9 ความสามารถของ AI ที่น่านำมามิกซ์แอนด์แมตช์กับธุรกิจคุณ


01 มิ.ย. 2563    อภิมุข    625

 

หากพูดถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มาแรงที่สุดแห่งยุคคงต้องยอมรับว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AI เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในหลายๆ ธุรกิจเเละอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มว่าปัญญาประดิษฐ์จะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานและการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลอย่างมาก จนมีคนตั้งคำถามว่า AI สามารถนำมาสร้างประโยชน์อะไรกับธุรกิจได้บ้าง? อนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? เราควรจะเตรียมรับมืออย่างไร?

 

อันที่จริงแล้วเทคโนโลยี AI นั้นเป็นแนวคิดที่มีมานานมาก และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาหลายสิบปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นความชาญฉลาดที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต และมีคุณลักษณะทางด้านสติปัญญาและความฉลาดคล้ายคลึงกับมนุษย์ จุดเด่นที่มีคือ ความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง คิด วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลที่ซับซ้อนได้ ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนคือ เทคโนโลยี AI จาก OpenAI ที่ใช้กับ Tesla ของ Elon Musk และ Sam Altman จาก Y Combinator ที่เอาชนะผู้เล่นมืออาชีพในการแข่งขันเกม Dota2 แบบผู้เล่น 1 ต่อ 1 ในงาน The International 2017 ภายใน 10 นาทีแรก

 

หัวใจสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี AI สามารถเอาชนะเกมการเเข่งขันที่ซับซ้อน อย่าง AlphaGo เเละ Dota2 คือ การให้เทคโนโลยี AI ศึกษารูปแบบการเล่นของผู้เล่นมืออาชีพคนอื่นๆ หรือเล่นเกมแข่งกับตัวเองครั้งเเล้วครั้งเล่าจนระบบสามารถเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ รวมไปถึงการวางแผนกลยุทธ์ เช่นเดียวกับปัจจุบัน หลายๆ อุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยทำงาน อาทิ โลจิสติกส์ การแพทย์ การบริการ ธนาคาร อีคอมเมิร์ซ

 

 

ยิ่งเทคโนโลยี AI ได้รับการพัฒนาให้ฉลาดและมีความคิดวิเคราะห์ที่ซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร บริษัทก็สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจอย่างสูงสุด เราจึงนำเทคโนโลยี AI ที่ทุกธุรกิจควรรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ดังต่อไปนี้

 

1. ระบบเรียนรู้ข้อมูลและทำนายข้อมูลด้วย Machine Learning และ Big Data Platforms 

คือการเพิ่มศักยภาพในการประมวลผล เรียนรู้และทำนายผลของข้อมูล เนื่องจาก AI จำเป็นต้องใช้การเรียนรู้ผ่านข้อมูลต่างๆ ยิ่งมีข้อมูลเพื่อใช้ในการสอน AI มากเท่าไหร เราก็ยิ่งสามารถสร้าง AI ที่ฉลาดขึ้นได้มากเท่านั้น โดยกระบวนการสอนและอัลกอริทึมที่ใช้ในการสอน AI จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในการประมวลผล และการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก ดังนั้น การสร้างระบบ AI ให้ประสบความสำเร็จได้ เทคโนโลยี Big Data จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ด้วยเช่นกัน

 

2. อุปกรณ์พิเศษเพื่อการประมวลผลเฉพาะทางสำหรับ AI (AI-optimized Hardware) 

นอกจาก Big Data แล้ว Machine Learning หรือ AI บางประเภทจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในการประมวลผลจำนวนมาก การนำฮาร์ดแวร์พิเศษที่ถูกออกแบบมาให้มีหน่วยประมวลผลจำนวนมากเพื่อลดระยะเวลาในการประมวลผลลงได้จึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะมาช่วยให้ AI นั้นสามารถนำมาใช้งานจริงได้ ยกตัวอย่าง ระบบตรวจจับใบหน้าแบบ Real-time จำเป็นต้องมีระบบที่วิเคราะห์และประเมินภาพจำนวนมาก การนำ Graphics Processing Units (GPU) มาใช้เพื่อให้ระบบสามารถตรวจจับใบหน้าได้ทันเวลาก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็น โดยในปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิต Graphics Card ก็ออกผลิตภัณฑ์พิเศษเพื่อนำมาตอบโจทย์ด้าน AI โดยเฉพาะเช่นกัน

 

3. ผู้ช่วยตัดสินใจเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย (Decision Management)

การโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ทำงานตามกฎที่เราตั้งไว้ คือความสามารถพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ แต่เทคโนโลยี AI สามารถนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจเพื่อหาทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด มีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือใช้เวลาน้อยที่สุดได้ โดยเรียกว่าการค้นหาทางเลือกที่ Optimize ที่สุดบนข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องยากๆ และมีข้อมูลที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจจำนวนมาก เราจึงจำเป็นต้องใช้ AI อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การทำ Personalized Marketing หรือ ระบบแนะนำสินค้าของแต่ละบุคคล

 

4. เหนือกว่า Machine Learning ด้วย Deep Learning

เวลานี้ทุกคนคงเข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์ของ Machine Learning แต่ถ้าเราจะสร้างระบบที่มีความซับซ้อนเพื่อใช้ในการจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ ก็จำเป็นต้องออกแบบ AI ตามวิธีการทำงานของสมองมนุษย์ หรือเรียกว่า Artificial Neural Network (ANN) ซึ่งมีความซับซ้อนสูงมาก โดยเราสามารถนำ Deep Learning มาใช้ในการสร้างระบบแยกแยะสิ่งของหรือใบหน้า ระบบแยกแยะหรือจดจำเสียงได้ เป็นต้น

 

5. ระบุตัวตนด้วย AI 

การระบุตัวตนด้วยไบโอเมทริกซ์ ยกตัวอย่าง ม่านตา เสียง ลายนิ้วมือ หน้า ภาษากาย  ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยี AI ที่ใช้ไบโอเมทริกซ์ในการจดจำรูปแบบ และแยกแยะออกมาใช้เพื่อยืนยันตัวตนหรือระบุตัวตนได้ ซึ่งหลายๆ อย่างก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว อย่างการสแกนลายนิ้วมือเพื่อบันทึกเวลาแทนการตอกบัตร การสแกนม่านตาเพื่อเข้าใช้งานสมาร์ทโฟน เป็นต้น

 

6. รู้จักภาษาที่มนุษย์ใช้ ด้วยระบบประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP)

NLP คือเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ  โดยเทคโนโลยี NLP จะวิเคราะห์คำสั่งหรือความต้องการของผู้ใช้ผ่านภาษาธรรมชาติ อาทิ Google นำ NLP มาช่วยให้การค้นหาเอกสารใน Google Drive สะดวกและแม่นยำขึ้น ยกตัวอย่าง หากต้องการค้นหาเอกสารที่มาจาก Anissa เราสามารถพิมพ์คำสั่งว่า “Show me documents from Anissa” เพื่อค้นหาหรือเข้าถึงเอกสารที่เราต้องการได้ทันที นอกจากนี้ NLP ยังครอบคลุมถึงความสามารถในการสร้างรูปประโยคธรรมชาติเพื่อใช้ตอบสนองผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น Siri สามารถสร้างประโยคเพื่อตอบคำถามที่เราถามได้อย่างรวดเร็ว

 

7. ตอบโต้ด้วยเสียง จากระบบรู้จำและสังเคราะห์เสียงพูด (Speech Recognition and Synthesis)

เรียกได้ว่าเป็นอีกระบบที่สามารถทำงานร่วมกับระบบ NLP เพื่อให้เราสามารถตอบโต้กับคอมพิวเตอร์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น เช่น หากเราต้องการค้นหาเอกสาร คงจะดีกว่าถ้าเราสามารถพูดว่า “ค้นหาเอกสารเมื่อวานที่ส่งมาจากคุณวันชัยให้หน่อย” หลังจากนั้นระบบก็สามารถสร้างเสียงเพื่อโต้ตอบกับเราได้ ยกตัวอย่าง Siri สามารถฟังคำสั่งของเราผ่านการพูดได้ และตอบสนองสิ่งที่เราต้องการผ่านการสร้างรูปประโยคที่ต้องการ และพูดประโยคนั้นให้เราได้ยิน

 

8. เข้าถึงทุกบริการด้วยผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Agents)

คือเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงคลังความรู้หรือบริการต่าง ๆ ได้อย่างไม่รู้จบบนสมาร์ทโฟนของเรา เช่น Siri สามารถเข้าถึงและเข้าใจตารางงาน อีเมล ปฏิทิน นาฬิกา หรือ Alexa สามารถเข้าถึงบริการของ Amazon หรือ Smart Home Device ของเราได้ ด้วยความสามารถในการเข้าใจความต้องการของมนุษย์และความสามารถในการค้นหาบริการเพื่อตอบสนองสิ่งที่เราต้องการได้ ถือเป็นหัวใจของระบบผู้ช่วยเสมือนจริง ซึ่งก็คือสิ่งที่ทุกวันนี้เรารู้จักผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า Chatbot

 

9. ระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotic Process Automation)

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน แต่การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันยังคงอยู่ในวงจำกัด คือสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะด้านต่าง ๆ ได้ เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์พนักงานต้อนรับ รถที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมโยง AI ที่เป็นสมองกลของระบบเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงได้

 

เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนและเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น ทุกองค์กรรวมถึงพนักงานในองค์กรจึงต้องเตรียมตัว พัฒนาศักยภาพ และทำความเข้าใจนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีแห่งอนาคต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้