ้นไป) หรือไม่
     2. ภาพรวมหรือแนวโน้มของธุรกิจของผู้ขอกู้เป็นอย่างไร ธุรกิจเป็นขาขึ้นหรือขาลง
     3. ธุรกิจมีความเป็นไปได้หรือไม่ มีผลกำไรสูงหรือไม่ มีเงินเหลือพอชำระหนี้หรือไม่
     4. หลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นอย่างไร

 

     จากปัจจัยสำคัญที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ถ้าเราเขียนแผนธุรกิจด้วยตัวเองก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ธนาคารได้ข้อมูลมากขึ้นในเรื่องภาพรวมและแนวโน้มของธุรกิจรวมทั้งมีทราบถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจของเราด้วย (ข้อ 2,3) แม้ว่าแผนธุรกิจจะเขียนดีอย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการเป็นลูกหนี้ NPLและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ไม่ได้เงินกู้เช่นกัน การเขียนแผนธุรกิจขอเงินกู้มีความคล้ายกับแผนธุรกิจทั่วไปแต่มีส่วนที่เพิ่มเติมมากขึ้นอีกหนึ่งส่วนคือรายละเอียดการขอกู้ซึ่งในแผนธุรกิจจะไม่มีส่วนนี้เลย แต่ส่วนนี้ที่ธนาคารถือว่ามีความสำคัญมาก ทางศูนย์ BSC ได้จัดเตรียมแบบฟอร์มการเขียนแผนขอสินเชื่อให้กับผู้ที่สนใจจะจัดทำแผนเพื่อเสนอต่อธนาคารเพื่อขอเงินกู้ด้วย โดยสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่

 

แผนธุรกิจขอสินเชื่อนี้จะมีทั้งหมด 5 ส่วนดังนี้

 

ส่วนที่ 1 เป็นรายละเอียดการขอกู้ (ขอสินเชื่อ) มีทั้งหมด 5 หัวข้อเล็กประกอบไปด้วย

  • รายละเอียดของผู้ขอกู้ ควรใส่ให้ครบเพื่อให้ธนาคารติดต่อกลับมาง่ายขึ้น

  • วัตถุประสงค์ในการขอกู้ ให้บอกถึงเงินที่จะขอกู้จะนำไปใช้ในเรื่องอะไรบ้าง

  • การติดต่อกับสถาบันการเงิน บอกถึงธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เรามีหนี้สินอยู่และให้รายละเอียดว่ามีวงเงินเท่าไหร่ มีหลักประกันอะไรบ้าง ตามตารางที่ให้กรอก หากเราไม่เขียนข้อนี้ในที่สุดธนาคารที่เรายื่นขอกู้ก็ต้องสอบถามหรือขอดูข้อมูลจากเครดิตบูโรได้เช่นกัน

  • วงเงินสินเชื่อที่ต้องการ บอกถึงจำนวนเงินที่จะขอกู้ ระยะเวลาที่จะผ่อนชำระและความสามารถที่ผ่อนชำระได้ การบอกวงเงินสูงเกินไปก็จะทำให้ธนาคารไม่สนใจแผนกู้เงินของเราเลยควรขอวงเงินตามความต้องการที่จะใช้เงินจริงๆ

  • หลักประกันการขอสินเชื่อ ในการขอสินเชื่อที่มีวงเงินสูงจำเป็นต้องมีหลักประกันเช่น บ้าน,ที่ดิน, สิ่งปลูกสร้าง จำนองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้ธนาคารได้ หากวงเงินต่ำกว่า 300,000 บาทก็อาจใช้เป็นบุคคลค้ำประกันได้ ถ้าราคาประเมินหลักทรัพย์ไม่เพียงพอกับวงเงินสินเชื่อที่ขอไว้ทางธนาคารก็อาจไปขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันในส่วนที่ขาดไปก็ได้

     

ส่วนที่ 2 ประวัติและลักษณะของธุรกิจ ส่วนนี้จะให้ข้อมูลกิจการของผู้ขอสินเชื่อบอกถึงจุดแข็งจุดอ่อนของกิจการ, เป้าหมายและกลยุทธ์ของกิจการ

 

ส่วนที่ 3 การดำเนินงานของธุรกิจ ส่วนนี้จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจของผู้กู้คือ

  • ด้านการตลาด จะอธิบายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ของกิจการ, กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย, รายชื่อลูกค้ารายใหญ่, รายชื่อคู่แข่งขัน, ประมาณการยอดขายในอนาคต

  • ด้านการผลิต จะอธิบายถึง กำลังการผลิต, ขั้นตอนการผลิต,การจัดซื้อวัตถุดิบ, การควบคุมคุณภาพและการได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน

  • ด้านบริหารจัดการ จะอธิบายถึงการแบ่งผังองค์กร ประวัติของเจ้าของกิจการและผู้บริหารของกิจการ รวมถึงจำนวนของพนักงานทั้งหมด

 

ส่วนที่ 4 ผลการดำเนินการของธุรกิจ ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่แสดงถึงงบการเงินของกิจการที่ผ่านมาว่ามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และเป็นส่วนที่ผู้ขอสินเชื่อจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุน งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกระแสเงินสด เพื่อให้ธนาคารทราบว่ากิจการจะมีผลตอบแทนอย่างไรในอนาคตเมื่อได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารและในส่วนนี้มีเรื่องของความเสี่ยงและการป้องกันความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการวิเคราะห์เองว่ากิจการมีความเสี่ยงอะไรบ้างและแต่ละความเสี่ยงอยู่ในระดับใด รวมทั้งวิธีป้องกันความเสี่ยงด้วย

 

ส่วนที่ 5 เอกสารประกอบคำขอกู้ เป็นส่วนที่ผู้ขอกู้ควรถ่ายสำเนาเอกสารที่จำเป็นต้องนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อให้การขอสินเชื่อรวดเร็วขึ้นไม่ต้องเสียเวลาขอเอกสารกันไปมา

 

     ถ้าผู้ประกอบการเคยเขียนแผนธุรกิจไว้แล้วก็จะเห็นว่าแผนขอเงินกู้นี้มีส่วนที่แตกต่างจากแผนธุรกิจทั่วไป 2 ส่วนคือส่วนที่ 1 และส่วนที่ 3 แต่ทั้งสองส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ธนาคารมีความเข้าใจในรายละเอียดที่ผู้กู้ขอกู้มากขึ้นรวมทั้งได้เห็นสำเนาเอกสารที่แนบไปพร้อมกับแผนกู้เงินทำให้การขอกู้เงินทราบผลการพิจารณาอนุมัติได้เร็วขึ้น