“อธิบดีณัฐพล” นั่งหัวโต๊ะ หารือแนวทางการทำงานพื้นที่ภาคใต้ พร้อมนำร่อง แพ็คเกจ “ดีพร้อมเพย์” กว่า 30 ล้านบาท
จ.กระบี่ 16 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของพื้นที่ภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมี นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และประธานคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 นายสิทธิรงค์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 นางอรพิน อุดมธนะธีระ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ โรงแรมเซ็นทารา อ่าวนาง บีช รีสอร์ท แอนด์สปา กระบี่
โดย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ได้รับฟังสรุปภาพรวมการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ปีงบประมาณ 2564 และปัญหาอุปสรรคในพื้นที่ พร้อมทั้งมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนฯ ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเน้นการลดจำนวนลูกหนี้ที่คงค้างหนี้ลง 10% การทำประกันหนี้สูญกรณีเสียชีวิตหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้เมื่อครบสัญญา และการปรับกฎระเบียบในส่วนของเงื่อนไขดอกเบี้ย เพื่อให้ได้จำนวนผู้กู้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ยังได้แจ้งให้ทราบถึงโครงการสินเชื่อพิเศษดีพร้อมเพย์ (DIProm Pay) กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเริ่มจากส่วนกลางที่ผนวกกับมาตรการของดีพร้อม เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการของดีพร้อม ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีความพร้อมจะฟื้นฟูกิจการอีกครั้งภายหลังสถานการณ์โควิด – 19 โดยกำหนดกรอบวงเงินอนุมัติสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเริ่มต้น 3% ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี
นอกจากนี้ ยังได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยในส่วนของ ศภ.10 กสอ. ได้เสนอแนะในด้านของการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการในด้านการผลิต การตลาด เพื่อต่อยอดกิจการและเพิ่มกำลังความสามารถในการชำระหนี้ ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เปลี่ยนการค้ำประกันจากบุคคลเป็นหลักทรัพย์ ปรับแนวทางการชำระหนี้ในราย NPL เพื่อให้กลับเข้าระบบ สำหรับในส่วนของ ศภ.11 กสอ. ได้เสนอแนวทางการประชาสัมพันธ์ จัดทำข้อมูลองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ การตรวจเยี่ยมลูกหนี้ เพื่อทราบสถานะของกิจการและสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ การส่งเสริมด้านการตลาดในระบบสินเชื่อทั้งในกลุ่มเป้าหมายเดิมและขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ยังได้หารือแนวทางร่วมกันในการบริหารการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพและไปในทิศทางเดียวกัน การยกระดับองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการธุรกิจให้กับบุคลากรของเงินทุนหมุนเวียนฯ โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพและมุมมองความรู้ให้สามารถแนะนำผู้ประกอบการให้เข้าใจต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว