แนวคิดเพื่อสร้าง Happy Money ในหน่วยงาน
ผลการสำรวจการปลอดหนี้ (Happy Money) ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้ได้รับรู้ว่า หนี้ เป็นปัญหาอันดับแรกที่หลายหน่วยงานเผชิญ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมจึงไม่ Happy Money สาเหตุของการไม่ Happy Money หรือที่พูดง่าย ๆ คือชักหน้าไม่ถึงหลังคือ รายรับและรายจ่ายไม่สมดุลย์ จึงทำให้ต้องกู้ยืมเงินทั้งจากในระบบ และ นอกระบบ แต่ทั้ง 2 ระบบที่เหมือนกันคือเสียดอกเบี้ย ถ้าเป็นนอกระบบประมาณ 3-5% ต่อเดือน ส่วนในระบบก็ขึ้นกับสถาบันการเงิน สาเหตุที่เงินไม่พอก็แตกต่างกันไปมีตั้งแต่ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ส่งลูกเรียน สุขภาพ จนถึง กินเหล้า เล่นหวย เล่นการพนัน เที่ยวคาราโอเกะ ฯลฯ ชุดหลังนี้ต้องพาไปเปลี่ยนทัศนคติก่อนกระมัง
จากประสบการณ์เข้าร่วมทำโครงการสร้างสุขในองค์กร มีหน่วยงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าร่วมโครงการ ผลการสำรวจด้วยการใช้แบบสอบถาม Happynometer พบว่าความสุขส่วนใหญ่ของบุคลากรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคือการปลอดหนี้ ดังนั้นผู้ประกอบการในหน่วยงานจึงควรคิดโครงการเพื่อให้พนักงานปลอดหนี้ อาทิ
1. ตั้งกองทุนปลอดดอกเบี้ย ผู้บริหารตั้งกองทุนเพื่อพนักงานกู้แบบไม่เสียดอกเบี้ย
2. โครงการ “ออมเว้ยเฮ้ย” หักเงินเดือนพนักงานตามที่กำหนดขึ้นกับเงินเดือนของพนักงาน เพื่อใช้เป็นเงินกองกลางในการกู้ฉุกเฉินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ จัดสรรเงินที่ฝากเป็นจำนวนหุ้น มีเงินปันผลคืนทุกปี เงินลงทุนของพนักงานนำไปตั้งร้านค้าสหกรณ์ เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูก รายได้เป็นเงินปันผล หรือ นำไปจัดกิจกรรมสันทนาการ
3. ตั้งกองทุนโครงการ “ออมแล้วแต่” กำหนดเป้าหมายให้บุคลากรออมเงินได้อย่างน้อย 500 บาท ภายใน 3 เดือน
4. โครงการ “ออมเพื่อฝัน” กำหนดร่วมกันตั้งความฝันและออมเงิน เพื่อให้ได้สิ่งที่อยากได้โดยไม่เอาเงินอนาคตมาใช้ พร้อมอบรมวิธีการใช้จ่ายเงินที่ถูกวิธี สอนการทำบัญชีครัวเรือน การออมเงิน
5. โครงการ “รายได้เสริมสุข” เป็นโครงการที่ช่วยเหลือพนักงานโดยการให้นำวัตถุดิบไปทำงานช่วงหลังเลิกงาน หรือ วันหยุด แล้วนำกลับมาผลิตในโรงงาน ทำให้พนักงานที่ร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 40% ต่อเดือน
6. โครงการแยกขยะแล้วนำไปขายเพื่อนำเงินเข้ากองกลาง
ผู้เขียนได้ให้ข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำเรื่องปลอดหนี้ (Happy money) ดังนี้
1. โครงการควรก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม มากกว่าเน้นการเก็บเงิน โดยไม่ได้ดอกเบี้ย เพราะปกติเงินเดือน รวมโอที ก็ไม่พออยู่แล้วการให้พนักงานเก็บเงินอย่างเดียวแต่ไม่มีรายได้เพิ่มพนักงานก็อาจไปนำเงินนั้นมาใช้เมื่อเงินไม่พอ
2. ให้ความรู้ในการคิดเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้พนักงานวางแผนการเงินของครอบครัวอย่างรอบคอบ
3. ไม่แนะนำให้ผู้ประกอบการนำเงินของพนักงานมาบริหาร เพราะจะต้องมานั่งปวดหัวเรื่องเงินคนอื่น และ เราอาจไม่ถนัด ทางที่ดีให้ประสานงานให้สถาบันทางการเงินช่วยเราดีกว่า อาจเก็บออมในรูปแบบการฝากทุกเดือน หรือ ลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น
4. ควรให้ความรู้ในการสร้างรายได้ อาทิ การทำหมูปิ้ง การทำน้ำพันช์ การทำอาหารที่ไม่ยากมาก หรือ ไม่มีเครื่องปรุงมาก การปักเสื้อ ฯลฯ ให้กับสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน เพื่อจะได้ช่วยกันเพิ่มรายได้
5. ผู้ประกอบการ หรือ ผู้บริหารควรหาสถานที่ หรือ ตลาดเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสขายสินค้าที่ตนเองผลิต มีบางหน่วยงานกำหนดให้วันศุกร์สุดท้ายของเดือนเป็นวันตลาดนัดเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้นำสินค้ามาขาย โดยมีการเสียค่าเช่าราคาถูกให้หน่วยงานเพื่อนำเงินนั้นเข้ากองทุนไว้ใช้ยามฉุกเฉิน อาทิ วันโรงเรียนเปิด เจ็บป่วย อุบัติเหตุ
ได้อ่านเรื่อง กฎ 5 ประการของการทำให้เกิดความสุขจากการจ่ายเงิน (Happy Money) โดย Elizabeth Dunn and Michael Norton พอสรุปได้ดังนี้
1. ความสุขจากการได้ประสบการณ์ (Buy experience) การใช้เงินซื้อความสุขจากประสบการณ์ (เช่น การท่องเที่ยว ดูงาน ดู concert อาหารมื้อพิเศษ) จะไม่มีการผิดหวัง และจะทำให้เรามีรูปแบบมุมมองชีวิตที่แตกต่าง จากการใช้เงินซื้อแต่วัตถุสิ่งของ ประสบการณ์และความรู้เป็นสินทรัพย์ที่ใครก็เอาไปไม่ได้ ตัวอย่าง ที่ร้านขายไหมพรมพร้อมสอนถัก ได้พบผู้ชาย (วิศวะซะด้วย) มาคนเดียว พร้อมบอก เป้าหมายว่าจะถักผ้าพันคอให้แฟนเพื่อให้เธอนำไปใช้ในต่างประเทศ จริง ๆ ซื้อก็อาจจะได้เร็วกว่าและถูกกว่า ได้แบบสวย ๆ แต่ผู้ชายคนนี้เลือกที่จะทำให้แฟนเอง เขาถักไปก็อิ่มอกอิ่มใจไป เขาได้ทั้งประสบการณ์ และ ความสุขใจ และ ความภูมิใจ ที่เงินซื้อไม่ได้
2. ให้ความเพลิดเพลิน (Make it a treat) การที่เราอยากได้อะไรสักอย่างและต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้มา สิ่งนั้นย่อมมีคุณค่า และนำความเพลิดเพลินมาให้เรา เช่น แทนการซื้อไอศกรีมที่ชอบมาไว้ในบ้าน เราอดทนจนอยากจริง ๆ จึงค่อยไปกิน เราจะรู้สึกเพลิดเพลินกับไอศกรีมถ้วยนั้น และ ไม่อ้วนเร็วด้วย หรือ อยากได้กระเป๋าก็ให้ไปดูแล้วกลับไปพิจารณาว่าอยากได้จริงไม๊? สีนี้มีหรือยัง? เรียกว่ารอจนจำเป็นต้องซื้อจริง ๆ พอได้กระเป๋านั้นมาเราจะรู้สึกมีความสุข
3. ซื้อเวลา (Buy time) ก่อนเสียเงินให้ลองถามตัวเองว่าการเสียเงินครั้งนี้จะเปลี่ยนวิธีให้ฉันมีเวลาเพิ่มขึ้นอย่างไร? หากเราเลือกความสุขมากกว่าเงิน เราจะเลือกกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี หรือ การมีชีวิตที่ดี ตัวอย่างเช่นแทนการจ้างคนทำงาน เราทำเองก็ได้ออกกำลังกาย หน่วยงานที่กำลังพิจารณาให้รางวัลเพื่อตอบแทนพนักงานลองเปลี่ยนจากเงินเป็นเวลาให้พนักงานบ้างก็ดี
4. จ่ายวันนี้เพื่อใช้ในวันหน้า (Pay now consumer later) ยุค Digital Technology ทำให้กระเป๋าเงินเรามีแต่บัตรเครดิตเต็มกระเป๋าแทนเงินสด ทำให้เรา “ใช้ก่อนผ่อนที่หลัง” จนเป็นนิสัย ทางที่ดีซื้อน้อย ๆ แต่เงินสดดีกว่า หรือ หากอยากได้อะไรคิดให้รอบคอบ ค่อย ๆ เก็บเงิน และไม่จำเป็นต้องรุ่นล่าสุด แทนการจ่ายทันทีที่ต้องการ
5. ลงทุนกับคนอื่น (Invest in others) จริง ๆ คือการทำบุญนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือ คนในครอบครัว รวมทั้งการทำบุญต่าง ๆ การให้ผู้อื่นมักนำความสุขมาสู่ผู้ที่ให้มากกว่าการให้เฉพาะกับตนเอง ตัวอย่างเช่น Waren Buffet ตัดสินใจมอบเงินจากการทำธุรกิจ 99% ให้กับมูลนิธิ
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง :
1. Happy Money Happy Retirement, set.or.th
2. The Five Secrets to Happy Money, dallasnews.com
3. book.google.co.th