การหาจุดคุ้มทุน


23 พ.ค. 2563    อภิมุข    2,120

การดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่อาจมองข้าม หรือขาดความเข้าใจในเรื่องจุดคุ้มทุน (Break Even Point) หรืออาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือจะต้องขายสินค้าจำนวนเท่าไหร่จึงจะ “เท่าทุน” โดยส่วนใหญ่มักจะคิดว่าขายให้ได้เงินมาเท่ากับเงินที่ใช้ซื้อวัตถุดิบในแต่ละเดือนก็ถือว่าเท่าทุนแล้ว แต่อันที่จริงแล้วจุดคุ้มทุนที่แท้จริงมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่านั้น

 

    จุดคุ้มทุน คือจุดที่รายได้เท่ากับรายจ่ายพอดี หากเรารายได้มากกว่าจุดคุ้มทุนส่วนที่เกินคือกำไรโดยการคำนวณจุดคุ้มทุนไม่ได้ยากอย่างที่คิดมีเพียง 2 ส่วนเท่านั้นที่ต้องเข้าใจคือ ส่วนของต้นทุนและส่วนของยอดขาย ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจในส่วนของต้นทุนกันก่อน โดยต้นทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆดังนี้

 

    1. ต้นทุนคงที่ (Fix Cost)

    ต้นทุนคงที่คือต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมีการขายสินค้าหรือไม่ก็ตาม เรียกง่ายๆ ว่าจะขายได้หรือไม่ก็ต้องจ่ายต้นทุนก้อนนี้ โดยส่วนใหญ่จะแบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วนคือต้นทุนคงที่ในส่วนของการผลิต และต้นทุนคงที่ในส่วนของการขายและบริหาร

      1.1. ต้นทุนคงที่ในส่วนของการผลิต เช่น ค่าเช่าที่ดินในส่วนของโรงงานหรือสถานที่ผลิต ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรงงานดังกล่าว รวมไปถึงเงินเดือนพนักงานประจำในโรงงานและฝ่ายผลิต เป็นต้น

      1.2. ต้นทุนคงที่ในส่วนของการขายและบริหาร เช่น ค่าเช่าอาคารสถานที่สำหรับส่วนของสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานในส่วนสำนักงาน ค่าภาษีต่างๆ เงินเดือนพนักงานในส่วนงานบริหารจัดการและสำนักงาน รวมถึงต้นทุนที่ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนโดยที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามยอดขาย

 

    2. ต้นทุนแปรผัน (Variable Cost)

ต้นทุนแปรผันคือต้นทุนที่เกิดขึ้นตามจำนวนสินค้าที่ขายไป หรืออธิบายง่ายๆว่าเป็นต้นทุนที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการผลิตหรือขายสินค้าโดยแปรผันตามจำนวนหน่วยสินค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายออกไป โดยต้นทุนแปรผันสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 ส่วนคือต้นทุนแปรผันในส่วนของการผลิต และต้นทุนแปรผันในส่วนของการขายและบริหาร

      2.1. ต้นทุนแปรผันในส่วนของการผลิต เช่น วัตถุดิบ (Materials) แรงงาน (Labor) และค่าโสหุ้ยหรือค่าใช้จ่ายในการผลิต (Overhead) อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ามีดกลึง ค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆในการผลิตเป็นต้น และในส่วนของค่าแรงงานนั้นเราจะนำมาคิดในส่วนของแรงงานในการผลิตที่ไม่ใช้การจ่ายเงินเดือนประจำเท่านั้น

      2.2. ต้นทุนแปรผันในส่วนของการขายและบริหาร เช่น ค่านายหน้า (Commission) ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการขายหรือให้บริการ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ได้แก่ ค่าโฆษณา ค่าเลี้ยงรับรอง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่นโยบายบริษัทมักจะตั้งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นร้อยละของยอดขายสินค้าจึงถือเป็นต้นทุนแปรผัน ยกตัวอย่างเช่นบริษัทแห่งหนึ่งตั้งค่านายหน้าไว้ที่ 3% ของยอดขายสินค้า หากพนักงานฝ่ายขายสามารถขายสิ้นค้าได้ 100 ชิ้นในราคาชิ้นละ 100 บาทก็จะได้ส่วนแบ่งเพิ่มจากเงินเดือนปกติอีก 300 บาทสำหรับการขายในครั้งนี้

    ดังที่กล่าวมาทั้งหมด ในการพิจารณาว่าต้นทุนใดเป็นต้นทุนคงที่ ต้นทุนใดเป็นต้นทุนแปรผันให้มองง่ายๆว่าต้นทุนนั้นๆเกิดจากจุดไหน หากเกิดจากการผลิตหรือการบริการโดยมีต้นทุนมากขึ้นตามจำนวนที่ผลิตหรือให้บริการต้นทุนนั้นเรีกว่าต้นทุนแปรผัน หากเกิดขึ้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงตามยอดขายต้นทุนนั้นเรียกว่าต้นทุนคงที่ เมื่อเราพอที่จะแยกแยะได้แล้วว่าต้นทุนเบื้อต้นคิดอย่างไรเรามาดูวิธีคำนวณหาจุดคุ้มทุนตามสูตรดังต่อไปนี้

 

 

    ยกตัวอย่างเช่นบริษัทแห่งหนึ่งขายสินค้า A ในราคาชิ้นละ 150 บาท มีต้นทุนแปรผันในการผลิตรวมถึงการขายและบริหารชิ้นละ 100 บาท และมีต้นทุนคงที่ทั้งหมดต่อเดือน 200,000 บาท ดังนั้นเมื่อเรานำมาแทนค่าลงในสูตรจะได้ดังนี้

 

 

    *ดังนั้น          จุดคุ้มทุน = 4,000 หน่วยต่อเดือน

 

    สรุปว่า บริษัทแห่งนี้จะต้องขายสินค้าให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 4,000 ชิ้นต่อเดือนเพื่อที่จะไม่ขาดทุน หากขายได้มากกว่า 4,000 ชิ้นต่อเดือนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาคือส่วนของกำไรดังแสดงผลลัพธ์ตามกราฟ