"ไพลิน" เลขานุการรัฐมนตรีฯ ก.อุตฯ เปิดฝึกอบรม "สร้างโอกาส พัฒนาอาชีพ สู่เศรษฐกิจชุมชน” ส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและยั่งยืน
กรุงเทพฯ 11 พฤศจิกายน 2566 - ดร.ไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างโอกาส พัฒนาอาชีพ สู่เศรษฐกิจชุมชน” พร้อมเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ และร่วมฝึกปฏิบัติ โดยมี นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ของการจัดกิจกรรมฯ และมีนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการประจํารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวขอบคุณ ณ วัดจันทวงศาราม (กลาง) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายสำคัญของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี คือ เศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และโรคอุบัติใหม่ พร้อมกับประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับนโยบายเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กำหนดนโยบายในมิติการกระจายรายได้ให้กับประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างโอกาส พัฒนาอาชีพ สู่เศรษฐกิจชุมชน” ณ วัดจันทวงศาราม (กลาง) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพ ขึ้นในวันนี้ เพื่อเป็นถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ 1 การผลิตบ๊ะจ่าง สร้างโอกาส และ หลักสูตรที่ 2 การผลิตน้ำยำ ให้กับผู้สูงวัย ประชาชนผู้สนใจทั่วไป หรือผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมชุมชน หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มอาชีพในชุมชน จำนวน 100 คน ในการสร้างโอกาสให้กับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐาน การครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้า โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านผู้มีองค์ความรู้ เป็นการเสริมสร้างทักษะให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสาขาอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ด้วยตนเอง ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการหรือประชาชนในพื้นที่สามารถนำองค์ความรู้และสั่งสมความเชี่ยวชาญ ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้คนในชุมชนรุ่นต่อไป สามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากทำให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการกระจายรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็ง และเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว