รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นัดประชุมนัดแรก เร่งขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตฯ ฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สู่ตลาดโลก
กรุงเทพฯ 17 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) โดยมี นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยที่ประชุมแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน และมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากภาคเอกชน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมแจ้งถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฮาลาลโลก คาดปี 67 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.1 มูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไทย ปี 65 มีมูลค่าถึง 213,816 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนแรก ปี 66 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.0 การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย ณ เดือนกันยายน 66 ไทยมีบริษัทได้รับมาตรฐานฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลมากกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ปัญหา อุปสรรคของอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย เป็นเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หน่วยรับรอง การขอรับรอง
นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการประชุมเพื่อหารือทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลของประเทศไทยภายใต้แผนงาน IMT-GT ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) อยู่ระหว่างขับเคลื่อนแผนระยะ 5 ปี (2565-2569) ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเชีย มาเลเซีย ไทย สู่การยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลในอนุภูมิภาค ให้กลายเป็นศูนย์กลางฮาลาลระดับโลก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก ตั้งเป้าหมาย "ไทยเป็นผู้นำการผลิตอาหารฮาลาลในภูมิภาค" พร้อมทั้งร่าง 8 มาตรการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้งบประมาณสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อไปพัฒนากระบานการผลิตอาหารฮาลาล พัฒนาบุคลากรและให้คำแนะนำผู้ประกอบการฮาลาล และที่ประชุมได้นำเสนอ (ร่าง) กลไกขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล และ (ร่าง) กรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว