การควบคุมคุณภาพเริ่มต้นอย่างไร


29 พ.ย. 2564    nutnaree    190

 

     จากเรื่องความสำคัญของคุณภาพ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าทุกรายต้องให้ความสนใจและคำนึงถึงคุณภาพในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ ทั้งนี้เพื่อให้สินค้านั้นออกมาดี มีคุณภาพเหมาะสมในการใช้งานสินค้าและการรับบริการ ฉะนั้นขั้นตอนต่าง ๆ ของการควบคุมคุณภาพนั้นจึงไม่จำกัดอยู่แค่กระบวนการต่างๆ ภายในสถานประกอบการเท่านั้น แต่จะคลุมไปถึงการออกแบบสินค้า การกำหนดมาตรฐานการผลิต การตลาด รวมทั้งการให้บริการลูกค้าอีกด้วย

 

การเริ่มต้นควบคุมคุณภาพ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

    1. การทำวิจัยตลาด (Marketing Research) เป็นการวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูลด้านความต้องการของตลาดต่อคุณสมบัติของสินค้าที่ผลิตออกจำหน่าย
    2. การออกแบบ / ข้อกำหนดรายการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Design) เป็นการกำหนดรูปแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ตลอดทั้งการออกแบบทุกอย่างเกี่ยวกับสินค้าที่ผลิตออกจำหน่าย ตามข้อมูลที่ได้รับจากการทำวิจัยตลาด นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการออกแบบคุณลักษณะของวัสดุและวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตด้วย
    3. การจัดหา (Procurement) หมายถึง การจัดเตรียมวัสดุ วัตถุดิบ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า
    4. การวางแผนกระบวนการ หมายถึง การกำหนดแผนการผลิต ระยะเวลาของการผลิต ตลอดทั้งกระบวนการผลิตและการติดตามประเมินผลการผลิต
    5. การผลิต (กระบวนการผลิต) เป็นการควบคุมกระบวนการผลิตที่เกี่ยวกับคน เครื่องจักร วิธีการผลิต วัตถุดิบ สินค้าระหว่างการผลิต ตลอดทั้งกระบวนการบริหารการผลิต
    6. การทดสอบและการตรวจสอบ (Inspection) หมายถึง การตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ผลิตออกมาว่า มีคุณลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ เช่น คุณสมบัติ รสชาติ ขนาด หรือความประณีต เป็นต้น
    7. การบรรจุและการเก็บ (Packing & Keeping) หมายถึง การบรรจุ การเก็บหลังการผลิต ก่อนที่จะมีการนำส่งลูกค้า
    8. การขายและการจำหน่าย (Sale & distribution) หมายถึง สินค้าที่จำหน่ายสู่ตลาดนี้ต้องมีคุณสมบัติหรือคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ ส่งออกไปจำหน่ายยังสถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในการซื้อ
    9. การติดตั้ง (Installation) สินค้าบางอย่างจะต้องมีการนำไปติดตั้งก่อนจึงจะใช้งานได้ เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น หรือเครื่องซักผ้า ก่อนใช้งานต้องมีการติดตั้งที่ถูกต้องจึงจะทำให้สินค้านั้นได้คุณภาพและใช้งานได้เป็นที่พอใจของลูกค้า
    10. การบำรุงรักษา (After sale service) เป็นขั้นตอนของการติดตามผลการใช้งาน หรือการให้บริการหลังขาย รวมถึงการนำผลการติดตามงานวิจัยการตลาด มาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ให้สามารถแข่งขันด้านตลาดกับคู่แข่งได้
    11. การติดตามหลังใช้ (Follow up) หมายถึง การติดตามผลของการทำงานหรือผลหลังผลิต เช่น เรื่องความปลอดภัยในการใช้งานของลูกค้า และความรับผิดชอบต่อคนงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม การผลิตสินค้าบางอย่างทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศเสีย น้ำเสีย ฉะนั้นการผลิตสินค้าตัวนี้จะต้องได้รับการเอาใจใส่และการควบคุมอย่างดี

 

มาตรการควบคุมคุณภาพในระบบการผลิต แบ่งออกเป็น 2 มาตรการใหญ่ ๆ ดังนี้

    1. มาตรการที่ต้องทำเป็นประจำในกระบวนการผลิต เป็นมาตรการที่ทำเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพตรงตามที่ต้องการ และมีความสม่ำเสมอ โดยมีของเสียน้อยที่สุด ได้แก่

       1.1 การควบคุมวัตถุดิบ โดยทำการสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบมาตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติตรง ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่

       1.2 การควบคุมกระบวนการผลิต ควบคุมขั้นตอนการผลิตให้ตรงตามมาตรฐาน ตรวจสอบ ผลผลิตที่ผ่านออกมาในแต่ละขั้นตอนว่ามีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนส่งต่อไป ยังขั้นตอนการผลิตที่อยู่ถัดไป

       1.3 การตรวจสอบสินค้าสำเร็จรูป เมื่อวัตถุดิบได้ผ่านการแปรรูปออกมาจนเป็นสินค้า สำเร็จรูป ทุกขั้นตอนได้ผ่านการตรวจสอบมาแล้วก็น่าที่จะได้สินค้าสำเร็จรูปที่ได้ มาตรฐาน แต่เพื่อ ความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า จึงควรตรวจสอบสินค้าสำเร็จรูปอีกครั้งว่ามีคุณสมบัติตรงตาม มาตรฐานหรือไม่

 

 

    2. มาตรการเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนา เป็นมาตรการเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าไม่ให้มีของเสียหรือลดปริมาณของเสีย ได้แก่

       2.1 การจัดเก็บสถิติการผลิต เก็บข้อมูลปัญหาของสินค้า เพื่อจะได้เป็นข้อมูลไว้ใช้ใน การวิเคราะห์ปัญหา

       2.2 วิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา นำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา เช่น ปัญหาความล่าช้า ปัญหาของเสียหาย เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์จนทราบต้นเหตุของปัญหา จะได้กำหนดวิธี การแก้ไข และวิธีการป้องกันต่อไป

       2.3 หาวิธีป้องกัน แนวทางการป้องกันของเสียมี 3 แบบ คือ

  • การวางแผนสินค้าหรือขบวนการผลิตใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลีกเลี่ยงของ เสียได้

  • การกำจัดสาเหตุที่ทำให้ของเสียออกไป และกำหนดความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติ งาน

  • การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดของเสียเรื้อรัง